ศาสนาซิกข์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ซิกข์)
กันด้า สัญลักษณ์ประจำศาสนาซิกข์

ศาสนาสิข (ปัญจาบ: ਸਿੱਖੀ) หรือ ศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาสำคัญหนึ่งของโลก โดยคำว่าสิขมาจากภาษาสันสกฤต Sikh แปลว่าแนวทางหรือแบบแผน[1][2] ศาสนาซิกข์เป็นศาสนาอินเดียที่มีต้นกำเนิดในแคว้นปัญจาบ ทางตอนเหนือของอนุทวีปอินเดียในราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยคุรุศาสดาพระองค์แรก คุรุนานัก และถูกนิยามว่าเป็นทั้งศาสนาเอกเทวนิยม และ พหุเทวนิยม[3][4][5][6][7]

ชื่อและการออกเสียง[แก้]

การเขียน และการออกเสียงชื่อศาสนาซิกข์นั้น หากเขียนว่า "สิกข์" ในภาษาไทยจะอ่านออกเสียงว่า “สิกส์" ซึ่งไม่ตรงกับเสียงในภาษาปัญจาบ และจะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเพื่อให้อ่านออกเสียง และความหมายถูกต้อง จึงต้องเขียนว่า "ซิกข์" และอ่านออกเสียงว่า "ซิก", หรืองานวิ่งการกุศล ไทย-ซิกข์ มาราธอนซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก็ใช้การเขียนว่า "ซิกข์" ขณะที่ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนมีการสะกดว่า "สิกข์" [8]

ในพจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดว่าคำนี้สามารถสะกดได้ถึงสี่แบบ ได้แก่ "ซิกข์, สิกข์, ซิก, สิข" [9]

ศาสดา[แก้]

ภาพวาดแสดงคุรุศาสดาทั้ง 10 องค์

ศาสดา หรือ คุรุ แห่งศาสนาซิกข์มี 10 ท่าน ต่อจากนั้นศาสดาองค์ที่ 10 (คุรุโควินท์สิงห์) ได้ประกาศให้ถือพระคัมภีร์ (คุรุกรันตสาหิบ) เป็นศาสดาตลอดกาลแทน และไม่มีการแต่งตั้งศาสดาต่อไปอีก ยกเว้นนิกายนามธารีที่มีการนับคุรุศาสดาต่อ รายนามของคุรุศาสดาที่เป็นที่นับถือทั้ง 10 ท่าน ได้แก่

  1. คุรุนานัก (Guru Nanak)
  2. คุรุอังคัต (Guru Angat) หรือ คุรุอังกัต, คุรุอังคัท, คุรุอังขัต, คุรุอังฆัต
  3. คุรุอมรทาส (Guru Amar Das) หรือ คุรุอามัร ดาส
  4. คุรุรามทาส (Guru Ram Das) หรือ คุรุรามดาส
  5. คุรุอรชุน (Guru Arjan) หรือ คุรุอรยัน, คุรุอาร์จัน
  6. คุรุหรโคพินท์ (Guru Har Gobind) หรือ คุรุฮัรโควินท์
  7. คุรุหรราย (Guru Har Rai) หรือ คุรุฮัรราย, คุรุหาร์ไร
  8. คุรุหรกิศัน (Guru Har Krishan) หรือ คุรุฮัรกฤษณ
  9. คุรุเตฆ์บะฮาดุร (Guru Tegh Bahadur) หรือ คุรุเตค บฮาดัร
  10. คุรุโควินทสิงห์ (Guru Gobind Singh) หรือ คุรุโควินท์สิงห์
  11. คุรุครันถสาหิพ (Guru Granth Sahib) หรือ คุรุครันถ์ซาฮิบ

หลังสิ้นสุดสมัยของคุรุโควินทสิงห์แล้ว ท่านคุรุโควินท์สิงห์ได้แต่งตั้งให้ มหาคัมภีร์ คุรุกรันตสาหิบ หรือ คุรุครันถ์ซาฮิบ (Guru Granth Sahib) เป็นคุรุศาสดาอมตะตลอดไป กล่าวคือจะไม่มีการตั้งคุรุศาสดาเป็นบุคคลอีก แต่จะให้ยึดถือพระคัมภีร์เป็นคุรุศาสดาตลอดกาล

คัมภีร์[แก้]

สำหรับชาวซิกข์แล้ว มีคัมภีร์หลักสำคัญเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือ คุรุกรันตสาหิบ หรือ คุรุครันถ์ซาฮิบ (Guru Granth Sahib) บางครั้งก็เรียกอีกชื่อว่า อาทิกรันตะ หรือ อาทิ ครันถ์ (Ādi Granth)[10] ตามกาลภาพจริง ๆ แล้ว “อาทิกรันตะ” (แปลตรงตัวว่า ฉบับแรก) หมายถึง คัมภีร์ชิ้นแรกที่เขียนขึ้นโดยคุรุอรชุน เมื่อ ค.ศ. 1604[11] ส่วนคุรุกรันตสาหิบ หมายถึง คัมภีร์รุ่นสุดท้ายที่เพิ่มเติมและรวบรวมจนสมบูรณ์โดยคุรุโควินทสิงห์[10][12] คุรุกรันตสาหิบนั้นยกย่องให้เป็นคัมภีร์ที่เชื่อว่าจริงเสมอตลอดกาล (อกาล) และไม่สามารถโต้แย้งได้ (unquestionable) อย่างไรก็ตาม ศาสนาซิกข์ก็มีคัมภีร์อีกเล่มที่ยกย่องให้ว่าสำคัญเป็นอันดับสอง คือ “ทสัมกรันตะ” หรือ ทาซาม ครันถ์ (Dasam Granth)[10]

