ปังปอนด์
ปังปอนด์ หรือ ไอ้ตัวเล็ก | |
---|---|
เป็นที่รู้จักกันในชื่อ | PangPond |
ประเภท | ตลก |
เนื้อเรื่องโดย | ภักดี แสนทวีสุข |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | ช่อง 3 ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชัน ตอน ตะลุยโลกอนาคต (พฤษภาคม - กันยายน 2545) ปังปอนด์ เดอะซี่รี่ส์ (ประมาณปี 2546) ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญโลกแมลง (สิงหาคม - ธันวาคม 2547) ปังปอนด์ ตะลุยโลกหิมพานต์ (กันยายน - ธันวาคม 2549) ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่ (เมษายน - มิถุนายน 2552) ปังปอนด์จอมป่วน (กันยายน 2553 - ปัจจุบัน) ปังปอนด์ครอบครัวรักษ์โลก |
การแสดงที่เกี่ยวข้อง | |
ไอ้ตัวเล็ก 317 ฉบับ (ปัจจุบัน) ปังปอนด์ เดอะ คอมมิคส์ 89 เล่ม |
ปังปอนด์ เป็นชื่อชุดการ์ตูนไทยซึ่งเป็นผลงานของ ภักดี แสนทวีสุข (ต่าย ขายหัวเราะ) เดิมใช้ชื่อการ์ตูนชุดนี้ว่า ไอ้ตัวเล็ก[1] เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมหาสนุกในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2532 ต่อมาจึงได้พิมพ์รวมเล่มในชื่อ "ไอ้ตัวเล็ก" โดยทยอยออกเป็นรายเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อหัวหนังสือใหม่เป็น "ปังปอนด์" และมีคำว่า "ไอ้ตัวเล็ก" อยู่ข้างบน ตามชื่อตัวละครเอกของการ์ตูนชุดนี้ ต่อมา การ์ตูนเรื่องปังปอนด์ได้รับการดัดแปลงไปเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ และ 3 มิติ ในปี พ.ศ. 2565 เพราะปัญหาเศรษฐกิจทางบรรลือสาสน์ได้ยกเลิกการวางจำหน่ายนิตยสารรายประจำในเครือทั้งหมดไปอย่างเงียบๆ[2]รวมถึงนิตยสาร ปังปอนด์ ด้วย โดยฉบับสุดท้ายที่วางจำหน่ายคือ ฉบับที่ 317 มีนาคม 2564 [3]
ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น
[แก้]การ์ตูนชุดปังปอนด์ได้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยบริษัท วิธิตา แอนิเมชัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบันลือกรุ๊ป (เครือเดียวกับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น) ในชื่อ "ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชัน ตอน ตะลุยโลกอนาคต" ออกฉายครั้งแรกเป็นตอน ๆ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 ได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างสูง จากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในดาราการ์ตูนชั้นนำของไทย และได้มีการตัดต่อใหม่สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี การ์ตูนชุดปังปอนด์ ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้นับได้ว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างด้วยภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก 3 มิติตลอดทั้งเรื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาภาพยนตร์แอนิเมชันในประเทศไทยล้วนแต่เป็นภาพแบบ 2 มิติทั้งสิ้น และยังเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยเรื่องแรก ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ หลังจากนั้นบริษัท วิธิตายังได้สร้างการ์ตูนแอนิเมชันชุด ปังปอนด์ ต่อเนื่องออกมาหลายชุดจนถึงปัจจุบัน โดยการ์ตูนแอนิเมชันชุดล่าสุดคือ "ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่"
ในเดือนสิงหาคม 2546 การ์ตูนปังปอนด์ เดอะซีรีส์ ในรูปแบบ 2 มิติ ออกมาสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมอีกเช่นเคย พร้อมกับการเปิดตัวเพลงที่มีเนื้อหาสรรสร้างสังคม
ปังปอนด์ได้สร้างความสนุกสนานในรูปแบบกิจกรรมปรากฏอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อร่วมสร้างสีสัน และความสนุกสนานให้กับผู้ชม รวมถึงกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ค่านิยมของสังคมไทย เช่น การเข้าร่วมสืบทอดประเพณี ร่วมรดน้ำดำหัวศิลปินอาวุโส เนื่องในวันปีใหม่ไทย
และในเดือนมีนาคม 2551 ดาราการ์ตูนปังปอนด์ ได้รับการแต่งตั้งจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่ง “ยุวทูตลดโลกร้อน” ในการช่วยรณรงค์การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนไปสู่เด็กและเยาวชน
ด้วยความสำเร็จดังกล่าว วันนี้กองทัพสินค้าปังปอนด์จึงยังคงได้รับความนิยมจากเยาวชน จากกระแสการตอบรับการ์ตูนไทยของผู้ชมในเมืองไทย
ในเดือน กันยายน 2551 บริษัท เน็ท ลีดเดอร์ โฮลดิ้งส์ บริษัทที่ให้บริการทางด้านดิจิตอลมีเดีย ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์และมีเครือข่ายอยู่ในยุโรป, จีน สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย ร่วมสนับสนุนคาแรกเตอร์ไทยอย่าง “ปังปอนด์” ให้ไปแสดงผลงาน แอนิเมชั่นไทยสู่เอเชียแปซิฟิก
ในเดือน สิงหาคม 2552 ปังปอนด์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ยุวทูตวัยใส” เพื่อร่วมรณรงค์ลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีให้แก่คนไทยในระยะยาว[4]
ตัวละคร
[แก้]ตัวละครดั้งเดิม
[แก้]- ปังปอนด์
- เด็กชายผมสามเส้น มีนิสัยซุกซน มองโลกเหมือนกับเป็นสวนสนุก มีเรื่องต้องเล่นมากมาย แต่ความขี้เล่นของเขาบางครั้งไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น อายุ 5 ขวบ
- นินจา
- น้องชายของปังปอนด์ อายุอ่อนกว่าปังปอนด์ 2 ปี จุดเด่นคือมีเส้นผม 2 เส้น ในการตูนชุดไอ้ตัวเล็กระบุว่าชาติก่อนนินจาเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ แต่เพราะความป่วนของปังปอนด์ได้ทำให้เขาต้องจุติลงมาเกิดเป็นน้องชายของปังปอนด์ในเวลาต่อมา
- กุ้ง
- ภรรยาของต่าย อายุ 30 ปี (ในปังปอนด์ แม่กุ้งจะเป็นผอมสูง 178 ไว้ผมยาว ส่วนในการ์ตูนสามช่องจบ แม่กุ้งจะเป็นผู้หญิงอ้วนไว้ผมหยิก ชอบใส่เสื้อลายจุด)
- มิ้งค์
- หลานสาวของต่าย อายุ 11 ปี แต่นับถือพ่อต่ายและแม่กุ้งเหมือนพ่อแม่ตัวเอง
- หูตูบ
- สุนัขที่ชอบมาเล่นกับปังปอนด์ตอนเด็กๆ ปรากฏอยู่ในการ์ตูนชุดไอ้ตัวเล็กระยะแรก ๆ
- บิ๊ก
- สุนัขพันธุ์บางแก้ว สัตว์เลี้ยงของปังปอนด์ อายุ 2 ขวบ
- หนุมาน
- เป็นตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์" ที่ข้ามมิติมามีบทบาทร่วมกับปังปอนด์และนินจา ปรากฏอยู่ในไอ้ตัวเล็กฉบับหนังสือการ์ตูนบางตอน นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนชุดของหนุมานโดยเฉพาะพิมพ์แทรกในหนังสือการ์ตูนชุดไอ้ตัวเล็กด้วย แต่ปัจจุบันได้เลิกตีพิมพ์แล้ว สำหรับในแอนิเมชั่นชุดปังปอนด์ หนุมานได้ปรากฏตัวครั้งแรกใน "ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชัน ตอน ตะลุยโลกอนาคต"
ตัวละครในภาคแอนิเมชัน
[แก้]- ปังปอนด์
- เด็กชายผมสามเส้น มีนิสัยซุกซน มองโลกเหมือนกับเป็นสวนสนุก มีเรื่องต้องเล่นมากมาย แต่ความขี้เล่นของเขาบางครั้งไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น อายุ 5 ขวบ
- บิ๊ก
- สุนัขพันธุ์บางแก้ว สัตว์เลี้ยงของปังปอนด์ อายุ 2 ขวบ
- แสนดี
- เป็นเพื่อนของปังปอนด์ ชอบทำอาหารและชอบแมว แต่แพ้ขนแมว (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ เดอะ ซีรีส์)
- เล่ง, หง
- เป็นฝาแฝดพี่น้อง รักศิลปะการต่อสู้แบบจีน (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ เดอะ ซีรีส์)
- ไทซัน
- เป็นคนที่ชอบใช้กำลัง และกินจุ อายุ 6 ขวบ (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ เดอะ ซีรีส์)
- ต่าย
- สามีของกุ้ง อายุ 34 ปี ทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับบอกอวิติ๊ด
- กุ้ง
- ภรรยาของต่าย อายุ 25 ปี (ในปังปอนด์ แม่กุ้งจะมีลักษณะผอม มีส่วนสูงมากถึง 180 ไว้ผมยาว)
- กำแหง
- เป็นพ่อของไทซัน อดีตเคยเป็นนักมวยมาก่อน อายุ 35 (ปรากฏครั้งแรกใน ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญภัยโลกแมลง)
- ครูไม้เลี้ยว
- ครูอดีตก่อนโรงเรียนมหาสนุกเดอะสคูลเคยมาก่อน (ในปังปอนด์ ผมยาวที่มีหกเส้น ไว้ผมยาว)
แอนิเมชันของปังปอนด์ในชุดต่าง ๆ
[แก้]- ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น ตอน ตะลุยโลกอนาคต (ในรูปแบบ 3 มิติ)
- ปี พ.ศ. 2545 ออกอากาศทางช่อง 3 , เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ IMAX THEATER
- ปี พ.ศ. 2546 ออกอากาศที่ประเทศฮ่องกง ผ่าน ฮ่องกง เคเบิลทีวี และติด 1 ใน 20 รายการยอดนิยม
