สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร)
สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงพ่อวิริยังค์ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 7 มกราคม พ.ศ. 2463 (100 ปี) |
มรณภาพ | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 22 ตุลาคม พ.ศ. 2478 |
พรรษา | 80 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร ประธานสงฆ์ในประเทศแคนาดา |
สมเด็จพระญาณวชิโรดม นามเดิม วิริยังค์ บุญฑีย์กุล ฉายา สิรินฺธโร (7 มกราคม พ.ศ. 2463 – 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปฐมเจ้าอาวาส วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]สมเด็จพระญาณวชิโรดม เดิมชื่อ วิริยังค์ บุญฑีย์กุล เป็นบุตรของขุนเพ็ญภาษชนารมย์ กับมั่น บุญฑีย์กุล (หรือ อุบาสิกามั่น; ถึงแก่กรรมปี พ.ศ. 2520) เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2463 ณ สถานีรถไฟปากเพรียว จังหวัดสระบุรี ต่อมาย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้อง 7 คน ได้แก่
- กิมลั้ง ชูเวช
- ฑีฆายุ บุญฑีย์กุล
- สุชิตัง บุญฑีย์กุล
- สัจจัง บุญฑีย์กุล
- สมเด็จพระญาณวชิโรดม
- ไชยมนู บุญฑีย์กุล
- สายมณี ศรีทองสุข
ก่อนบวช
[แก้]วันหนึ่งขณะที่ท่านอายุประมาณ 13 ปี เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชวนให้ไปวัดเป็นเพื่อน ขณะที่รอเพื่อนไปต่อมนต์ (ท่องบทสวดมนต์) กับหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ท่านก็รออยู่ด้วยความเบื่อหน่ายเพราะไปตั้งแต่ 2 ทุ่มกลับเที่ยงคืน จะกลับบ้านเองก็ไม่ได้เพราะเส้นทางเปลี่ยวและกลัวผี ได้แต่คิดอยู่ในใจว่า "ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่มาอีกแล้ว ๆ ๆ" ไม่ช้าก็เกิดความสงบขึ้น ตัวหายไปเลยเบาไปหมด เห็นตัวเองมี 2 ร่าง ร่างหนึ่งเดินลงศาลาไปยืนอยู่ที่ลานวัด มีลมชนิดหนึ่งพัดหวิวเข้าสู่ใจ รู้สึกเย็นสบายเป็นสุขอย่างยิ่งถึงกับอุทานออกมาเองว่า "คุณของพระพุทธศาสนา มีถึงเพียงนี้เทียวหรือ" แล้วเดินกลับไปที่ร่างกลับเข้าตัว พอดีเป็นเวลาเลิกต่อมนต์ จึงเล่าให้กับพระอาจารย์กงมาฟัง พระอาจารย์ก็ว่า "เด็กนี่ เรายังไม่ได้สอนสมาธิให้เลยทำไม จึงเกิดเร็วนัก" ตั้งแต่นั้นมาก็จึงเรียนรู้เกี่ยวกับการทำสมาธิ
ต่อมาวันหนึ่งท่านทำงานหนักเกินตัวจึงล้มป่วยเป็นอัมพาต บิดาพยายามหาหมอมารักษาแต่ก็รักษาไม่ได้ แพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าหมดหวังในการรักษา ท่านได้แต่นอนอธิษฐานอยู่ในใจว่า "ถ้ามีผู้ใดมารักษาให้หายจากอัมพาตได้ จะอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น" ไม่นานก็ปรากฏว่ามีชีปะขาวตนหนึ่งมาถามบิดาของท่านว่า "จะรักษาลูกให้เอาไหม" บิดาก็บอกว่า "เอา" ชีปะขาวก็เดินมาหาท่านซึ่งนอนอยู่ พร้อมทั้งกระซิบถามว่าอธิษฐานดังนั้นจริงไหม ท่านก็ตอบว่าจริง จึงให้พูดให้ได้ยินดัง ๆ หน่อย ท่านก็พูดให้ฟัง ชีปะขาวก็เอาไพรมาเคี้ยว ๆ แล้วก็พ่นใส่ตัวของท่านแล้วก็จากไป เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าท่านรู้สึกว่าจะกระดิกตัวได้ ทดลองลุกขึ้นเดินก็ทำได้เป็นที่อัศจรรย์ใจ 7 โมงเช้าปรากฏว่าชีปะขาวมายืนหลับตาบิณฑบาตอยู่ที่ประตูบ้าน ท่านจึงนำอาหารจะไปใส่บาตร ชีปะขาวกลับขอให้ท่านพูดถึงคำอธิษฐานของท่านให้ฟัง เมื่อพูดแล้วจึงยอมรับบาตร แล้วบอกให้ท่านไปหาที่ใต้ต้นมะขาม วัดสว่างอารมณ์ เมื่อไปถึงชีปะขาวก็ให้พูดคำอธิษฐานให้ฟังอีก แล้วก็พาเดินไปหลังวัด คว้าเอามีดอันหนึ่งออกไปตัดหางควายมาชูให้ดู แล้วก็ต่อหางคืนไปใหม่ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมกับถามว่า "ลุงเก่งไหม" ท่านก็ตอบว่า "เก่ง" ลุงจะสอนคาถาให้ แต่ต้องท่องทุกวันเป็นเวลา 10 ปีจึงใช้ได้ ท่านก็ได้เรียนคาถานั้น แล้วก็บอกว่าพรุ่งนี้ให้เตรียมใส่บาตร วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าไม่พบตาชีปะขาวแล้ว ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่เคยพบกับตาชีปะขาวอีกเลย
บรรพชา
[แก้]สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ขณะอายุ 16 ปี[1][2] บรรพชา ณ วัดสุทธจินดาวรวิหาร ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยพระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาควโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาได้ 10 วัน ก็ตามพระอาจารย์กงมาออกธุดงค์ ตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อแสวงหาที่วิเวก เมื่อพบที่สงบก็จะหยุดอยู่ทำความเพียร แม้บางครั้งอดอาหารกันอยู่หลายวัน บางครั้งเจอสัตว์ร้าย เจออันตรายหรือหนทางอันยาวไกล เช่นในบางวันเดินธุดงค์ข้ามเขาเกือบ 50 กิโลเมตร ก็ไม่ย่อท้อ โดยถือคติที่ว่ารักความเพียร รักธรรมะมากกว่าชีวิต ครั้งหนึ่งเมื่อออกจากดงพญาเย็นพบโจรกลุ่มหนึ่งมีอาวุธครบมือมาล้อมไว้ พระอาจารย์กงมาได้เทศน์สั่งสอนโจร มีอยู่ตอนหนึ่งเทศน์ว่า "พวกเธอเอ๋ย แม้พวกเธอจะมาหาทรัพย์ ตลอดถึงการผิดศีลของพวกเธอนั้นก็เพื่อเลี้ยงชีวิตนี้เท่านั้น แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่ของพวกเธอเลย มันจะสิ้นกันไม่รู้วันไหน เป็นเช่นนี้ทุกคน ถึงพวกเธอจะฆ่าไม่ฆ่าเขาก็ตาย เธอก็เหมือนกันมีความดีเท่านั้นที่ใคร ๆ ฆ่าไม่ตาย อย่างเรานี้จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะความดีเราทำมามากแล้ว" ปรากฏว่าพวกโจรวางมีดวางปืนทั้งหมดน้อมตัวลงกราบพระอาจารย์กงมาอย่างนอบน้อม หัวหน้าโจรมอบตัวเป็นศิษย์และได้บวชเป็นตาผ้าขาวถือศีล 8 เดินธุดงค์ไปด้วยกันจนกระทั่งหมดลมหายใจในขณะทำสมาธิ
อุปสมบท
[แก้]พระศาสดาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) อุปสมบทเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะอายุ 20 ปี อุปสมบท ณ วัดทรายงาม บ้านหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี โดยพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองสุข สุจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงพ่อได้เดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์กงมาไปในที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 8 ปี วันหนึ่ง พระอาจารย์กงมาพาท่านเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทบุรีไปจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อวิริยังค์ได้รับเลือกให้เป็นอุปัฎฐากอยู่ในพรรษา 4 ปี นอกพรรษา 5 ปี รวมเป็น 9 ปี ได้เดินธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์มั่น เรียนธรรมะอันลึกซึ้ง ได้จดคำสอนของหลวงปู่มั่นบางตอนไว้ (ปกติท่านห้ามผู้ใดจดเด็ดขาด เมื่ออ่านให้ท่านฟังภายหลังท่าน กลับรับรองว่าใช้ได้) ต่อมาท่านได้เผยแพร่คำสอนนี้แก่สาธารณชน ในหนังสือที่ชื่อว่า "มุตโตทัย"
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
การศึกษา
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2477 ขณะอายุ 13 ปี ได้บวชเป็นชีปะขาว เนื่องจากการบวชศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย จบชั้นประถมปีที่ 4 หลังจากนั้นบรรพชาแล้วศึกษาจบนักธรรมชั้นตรี นอกจากนั้นเป็นเวลาปฏิบัติกรรมฐาน เดินธุดงค์ตลอดระยะเวลาบรรพชาและอุปสมบท
มรณภาพ
[แก้]เมื่อวันศุกร์ ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สมเด็จพระญาณวชิโรดม ได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ คณะแพทย์ผู้ดูแลรักษาได้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิดร่วมกับการทำกายภาพบำบัด อาการเริ่มดีขึ้นสลับกับคงที่ตามลำดับมา จนกระทั่งวันเสาร์ ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ได้มีอาการทรุดลงและได้มรณภาพด้วยอาการสงบด้วยโรคชรา ในวันอังคาร ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 07.32 น. สิริอายุได้ 100 ปี 11 เดือน 15 วัน 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานโกศมณฑปแทนโกศไม้สิบสอง เพื่อประกอบเกียรติยศ ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังอาคารบุญญาวาส วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เขตพระโขนง พระราชทานน้ำหลวงสรงศพสมเด็จพระญาณวชิโรดม วิริยังค์ สิรินธโร หลังจากที่ทรงพระราชทานน้ำหลวงสรงศพเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานสุกรรมศพ(มัดตราสังข์)ลงสู่หีบ จากนั้นเชิญไปประดิษฐานหลังโกศพระราชทาน
ในการนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) เสด็จมาประทานน้ำสรงศพและทรงปลงธรรมสังเวชในการนี้ด้วย
การบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานศพ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7วัน 50 วัน 100 วัน พระราชทานศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นผู้แทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน และทรงรับการบำเพ็ญกุศลครบรอบ 1 ปี การถึงแก่มรณภาพของสมเด็จพระญาณวชิโรดม ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ด้วย
อนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เชิญดอกไม้สดมาบูชาเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่วันที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯมรณภาพ จนถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุ พระราชทานเพลิงศพ
การพระราชทานเพลิงศพ
กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2565
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ในการออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ
วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศล ออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ
และในเวลา 17:30น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ. เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส โดยทรงทอดผ้าไตรถวายแด่ สมเด็จพระราชาคณะและพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป พระสงฆ์บังสุกุล ทรงหลั่งทักษิโณทก จากนั้นเสด็จพระดำเนินขึ้นเมรุ ทรงหยิบกระทงข้าวตอกดอกไม้จากเจ้าพนักงานพระราชพิธี วางหน้าโกศศพ และทรงหยิบธูปเทียนดอกไม้จันทน์ ทรงจุดไฟที่ตำรวจวังชูถวาย พระราชทานเพลิงศพ ทรงคม จากนั้นทรงวางดอกไม้จันทน์พระราชทาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากนั้นเสด็จลงจากเมรุ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นายกรัฐมนตรีและคณะผู้ดำเนินงาน การศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ เฝ้าถวายของที่ระลึกและทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ถึงเวลาสมควร เสด็จพระราชดำเนินกลับ ในการนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) เสด็จไปในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ด้วย
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2565
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าไตรและภัตตาหารสามหาบในการเก็บอัฐิธาตุเจ้าประคุณสมเด็จฯ
โดยมีการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานเพลิงศพ ผ่านทาง สถานวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เพจ วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร และ เพจ สถาบันพลังจิตตานุภาพ
โดยในพิธีมีพระสงฆ์ ศิษยานุศิษย์และประชาชน เข้าร่วมพิธี ณ.วัดเทพศิรินทราวาส นับหมื่นคน และได้มีกำหนดให้จัดพิธีวางดอกไม้จันทน์ ณ. วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร รวมถึง สถานบันพลังจิตตานุภาพตามสาขาต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพร้อมเพรียงกัน
ช่อไม้จันทน์
สำหรับในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระญาณวชิโรดม(วิริยังค์ สิรินธฺโร)นั้น ได้มีการจัดทำ ช่อไม้จันทน์ขึ้นโดยทำจาก แผ่นไม้จันทน์ฉลุลาย ใช้เทคนิคการซ้อนลายไม้ประกอบเป็นช่อ โดยกึ่งกลางช่อเป็นรูปดอกบัว พื้นหลังเป็นลายกระหนกเปลวเป็นรัศมี เหนือยอดดอกบัวเป็นสัญลักษณ์อุณาโลม จัดทำถวายจำนวน 9 ช่อ ออกแบบและจัดทำ โดย ครูช่างจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ (ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2564)
