สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่ 184 ถนนมิตรภาพ - หนองปลิง หมู่ 7 บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติ[แก้]

สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ[1] ได้เริ่มก่อตัวเมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่วันที่ได้มีการอภิปรายเรื่องสถานการณ์วิกฤติของไม้กลายเป็นหินในจังหวัดนครราชสีมา ในเวทีประชาคมโครงการโคราชในทศวรรษหน้า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 ณ โรงแรมสีมาธานี และเสนอโครงการจัดสร้างสวนสาธารณะซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินขึ้น โครงการดังกล่าวได้เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้นเมื่อจังหวัดนครราชสีมาได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดสร้างอุทยานไม้กลายเป็นหินและพิพิธภัณฑ์ขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 โดยให้สถาบันราชภัฏนครราชสีมาเป็นผู้สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท ในช่วงเริ่มต้นได้รับการอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างอาคารหลังแรกเป็นอาคารเอนกประสงค์จากงบประมาณปี 2539 รวมทั้งได้รับอนุญาตจากที่ประชุมบ้านโกรกเดือนห้าให้สามารถจัดสร้างอุทยานฯ ในที่ดินสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน

การดำเนินงานเพื่อจัดตั้งอุทยานฯ มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับโดยการร่วมมือและสนับสนุนจากหลากหลายองค์กร เช่น จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ปฏิบัติการ รพช. องค์การบริหารส่วนจังหวัด โยธาธิการจังหวัด พรรคชาติพัฒนา สถาบันราชภัฏนครราชสีมา และกรมทรัพยากรธรณี จนเมื่อได้รับงบประมาณผูกพันปี 2543 – 2545 จำนวน 95 ล้านบาท โดยการเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษา ค้นคว้า อนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจัดเป็นโครงการเฉลิมพระกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 งบประมาณดังกล่าวใช้ในการจัดสร้างอาคารต่างๆ จำนวน 17 อาคาร ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2545 และกรมทรัพยากรธรณีได้มอบศูนย์วิจัยฯ ให้จังหวัดนครราชสีมาบริหารจัดการต่อไป ในการนี้ จังหวัดนครราชสีมาได้มอบหมายให้สถาบันราชภัฏนครราชสีมาซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศึกษาซากดึกดำบรรพ์เชิงวิชาการมาตั้งแต่ต้นเป็นผู้รับผิดชอบและบริหารจัดการศูนย์วิจัยฯ ตามวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งต่อไป โดยทำงานเชิงบูรณาการกับทางจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ภายในจังหวัด

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้เริ่มต้นบริหารศูนย์วิจัยฯ มาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2547 โดยได้จัดสรรงบประมาณให้ศูนย์วิจัยฯ ปีละ 5 – 10 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดนิทรรศการจากจังหวัดนครราชสีมา งบประมาณจัดสร้างรั้ว ถนน และลานจอดรถจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จนเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้รับการอนุมัติเปลี่ยนชื่อศูนย์วิจัยฯ เป็น “สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ”[2] และยกเป็นหน่วยงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ

พิพิธภัณฑ์[แก้]

พิพิธภัณฑ์เปิดทำการ วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 15.30 น.

  • อัตราค่าบริการในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
ผู้เข้าชม ค่าเข้าชม
นักเรียนอนุบาล-ปวช. 20 บาท
นักศึกษา ปวส.-ปริญญาตรี 30 บาท
ผู้ใหญ่ 50 บาท
เด็กต่างชาติ (Youth) 50 บาท
ชาวต่างชาติ (Foreigner) 120 บาท
พระภิกษุ สามเณร ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ฟรี (บริจาคตามศรัทธา)
ผู้ทุพพลภาพ ฟรี

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน[แก้]

อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน เป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของโลก พบกับพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ อายุประมาณ 8 แสนปี – 150 ล้านปีก่อน โดยแบ่งโซนจัดแสดง เป็น 5 จุด

  • จุดที่ 1 ห้องเกียรติคุณไม้กลายเป็นหิน
  • จุดที่ 2 นิทรรศการสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน
  • จุดที่ 3 ห้องฉายแอนิเมชั่น 5 มิติ
  • จุดที่ 4 ห้องกำเนิดไม้กลายเป็นหิน
  • จุดที่ 5 นิทรรศการไม้กลายเป็นหินอัญมณีของโคราช[3]

พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์[แก้]

อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ จัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ของช้างและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยแบ่งโซนจัดแสดงเป็น 8 จุด

  • จุดที่ 1 ห้องวีดิโอช้างดึกดำบรรพ์โคราช
  • จุดที่ 2 โครงกระดูกช้างพลายยีราฟ
  • จุดที่ 4 จุดแสดงวิวัฒนาการของช้างดึกดำบรรพ์ถึงช้างปัจจุบัน
  • จุดที่ 5 แสดงฟอสซิลฟันช้างดึกดำบรรพ์โคราช จังหวัดนครราชสีมา อายุประมาณ 16 ล้านปีก่อน จนถึง 10,000 ปีก่อน ขุดพบทั้งหมด 10 สกุลจาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก นับได้ว่านครราชสีมาเป็นแหล่งช้างดึกดำบรรพ์หลากหลายสกุลที่สุดในโลก คือ
    • ช้างสี่งากอมโฟธีเรียม
    • ช้างงาจอบโปรไดโนธีเรียม
    • ช้างงาเสียมโปรตานันคัส
    • ช้างเตตระโลโฟดอน
    • ช้างสเตโกโลโฟดอน
    • ช้างไซโนมาสโตดอน
    • ช้างสเตโกดอน
    • ช้างเอลิฟาส
  • จุดที่ 6 แสดงฟอสซิลสัตว์ร่วมยุคกับช้างดึกดำบรรพ์
  • จุดที่ 7 แสดงงาช้างกลายเป็นหิน
  • จุดที่ 8 โครงกระดูกช้างแมมมอธจากประเทศจีน[4]

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์[แก้]

อาคารพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ร่วมผจญภัยไปกับดินแดนของไดโนเสาร์ โดยแบ่งโซนจัดแสดงเป็น 8 จุด

  • จุดที่ 1 นักท่องเที่ยวจะได้ทำความรู้จักกับไดโนเสาร์ ยุคต่างๆของไดโนเสาร์ การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์
  • จุดที่ 2 หุ่นจำลองไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ”
  • จุดที่ 3 เป็นโซนจัดแสดงหุ่นจำลองไดโนเสาร์เคลื่อนไหวและส่งเสียงได้ จำลองเป็นบรรยากาศของป่าที่พบไดโนเสาร์
  • จุดที่ 4 แสดงกะโหลกและโครงกระดูกจำลองของไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
  • จุดที่ 5 นิทรรศการปลาพันธุ์ใหม่ของโลก โคราชอิกธีส จิบบัส เป็นปลายุคจูราสสิคที่เก่าแก่มากสุดในจังหวัดนครราชสีมา
  • จุดที่ 6 จำลองแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ ให้นักท่องเที่ยวได้รับชมและเห็นกระบวนการทำงานของทีมสำรวจวิจัย
  • จุดที่ 7 จัดแสดงไดโนเสาร์ สิรินธรน่า โคราชเอนซิส เป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ กินพืชค้นพบที่แรกที่โคราช ซึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามของพระองค์ เป็นชื่อสกุลของไดโนเสาร์นี้ว่า “สิรินธรน่า”
  • จุดที่ 8 โครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอด[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือที่ระลึกงานพิธีเปิด อาคารสิรินธร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, 29 ตุลาคม 2551
  2. ประวัติสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ [1] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. "อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน".
  4. "อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์".
  5. "อาคารพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์".