- ปังปอนด์ เดอะซีรีส์ (ในรูปแบบ 2 มิติ)
- ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญโลกแมลง (ในรูปแบบ 3 มิติ)
- กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ออกอากาศทางช่อง 3
- พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ออกอากาศที่ประเทศฮ่องกง ผ่าน ฮ่องกง เคเบิลทีวี
- ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ตะลุยป่าหิมพานต์ (ในรูปแบบ 3 มิติ)
- ปังปอนด์ “ลดโลกร้อน กับ ปังปอนด์” (ในรูปแบบตูนเฉด เป็นทคนิคผสมระหว่าง 2D และ 3D)
- ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่ (ในรูปแบบ 3 มิติ)
- ปังปอนด์จอมป่วน (ในรูปแบบ 2 มิติ)
- ปังปอนด์กับก๊วนชวนสงสัย
การตอบรับ
[แก้]ปังปอนด์ได้รับรางวัลการ์ตูนแอนิเมชั่นดีเด่น สำหรับเยาวชนจากสำนักงานส่งเสริมเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2545-2546 และรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชนดีเด่น สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม ประจำปี 2547 จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ปังปอนด์เป็นตัวการ์ตูนไทยชุดแรก ที่ได้รับเลือกลงพิมพ์บนตราไปรษณียากร เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2546 [1] จากการที่ปังปอนด์ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศให้ดำรงตำแหน่งเพื่อนยุวทูตความดี ตั้งแต่ปี 2546
ตัวละครปังปอนด์ ยังได้รับความนิยมที่ประเทศจีน และทางรัฐบาลจีนได้เลือกให้ตัวละครดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของทูตทางวัฒนธรรม[7]
รางวัลที่ได้รับ
[แก้]- ปี 2545-2546 การ์ตูนแอนิเมชั่นดีเด่น สำหรับเยาวชนจากสำนักงานส่งเสริมเยาวชนแห่งชาติ
- ปี 2546 – ปัจจุบัน ปังปอนด์ได้รับเลือกเป็น เพื่อนยุวทูตความดี จากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการต่างประเทศ
- ปี 2547 บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชนดีเด่น สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม ประจำปี 2547 จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ
- ปี 2551 ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำรงตำแหน่ง “ยุวทูตลดโลกร้อน” รณรงค์เรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนไปสู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว
- ปี 2552 ได้รับการแต่งตั้งจากกรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่งเป็น “ยุวทูตวัยใส” รณรงค์ลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
- TAM Prime Minister Award 2005
- การ์ตูนแอนิเมชั่น 3 มิติ ชุด ปังปอนด์ ดิ แอดเวนเจอร์ ตอน ผจญโลกแมลง ได้รับรางวัล Best Animation for television – TV series ประเภท Long Form
- การ์ตูนแอนิเมชั่น 2 มิติ ชุด ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 Best Animation for television –TV series ประเภท Long Form
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 แสตมป์น่าสนใจในอดีต. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 64
- ↑ หนังสือขายหัวเราะ หายไปไหน?
- ↑ ฉบับ 317 ที่ Meb อีบุ้ค
- ↑ ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น (2002)
- ↑ "ปังปอนด์ ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่" หรือ "PangPond Hero Begins". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
- ↑ "ปังปอนด์จอมป่วน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
- ↑ สามทหาร. นักวาดการ์ตูนไทยยังไม่ตาย. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1713. 14-20 มิถุนายน พ.ศ. 2556. ISSN 1686-8196. หน้า 33
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการของการ์ตูนชุดปังปอนด์
- เว็บไซต์ปังปอนด์ตัวจิ๋ว หัวใจฮีโร่ เก็บถาวร 2016-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- “ปังปอนด์” แอนิเมชั่นไทย แชร์ตลาดแอนิเมชั่นโลก[ลิงก์เสีย] จากนิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 72 ประจำเดือนตุลาคม 2551