พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช)
พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 อำเภอ พรานกระต่าย จังหวัด กำแพงเพชร (78 ปี) |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 9 ประโยค พ.ม. |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 26 มิถุนายน พ.ศ. 2510 |
พรรษา | 57 |
ตำแหน่ง | ราชบัณฑิต,เจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร,หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 8 |
พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ นามเดิม ทองดี สุรเดช ฉายา สุรเตโช เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 8 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นราชบัณฑิต สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ชีวิตและงาน
[แก้]พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ มีนามเดิมว่า ทองดี สุรเดช เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เมื่ออายุ 14 ปี และจบชั้นมัธยมต้นแล้วก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดเดิมคือวัดไตรภูมิ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร จากนั้นก็ได้ศึกษาธรรมที่สำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2515 ด้วยอายุ 26 ปี ในทางโลกสอบได้ประโยควิชาครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ในปีถัดมา
ด้านการงาน
[แก้]ด้านการงาน พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอพรานกระต่าย เลขานุการเจ้าคณะเขตบางขุนเทียน ต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนวิชาแต่งฉันท์ภาษาบาลี ชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมส่วนกลางของคณะสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะเป็นเจ้าคณะแขวงบางค้อได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เคยเป็นเจ้าคณะภาค 16 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ระหว่าง พ.ศ. 2535-พ.ศ. 2544
ด้านวิชาการ
[แก้]ด้านวิชาการ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ เคยเป็นรองประธานกรรมการตรวจสอบต้นฉบับพระไตรปิฎกฉบับสังคายนา ภาษาไทยและภาษาบาลี เป็นรองประธานกรรมการตรวจสำนวนการแปลพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ เป็นกรรมการจัดทำแผนพัฒนาด้านการศึกษา กรมการศาสนา ประธานกรรมการจัดทำต้นฉบับพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย นอกจากนี้ยังเคยเป็นประธานกรรมการพิจารณาและดำเนินการจัดตั้งสำนักหุบผาสวรรค์เป็นสถานศึกษาทางพุทธศาสนาอีกด้วย
ด้านการเผยแผ่
[แก้]พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้เขียนหนังสือและแต่งตำราเพื่อเผยแผ่พระธรรมจำนวนมากดังรายการผลงานเขียนของท่านข้างล่างนี้ นอกจากนี้พระมหาโพธิวงศาจารย์ยังได้อนุญาตให้นำศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนาและคำที่ใช้กับพระและวัดในหนังสือ "คำวัด" มาเผยแพร่ในอภิธานศัพท์พุทธศาสนาในวิกิพีเดียอีกด้วย[ต้องการอ้างอิง]
ตำแหน่งหน้าที่สำคัญ
[แก้]หลังจากสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค แล้ว พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้ปฏิบัติงานด้านการศาสนาในตำแหน่งต่างๆ มาเป็นลำดับ นอกจากตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามดังกล่าวแล้วก็ได้เป็นเจ้าคณะภาค 16 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เจ้าสำนักเรียนวัดราชโอรสาราม เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 8 เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมพระนักเทศน์ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง,หนตะวันออก,หนใต้ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้อุปถัมภ์สร้างวัดพุทธวิหาร กรุงเบอร์ลิน และวัดธรรมวิหาร เมืองฮันโนเฟอร์ประเทศเยอรมนีอีกด้วย
วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาตันติภาษา[1] สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
สมณศักดิ์
[แก้]พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2519 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีสุทธิวงศ์[2]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิโมลี ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2531 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพปริยัติโมลี ศรีปาพจนานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกิตติวงศ์ ปริยัติวิธานธำรง กวีวงศดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระมหาโพธิวงศาจารย์ ปริยัติกิจวิธานปรีชา ศีลาจารวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้รับพระราชทานราชทินนามว่า พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ปริยัติกิจวิธานปรีชา ศีลาจารวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
หนังสือที่เขียน
[แก้]- อันเหลือเชื่อ
- สมณศักดิ์: ยศช้าง ขุนนางพระ
- หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ
- ธรรมสารทีปนี
- คู่มือการศึกษาบาลี เล่ม 1-4
- ข้อคิด ข้อเขียน
- พระในบ้าน
- ภาษาธรรม
- คำวัด เล่ม 1-5
- คำพ่อคำแม่
- ภาษิตนิทัศน์
- คนกินคน (หนังสือแปล)
- หัวใจอมตะ (หนังสือแปล)
- คลังธรรม เล่ม 1-3
- ธรรมบทชีวิต
- ศัพท์วิเคราะห์
- แนวปฏิบัติศาสนพิธี
- พุทธธรรม ๕ นาที
- ประกายความคิด
- กิร ดังได้สดับมา เล่ม ๑ - ๓, ฉบับรวมเล่ม
- ไขข้อข้องใจ
- ภาษาชาวบ้าน
- ชาดกในธรรมบท (พิมพ์ครั้งที่ ๑ : กันยายน ๒๕๕๔)
- การเรียนรู้พระพุทธพจน์ (พิมพ์ครั้งที่ ๑ : กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕)
- อุปมาสาธกในเทศนา (พิมพ์ครั้งที่ ๑ : พฤษภาคม ๒๕๕๕)
- เทศน์ : การเผยแผ่ที่สำคัญศักดิ์สิทธิ์
- การตีความพุทธศาสนสุภาษิต
- สวัสดิมงคล เล่ม ๑, เล่ม ๒, เล่ม ๓, ฉบับรวมเล่ม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิต, เล่ม 114, ตอนที่ 3 ง, 9 มกราคม 2540, หน้า 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 94, ตอนที่ 3 ง ฉบับพิเศษ, 6 มกราคม 2520, หน้า 7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 98, ตอนที่ 206 ฉบับพิเศษ, 17 ธันวาคม พ.ศ. 2524, หน้า 3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 105, ตอนที่ 207 ฉบับพิเศษ, 9 ธันวาคม พ.ศ. 2531, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 109, ตอนที่ 101 ฉบับพิเศษ, 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 131, ตอนที่ 28 ข, 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานราชทินนามเล่ม 139, ตอนที่ 4 ข, 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, หน้า 1
- เรียบเรียงจากประวัติใน บทธรรมนำชีวิต ตีพิมพ์ในโอกาสฉลองอายุสมมงคล 60 ปี พระธรรมกิตติวงศ์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ง 2549
- ประวัติราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติราชบัณฑิต เก็บถาวร 2007-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน