ไดโนเสาร์ในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธรณีวิทยาประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง[แก้]

เนื่องจากไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิก ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์จึงอยู่ในชั้นของหินตะกอนที่สะสมตัวกันในช่วงนี้ ซึ่งในประเทศไทย หินที่มีอายุดังกล่าวพบอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ราบสูงโคราช และพบอยู่เป็นแห่งๆ ในภาคเหนือและภาคใต้ หินบริเวณที่ราบสูงโคราชนั้น เรียกว่า กลุ่มหินโคราช ซึ่งแบ่งออกเป็นหมวดหินย่อยๆ ได้อีก 6 หมวด คือ

ประวัติการค้นพบ[แก้]

การค้นหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นาน โดยในปี พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณีได้ค้นพบโครงกระดูกขนาดใหญ่ในเขตอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผลการวิจัยขณะนั้นทราบเพียงว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด มีความยาวประมาณ 15 เมตร นับว่าเป็นรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2525 ได้มีการสำรวจที่บริเวณภูเวียงอีกทำให้พบกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์และสัตว์อื่นๆอีกมากมายหลายชนิดเป็นจำนวนมากอยู่ในชั้นหิน จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์อย่างจริงจัง[1]


ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในประเทศไทย[แก้]

ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย สามารถแยกออกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคไทรแอสสิก[แก้]

  • พ.ศ. 2550 ได้สำรวจพบพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ในพื้นที่ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ได้ขุดชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ส่วนขา สันหลังจำนวนกว่า 10 ชิ้นที่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ คาดว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อในยุคไทรแอสสิก อายุประมาณ 210 ล้านปี โดยเจอที่ชั้นกลุ่มหินน้ำพองห่างจากภูกระดึงประมาณ 6 กม.[2]

ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคไทรแอสสิกตอนปลาย[แก้]

  • ในปี พ.ศ. 2535 กรมทรัพยากรธรณีสำรวจพบกระดูกสะโพกส่วนหน้าของไดโนเสาร์โพรซอโรพอด ที่ชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหินน้ำพอง ในเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุประมาณ 200 ล้านปี นับเป็นโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนับเป็นการพบซากดึกดำบรรพ์โพรซอโรพอดเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับฟอสซิลชนิดนี้จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก พบว่าโพรซอโรพอดของไทยมีขนาดใหญ่ แข็งแรง อาจยาวถึง 8 เมตร

ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคจูแรสสิก[แก้]

  • ในปี พ.ศ. 2539 คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้พบแหล่งซากดึกดำบรรพ์ฟันไดโนเสาร์ที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในชั้นหินของหมวดหินภูกระดึง อายุประมาณ 150-190 ล้านปี เป็นฟันของไดโนเสาร์เทอโรพอด ไดโนเสาร์ซอโรพอด และไดโนเสาร์สเทโกซอร์ ซึ่งเป็นการพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สเทโกซอร์ครั้งแรกในประเทศไทย
  • ซากดึกดำบรรพ์คอมพ์ซอกนาธัส
คอมพ์ซอกนาธัสเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดตัวเล็กที่สุด แต่เดิมพบเฉพาะในบริเวณประเทศเยอรมนี และประเทศฝรั่งเศส สำหรับในประเทศไทยพบซากดึกดำบรรพ์คอมพ์ซอกนาธัสที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบเป็นกระดูกชิ้นเล็กๆ สองชิ้น มีรูกลวงตรงกลางคล้ายกระดูกนกหรือกระดูกไก่ หลังการตรวจสอบพบว่าเป็นกระดูกขาหลังท่อนล่างชิ้นหนึ่ง และเป็นกระดูกขาหน้าชิ้นบนอีกชิ้นหนึ่งคของไดโนเสาร์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคอมพ์ซอกนาธัสที่พบในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี

ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคครีเทเชียส[แก้]

มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในยุคครีเทเชียสเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งจำแนกออกได้ดังนี้

การค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์[แก้]

