ข้ามไปเนื้อหา

การก่อการกำเริบที่เทียนซุย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การก่อการกำเริบที่เทียนซุย
ส่วนหนึ่งของ การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งแรก

เกียงอุยสวามิภักดิ์ต่อจูกัดเหลียง ภาพวาดในเฉลียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน กรุงปักกิ่ง
วันที่ป. กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ค.ศ. 228[1]
สถานที่
ผล ดินแดนที่วุยก๊กสูญเสียไปให้จ๊กก๊กก๊กถูกวุยก๊กยึดคืนไปในภายหลัง ในภาพรวมอยู่ในภาวะคุมเชิงกัน
คู่สงคราม
จ๊กก๊ก วุยก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จูกัดเหลียง
เตียวจูล่ง
เตงจี๋
โจจิ๋น
เตียวคับ
กำลัง
มากกว่า 60,000 มากกว่า 50,000
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
การก่อการกำเริบที่เทียนซุย
อักษรจีนตัวเต็ม天水之亂
อักษรจีนตัวย่อ天水之乱

การก่อการกำเริบที่เทียนซุย (จีน: 天水之乱) หมายถึงการกบฏที่เกิดขึ้นในส่วนใต้ของมณฑลเลียงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลกานซู่และมณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 228 ในยุคสามก๊กของจีน กองทัพของรัฐจ๊กก๊กนำโดยอัครมหาเสนาบดีจูกัดเหลียงวางแผนจะเข้ายึดครองเตียงฮัน นครยุทธศาสตร์สำคัญในรัฐวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก สามเมืองอันได้แก่ลำอั๋น, เทียนซุย และฮันเต๋งถูกทัพจ๊กก๊กยึดครองไป แต่ดินแดนที่จ๊กก๊กได้ไปภายหลังกลับถูกวุยก๊กชิงกลับคืนไปได้หลังยุทธการที่เกเต๋ง ตามที่ระบุไว้ในชีวประวัติของขุนพลวุยก๊กเตียวคับว่า "เมืองลำอั๋น เทียนซุย และฮันเต๋งก่อกบฏและแปรพักตร์เข้าด้วย (จูกัด) เหลียง (เตียว) คับสยบทั้งหมด"[2]

ภูมิหลัง

[แก้]

ที่เมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) ระหว่างการประชุมวางแผนการศึก จูกัดเหลียงเสนอให้เคลื่อนทัพโอบทางซ้ายเพื่อเข้ายึดหุบเขาแถบแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) ตอนบนเพื่อยึดเอาเมืองในแถบนั้น อุยเอี๋ยนคัดค้านแผนการนี้และเสนอให้เข้าโจมตีผ่านด่านในเทือกเขาฉินหลิ่ง (秦嶺) โดยใช้กำลังพลฝีมือดี 10,000 นายเข้ายึดนครเตียงฮัน (長安 ฉางอาน) โดยฉับพลัน จูกัดเหลียงปฏิเสธแผนของอุยเอี๋ยนเพราะเห็นว่าเสี่ยงเกินไปและเลือกใช้วิธีการที่รอบคอบกว่า เป้าหมายในการบุกคือเพื่อยึดเตียงฮันรวมไปถึงเมืองเทียนซุย (天水 เทียนฉุ่ย; อยู่บริเวณนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เมืองฮันเต๋ง (安定 อานติ้ง; อยู่บริเวณอำเภอเจิ้นยฺเหวียน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เมืองลำอั๋น (南安 หนานอาน; อยู่บริเวณอำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาโดยรอบอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)

การก่อการกำเริบ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงประกาศเดินทัพผ่านช่องเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) เพื่อเข้ายึดอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) จูกัดเหลียงส่งเตียวจูล่งและเตงจี๋ให้นำกองกำลังล่อทำทีจะเข้าคุกคามอำเภอไปเซียและเข้ายึดอำเภอเอ๊กก๋วน (冀縣 จี่เซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอกานกู่ มณฑลกานซู่) โจจิ๋นจึงนำทัพไปต้าน ฝ่ายจูกัดเหลียงนำทัพด้วยตนเองไปปิดล้อมเขากิสาน เมืองลำอั๋น เทียนซุย และฮันเต๋งสามเมืองจึงก่อการกำเริบขึ้นและแปรพักตร์จากวุยก๊กไปเข้าด้วยจูกัดเหลียง ส่งผลสะเทือนไปทั่วมณฑลเลียงจิ๋ว จักรพรรดิโจยอยจึงเสด็จมายังเตียงฮันเพื่อดูแลแนวป้องกัน โจจิ๋นเข้ารักษาอำเภอไปเซียเพื่อต้านเตียวจูล่ง ในขณะที่กองกำลังทหารม้าและทหารราบ 50,000 นายใต้บังคับบัญชาของเตียวคับก็ยกไปทางตะวันตกเพื่อต้านทัพหลักของจูกัดเหลียง

