วัด
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
วัด, อาวาส หรือ อาราม คือคำเรียกศาสนสถานของศาสนาพุทธในประเทศไทย กัมพูชา และลาว เป็นที่อยู่ของภิกษุ และประกอบศาสนกิจของพุทธศาสนิกชน ภายในวัดมีวิหาร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมรุ ซึ่งใช้สำหรับประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ เช่น การเวียนเทียน การสวดพุทธมนต์ การทำสมาธิ
วัดโดยส่วนใหญ่นิยมแบ่งเขตภายในวัดออกเป็นสองส่วนคือ พุทธาวาส และสังฆาวาส โดยส่วนพุทธาวาสจะเป็นที่ตั้งของสถูปเจดีย์ อุโบสถ สถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และส่วนสังฆาวาส จะเป็นส่วนกุฎิสงฆ์สำหรับภิกษุสามเณรจำพรรษา และในปัจจุบันแทบทุกวัดจะเพิ่มส่วนฌาปนสถานเข้าไปด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการประกอบพิธีทางศาสนาของชุมชน เช่น การฌาปนกิจศพ โดยในอดีตส่วนนี้จะเป็นป่าช้า ซึ่งอยู่ติดหรือใกล้วัด ตามธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มฌาปนสถานในวัดพุทธศาสนาในประเทศไทยจะตั้งอยู่บนพื้นที่ ๆ เป็นป่าช้าเดิม
ประเภท
[แก้]ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จำแนกวัดเป็น 2 อย่าง คือ
- สำนักสงฆ์ คือ วัดที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งวัด รวมถึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้น แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงใช้เป็นที่อยู่พระสงฆ์ได้ แต่ในทางพระวินัยยังไม่สามารถสังฆกรรมได้
- วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดที่เลื่อนฐานะจากสำนักสงฆ์ โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว พร้อมใช้ทำสังฆกรรมตามพระวินัย ได้ทุกประการ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แบ่งออกเป็น พระอารามหลวงและวัดราษฎร์
- วัดราษฎร์ คือวัดที่ได้รับพระราชทานที่วิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้าบัญชีเป็นพระอารามหลวง[1]
- พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง คือวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง
พระอารามหลวงมี 3 ชั้น[2] ได้แก่
- ชั้นเอก มี 3 ชนิด ได้แก่ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร และวรมหาวิหาร
- ชั้นโท มี 4 ชนิด ได้แก่ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร และวรวิหาร
- ชั้นตรี มี 3 ชนิด ได้แก่ ราชวรวิหาร วรวิหาร และสามัญ (ไม่มีสร้อยต่อท้าย)
องค์ประกอบ
[แก้]รูปแบบและองค์ประกอบศิลปกรรมของวัดในแต่ละยุคและท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่น อิทธิพลทางศิลปะ คตินิยม วัสดุท้องถิ่น แต่ทั่วไปจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
- เขตพุทธาวาส คือ ขอบเขตที่กำหนดไว้สำหรับให้พระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ประกอบด้วย เจดีย์หรือสถูป มณฑป อุโบสถ วิหาร หอระฆัง ศาลา เป็นต้น บริเวณล้อมรอบพระวิหารและพระอุโบสถมักมีพื้นที่กว้างสำหรับใช้ในกิจพิธีต่าง ๆ เช่น การแห่ประทักษิณ เป็นต้น โดยทั่วไปพระวิหารและพระอุโบสถส่วนมากมักมีรูปทรงเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ มีคำอธิบายว่ามีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ โดยพระองค์ทรงประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก สอดคล้องกับพระพุทธรูปประธานในพระวิหารหรือพระอุโบสถที่มักเป็นปางมารวิชัยในตอนผจญมารก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ลักษณะการวางผังอุโบสถและวิหารนี้เหมือนกันทั้งภาคพื้นทวีปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[3]
- เขตสังฆาวาส คือ พื้นที่ซึ่งกำหนดให้เป็นที่พักอาศัยและกระทำกิจวัตรของพระสงฆ์ที่ไม่ข้องกับพิธีการทางศาสนาโดยตรง เช่น กุฏิ หอฉัน วัจจกุฎี ศาลาการเปรียญ หอไตร ศาลาท่าน้ำ เป็นต้น
- เขตธรณีสงฆ์ คือ เขตที่ดินของวัดนอกเหนือจากเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส เป็นพื้นที่วัดที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ เช่น เมรุ สุสาน โรงเรียน
สาเหตุการสร้างและปฏิสังขรณ์
[แก้]วัดเริ่มมีครั้งแรกในประเทศอินเดีย เพื่อเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจดีย์และเป็นที่พักพระสงฆ์ วัดเวฬุวันถือเป็นพระอารามหรือวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย จากนั้นอุบาสกอุบาสิกาอื่น ๆ ในที่ต่าง ๆ ได้สร้างวัดถวาย เช่น พระเชตะวันมหาวิหาร ของอนาถปิณฑิก เศรษฐีบุพพารามของนางวิสาขา อัมพปาลีวัน ของนางอัมพปาลี ในเมืองสาวัตถี วัดโฆสิตตาราม ของพระเจ้าอุเทน เมืองโกสัมภี เป็นต้น[4]
สำหรับการสร้างวัดในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยศิลปะทวาราวดี ในพุทธศวรรษที่ 12–16 วัดแห่งแรกในพื้นที่ของประเทศไทย บ้างสันนิษฐานว่า วัดเขาทำเทียม จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานได้ 300 ปี[5] บ้างก็ว่า "วัดปุณณารามดำรงอริยสงฆ์" ซึ่งระบุไว้ในกระเบื้องจารที่ขุดได้ที่คูบัว จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันไม่มีร่องรอยปรากฏให้เห็น อยู่ในบริเวณเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทับไทยทอง หลังจากที่ไทยส่งคณะทูตเดินทางไปยังวัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่ประเทศอินเดีย[6]
ในประเทศกัมพูชา พบหลักฐานการสร้างพระวิหารในพุทธศาสนานิกายเถรวาทตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ในรัชสมัยของพระเจ้าสรินทรวรมัน หลักฐานจากศิลาจารึก k.754 ได้กล่าวถึงพระราชบัญชาของพระเจ้าสรินทรวรมันที่ทรงสั่งให้สร้างพระวิหารและพระพุทธรูปสำหรับเคารพบูชาในปี พ.ศ. 1851[7]
วัดในระยะแรกมีจุดประสงค์ 2 อย่าง คือ เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ เรียกว่า วัดพุทธเจดีย์ อีกประการหนึ่งคือ สร้างเพื่อเป็น วัดอนุสาวรีย์ ได้แก่สถูปเพื่อบรรจุอัฐิธาตุบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนา ต่อมาวัตถุประสงค์การสร้างเริ่มขยายออกไป แต่มีสาเหตุสำคัญ คือ ความเชื่อในเรื่องกรรม ไตรภูมิ และยุคพระศรีอริยเมตไตรยตามคำสอนในคัมภีร์ศาสนา กล่าวคือ การทำบุญที่ได้ผลบุญมากที่สุดคือการสร้างวัด
ปัจจัยการสร้างวัดและบูรณะปฏิสังขรณ์อื่น ๆ ได้แก่ สร้างเพื่อแสดงความรุ่งเรืองของอาณาจักร เพื่อเป็นอนุสรณ์สงคราม เพื่อสะดวกในการทำบุญ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เพื่อใช้เป็นสถานศึกษา สร้างเพื่อความศรัทธาในภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรืออาจเป็นค่านิยม อย่าง ความนิยมสร้างวัดประจำรัชกาล วัดประจำตระกูล สร้างเป็นอนุสรณ์และอุทิศส่วนกุศล เป็นต้น[8]
วัดประจำพระราชวังในประเทศไทย
[แก้]- วัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดประจำพระราชวังโบราณ อยุธยา) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[9]
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดประจำพระบรมมหาราชวัง) กรุงเทพมหานคร[10]
เด็กวัด
[แก้]เด็กวัด เป็นเด็กชายในประเทศไทยซึ่งอาศัยอยู่ในวัดและคอยรับใช้พระภิกษุ โดยเด็กวัดจะคอยถือบาตรของพระภิกษุในช่วงการบิณฑบาตยามเช้า หลังจากนั้น เด็กวัดจะมีหน้าที่จัดเตรียมอาหารของพระภิกษุก่อนที่จะรับประทานอาหารที่เหลือจากพระฉันเสร็จ ("ข้าวก้นบาตร") เด็กวัดเป็นผู้ถือศีล 10 ประการ เด็กชายบางคนถูกส่งมาเป็นเด็กวัดเพื่อประกอบความดี บ้างก็ถูกส่งมาเพราะมีที่พักและอาหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เด็กวัดบางคนถูกพระเก็บมาเลี้ยงเนื่องจากไร้พ่อแม่ขาดมิตร ในขณะที่บางส่วนถูกส่งมาเพื่อศึกษาธรรม เด็กวัดบางส่วนบวชเป็นภิกษุ และบ้างก็อาจถือว่าเด็กวัดเป็นขั้นตอนอย่างเป็นทางการสำหรับการบวชเป็นสามเณร ขึ้นอยู่กับอายุและประเพณีในท้องถิ่น[11]
ดูเพิ่ม
[แก้]- รายชื่อวัดในประเทศไทย (แบ่งตามจังหวัด)
- รายชื่อวัดไทยในต่างประเทศ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 2556. p. 1104.
- ↑ ประกาศกระทรวงธรรมการ พแนกกรมสังฆการี เรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวง (PDF). Vol. 32. ราชกิจจานุเบกษา. 3 ตุลาคม 2458. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06.
- ↑ Sirang Leng. "ศิลปกรรมพระอุโบสถและพระวิหารในเมืองพระตะบอง ราชอาณาจักรกัมพูชาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 25" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ พระสิทธินิติธาดา. "สถานภาพทางกฎหมายของวัดที่มิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์" (PDF).[ลิงก์เสีย]
- ↑ "พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ วัดเขาทำเทียม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
- ↑ "ความเชื่อสร้างบุญเที่ยว9วัด ไฉนต้องไหว้ให้ครบใน1วัน". เดลินิวส์.
- ↑ George Cœdès. "La Plus Ancienne Inscription En Pali Du Cambodge." Translated by Ang Choulean. In Udaya, (Phnom Penh: Fiends of Khmer Culture, 2008), 115-127.
- ↑ ภัทราวรรณ บุญจันทร์. "ความสัมพันธ์ของชุมชนกับศิลปกรรมในวัดราษฎร์ริมคลองสามเสน" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา - วัดพระศรีสรรเพชญ์". finearts.go.th. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร.
- ↑ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)". dhammathai.org.
- ↑ "เด็กวัด". I Love Thai Culture กระทรวงวัฒนธรรม. 12 มกราคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-27. สืบค้นเมื่อ 2019-10-24.
บรรณานุกรม
[แก้]- สมคิด จิระทัศนกุล (2544). วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9746006819.