พบในชั้นหินของหมวดหินพระวิหาร อายุประมาณ 140 ล้านปี บริเวณที่พบมี 4 แห่ง ได้แก่

พบรอยเท้าไดโนเสาร์ซึ่งทำให้ทราบว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ เดินด้วยขาหลัง เคลื่อนไหวว่องไว มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังพบรอยเท้าไดโนเสาร์พวกคาร์โนซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า
พบรอยเท้าไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดใหญ่ มีรอยเท้ากว้าง 26 ซม. ยาว 31 ซม. รวมทั้งพวกออร์นิโธพอดและซีลูโรซอร์ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ขนาดเล็ก รอยเท้ากว้าง 14 ซม. ยาว 13.7 ซม.
พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่พวกคาร์โนซอร์ รอยเท้ากว้าง 40 ซม. ยาว 45 ซม.
พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดย่อม แต่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด
ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์บริเวณแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง[แก้]

มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์หลายชนิดในชั้นหินของหมวดหินเสาขัว บริเวณแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียง ดังนี้

สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ในแสตมป์เมื่อปี พ.ศ. 2540
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมไทรันนัส ถูกค้นพบที่บริเวณหินลาดยาว อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 โดยพบกระดูกสันหลังหลายชิ้นโผล่ออกมาจากชั้นดินทรายสีแดงของหินหมวดเสาขัว ต่อมาพบกระดูกสะโพกด้านซ้าย และกระดูกส่วนหางอีกหลายชิ้นเรียงต่อกัน หลังจากที่คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้วก็พบว่า เป็นไดโนเสาร์ตระกูลใหม่ของไทย จึงได้ตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
ไฟล์:ไดโนเสาร์11.jpg
ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน
ซากดึกดำบรรพ์ภูเวียงโกซอรัส ถูกค้นพบที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนคอ 3 ชิ้น กระดูกสันหลังส่วนกลางตัว 4 ชิ้น กระดูกซี่โครงหลายชิ้น กระดูกสะบักซ้ายและส่วนปลายสะบักขวา กระดูกต้นขาหน้าซ้าย บางส่วนของกระดูกแขน กระดูกสะโพกทั้งสองข้าง กระดูกต้นขาทั้งสองข้าง และกระดูกหน้าแข้งซ้าย ลักษณะของกระดูกที่พบบอกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ มีขนาดใกล้เคียงกับ คัมมาราซอรัส ที่ถูกค้นพบในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว จึงอัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosauraus sirindhornae)
ไฟล์:Buffetaut1986-6.jpg
สยามโมซอรัส สุธีธรนี ในแสตมป์
ซากดึกดำบรรพ์สยามโมซอรัส พบเพียงแค่ฟัน ที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยฟันที่ค้นพบมีลักษณะเป็นแท่งกรวยปลายแหลม มีสันเล็กๆ ยาวตลอดฟัน ซึ่งต่างจากฟันของไดโนเสาร์เทอโรพอดทั่วไป ที่แบน และมีรอยหยัก สันนิษฐานว่าสยามโมซอรัสเป็นเทอโรพอดที่มีลักษณะปากคล้ายสัตว์เลื้อยคลานพวกกินปลา หรือเพลสซิโอซอร์ และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวราวุธ สุธีธร ผู้ค้นพบ ว่า สยามโมซอรัส สุธีธรนี (Siamosaurus suteethorni)[3]
ซากดึกดำบรรพ์กินรีไมมัส ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2552
  • ซากดึกดำบรรพ์คาร์โนซอร์
ซากดึกดำบรรพ์คาร์โนซอร์ พบเพียงแค่ฟัน ที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยฟันที่ค้นพบมีลักษณะแบน ปลายแหลม โค้งงอเล็กน้อยคล้ายมีดโค้ง ที่ขอบมีรอยหยักเหมือนมีดหั่นเนื้อ ฟันลักษณะนี้เป็นฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่พวกเทอโรพอด ซึ่งคาดว่าเป็นไดโนเสาร์คาร์โนซอร์


จากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากที่แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูเวียงนี่เอง ทำให้บริเวณนี้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ภูเวียง ในปี พ.ศ. 2535 และเป็นอุทยานไดโนเสาร์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ[แก้]
ไฟล์:Buffetaut1992-9.jpg
ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กี ในแสตมป์
  • ซากดึกดำบรรพ์ซิททาโคซอรัส
ซิตตะโกซอรัส เป็นไดโนเสาร์ปากนกแก้วชนิดหนึ่ง แต่เดิมพบเฉพาะในบริเวณประเทศจีน ประเทศมองโกเลีย และไซบีเรีย สำหรับในประเทศไทยพบซากดึกดำบรรพ์ซิททาโคซอรัสที่จังหวัดชัยภูมิ ในชั้นหินของหมวดหินโคกกรวด ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่เป็นกะโหลกด้านซ้าย และกรามล่างด้านขวาที่มีฟันครบ และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายนเรศ สัตยารักษ์ ผู้ค้นพบว่า ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กี (Psittacosaurus sattayaraki)
  • ซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์
ดร.จงพันธ์ จงลักษมณี นักโบราณชีววิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ได้พบฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ ขนาดตัวยาวเพียง 20 ซม. ในหินปูนยุคไทรแอสสิกตอนปลาย ที่เขาทอง จังหวัดพัทลุง อิกธิโอซอร์ที่พบตัวนี้มีวิวัฒนาการอยู่ในช่วงปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในทะเลยังไม่สมบูรณ์ดี แขนทั้งสองข้างยังเปลี่ยนเป็นใบพายไม่สมบูรณ์นัก รูปร่างและโครงสร้างของกะโหลกยังเหลือร่องรอยของการสืบทอดจากสัตว์บกอยู่มาก
ฟอสซิลของอิกธิโอซอร์ชิ้นนี้นั้บเป็นอิกธิโอซอร์ที่โบราณมาก แตกต่างไปจากพวกที่เคยพบมาแล้ว จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ไทยซอรัส จงลักษมณี" (Thaisaurus chonglakmanii) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ
เป็นไดโนเสาร์กลุ่ม Iguanodontia ที่พบชิ้นส่วนของขากรรไกรบนด้านซ้ายที่สมบูรณ์และมีฟันติดอยู่ มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว พบที่บ้านสะพานหิน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวิทยา นิ่มงาม ผู้ค้นพบว่า สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami)
แหล่งที่พบคือ บริเวณสระน้ำของหมู่บ้านโป่งแมลงวัน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยซากดึกดำบรรพ์ราชสีมาซอรัสได้ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2554
หลังจากที่มีการค้นพบซากฟอสซิลครั้งแรกเมื่อปี 2551 ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 จังหวัดกาฬสินธุ์ได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่ของโลก และชนิดกินพืชตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยนักวิจัยระบุอยู่ในยุคจูราสสิกตอนปลายอายุ 150 ล้านปี[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. อุทยานธรณี “ภูเวียง” ขอนแก่น เตรียมประกาศข่าวดี พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ชนิดที่ 5 ของโลก
  2. "กรมธรณีพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ 200 ล้านปีที่ภูกระดึง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-08. สืบค้นเมื่อ 2007-10-18.
  3. "ลักษณะทางกายวิภาคของไดโนเสาร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-03. สืบค้นเมื่อ 2011-05-06.
  4. 4.0 4.1 Adun Samathi; Phornphen Chanthasit; P. Martin Sander (2019). "Two new basal coelurosaurian theropod dinosaurs from the Lower Cretaceous Sao Khua Formation of Thailand". Acta Palaeontologica Polonica. 64. doi:10.4202/app.00540.2018.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-09. สืบค้นเมื่อ 2014-06-09.

[1]

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

  • วราวุธ สุธีธร, ไดโนเสาร์ของไทย, ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมทรัพยากรธรณี, 2545. ISBN 9740125999.
  1. 6. ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา, ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังน้ำจืดชนิดและสกุลใหม่ของโลกที่พบในประเทศ, ม.ป.ท., ม.ป.พ.