การล้อมตันฉอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การล้อมตันฉอง
ส่วนหนึ่งของ การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ 2

แผนที่แสดงการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งแรกและครั้งที่ 2
วันที่มกราคม – กุมภาพันธ์ ค.ศ. 229[1]
สถานที่
ผล วุยก๊กชนะ
คู่สงคราม
วุยก๊ก จ๊กก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เฮ็กเจียว จูกัดเหลียง
กำลัง
1,000[2] 40,000[3]-50,000[4]
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
การล้อมตันฉอง
อักษรจีนตัวเต็ม陳倉之圍
อักษรจีนตัวย่อ陈仓之围

การล้อมตันฉอง (จีน: 陳倉之圍) เป็นยุทธการระหว่างรัฐจ๊กก๊กและวุยก๊กในช่วงปลายปี ค.ศ. 228 ถึงต้นปี ค.ศ. 229 ในยุคสามก๊กของจีน เป็นการบุกขึ้นเหนือที่นำโดยจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งจ๊กก๊กเพื่อบุกวุยก๊กเป็นครั้งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งความพยายามจะเบี่ยงเบนทัพวุยก๊กออกจากมณฑลเกงจิ๋วหลังยุทธการที่เซ็กเต๋งระหว่างวุยก๊กและง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรของจ๊กก๊ก การล้อมสิ้นสุดลงเมื่อทัพจ๊กก๊กถอยทัพหลังยึดตันฉองไม่สำเร็จ

ภูมิหลัง[แก้]

ในปี ค.ศ. 228 ภายหลังจากง่อก๊กเอาชนะวุยก๊กในยุทธการที่เซ็กเต๋ง วุยก๊กจึงระดมกำลังทหารไปเสริมกำลังด้านตะวันออก จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กหวังจะใช้โอกาสนี้บุกโจมตีอาณาเขตของวุยก๊ก ก่อนที่จูกัดเหลียงจะเริ่มแผนปฏิบัติการ โจจิ๋นแห่งวุยก๊กได้คาดการณ์เส้นทางการบุกของจูกัดเหลียงไว้ว่าจะมาทางตันฉอง และแนะนำให้เฮ็กเจียวสร้างป้อมปราการที่ตันฉอง โจจิ๋นให้คำมั่นกับจักรพรรดิโจยอยเรื่องการป้องกันการบุกที่อาจจะเกิดขึ้นจากจ๊กก๊ก อย่างไรก็ตาม เฮ็กเจียวมีทหารใต้บังคับบัญชาที่ตันฉองเพียง 1,000 นาย การคาดการณ์เส้นทางเดินทัพเกิดขึ้นหลังจากจูกัดเหลียงพ่ายแพ้ในการบุกวุยก๊กครั้งแรกเมื่อต้นปีนั้น[5]

ยุทธการ[แก้]

เบื้องต้น[แก้]

หลังความล้มเหลวในยุทธการที่เขากิสานและเกเต๋ง จูกัดเหลียงก็เปลี่ยนเป้าหมายการโจมตีเป็นที่ตันฉองตามที่โจจิ๋นคาดการณ์ไว้ จูกัดเหลียงเตรียมการอย่างถี่ถ้วน เตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการปิดล้อมและกำลังทหารนับแสนนาย แม้ว่านายทหารบางนายเช่นอุยเอี๋ยนจะแนะนำให้ใช้เส้นทางอื่น แต่จูกัดเหลียงก็ตั้งใจที่จะยกไปตามหุบเขาเจียหลิง (嘉陵) ซึ่งจะออกทางตอนเหนือซึ่งแม่น้ำอุยโหมีช่วงกว้างที่ไหลผ่านบริเวณใกล้เคียงของตันฉอง จูกัดเหลียงวางแผนจะยึดตันฉองสำหรับเป็นศูนย์กลางสำหรับปฏิบัติการทางการทหารต่อไปในการเข้ายึดนครเตียงฮัน

