วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (จังหวัดลพบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
Wat Phra Sri Rattana Mahathat Lop Buri
บริเวณทางเข้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทวัดอาราม
สถาปัตยกรรมขอมโบราณ
กอธิกแบบฝรั่งเศส
เมืองตำบลท่าหิน, อำเภอเมืองลพบุรี, จังหวัดลพบุรี
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดอารามใน ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้งทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

องค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุยังปรากฏบนผลงานภาพจิตรกรรมฯ 8 จอมเจดีย์แห่งสยาม ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร อีกด้วย[2]

องค์ประกอบภายในวัด[แก้]

พระปรางค์ประธานทรงขอม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ศาลาเปลื้องเครื่อง[แก้]

เป็นส่วนแรกนับจากทางเข้า ศาลาเปลื้องเครื่องนี้ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว[3]

วิหารหลวง[แก้]

หรือ วิหารเก้าห้อง เป็นส่วนที่ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นวิหารขนาดใหญ่มาก ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบกอธิคของฝรั่งเศส

เมื่อ พ.ศ.2563 มีการสร้างฐานชุกชี และประดิษฐานพระพุทธรูป[4] ไว้ภายในวิหารคือ "พระพุทธลวบุรารักษ์" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก แกะสลักจากหินทรายเขียว ขนาดหน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 3 เมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ซึ่งจังหวัดลพบุรี ร่วมกับพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวลพบุรี และประชาชนทั่วไป โดยได้รับประทานนามจาก สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ว่า "พระพุทธลวบุรารักษ์" แปลว่า พระพุทธเจ้าทรงปกปักรักษาเมืองลพบุรี

พระอุโบสถขนาดย่อม[แก้]

ทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด

พระปรางค์ประธาน[แก้]

ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวงเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ ที่ลายปูนปั้นหน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนา นิกายมหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างามมาก เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และ สมเด็จพระนารายณ์ ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก อีกสิ่งหนึ่งที่สมควรจะกล่าวถึงคือปรางค์รายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้นเป็นรูป เทพพนมหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาดูได้ยากในเมืองไทย

วิหารหลวงสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

วัดมหาธาตุ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนพุทธาวาส และสังฆาวาส ซึ่งส่วนหลังนี้ถูกบุกรุกไปหมดแล้วคงเหลือพื้นที่ส่วนพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ มีถนนตัดรอบวัด เมื่อผ่านประตูเข้าไปจะเห็น ดังนี้ พระอุโบสถ มีขนาดใหญ่โตมากและเหลือแต่ผนังทั้ง 4 ด้าน แต่ก็ไม่สมบูรร์นักกับกองพระพุทธรูปที่หัก ๆ ทางซ้ายของพระอุโบสถมี "ศาลาเปลื้องเครื่อง" ซึ่งสันนิษฐานว่า คงสร้างขึ้นภายหลัง เชื่อว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ฯ จะมาประกอบพิธีทางศาสนาคงจะต้องมาเปลื้องเครื่องทรงที่ศาลาหลังนี้ศาลาเปลื้องเครื่อง อยู่ติดกับวิหารเล็ก ๆ แต่ปิดประตูใส่กุญแจไว้ มีพระพุทธไสยาสน์ประทับอยู่มองเห็น

ด้านหลังพระอุโบสถคือ พระปรางค์ซึ่งพระปรางค์เป็นพระปรางค์องค์เดียวโดด ๆ ไม่ใช่เรียงกันสามองค์เช่น พระปรางค์สามยอดแต่เชื่อว่าสร้างในรุ่นเดียวกัน คือ ระหว่าง พ.ศ. 1500 - 1800 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและได้ชื่อว่ามีลวดลายปูนปั้นงามเป็นเลิศ แต่น่าเสียดายในการบูรณะทำให้เสียหายไปไม่ใช่น้อยแต่ยังพอหลงเหลือให้ชมความงามคือทางซ้ายหรือทางใต้ของพระปรางค์ เงยหน้ามองสูงสักหน่อย ที่หน้าบันจะเห็นภาพพระอมิตาประทับบนดอกบัวมีก้านในสวรรค์สุขาวดี ตามคติพุทธมหายาน ลายปูนปั้นที่หน้ากระดานแถวบนสุด เป็นลายกระหนกที่รับอิทธิพลขอมศิลปะสมัยละโว้ ลายปูนปั้น มกรคายนาคหน้าบันซุ้มโคปุระ หรือซุ้มหน้าของปรางค์ประธาน เป็นศิลปะละโว้ กับอโยธยา วิหารหลวง อยู่ทางขวาของพระอุโบสถ เข้าใจว่าปฏิสังขรณ์จนกลายแบบไปแล้ว เดิมประตูเป็นศิลปะไทยแต่หน้าต่างนั้นเป็นศิลปะแบบโกธิค ของฝรั่งเศสแสดงว่าสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เจดีย์รายอยู่รอบพระปรางค์ใกล้ชิดกำแพงวัด หลายองค์ยังมีภาพลวดลายปูนปั้นที่งดงามอยู่ วิหารคด ยังมีสภาพที่ดีเหลือให้ชมมาบรรจบกันที่ท้ายวิหารหลวง

อ้างอิง[แก้]

  1. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ อ.เมือง จ.ลพบุรี, ทัวร์.ซีโอ.ทีเอช[ลิงก์เสีย]
  2. จิตกรรมในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ, Got to Know
  3. "(ข้อมูล) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว, สะดุดตาดอตคอม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-26. สืบค้นเมื่อ 2015-05-03.
  4. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี - ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม[ลิงก์เสีย]