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2498 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระครูญาณวิริยะ[3]
- พ.ศ. 2510 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระญาณวิริยาจารย์[4]
- พ.ศ. 2535 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชธรรมเจติยาจารย์ วิมลญาณภาวิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- พ.ศ. 2545 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพเจติยาจารย์ สุวิธานศาสนกิจ พิพิธธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2553 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระธรรมมงคลญาณ สีลาจารวัตรวิมล โสภณวิเทศศาสนดิลก สาธกวิปัสสนาธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
- พ.ศ. 2562 โปรดสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฎ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระพรหมมงคลญาณ ปูชนียฐานประยุต วิสุทธิญาณโสภณ โกศลวิเทศศาสนดิลก สาธกวิปัสสนาธุราทร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
นับเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏฝ่ายวิปัสสนาธุระ รูปแรกของฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และรูปที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- พ.ศ. 2563 โปรดสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระญาณวชิโรดม พุทธาคมวิศิษฐ์ จิตตานุภาพพัฒนดิลก สาธกธรรมวิจิตร วิเทศศาสนกิจไพศาล วิปัสสนาญาณธุราทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[9]
ผลงาน
[แก้]- สร้างวัด 15 แห่งในประเทศไทย
- สร้างวัดไทยในประเทศแคนาดา 6 แห่ง
- สร้างวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง
- สร้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่จังหวัดนครราชสีมา
- สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (โครงการประทีปเด็กไทย) กว่า 5000 แห่งทั่วประเทศ
- สร้างโรงพยาบาลจอมทอง
- สร้างที่ว่าการอำเภอจอมทอง
- สถาบันประถมศึกษาจอมทอง
- สร้างพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร
- สร้างพระหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร
- สร้างสถาบันพลังจิตตานุภาพในประเทศไทยและประเทศแคนาดาและอเมริกาเเละประเทศอื่นๆ
- สร้างสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์
- สร้างโรงเรียนวัดธรรมมงคล (หลวงพ่อวิริยังค์ อุปถัมภ์) กรุงเทพมหานคร
- สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร
- สร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ศูนย์ให้การศึกษาวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร
- สร้างโรงเรียนอนุบาลธรรมศาลา กรุงเทพมหานคร
ผลงานการสร้างวัดในประเทศไทย
[แก้]- วัดที่ 1 ปี พ.ศ. 2486 สร้างวัดบ้านห้วยแคน ตำบลหนองเหียน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ขณะอายุได้ 24 ปี
- วัดที่ 2 ปี พ.ศ. 2487 สร้างวัดวิริยพลาราม บ้านเต่างอย อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
- วัดที่ 3 ปี พ.ศ. 2489-2491 สร้างวัดมณีคีรีวงค์ (กงษีไร่) จังหวัดจันทบุรี
- วัดที่ 4 ปี พ.ศ. 2492-2495 สร้างวัดดำรงธรรมมาราม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นที่ธุดงค์วิปัสสนากัมมัฏฐาน
- วัดที่ 5 ปี พ.ศ. 2493 สร้างวัดสถาพรพัฒนา (วัดหนองชิ่ม) ตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งบำเพ็ญสมณธรรมอย่างสงบร่มเย็น
- วัดที่ 6 ปี พ.ศ. 2506 สร้างวัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นวัดแรกที่อยู่ในกรุงเทพนี้เนื้อที่ทั้งหมด 32 ไร่ มีกุฏิบำเพ็ญสมาธิภาวนา 9 หลัง ศาลาการเปรียญ ศาลาเมรุฌาปนกิจสถาน อุโบสถ และที่สำคัญที่สุดคือ พระมหาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความสวยสดงดงามตามศิลปไทยวิจิตระการตาหาชมได้ยาก ใช้งบประมาณรวมหนึ่งร้อยล้านบาท มีพระภิกษุสงฆ์พำนักอยู่กว่า 500 รูป และมีโรงเรียนอนุบาล อบรมสอนหนังสือให้แก่นักเรียนกว่า 500 คน
