รถรางลพบุรี
รถรางลพบุรี | |||
---|---|---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |||
เจ้าของ | การไฟฟ้ากรุงเทพ[1] | ||
ที่ตั้ง | เมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี | ||
ประเภท | รถราง | ||
จำนวนสาย | 1[2] | ||
การให้บริการ | |||
เริ่มดำเนินงาน | 31 มกราคม พ.ศ. 2498[3][4] | ||
เลิกให้บริการ | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2505[3][4] | ||
ผู้ดำเนินงาน | การไฟฟ้ากรุงเทพ | ||
ข้อมูลทางเทคนิค | |||
ระยะทาง | 6.5 km (4.0 mi)[3] 7.2 km (4.5 mi)[4] | ||
|
รถรางลพบุรี เป็นระบบรถรางสายสั้นที่เดินรถจากท่าโพธิ์–เอราวัณ[2] ภายในเขตเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เปิดให้บริการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2498 หากไม่รวมทางรถไฟสายปากน้ำที่ใช้รถรางวิ่งแทนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 แล้ว[5][6] ก็ถือว่าลพบุรีเป็นจังหวัดแรกในภูมิภาคและจังหวัดเดียวนอกจากจังหวัดพระนครที่มีระบบรถรางใช้[4][1][7]
แต่ในเวลาต่อมา ได้มีรถเมล์ระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่คอยรับส่งผู้โดยสารมากขึ้น แม้ราคาจะแพงแต่ก็รวดเร็วกว่ารถราง กอปรกับประชาชนในเมืองลพบุรีใช้รถส่วนตัวเพิ่มขึ้น รถรางลพบุรีจึงประสบสภาวะขาดทุน และงดให้บริการถาวรในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2505[3][4]
ประวัติ
[แก้]ระบบรถรางลพบุรีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2498 โดยการไฟฟ้ากรุงเทพ[1] และมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด[3][4] ซึ่งช่วงเวลาการเปิดเดินรถนั้นเป็นช่วงเวลาที่จอมพลแปลก ได้พัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองทหาร มีหน่วยทหารจำนวนมากเป็นรองเพียงแค่พระนคร จึงได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในเมือง ทั้งนี้ได้ใช้ตู้รถรางเก่าจากพระนครมาให้บริการ[1] แรกเริ่มได้ทำการเดินรถจากศาลพระกาฬถึงสี่แยกเอราวัณใกล้ ร. พัน 6[3][4] นอกจากนี้รัฐบาลในขณะนั้นยังมีแนวคิดที่จะขยายระบบรถรางตามหัวเมืองอื่น ๆ ภายในประเทศด้วย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[1]
ช่วงแรกของการเดินรถมีผู้โดยสารเข้าใช้เป็นจำนวนมากจึงขยายเส้นทางเข้าสู่ท่าโพธิ์ซึ่งเป็นย่านตลาดฝั่งเมืองเก่า แต่ระยะหลังเริ่มมีรถเมล์วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากตลาดลพบุรีไปนอกเมืองมากขึ้นและทับเส้นทางกับรถราง ทำให้ดึงผู้โดยสารออกไปมาก ประกอบกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำให้หาน้ำมันได้ยาก รถรางหลายสายอย่างในพระนครก็หยุดเดินรถไปชั่วขณะเช่นกัน[7] และเมื่อประชาชนในลพบุรีมีรถส่วนตัวมากขึ้น รถรางแล่นช้ากว่ารถเมล์ และปัญหาการกีดขวางทางจราจร รถรางจึงสิ้นความนิยมและประสบปัญหาขาดทุน อันเป็นผลทำให้ยุติการเดินรถรางถาวรในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2505[3][4] ปัจจุบันยังหลงเหลืออู่รถรางซึ่งตั้งอยู่ภายในชุมชนอู่รถรางเก่า ในเขตเทศบาลเมืองลพบุรีใกล้สี่แยกเอราวัณเป็นอนุสรณ์
เส้นทาง
[แก้]ช่วงแรกของการดำเนินกิจการรถรางลพบุรี มีต้นทางเริ่มจากทางด้านหลังของศาลพระกาฬ (วงเวียนศรีสุนทร) ใกล้ด้านหน้าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย วิ่งไปตามถนนนารายณ์มหาราชฝั่งใต้ไปจนถึงวงเวียนศรีสุริโยทัย ข้ามแยกสะพาน 7 เข้าสู่ถนนพหลโยธินตรงวงเวียนเทพสตรีบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรี ผ่านโรงพยาบาลลพบุรี จนถึงปลายทางที่สี่แยกเอราวัณใกล้ ร. พัน 6[4] รวมระยะทาง 4.8 km (3.0 mi)[3]
ต่อมาไม่นานจึงมีการขยายเส้นทางเข้าสู่ย่านเมืองเก่าลพบุรีเพื่อรองรับผู้โดยสาร โดยเริ่มต้นจากท่าโพธิ์บริเวณเชิงสะพานข้ามไปวัดมณีชลขัณฑ์ เลี้ยวเข้าสู่ถนนสุระสงคราม ก่อนเลี้ยวเข้าถนนวิชาเยนทร์และจอดรับผู้โดยสารที่เทวสถานปรางค์แขก ผ่านพระปรางค์สามยอด ตัดทางรถไฟสายเหนือ เรื่อยมาจนถึงศาลพระกาฬ รวมระยะทางจากท่าโพธิ์ถึงเอราวัณ 6.5 km (4.0 mi)[3] บางแห่งว่า 7.2 km (4.5 mi)[4]
ค่าโดยสาร
[แก้]รถรางลพบุรีมีการเก็บค่าโดยสาร แบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะละ 25 สตางค์ ระยะแรกนับจากท่าโพธิ์–วงเวียนศรีสุริโยทัย และระยะที่สองนับจากวงเวียนศรีสุริโยทัย-สี่แยกเอราวัณ[3] หากนั่งตลอดสายจะเสียค่าโดยสารสูงสุด 40 สตางค์[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ย้อนอดีตวันวาน ! ชมรถราง ความงามแบบคลาสสิค เมืองไทยสมัยก่อน". โดดเด่นดอตคอม. 31 มีนาคม 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-26. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 2.0 2.1 "The Lopburi Trams". 2Bangkok. 11 มีนาคม 2549. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 สมพงษ์ นิติกุล. ภาพโบราณ ตำนานเมืองลพบุรี. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง, 2456, หน้า 27-28
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ. สถาปัตยกรรมเมืองเก่าลพบุรี : คู่มือท่องเที่ยวเมืองเก่าลพบุรี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, 2556, หน้า 21
- ↑ สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. "ทางรถไฟสายปากน้ำ". สถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ โรม บุนนาค (14 มีนาคม 2559). "เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 7.0 7.1 "กำเนิดรถราง". หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ. 30 ตุลาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)