ก้านกล้วย 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ก้านกล้วย 2
ใบปิดภาพยนตร์ ซึ่งมีตัวละครต่าง ๆ มีข้อความว่า ศึกครั้งนี้มี "ประเทศชาติ" และ "ครอบครัว"เป็นเดิมพัน
กำกับทวีลาภ ศรีวุฒิวงศ์
บทภาพยนตร์จรูญพร ปรปักษ์ประลัย
อมราพร แผ่นดินทอง
เนื้อเรื่องจรูญพร ปรปักษ์ประลัย
พรสวรรค์ ศรีบุญวงษ์
ทวีลาภ ศรีวุฒิวงศ์
อัจฉรา กิจกัญจนาสน์
อมราพร แผ่นดินทอง
นักแสดงนำอรรถพร ธีมากร
แอน ทองประสม
วรุฒ วรธรรม
มนตรี เจนอักษร
นนทรีย์ นิมิบุตร
อภิรดี ภวภูตานนท์
นัฏฐา ลอยด์
สุเทพ โพธิ์งาม
ดนตรีประกอบอรรถพร ทีมากร
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายกันตนาแอนิเมชัน
วันฉาย26 มีนาคม พ.ศ. 2552
ความยาว95 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ทุนสร้าง120 ล้านบาท[1]
ทำเงิน79 ล้านบาท[1][2]
ก่อนหน้านี้ก้านกล้วย
ข้อมูลจากสยามโซน

ก้านกล้วย 2 เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติประเภทอิงประวัติศาสตร์แนวจินตนิมิต, ผจญภัยของไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2552 นับเป็นภาพยนตร์ภาคต่อของ ก้านกล้วย ที่ออกฉายใน พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยทวีลาภ ศรีวุฒิวงศ์ ผลิตและจัดจำหน่ายโดยกันตนาแอนิเมชัน มีเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อว่า "ทางที่ต้องเดิน" ขับร้องโดยอรรถพร ธีมากร ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องราวต่อจากภาคแรกว่า หลังจากสงครามยุทธหัตถี ก้านกล้วยและชบาแก้ว ได้ให้กำเนิดลูกแฝดชื่อ "ต้นอ้อ" กับ "กอแก้ว" แต่ลูกช้างแฝดนั้นถูกทหารหงสาวดีจับไปเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ทำให้ก้านกล้วยต้องตัดสินใจเลือกทางเดินระหว่างครอบครัวกับประเทศชาติบ้านเมือง เนื้อเรื่องบางส่วนสร้างจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย คือเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพเข้าตีกรุงหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2138 ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้งบประมาณในการสร้าง 120 ล้านบาท แต่ทำรายได้เพียง 79 ล้านบาท

ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากประวัติศาสตร์ไทยเช่นเดียวกับภาพยนตร์ภาคแรก แต่ก็มีข้อแตกต่างกันคือ ภาพยนตร์ภาคแรกนั้น จะสื่อให้เห็นถึงธรรมชาติอันสวยงามและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยอยุธยา และยังเน้นเรื่องราวประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ส่วนภาพยนตร์ภาคนี้จะเป็นแนวแฟนตาซี เพื่อให้มีความสนุกสนามบันเทิงมากขึ้น เช่น มีตัวละครพ่อมดร้าย ผีดิบ เวทมนตร์ และภูตผีวิญญาณ และไม่ค่อยเน้นเนื้อหาในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับไสยศาสตร์และมนตร์ดำอีกด้วย

ภาพยนตร์มีเพลงประกอบชื่อว่า "ทางที่ต้องเดิน" ขับร้องโดย อรรถพร ธีมากร ผู้พากย์เสียงก้านกล้วยซึ่งเป็นตัวละครหลักของภาพยนตร์ เพลงนี้แต่งโดยคงเดช จาตุรันต์รัศมี และมิวสิกวิดีโอกำกับโดยปวีณ ภูริจิตปัญญา

เนื้อเรื่อง[แก้]

หลังจากสงครามยุทธหัตถี แม้กรุงศรีอยุธยาจะได้รับเอกราช แต่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ไม่ทรงยอมแพ้ ยกรี้พลมาตีอยุธยา ก้านกล้วย หรือเจ้าพระยาปราบหงสาวดี ช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวร จึงต้องออกศึกอยู่บ่อยครั้ง ไม่มีเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวมากนัก ชบาแก้ว ภรรยาของเขาน้อยใจ จึงหนีไปคลอดลูกที่หมู่บ้านหินขาว โดยมีแสงดา แม่ของก้านกล้วย และจิ๊ดริด นกพิราบสื่อสารประจำอยุธยา ติดตามไปด้วย

สองปีผ่านมา จิ๊ดริดกลับมาแจ้งข่าวแก่ก้านกล้วยว่า บัดนี้ ชบาแก้วได้คลอดลูกแฝด ชื่อต้นอ้อ และกอแก้ว ก้านกล้วยก็คิดว่า ลูก ๆ คงไม่ทราบว่าพ่อของพวกเขาเป็นใคร ขณะเดียวกัน ทหารหงสาวดี ได้ยกกำลังพลมาตีหมู่บ้านหินขาว เพื่อจับผู้คนและสัตว์ไปเป็นเชลย พวกเขาได้เผาบ้านที่ครอบครัวชบาแก้วอาศัยอยู่ ทั้งหมดหนีออกมาได้ แต่เหลือกอแก้วยังติดอยู่ในบ้านที่ถูกไฟไหม้ แสงดาได้เข้าไปช่วยกอแก้วออกมาได้ แต่ตัวเองต้องถูกไฟเผาถึงแก่ความตาย ส่วนชบาแก้ว ต้นอ้อ และกอแก้ว ได้ถูกพวกทหารจับไปขังไว้ โดยชบาแก้วเป็นช้างแรงงาน ส่วนลูกแฝดจะถูกนำไปเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ในพิธีบูชาสวรรค์ จิ๊ดริดมาแจ้งเรื่องดังกล่าวแก่ก้านกล้วย ก้านกล้วยเสียใจจึงตัดสินใจหนีทัพ กลับไปช่วยเหลือครอบครัว

ก้านกล้วยมาถึงกรุงหงสาวดี และแอบลักลอบเข้าไปในพระราชวังกัมโพชธานีสำเร็จ ก้านกล้วยได้พบลูกแฝด ขณะที่เขากำลังพาลูก ๆ หลบหนีนั้น อองสา มหาอำมาตย์จอมเวทมนตร์แห่งหงสาวดี เข้ามาจับทั้งสามไว้ได้ และนำเข้าพิธีบูชาสวรรค์ ขณะกำลังจะถูกฆ่าเพื่อสังเวยทวยเทพนั้นเอง ก้านกล้วยได้พังกรงหนีออกมาและพยายามช่วยลูกแฝดอย่างสุดกำลัง ทว่า งานิล นายทัพช้างหงสาวดี ลูกชายของงวงแดงที่ถูกก้านกล้วยฆ่าตายคราวสงครามยุทธหัตถี ก็เข้าจู่โจม งานิลสาบานว่าจะสังหารก้านกล้วย เพื่อล้างแค้นแทนงวงแดงผู้เป็นบิดา ก้านกล้วยเอาชนะงานิลได้ และพาลูก ๆ หนีออกจากวัง ระหว่างนั้นเอง สามทหารเสือของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็มาถึง หนึ่งในนั้นขว้างระเบิดใส่พิธีบูชาสวรรค์จนพังทลาย งานิลและทหารจำนวนมากถูกระเบิดตายในเวลานั้น เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงทรงพระพิโรธ จึงทรงปลงพระชนม์พระสุพรรณกัลยา พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระนเรศวร องค์ประกันของพระองค์ พร้อมด้วยพระโอรส

ต่อมา ก้านกล้วยและลูกแฝดมาถึงค่ายเชลยโยเดีย เพื่อช่วยเหลือชบาแก้ว ชบาแก้วพลาดท่าบาดเจ็บ ก้านกล้วยช่วยเธอไว้ได้ และกำลังจะพาหนี แต่ทว่า ทหารหงสาวดีได้ขัดขวางไว้ สามทหารเสืออยุธยามาถึงที่นั่นโดยฉับพลัน เพื่อช่วยเหลือเชลยทั้งหมด สามทหารเสือเอาชนะนายกองหงสาวดีได้ และปลดปล่อยเหล่าเชลยทั้งหลายออกจากค่ายเชลยสำเร็จ มาจนถึงสะพานหมื่นศพ นางออกเมืองหงสาวดี แต่ทหารหงสาวดีก็ไม่ยอมแพ้ ตามมาอย่างติดเพื่อเข่นฆ่าพวกเขา ก้านกล้วยช่วยทั้งหมดไว้ได้ โดยนายทหารเสือได้วางระเบิดตรงสะพานหมื่นศพ จนเหล่าทหารหงสาวดีตายทั้งหมด ก้านกล้วยจึงกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัวอีกครั้ง

ต่อมาไม่นาน ก้านกล้วยถูกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตัดสินประหารชีวิต เนื่อจากหนีทัพในยามศึกสงคราม แต่ก่อนที่จะเป็นไปดังนั้น มหาอำมาตย์อองสา ได้ปลุกผีดิบทหารหงสาวดีขึ้นมาจู่โจมค่ายอยุธยา ฝ่ายอยุธยาตั้งแนวป้องกันไว้อย่างสุดกำลัง ก้านกล้วยได้ช่วยสมเด็จพระนเรศวรไว้จากการถูกปลิดพระชนม์ ทำให้พระองค์ร่วมสู้กับเขาอีกครั้ง อองสาปลุกผีดิบงานิล เข้าโจมตีก้านกล้วย ก้านกล้วยพยายามเอาชนะงานิล แต่ไม่สามารถต่อกรกับพละกำลังอันมหาศาลของงานิลได้เลย ชบาแก้วและลูกช้างแฝดเข้ามาช่วยต่อกรกับงานิล โดยชบาแก้วบอกก้านกล้วยว่า เราเป็นครอบครัวเดียวกัน จากนั้น งานิลกำลังจะปลิดชีพลูกช้างแฝดนั้น ก้านกล้วยได้เข้ามาขวางจึงถูกงานิลแทงด้วยงาจนสิ้นสติ ขณะเดียวกัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปีนเขาสำเร็จและทรงใช้พระแสงดาบแทงไม้เท้าเวทย์ของอองสา จนเหล่าผีดิบทั้งปวงกายสลาย เหลือเพียงวิญญาณ กลับเข้ารุมอองสาจนสิ้นใจ ส่วนงานิล ก่อนที่ร่างจะสลายนั้น ได้คิดว่า ตนฆ่าก้านกล้วย และชำระแค้นให้พ่อเป็นผลสำเร็จแล้ว

ต่อมา ก้านกล้วยที่หมดสติ นิมิตเห็นตนเองอยู่บนสรวงสวรรค์ ได้พบและกราบภูผาและแสงดา บิดามารดาของเขาอีกครั้ง แต่ ต้นอ้อและกอแก้วได้เรียกก้านกล้วยอย่างเต็มปากว่า "พ่อ" ก้านกล้วยจึงฟื้นคืนสติอีกครั้ง และกลับมารวมตัวกับครอบครัว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงตรัสอภัยโทษแก่ก้านกล้วย เนื่องจากคุณงามความดีในครั้งนี้ และทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าพระยาปราบหงสาวดี ช้างทรงคู่บารมีตามเดิม หลังจากนั้น กรุงศรีอยุธยาก็สันติ ไม่ถูกพม่ารุกรานอีกนับร้อยปี

งานพากย์[แก้]

ภาพยนตร์ พ.ศ. 2552
ตัวละคร ให้เสียงพากย์ไทย
ก้านกล้วย อรรถพร ธีมากร
ชบาแก้ว แอน ทองประสม
จิ๊ดริด วรุฒ วรธรรม
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มนตรี เจนอักษร
อองสา
พระเจ้านันทบุเรง นนทรีย์ นิมิบุตร
พระสุพรรณกัลยา อภิรดี ภวภูตานนท์
แสงดา นัฏฐา ลอยด์
งานิล ทวีลาภ ศรีวุฒิวงศ์
พระเอกกษัตรี
นายผอม กริน อักษรดี
นายล่ำ รบ เพชรประสิทธิ์
นายอ้วน พรสวรรค์ ศรีบุญวงษ์
ควาญนุ
หัวหมู่พม่า วสันต์ พัดทอง
คุณตามะหูด สุเทพ โพธิ์งาม
ดุ๊ยดุ่ย ด.ช.อัญญาฤทธิ์ พิทักษ์ติกุล
กอไผ่ ด.ช.ประสิทธิโชค มานะสันธชาติ
ส้มจื้ด ด.ญ.ปัณฑารีย์ เตียรถ์สุวรรณ
ใบบอน ด.ช.ดรัณย์ ตันติวิชิตเวช
ข้าวเม่า ด.ช.นพรุจ คุณยิ่งใหญ่
ต้นอ้อ ด.ช.เปรมปารัช ทองใหญ่ ณ อยุธยา
กอแก้ว ด.ญ.ปริมปารัช ทองใหญ่ ณ อยุธยา
พระโอรส ด.ช.ศิลป์พีระ นาคจำรัสตรี

ข้อแตกต่างระหว่างภาพยนตร์กับประวัติศาสตร์[แก้]

- ตัวละครท่านมหาอำมาตย์อองสา ไม่มีตัวตนจริง และมิได้มีอำมาตย์พม่าคนไหนมีวิชาทางไสยศาสตร์เลย แต่คนสนิทของพระเจ้านันทบุเรง คือพญาแก่นท้าว ซึ่งก็ไม่ได้เป็นหมอผีหรือมีวิชาเวทย์ใดๆ เลย

- ในประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวว่าพระเจ้านันทบุเรงทรงมีพระคชาธารคู่พระทัย แต่ในภาพยนตร์กลับมีพระคชาธารคู่พระทัยนามว่า "พลายงานิล" ซึ่งเป็นลูกชายของพลายงวงแดงหรือพลายพัทธกอ และในประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้กล่าวว่าพลายพัทธกอมีลูก แสดงให้เห็นว่าพลายงานิลนั้นไม่มีตัวตนจริงอย่างแน่นอน

- ในประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระคชาธารนามว่า "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี" หรือในภาพยนตร์ว่า "ก้านกล้วย" ในการบุกเข้าตีเมืองหงสาวดีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๘ เพื่อปลดปล่อยเชลย แต่ในภาพยนตร์ก้านกล้วยนั้นได้หนีทัพไปช่วยชีวิตลูกๆ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรต้องทรงพระคชาธารของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งมีนามว่า "เจ้าพระยาปราบไตรจักร" หรือ "พลายบุญเรือง"

- ในบันทึกพงศาวดารทั้งของไทยและพม่าไม่มีหลักฐานปรากฏว่าพระสุพรรณกัลยาทรงเป็นมเหสีของพระเจ้านันทบุเรง และประสูติพระโอรส มีเพียงคำบอกเล่าและนิยายอิงประวิติศาสตร์เท่านั้น

- ฉากพิธีบูชาสวรรค์ของหงสาวดีไม่ได้ปรากฏในบันทึกพงศาวดาร และไม่มีแม้แต่คำบอกเล่า

- พระสุพรรณกัลยาถูกพระเจ้านันทบุเรงปลงพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2135 หลังสงครามยุทธหัตถี โดยพระสุพรรณกัลยามีพระชนมายุได้ 40 พรรษา แต่ในภาพยนตร์เหตุการณ์นี้กลับเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2138

- เจ้าพระยาปราบหงสาวดีตามความเป็นจริงไม่ได้ปรากฏว่ามีลูกหรือภรรยา

- ตามความเป็นจริงลักไวทำมู (วสันต์) ควรถูกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแทงเสียชีวิตก่อนสงครามยุทธหัตถี แต่ในภาพยนตร์ภาคนี้กลับมาปรากฏตัวหลายฉาก

- ฉากสงครามครั้งกองทัพผีดิบบุกพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้มีอยู่จริงทั้งในพงศาวดารและคำบอกเล่า แต่ถูกแต่งเพิ่มขึ้นมาในภาพยนตร์เพื่ออรรถรสเท่านั้น

- งูเห่ายักษ์ปีศาจลูกสมุนของท่านอองสาไม่มีตัวตนจริง

- เจ้าพระยาปราบหงสาวดีเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2139 มิใช่ พ.ศ. 2138 และก็ไม่ได้ฟื้นคืนชีพแบบในภาพยนตร์ แต่ถูกแต่งเพื่ออรรถรส

- คุณตามะหูดและควาญนุควรถูกทหารพม่ายิงตายตั้งแต่สงครามยุทธหัตถีในภาคแรก

- กลุ่มช้างเด็กที่ไปผจญภัยในกรุงหงสาวดีซึ่งมี ดุ๊ยดุ่ย, ส้มจี๊ด, ข้าวเม่า, ใบบอน และกอไผ่ ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่ถูกแต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนาน

- ในประวัติศาสตร์หนึ่งในสามทหารเสือต้องมีคนตาบอดหนึ่งคน และถูกประหารชีวิตก่อน พ.ศ. 2138 อีกหนึ่งคน แต่ถูกแต่งให้มีบทบาทในการบุกหงสาวดีเพื่ออรรถรส

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "๙ ศาสตรา กับตำนานแอนิเมชันไทย". ลงทุนแมน. 20 มกราคม 2018. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020.
  2. หนังไทยไตรมาสสี่ เก็บถาวร 2009-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน deknang.com

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]