- วัดที่ 7 ปี พ.ศ. 2511 สร้างวัดหนองกร่าง วิทยาลัยสงฆ์กำแพงแสน ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีกุฏิ 80 หลัง ศาลาการเปรียญ มีอาคารเรียน 3 หลัง อุโบสถ 2 ชั้น มีพระภิกษุสงฆ์-สามเณรศึกษาอยู่ปัจจุบัน 200 รูป
- วัดที่ 8 ปี พ.ศ. 2512 สร้างวัดผ่องพลอยวิริยาราม สุขุมวิท 105 (ลาซาล) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งหมดรวม 10 ไร่ มีกุฏิบำเพ็ญสมาธิภาวนา 60 หลัง ศาลาการเปรียญ อุโบสถ หอระฆัง และอื่น ๆ
- วัดที่ 9 ปี พ.ศ. 2512 สร้างวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร มีกุฏิ 40 หลัง ศาลาปฏิบัติธรรมโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม อุโบสถ มีพระสงฆ์ 400 รูป
- วัดที่ 10 ปี พ.ศ. 2513 สร้างวัดอมาตยาราม (เขาอีโต้) จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 60 ไร่ มีศาลาการเปรียญ กุฏิที่พัก อุโบสถ ฯลฯ
- วัดที่ 11 ปี พ.ศ. 2513 วัดเทพเจติยาจารย์ น้ำตกแม่กลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- วัดที่ 12 ปี พ.ศ. 2516 สร้างวัดแก้วพิทักษ์เจริญธรรม สุขุมวิท 103 (อุดมสุข) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร มีศาลาการเปรียญ กุฏิที่พัก โรงครัว บ่อน้ำ อุโบสถ
- วัดที่ 13 ปี พ.ศ. 2514 สร้างวัดชูจิตรธรรมมาราม วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย) มีเนื้อที่ทั้งหมด 108 ไร่ มีพระภิกษุ-สามเณรศึกษาอยู่ 500 รูป(หาส่วนอ้างอิง)
- วัดที่ 14 ปี พ.ศ. 2555 สร้างวัดศรีรัตนธรรมมาราม อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่ทั้งหมด 86 ไร่
- วัดที่ 15 ปี พ.ศ. 2560 สร้างวัดป่าเลิศธรรมนิมิต ถนนลำลูกกา คลอง 11 จังหวัดปทุมธานี
การสร้างวัดในต่างประเทศ
- พ.ศ. 2535 วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 1 เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา
- พ.ศ. 2536 วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 2 เมืองโทรอนโต รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
- พ.ศ. 2538 วัดราชธรรมวิริยาราม 1 เมืองออตตาวา รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
- พ.ศ. 2540 วัดราชธรรมวิริยาราม 2 น้ำตกไนแอการา รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
- พ.ศ. 2541 วัดราชธรรมวิริยาราม 3 เมืองเอ็ดมันตัน รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา
- พ.ศ. 2542 วัดราชธรรมวิริยาราม 4 เมืองแคลกะรี รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา
ด้านการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์
- เป็นเจ้าอาวาสวัดทรายงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2509
- เป็นเจ้าคณะตำบล ตำบลขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2506
- เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร สุขุมวิท 101 กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2563
- เป็นประธานกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2563
- เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนธรรมาราม อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2563
- เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าเลิศธรรมนิมิต คลอง 11 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2563
- เป็นพระอุปัชฌาย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 - พ.ศ. 2563
ผลงานการประพันธ์
[แก้]- มุตโตทัย บันทึกคำสอนของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
- ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ
- ชีวิตต้องสู้
- คุณค่าของชีวิต
- พระพุทธรูปหยกเขียว