นิกาย[แก้]

ในศาสนาซิกข์แบ่งออกเป็นหลายนิกาย แต่มีนิกายที่สำคัญ ๆ ๒ นิกาย คือ นิกายนานักปันถิ แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามธรรมของท่านคุรุนานัก (ศาสดาองค์แรก) ผู้นับถือนิกายนี้จะไม่เข้าปาหุล หรือ ล้างบาป และไม่รับ “ก” ทั้ง ๕ ประการ

นิกายนิลิมเล แปลว่า นักพรตผู้ปราศจากมลทิน บางแห่งเรียกนิกายนี้ว่า “นิกายขาลสา” หรือ “นิกายสิงห์” ผู้นับ ถือนิกายนี้จะดำเนินตามคำสอนของท่านคุรุโควินทร์สิงห์ (ศาสดาองค์ที่ ๑๐) โดยเฉพาะในเรื่องปาหุล หรือล้างชำระล้าง บาป ให้ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ (ขาลสา) และเมื่อรับ “ก” ทั้ง ๕ แล้วก็ใช้นามสิงห์ต่อท้ายได้

นิกายอุทาสี หมายความว่า ผู้วางเฉยต่อโลก

นิกายอกาลี คือ ผู้บูชาพระผู้เป็นเจ้านิรันดร

นิกายสุธเร คือ นักพรตผู้บริสุทธิ์

นิกายทิวเนสาธุ หมายถึง นักบุญผู้เมา (ในพระเจ้า)

นิกายริมเลสาธุ หมายถึง นักบุญผู้ไม่มีมลทิน

นิกายนามธารี แปลว่า ผู้ทรงไว้ หรือผู้เทิดทูลพระนามของพระเจ้า หรือผู้มั่นอยู่ในนามของพระเจ้า ผู้นับถือนิกายนี้จะแต่งตัวขาวล้วน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มของมึนเมา ไม่กินเนื้อสัตว์ กระนั้นก็ตามนิกายอื่น ๆ ที่มิได้กล่าวถึงในที่นี้กว่า ๒๐ นิกายล้วนมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย[13]

ศาสนสถาน[แก้]

ภายในครุทวาราสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา กรุงเทพมหานคร

ศาสนสถานของศาสนาซิกข์เรียกว่า คุรุทวารา หรือคนไทยบางคนเรียกว่า โบสถ์ซิกข์, วัดซิกข์ โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่วิหารทองคำ "หริมันทิรสาหิบ" หรือ สุวรรณวิหาร ตั้งอยู่ในเมืองศักดิ์สิทธิ์อมฤตสาร์ ในแคว้นปัญจาบ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งโดยคุรุรามดาส คุรุศาสดาองค์ที่สาม

ในประเทศไทย[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Singh, Khushwant (2006). The Illustrated History of the Sikhs. India: Oxford University Press. p. 15. ISBN 978-0-19-567747-8.
  2. Nabha, Kahan. Sahib Singh (1930). Gur Shabad Ratnakar Mahan Kosh (ภาษาปัญจาบ). p. 720. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 March 2005. สืบค้นเมื่อ 29 May 2006. (ปัญจาบ)
  3. Nesbitt, Eleanor M. (2005). Sikhism: a very short introduction. Oxford University Press. pp. 21–23. ISBN 978-0-19-280601-7.
  4. Nirbhai Singh (1990). Philosophy of Sikhism: Reality and Its Manifestations. Atlantic Publishers. pp. 1–3.
  5. Opinderjit Kaur Takhar (2016). Sikh Identity: An Exploration of Groups Among Sikhs. Taylor & Francis. p. 147. ISBN 978-1-351-90010-2.
  6. http://www.bbc.com/religion/religions/sikhism/
  7. W.Owen Cole; Piara Singh Sambhi (1993). Sikhism and Christianity: A Comparative Study (Themes in Comparative Religion). Wallingford, United Kingdom: Palgrave Macmillan. p. 117. ISBN 0333541073.
  8. ศาสนาสิกข์ สะกด ส.เสือ เก็บถาวร 2009-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สารานุกรมสำหรับเยาวชน เครือข่ายกาญจนาภิเษก (เขียนได้สองแบบความหมายเดียวกัน(จาก*ลิ*))
  9. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (สืบค้นออนไลน์) เก็บถาวร 2009-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 365
  10. 10.0 10.1 10.2 Christopher Shackle and Arvind Mandair (2005), Teachings of the Sikh Gurus, Routledge, ISBN 978-0415266048, pp. xvii–xx
  11. William Owen Cole and Piara Singh Sambhi (1995), The Sikhs: Their Religious Beliefs and Practices, Sussex Academic Press, ISBN 978-1898723134, pp. 45–46
  12. William Owen Cole and Piara Singh Sambhi (1995), The Sikhs: Their Religious Beliefs and Practices, Sussex Academic Press, ISBN 978-1898723134, pp. 49–50
  13. http://www.dra.go.th/ewtadmin/ewt/dra_buddha/main.php?filename=singh_2[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]