ทัพจ๊กก๊กไปถึงป้อมปราการของตันฉองในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 238 ซึ่งการป้องกันของวุยก๊กน่าจะยังไม่สมบูรณ์เพราะโจจิ๋นไม่ได้ส่งกำลังเพิ่มเติมมาหนุน เมื่อเริ่มการปิดล้อม จูกัดเหลียงส่งกิมเซียง (靳詳 จิ้น เสียง) สหายของเฮ็กเจียวไปเกลี้ยกล่อมเฮ็กเจียวให้ยอมจำนน เมื่อกิมเซียงเจรจากับเฮ็กเจียวครั้งแรก เฮ็กเจียวปฏิเสธที่จะยอมจำนนโดยพูดว่า "ท่านก็รู้กฎหมายของวุยและท่านก็รู้จักข้าดี ข้าได้รับพระคุณเป็นล้นพ้นจากรัฐของข้าและข้าก็ไม่อาจทิ้งครอบครัวไปได้ ไม่มีอะไรที่ท่านจะพูดได้ กลับไปหาจูกัด (เหลียง) และบอกให้เตรียมเข้าโจมตีเถิด"[6] กิมเซียงกลับรายงานจูกัดเหลียงเรื่องสิ่งที่เฮ็กเจียวพูด จูกัดเหลียงจึงส่งกิมเซียงไปเกลี้ยกล่อมเฮ็กเจียวอีกครั้ง กิมเซียงพูดจากนอกประตูเมืองว่า "กองทัพของเรามีมากนัก ส่วนท่านมีเพียงกองกำลังเล็ก ๆ จะมีประโยชน์อันใดที่จะดิ้นรนอย่างไร้ค่าเพื่อรอความพินาศ" คราวนี้เฮ็กเจียวนำเกาทัณฑ์ขึ้นพาดสายแล้วตอบไปว่า "ข้ายืนกรานในสิ่งที่ข้าบอกท่านไปแล้วก่อนหน้านี้ แม้ข้าจะรู้จักท่าน แต่เกาทัณฑ์ของข้าไม่รู้จักท่าน" เป็นการขู่จะสังหารกิมเซียง กิมเซียงจึงลากลับไป[7] จูกัดเหลียงทราบคำตอบของเฮ็กเจียวดังนั้นจึงเริ่มโจมตีตันฉอง

การล้อม[แก้]

จูกัดเหลียงมุ่งที่จะยึดป้อมปราการโดยตรง จึงสั่งกองกำลังทหารให้ใช้บันไดพาดและไต่ขึ้นกำแพงของตันฉอง แต่เฮ็กเจียวตอบโต้โดยสั่งให้ทหารมือเกาทัณฑ์ยิงเกาทัณฑ์ไฟไปยังบันไดพาด ทำให้บันไดลุกติดไฟคลอกทหารที่อยู่บนบันได ระหว่างนั้นรถกระทุ้งประตูเมืองของจูกัดเหลียงก็มาถึง เฮ็กเจียวจึงรีบสั่งให้ทหารผูกหินกับสายโซ่ แล้วทุ่มหินจากบนกำแพงไปทำลายรถกระทุ้งประตู การตอบสนองอย่างรวดเร็วและความเป็นผู้นำของเฮ็กเจียวทำให้จูกัดเหลียงประหลาดใจ เพราะจูกัดเหลียงไม่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการต้านทานอย่างมั่นคงเช่นนี้

จูกัดเหลียงจึงออกคำสั่งล่าถอยและทบทวนกลยุทธใหม่ เนื่องจากคูเมืองทำให้ยุทโธปรณ์ที่ใช้กับการล้อมเมืองเข้าถึงกำแพงเมืองได้ยาก จูกัดเหลียงจึงตัดสินใจสั่งใหทหารถมคูเมืองเพื่อเพิ่มจุดโจมตี ทหารจ๊กก๊กทำตามคำสั่งของจูกัดเหลียงและเริ่มเตรียมหอรบ เมื่อคูเมืองถูกถมจนราบเรียบ ทหารจ๊กก๊กก็นำยุทโธปกรณ์ปิดล้อมเข้าไปใกล้ป้อมปราการ ทหารราบก็ปีนหอรบขึ้นไปเพื่อขึ้นไปยังบนกำแพง แต่เฮ็กเจียววางแผนโต้กลับด้วยการสร้างกำแพงชั้นในซ้อนกับกำแพงชั้นนอก[8] ตราบใดที่หอรบไม่สามารถผ่านกำแพงชั้นนอกเข้าไป ทหารที่อยู่หอรบแม้จะสามารถขึ้นไปบนกำแพงชั้นนอกได้แต่ก็ไม่สามารถปีนกำแพงชั้นในได้ จึงติดกับอยู่ภายในระหว่างสองกำแพง จึงกลายเป็นเป้ายิงของทหารมือเกาทัณฑ์ของเฮ็กเจียวบนกำแพงชั้นในโดยง่าย หลังล้มเหลวในการตีตันฉองอีกครั้ง จูกัดเหลียงจึงหันไปใช้วิธีให้ทหารขุดอุโมงเข้าไปใต้ป้อมปราการ แต่เฮ็กเจียวก็ให้ทหารขุดคูภายในป้อมปราการเพื่อสกัดไว้[9]

ในที่สุดก็มีข่าวว่าทัพเสริมของวุยก๊กนำโดยเตียวคับยกมาถึง ทัพจ๊กก๊กจึงล่าถอยไป อองสงขุนพลวุยก๊กฉวยโอกาสนี้นำทหารม้าไล่ตามตีข้าศึกไปถึงเทือกเขาฉินหลิ่ง แต่ถุูกจูกัดเหลียงวางกำลังทหารซุ่มโจมตีแล้วถูกสังหาร[5] อีกด้านหนึ่ง เตียวคับคาดการณ์อย่างแม่นยำว่าจูกัดเหลียงจะต้องถอยไปก่อนที่ตนจะยกกำลังไปถึงตันฉอง เตียวคับจึงนำทัพมุ่งไปลำเต๋ง แต่ตามจูกัดเหลียงไม่ทัน

ผลสืบเนื่อง[แก้]

หลังได้รับชัยชนะ เฮ็กเจียวได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียง ราชสำนักมีราชโองการแต่งตั้งให้เฮ็กเจียวมีบรรดาศักดิ์ระดับโหว จักรพรรดิโจยอยยังทรงเรียกเฮ็กเจียวมาเข้าเฝ้าที่ลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก และทรงยกย่องเฮ็กเจียวเป็นอย่างสูงจากความกล้าหาญในการป้องกันตันฉอง อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่นานเฮ็กเจียวก็ป่วยเสียชีวิจระหว่างพำนักอยู่ที่ลกเอี๋ยง

ในปีเดียวกัน ค.ศ. 229 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งที่สาม ครั้งนี้ได้เปลี่ยนเส้นทางโดยส่งตันเซ็กเข้าเมืองเมืองปูเต๋าและอิมเป๋ง[5] กุยห้วยขุนพลวุยก๊กทิ้งเมืองทั้งสองให้ทัพจ๊กก๊กยึดครอง เนื่องจากกุยห้วยเกรงว่าจะถูกตีกระหนาบโดยตันเซ็กและจูกัดเหลียง

อ้างอิง[แก้]

  1. จือจือทงเจี้ยน เล่มที่ 71.
  2. Sawyer (2010), p. 86
  3. Liang, p. 5
  4. Sawyer (2010), p. 89
  5. 5.0 5.1 5.2 ตันซิ่ว. จดหมายเหตุสามก๊ก, เล่มที่ 35, ชีวประวัติจูกัดเหลียง.
  6. (亮圍陳倉,使昭鄉人靳詳於城外遙說之,昭於樓上應詳曰:「魏家科法,卿所練也;我之為人,卿所知也。我受國恩多而門戶重,卿無可言者,但有必死耳。卿還謝諸葛,便可攻也。」). อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  7. (詳以昭語告亮,亮又使詳重說昭,言人兵不敵,無為空自破滅。昭謂詳曰:「前言已定矣。我識卿耳,箭不識也。」詳乃去。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  8. (亮乃更为井阑百尺以射城中,以土丸填堑,欲直攀城,昭又于内筑重墙。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  9. (亮又为地突,欲踊出于城里,昭又于城内穿地横截之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Liang, Jieming (2006). Chinese Siege Warfare: Mechanical Artillery and Siege Weapons of Antiquity, an Illustrated History. Da Pao Publishing. ISBN 978-9810553807.
  • Sawyer, Ralph (2010). Zhuge Liang: Strategy , Achievements, and Writings. CreateSpace Independent Publishing. ISBN 978-1492860020.