เวลานั้น เกียงอุยกำลังลาดตระเวนอยู่โดยรอบนอกพร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาคือม้าจุ้น (馬遵 หม่า จุน) เจ้าเมืองเทียนซุย ม้าจุ้นระแวงว่าเกียงอุยอาจลอบสมคบกับทัพจ๊กก๊ก ม้าจุ้นจึงลอบหนีไปในเวลากลางคืนไปยังอำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่) เมื่อเกียงอุยทราบว่าม้าจุ้นทิ้งตนไปก็ตามไปถึงอำเภอเซียงเท้ง แต่ถูกปฏิเสธไม่ยอมเปิดประตูให้ เกียงอุยจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊กพร้อมด้วยเพื่อนร่วมราชการ ได้แก่เลี้ยงซี (梁緒 เหลียง ซฺวี่) อินเชียง (尹賞 อิ๋น ฉ่าง) และเลี้ยงเขียน (梁虔 เหลียง เฉียน)

ในความเป็นจริงไม่มียุทธการเกิดขึ้นที่เมืองเทียนซุย มีเพียงการก่อการกำเริบขึ้นเท่านั้น พื้นที่โดยรอบเมืองก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของจ๊กก๊กอย่างรวดเร็ว ทำให้ทัพจ๊กก๊กรุกคืบได้อย่างมั่นคง แต่ทัพจ๊กก๊กก็ต้องประสบความล้มเหลวในยุทธการที่เกเต๋ง เมื่อเตียวคับเอาชนะม้าเจ๊กที่จูกัดเหลียงส่งมารับมือ จูกัดเหลียงจึงมีคำสั่งให้ถอยทัพกลับอาณาเขตของจ๊กก๊ก เตียวจูล่งและเตงจี๋ก็ได้รับคำสั่งให้โต้ตอบโจจิ๋น แต่กำลังพลของทั้งคู่ด้อยกว่าข้าศึกจึงต้องพ่ายแพ้ในหุบเขากิก๊ก (箕谷 จีกู่; อยู่ทางตะวันออกของนครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) แต่การป้องกันทัพยังคงมั่นคงจึงสามารถหลีกเลี่ยงการพ่ายแพ้อย่างราบคาบไปได้ เตียวจูล่งนำทัพล่าถอย เมืองสามเมืองที่ก่อการกำเริบเข้าร่วมกับจ๊กก๊กก็ถูกสยบโดยเตียวคับและกลับมาอยู่ในอาณาเขตของวุยก๊กในภายหลัง

ในนิยายสามก๊ก

[แก้]
ขงเบ้งเกลี้ยกล่อมให้เกียงอุยสวามิภักดิ์ (ภาพประกอบจากหนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2487 ผลงานของเหม เวชกร)

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ในตอนที่ 92 และ 93[a] เกียงอุยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้จูกัดเหลียงยกมาทำศึกที่เมืองเทียนซุย และการทำให้เกียงอุยแปรพักตร์มาเข้าด้วยจ๊กก๊กกลายเป็นเป้าหมายหลักหลังที่เกียงอุยเคยสู้รบกับเตียวจูล่ง เมื่อเริ่มแรกที่จูกัดเหลียงส่งเตียวจูล่งเข้าตีเมืองเทียนซุย และเกียงอุยแสดงออกซึ่งความสามารถในการรบและการวางแผนในสนามรบ ระหว่างการรบม้าจุ้นสงสัยว่าเกียงอุยสมคบกับข้าศึก เมื่อเกียงอุยอยู่นอกเมืองเทียนซุย ม้าจุ้นจึงปิดประตูเมืองและปฏิเสธไม่ให้เกียงอุยเข้า เกียงอุยไม่มีทางเลือกนอกจากต้องแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายจูกัดเหลียง[4][3]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

ในซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของบริษัทโคเอตั้งแต่ภาคที่ 4 มีฉากที่เล่นได้เรียกว่า "ยุทธการที่เทียนซุย" (Battle of Tian Shui) อิงมาจากเรื่องราวสมมติของการก่อการกำเริบในนวนิยายสามก๊ก หากผู้เล่นเล่นเป็นเกียงอุย ทัพวุยก๊กจะชนะยุทธการ แต่ตัวเกียงอุยก็จะเข้าร่วมกับจ๊กก๊กในภายหลัง หากผู้เล่นเล่นเป็นตัวละครฝ่ายจ๊กก๊ก ก็จะต้องเอาชนะเกียงอุยเพื่อทำให้เกียงอุยแปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก

หมายเหตุ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 71.
  2. (南安、天水、安定郡反應亮,郃皆破平之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 17.
  3. 3.0 3.1 "สามก๊ก ตอนที่ ๗๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 29, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. สามก๊ก ตอนที่ 92-93.

บรรณานุกรม

[แก้]