- 5 ฉลอง
- หลักสูตรครูสมาธิ 3 เล่ม เล่ม 1,2,3
- หลักสูตรครูสมาธิ – ชั้นสูง
- หลักสูตรญาณสาสมาธิ
- หลักสูตรอุตตมสาสมาธิ
- ใต้สามัญสำนึก
- วัฒนสาสมาธิ
ปริญญากิตติมศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2538 ปริญญาพัฒนบริหารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านบริหารการพัฒนา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
- พ.ศ. 2545 ปริญญาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา จาก สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
- พ.ศ. 2545 ปริญญาศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษานอกระบบ จาก มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2550 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง
- พ.ศ. 2553 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย
- พ.ศ. 2554 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
- พ.ศ. 2555 ปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2556 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- พ.ศ. 2557 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- พ.ศ. 2559 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- พ.ศ. 2559 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พ.ศ. 2560 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- พ.ศ. 2560 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- พ.ศ. 2562 ปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จาก มหาวิทยาลัยพะเยา
- พ.ศ. 2562 ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
- พ.ศ. 2564 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หนังสืออัตชีวประวัติ พระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร), 2552, หน้า 61
- ↑ "สมเด็จพระญาณวชิโรดม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-07. สืบค้นเมื่อ 2021-08-07.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 72, ตอนที่ 95 ง, 13 ธันวาคม 2498, หน้า 3013
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 84, ตอนที่ 128 ง ฉบับพิเศษ , 30 ธันวาคม 2510, หน้า 4
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ , เล่ม 109, ตอนที่ 101 ฉบับพิเศษ, วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535, หน้าที่ 5-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 119, ตอนที่ 23 ข , 11 ธันวาคม 2545, หน้า 3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 128, ตอนที่ 12 ข , 29 กรกฎาคม 2554, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ , เล่ม 136, ตอนที่ 40 ข, 28 กรกฎาคม 2562
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสถาปนาสมศักดิ์ เล่ม 137 ตอนที่ 31 ข, 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ สถาบันพลังจิตตานุภาพ เก็บถาวร 2010-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไชต์ วัดธรรมมงคล เก็บถาวร 2021-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ ลานธรรมจักร
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2464
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2563
- สายพระป่าในประเทศไทย
- สมเด็จพระราชาคณะ
- เจ้าอาวาสวัดในกรุงเทพมหานคร
- ภิกษุในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
- ผู้ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ
- ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร
- ภิกษุจากจังหวัดสระบุรี
- บุคคลจากอำเภอเมืองสระบุรี
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยพะเยา
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเนชั่น
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
- บุคคลจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