สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ | |
---|---|
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | |
พระฉายาลักษณ์ พ.ศ. 2503 | |
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง | |
สถาปนา | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน (5 ปี 200 วัน) |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ |
พระอัครมเหสี | |
ดำรงพระยศ | 28 เมษายน พ.ศ. 2493 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (66 ปี 168 วัน) |
ราชาภิเษก | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี |
ถัดไป | สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี |
พระราชสมภพ | 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
พระราชบุตร | |
ราชสกุล | กิติยากร (พระราชสมภพ) มหิดล (ราชาภิเษกสมรส) |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระราชบิดา | พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ |
พระราชมารดา | หม่อมหลวงบัว กิติยากร |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
ลายพระอภิไธย |
จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระราชสมภพ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475) เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และโดยพระชนมพรรษาจึงนับว่าทรงเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ที่ 29 และพระองค์ปัจจุบันในราชวงศ์จักรี
เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะที่พระราชสวามีเสด็จออกผนวช เมื่อปี พ.ศ. 2499 ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน[1] พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499[2] ถือเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5[3]
พระราชประวัติ
ขณะทรงพระเยาว์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร[4] (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์)[5] เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 9 ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. 1294 ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร อันเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระราชมารดา[6] มีพระเชษฐาสองคนคือหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากรและหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร และมีพระขนิษฐาหนึ่งคนคือท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์[7]
สำหรับพระนาม "สิริกิติ์" ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร" เรียกโดยลำลองว่า "คุณหญิงสิริ"[8] ส่วนพระราชสวามีจะทรงเรียกว่า "แม่สิริ"[9]
เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุราว 2 ปี ขณะที่พี่เลี้ยงอุ้มอยู่นั้นก็มีแขกเลี้ยงวัวเข้ามาทำนายทายทัก ว่าเด็กผู้หญิงคนนี้จะมีบุญวาสนาได้เป็นราชินีในอนาคต ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าไว้ ความว่า[10]
...วันหนึ่งขณะที่พี่เลี้ยงอุ้ม ม.ร.ว.สิริกิติ์ เดินเล่น พอดีขณะนั้นมีแขกเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน พอแขกที่มาเหลือบเห็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ ก็จ้องมองพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ ๆ หน่อย เมื่อเข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า "ต่อไปจะเป็นมหารานี" พี่เลี้ยงได้ฟังก็ชอบใจเที่ยวเล่าให้คุณยายและใครต่อใครฟัง ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เจริญวัยขึ้น เลยเป็นเหตุให้คุณพี่ชายทั้งสองคนเอามาล้อเลียนเป็นที่ขบขันว่าเป็นราชินีแห่งอบิสซีเนีย [เอธิโอเปียในปัจจุบัน] บางครั้งถึงกับทำให้ผู้ถูกล้อต้องนั่งร้องไห้ด้วยความอายและเจ็บใจ แต่พี่ชายทั้งสองก็ยังไม่หยุดล้อ กลับเอาเศษผ้าขาด ๆ มาทำเป็นธงโบกอยู่ไปมา พร้อมทั้งบอกว่าเป็นธงประจำตัวของราชินี...
— ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
สอดคล้องกับหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี ที่กล่าวถึงเกี่ยวกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้เพื่อน ๆ จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ที่ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยฟังว่ามีหมอดูมาที่ตำหนักของท่านพ่อ แล้วทายทักว่าจะได้เป็นราชินี โดยที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เองและเพื่อนฝูงก็มิได้ใส่ใจนัก แต่เพื่อน ๆ ก็ขนานนามว่า "ราชินีสิริกิติ์" มาแต่นั้น[11] แม้จะเป็นเรื่องขบขันของราชสกุลกิติยากร แต่ไม่มีใครคาดถึงว่าในอีก 15 ปีต่อมาคำทำนายของแขกเลี้ยงวัวผู้นั้นจะเป็นความจริง[12]
ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ส่วนหม่อมหลวงบัวซึ่งมีครรภ์แก่ยังคงอยู่ในสยาม แต่ได้เดินทางไปสมทบหลังจากให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ 3 เดือน โดยมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) และท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว ดังนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงต้องอยู่ไกลจากบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย[13] บางคราวต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา
ปลายปี พ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการแล้วกลับมาสยาม จึงทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 2 ปี 6 เดือน ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ณ ตำหนักในวังเทเวศร์ บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา[13]
การศึกษา
พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุได้ 4 ปี ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในสยามจะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือสงครามแปซิฟิกเริ่มแผ่ขยายมาถึงสยาม จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคมไม่สะดวก พระบิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เริ่มเรียนเปียโน[14] ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสซึ่งทรงสันทัดเช่นกัน[15]
พ.ศ. 2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว [14]
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ[16] หลังจากนั้นไม่นาน บิดาย้ายไปประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศสตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีสจนจบ[16]
ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์[17] ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น
อภิเษกสมรสกับรัชกาลที่ 9
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมีหม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[18] ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ก็ได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492[19]
หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. 2493 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระองค์ท่านโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับด้วย[19]
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงจัดขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย[20][21]
ต่อมา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี[22] หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ จนกระทั่งพระองค์มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชันษาได้ 3 เดือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีจึงเสด็จนิวัติประเทศไทย[23]
สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช[1]
ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการประกาศว่า ตามราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ"[2] นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 ในประเทศไทย โดยพระองค์แรก คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 10
ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีของพระองค์ ตามแบบโบราณราชประเพณีว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"[24]
พระประชวร
เช้าตรู่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเวียนพระเศียรและเซขณะทรงออกพระกำลัง ณ โรงพยาบาลศิริราชที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่ คณะแพทย์ตรวจพระองค์โดยวิธีสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กแล้วแถลงว่า ทรงประสบภาวะพระสมองขาดเลือด (ischemic stroke)[25]
พระองค์จึงประทับรักษาพระวรกายอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราชและทรงงดเว้นพระราชกิจนับแต่นั้น รวมถึงการเสด็จออกมหาสมาคมในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555[26]
ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเผยถึงพระอาการว่า ทรงได้รับการรักษาและบำบัดจนทรงหายดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจของแพทย์ ทรงพระดำเนินได้คล่องแคล่วและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่แพทย์ยังให้พระองค์เว้นพระราชกิจไปก่อน[27]
ครั้นวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ได้แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล พร้อมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556 สำนักพระราชวังแถลงว่า ทรงปวดพระอังสากับข้อพระกรซ้าย คณะแพทย์ตรวจแล้วพบว่าพระนหารูอักเสบ จึงถวายพระโอสถและกายภาพบำบัด[28]
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปรากฏพระองค์ ขณะเสด็จฯ ตามพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชออกจากโรงพยาบาลศิริราช ณ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยทรงโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ[29][30] ก่อนเสด็จกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ผู้ถวายงาน กล่าวว่าพระองค์ทรงมีพลานามัยแข็งแรงดี[31]
ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2563 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จออกในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[32] ซึ่งในอีกสองปีต่อมา การบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ก็กระทำในสถานที่เดียวกัน[33]
พระราชกรณียกิจสังเขป
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้
โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น
นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" แด่พระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาล และปวงชนชาวไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ[34]
ในกิจทางด้านการทหารนั้น ทรงดำรงตำแหน่งพันเอกผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทรงให้ความสนพระทัยต่อการดำเนินงานของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ตลอดมา โดยผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 จะเข้ามาถวายรายงานถึงผลการปฏิบัติงานพร้อมกับรับพระราชเสาวนีย์ตลอดจนคำแนะนำไปดำเนินการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ[35]
นอกจากปวงชนชาวไทยแล้ว บรรดาเพื่อนบ้านที่ต้องลี้ภัยอพยพมายังแผ่นดินไทย ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ อาทิ เหตุการณ์สงครามกลางเมืองของกัมพูชากับเขมรแดงเมื่อ พ.ศ. 2522 ส่งผลให้เกิดการอพยพของชาวกัมพูชา จำนวนมากสู่ชายแดนไทย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง “ศูนย์ราชการุณย์” ณ บ้านเขาล้าน จังหวัดตราดเป็นต้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยไปให้ความร่วมมือกับกาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพ และพระราชทานครูเข้าไปสอนวิชาชีพให้แก่ผู้อพยพ กิจการดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนองค์กรระหว่างประเทศต่างพากันยกย่องและทูลเกล้าถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก ดังเช่น
- องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้นและทรงเป็นผู้ "ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง" (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2522)
- มหาวิทยาลัยทัฟส์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรมในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็ก (พ.ศ. 2523)
- สหพันธ์พิทักษ์เด็ก แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก (9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524)
- สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม (14 มีนาคม พ.ศ. 2528)
- มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าของโลก สดุดีเทิดพระเกียรติ ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529)
- ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้ แต่เฉพาะ ผู้ที่เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น (1 พฤษภาคม พ.ศ. 2531)
- ศูนย์ศึกษาการอพยพ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐนิวยอร์ก กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยประจำปี ณ วอชิงตัน ดี.ซี. (29 มีนาคม พ.ศ. 2533)
- กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กในสหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534)
- องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรม ณ ศาลาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ (30 มกราคม พ.ศ. 2535)
- กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 5 รอบ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน (2 สิงหาคม พ.ศ. 2535)
- กองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศในฐานะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาสตรีไทย (2 สิงหาคม พ.ศ. 2535)
- มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม (25 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)
ด้านการเกษตรและชลประทาน
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น
ด้านการสร้างสรรค์และสืบสานเอกลักษณ์ไทย
เมื่อมีกำหนดการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะเสด็จฯ ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงฉลองพระองค์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริง โดยฉลองพระองค์ ชุดไทยแบบต่าง ๆ ที่ทรงใช้ในการเสด็จเยือนต่างประเทศล้วนตัดเย็บด้วยผ้าไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็น พระอัจฉริยะภาพในการสร้างสรรค์และสืบสานธรรมเนียมการแต่งกายแบบเอกลักษณ์ไทย ซึ่งแต่ละแบบนั้นมีความงดงาม ผสมผสานธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักสมัยโบราณให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมแก่วาระต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มี พระราชประสงค์จะฉลองพระองค์แบบสากลตามแต่โอกาส จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) นักออกแบบผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์แบบสากล โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงแนะนำเรื่องการใช้ผ้าไหม ตลอดจนการปักประดับฉลองพระองค์ด้วยลวดลายไทยในการดัดเย็บ และแม้รัฐบาลในขณะนั้นพร้อมทูลเกล้าฯ ถวายงบประมาณรายจ่ายส่วนนี้แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
พระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสร้างเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535 องค์พระทำจากเงินแท้ 96% ที่ฐานมีข้อความ ว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเททองหล่อ วันที่ 25 มิถุนายน พุทธศักราช 2535 ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ" ความสูงจากฐานแปดเหลี่ยม สูง 1 นิ้ว แล้วจากฐานบัวคว่ำ บัวหงาย อีก 1 นิ้ว และ จากพระบาท ถึง พระเกตุมาลาสูง 9 นิ้ว
พระเกียรติยศ
พระราชอิสริยยศ
- หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 – 28 เมษายน พ.ศ. 2493)
- สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์[36] (28 เมษายน พ.ศ. 2493 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี[37] (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499)
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ[38] (5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[39] (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน)
เครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค
ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภคสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) โดยเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภคเหล่านี้ประกอบด้วย
- พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา
- กาน้ำทองคำลงยา
- ขันน้ำพระสุธารสเย็น พร้อมจอกลอยทองคำลงยา
- หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
- พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก)ทองคำลงยา
- ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมคลุมปัก
- พระฉาย (กระจกส่องหน้า) ทองคำลงยา
- พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือน พระสางเสนียด และพระกรัณฑ์ทองคำลงยา สำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
- ราวพระภูษาซับพระพักตร์ทองคำลงยารูปพญานาค พร้อมผ้าซับพระพักตร์จีบริ้วพาดที่ราว 2 ผืน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- พ.ศ. 2493 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน) (ดาราประดับเพชร)[40]
- พ.ศ. 2493 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายใน)[41]
- พ.ศ. 2493 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน) (ดาราประดับเพชร)[42]
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[43]
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[44]
- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[45]
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ[46]
- พ.ศ. 2513 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)
- พ.ศ. 2535 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[47]
- พ.ศ. 2497 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
- พ.ศ. 2495 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)[48]
- พ.ศ. 2562 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ ๑ (ว.ป.ร.๑)[49]
- พ.ศ. 2523 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 9 (ร.จ.ท.9)[50]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญกาชาดสรรเสริญ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของรัฐสุลต่านแห่งมาเลเซีย
รัฐเซอลาโงร์ | พ.ศ. 2542 | เครื่องอิสริยาภรณ์ราชวงศ์สลังงอร์ ชั้นที่ 1 | |
รัฐตรังกานู | พ.ศ. 2552 | เครื่องอิสริยาภรณ์ตระกูลตรังกานู ชั้นสูงสุด |
พระยศทหาร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | |
---|---|
รับใช้ | ไทย |
แผนก/ | |
ประจำการ |
|
ชั้นยศ |
|
- 1 ธันวาคม พ.ศ. 2502: พันเอกหญิง ผู้บังคับการพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[54]
- 16 สิงหาคม พ.ศ. 2514: นาวาเอกหญิง นาวาอากาศเอกหญิง นายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ และ นายทหารพิเศษประจำกองทัพอากาศ[55]
- พ.ศ. 2523: นายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายเรือ รักษาพระองค์ กรมยุทธศึกษา โรงเรียนนายเรือ ประจำกองบังคับการกรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน ประจำกรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ กรมยุทธศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศ และ ประจำกองพันทหารอากาศโยธินที่ 1 รักษาพระองค์
- 25 ธันวาคม พ.ศ. 2524: นายกองใหญ่ กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน[53]
- พ.ศ. 2530: พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง
- 19 สิงหาคม พ.ศ. 2535: จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง[56]
พระราชสมัญญานาม
- พ.ศ. 2553: พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ[57]
- พ.ศ. 2555: พระมารดาแห่งไหมไทย และ อัคราภิรักษศิลปิน[58][59]
พระราชนิพนธ์
- พ.ศ. 2505: ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ
เพลงพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ เพื่อบรรเลงกับ วงดนตรีเดอะแฮนด์ซั่ม และวงดนตรีในพระองค์ ดังนี้[60]
- เจ้าจอมขวัญ
- ทาสเธอ
- สายหยุด - ทรงพระราชนิพนธ์ร่วมกับท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร
- นางแย้ม
สถานที่ พรรณพืช และพันธุ์สัตว์ อันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย
สถานที่หลายแห่ง พรรณพืช และพันธุ์สัตว์หลายชนิดได้ตั้งชื่อตามพระนาม หรือสื่อถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ
สถานที่
- ศาสนสถาน
- พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
- พระพุทธสิริกิติ์ฑีฆายุมงคล ประดิษฐานบนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
- การแพทย์ และการสาธารณสุข
- โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์[61] กรมแพทย์ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชีนีนาถ ณ อำเภอนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
- ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น[62] มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
- อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์[63] คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- ตึกสก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- อาคารเฉลิมพระกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- สถาบันการศึกษา
- ได้ทรงพระราชทานนามให้แก่ โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ 9 โรงทั่วประเทศ เป็นโรงเรียนจัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่องานด้านการศึกษา ได้แก่
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ
- สวนสาธารณะ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ
- สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์[64] อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
- สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ[65] ทางตะวันตกของสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร
- สวนรมณีนาถ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2535
- สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร รัฐบาลสมัย พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2535
- อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2535
- ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี[66] อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- อื่น ๆ
- เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนดินแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนแม่น้ำน่าน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
- ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์[67] ศูนย์การประชุมในกรุงเทพมหานคร
- หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ[68] กรุงเทพมหานคร
- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ภูมิปัญญาท้องถิ่นพนมสารคาม) โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอุดลวิทยา" อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ 72 พรรษา โรงเรียนพยุหะวิทยา (วัดเขาแก้ว) อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
พรรณพืช
- กุหลาบควีนสิริกิติ์ (Rosa Queen Sirikit )
- ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ (Mussaenda philippica A.Rich. cv. Queen Sirikit)
- คัทลียาควีนสิริกิติ์ (Cattleya Queen Sirikit )
- มหาพรหมราชินี (Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin & R. M. K.Saunders[69][70])
- โมกราชินี (Wrightia sirikitiae D.J.Middleton & Santisuk[71])
พันธุ์สัตว์
- ปูราชินี (Thaiphusa sirikit Naiyanetr, 1992)
- ปะการังเขากวางพระบรมราชินีนาถ (Acropora sirikitiae Wallace, Phongsuwan & Muir, 2012[72])
พระราชสันตติวงศ์
รถยนต์พระที่นั่ง
- โรลส์-รอยซ์ แฟนทอม VI เลขทะเบียน ร.ย.ล.901
- โรลส์-รอยซ์ แฟนทอม VI เลขทะเบียน ร.ย.ล.902
- เมอร์ซิเดส-เบนซ์ 1000SEL V12 W140 เลขทะเบียน 1ด-0543
- คาดิลแลค ดีทีเอส ลิมูซีน นั่งสามตอน เลขทะเบียน ร.ย.ล.942 โดยรถยนต์พระที่นั่งคันนี้เป็นรถยนต์พระที่นั่งที่อัญเชิญพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
- คาดิลแลค ดีทีเอส ลิมูซีน นั่งสามตอน เลขทะเบียน 1ด-9902
- คาดิลแลค ดีทีเอส LWB เลขทะเบียน 1ด-9942
พงศาวลี
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่ทรงผนวช เก็บถาวร 2011-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 73, ตอน 76ก, 25 กันยายน พ.ศ. 2499, หน้า 1035
- ↑ 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, เล่ม 73, ตอน 103ก, 11 ธันวาคม พ.ศ. 2499, หน้า 1640
- ↑ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ 2 พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์.
- ↑ พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระมารดา
- ↑ ราชสกุลสนิทวงศ์. ตามรอยกรมหลวงวงษาฯ สนองกตัญญุตาต่อแผ่นดิน เก็บถาวร 2014-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 1 กันยายน 2555
- ↑ พระราชประวัติ. เรียกดูเมื่อ 1 กันยายน 2555
- ↑ "ประวัติ หม่อมหลวงบัว กิติยากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-29. สืบค้นเมื่อ 2012-08-12.
- ↑ หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี. เขียนถึงสมเด็จ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:เลมอนที. 2547, หน้า 74
- ↑ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. ความสุขของพ่อ. กรุงเทพฯ:พี.วาทิน พรินติ้ง, หน้า 22
- ↑ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. ความสุขของพ่อ. กรุงเทพฯ:พี.วาทิน พรินติ้ง, หน้า 14-15
- ↑ หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี. เขียนถึงสมเด็จ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:เลมอนที. 2547, หน้า 33
- ↑ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. ความสุขของพ่อ. กรุงเทพฯ:พี.วาทิน พรินติ้ง, หน้า 15
- ↑ 13.0 13.1 สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. รัตนราชินีศรีประเทศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 14-15
- ↑ 14.0 14.1 สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. รัตนราชินีศรีประเทศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 16
- ↑ พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554, หน้า 17
- ↑ 16.0 16.1 พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เก็บถาวร 2007-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หน้า 3 จากเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. รัตนราชินีศรีประเทศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 17
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554. หน้า 229
- ↑ 19.0 19.1 สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. รัตนราชินีศรีประเทศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 21
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช 2493, เล่ม 67, ตอน 23ง, 25 เมษายน พ.ศ. 2493, หน้า 1690
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระราชินี (ทรงสถาปนา หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ พระอัครมเหษี เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์), เล่ม 67, ตอน 24 ก ฉบับพิเศษ, 28 เมษายน พ.ศ. 2493, หน้า 1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี (ทรงสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าราชินีสิริกิติ์ พระบรมราชินี), เล่ม 67, ตอน 26 ก ฉบับพิเศษ, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493, หน้า 10
- ↑ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. รัตนราชินีศรีประเทศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 27
- ↑ "เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง". ผู้จัดการออนไลน์. 2019-05-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-08.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Statement of the Bureau of the Royal Household, Re: Her Majesty the Queen falls ill at Siriraj Hospital, dated 21 July 2012" (PDF). Bureau of the Royal Household. 2012-07-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2012-12-05.
- ↑ "Statement of the Bureau of the Royal Household, Re: Her Majesty the Queen falls ill at Siriraj Hospital, No. 12, dated 4 December 2012" (pdf). Bureau of the Royal Household. 2012-12-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-05.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ฟ้าหญิงฯ ตรัส 'ในหลวง-ราชินี' ทรงหายพระอาการประชวรแล้ว" (Press release). ไทยรัฐ. 2556-02-15. สืบค้นเมื่อ 2556-02-17.
{{cite press release}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""พระราชินี"ปวดพระอังสา-ข้อพระกรซ้าย". ผู้จัดการ. 2556-08-08. สืบค้นเมื่อ 2556-10-06.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "สมเด็จพระราชินีเสด็จฯ ตามพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวัง". กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 14 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ราชินีเสด็จฯตามพระบรมศพสู่พระมหาราชวัง". คมชัดลึก. 14 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ความรักผ่านสายพระเนตร...พ่อหลวงถึงราชินี 70 ปีเคียงข้างไม่ห่าง". ไทยรัฐ. 1 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออกในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นการส่วนพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2563". หน่วยราชการในพระองค์. 2020-08-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-09. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ nachapa (2022-08-13). "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออกในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นการส่วนพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2565". หน่วยราชการในพระองค์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-15. สืบค้นเมื่อ 2022-08-14.
- ↑ "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ." วารสารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กรกฎาคม - สิงหาคม 2554: 3.
- ↑ "พระราชกรณียกิจ พระเกียรติยศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-04. สืบค้นเมื่อ 2015-06-19.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระราชินี (ทรงสถาปนา หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ พระอัครมเหษี เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์) ฉบับพิเศษ หน้า ๑ เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๒๔, ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี (ทรงสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าราชินีสิริกิติ์ พระบรมราชินี) ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐ เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๒๖, ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประกาศ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙) หน้า ๑๖๔๐ เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๑๐๓, ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
- ↑ "ประกาศสถาปนา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15ง): 2. 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๔ ง ฉบับพิเศษ, ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๖ ง ฉบับพิเศษ, ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๕ ง, ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓, เล่ม ๑๘๐๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๑, ตอน ๑๑๙ ง, ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗, หน้า ๓๐๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๑, ตอน ๑๑๙ ง, ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗, หน้า ๓๐๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, [1] เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒, ตอน ๑๗ ข, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๖ ตอน ๑๑๘,๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,[2] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙, ตอน ๒๙, ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕, ฉบับพิเศษ หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, [3], เล่ม ๖๙, ตอน ๖๙, ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๙๕, หน้า ๔๓๑๙
- ↑ "ประกาศสถาปนา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15ง): 2. 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๗๘, ตอน ๑๗, ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๔, หน้า ๔๔๗
- ↑ "Two Ancient Lands Strengthen Their Ties". Taiwan Today. 1 July 1963. สืบค้นเมื่อ 13 April 2020.
President Chiang decorated King Bhumibol with the Special Grand Cordon of the Order of Brilliant Jade and Queen Sirikit with the Special Grand Cordon of the Order of Propitious Clouds.
- ↑ "Roster of Recipients of Presidential Awards". สืบค้นเมื่อ 2022-07-11.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 53.0 53.1 "ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-27. สืบค้นเมื่อ 2018-01-23.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
- ↑ "ได้รับพระราชทานกองทัพไทย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-14. สืบค้นเมื่อ 2017-05-12.
- ↑ พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
- ↑ พระมารดาแห่งไหมไทย
- ↑ อัคราภิรักษศิลปิน
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-16. สืบค้นเมื่อ 2006-08-30.
- ↑ การแพทย์ และการสาธารณสุข[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-07. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-17. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
- ↑ The Botanical Garden Organization
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-06. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-24. สืบค้นเมื่อ 2008-06-15.
- ↑ "QSNCC :: ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-01. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
- ↑ "The Queen's Gallery". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-02. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
- ↑ Mitrephora sirikitiae (Annonaceae): a remarkable new species endemic to northern Thailand - Weerasooriya - 2004 - Nordic Journal of Botany - Wiley Online Library[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-21. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-21. สืบค้นเมื่อ 2021-08-29.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-10-19. สืบค้นเมื่อ 2012-10-12.
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. 2537
- ธนากิต, พระราชประวัติ 9 รัชกาลและพระบรมราชินี, สุวีริยาสาส์น, พ.ศ. 2542, หน้า 428-447
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เก็บถาวร 2018-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พันธุ์ไม้ในพระนามาภิไธย "สิริกิติ์"[ลิงก์เสีย]
ก่อนหน้า | สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี | พระอัครมเหสีไทย (28 เมษายน พ.ศ. 2493 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) |
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี | ||
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | สมเด็จพระพันปีหลวง (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน) |
ยังอยู่ในตำแหน่ง | ||
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร | ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499) |
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี | ||
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี (13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน) |
ยังอยู่ในตำแหน่ง |
- บทความคัดสรร
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2475
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- รัชกาลที่ 9
- รัชกาลที่ 10
- สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เป็นสตรี
- สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
- หม่อมราชวงศ์
- ราชสกุลกิติยากร
- ราชสกุลมหิดล
- นักเขียนชาวไทย
- พุทธศาสนิกชนชาวไทย
- นักแต่งเพลงชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนราชินี
- บุคคลจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ น.ร. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ภ.
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.1 (ร.10)
- ผู้ได้รับเหรียญ ร.ด.ม.(ศ)
- ทหารบกชาวไทย
- ทหารเรือชาวไทย
- ทหารอากาศชาวไทย
- ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน
- จอมพลชาวไทย
- จอมพลเรือชาวไทย
- จอมพลอากาศชาวไทย
- พระกุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
- บุคคลจากเขตปทุมวัน