เกรียงไกร อัตตะนันทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกรียงไกร อัตตะนันทน์
แม่ทัพภาคที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม 2512 – 28 สิงหาคม 2515
ก่อนหน้าพลตรี อ่อง โพธิกนิษฐ
ถัดไปพลตรี ประเสริฐ ธรรมศิริ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456
จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต28 สิงหาคม พ.ศ. 2515 (59 ปี)
จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย
คู่สมรสคุณหญิงกานดา อัตตะนันทน์
บุตร4 คน
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองทัพบกไทย
ประจำการพ.ศ. 2477 - 2515
ยศ จอมพล[1]
บังคับบัญชากองทัพภาคที่ 1
ผ่านศึกสงครามเกาหลี

จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์ อดีตผู้บังคับกองพันทหารอาสาสมัครของไทยชุดแรกในสงครามเกาหลี เคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ท่านเป็นนายทหารที่ได้รับพระราชทานยศจอมพลเป็นคนรองสุดท้ายของกองทัพไทย เป็นบิดาของพลเอก สมทัต อัตตะนันทน์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก

ประวัติ[แก้]

จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์ เดิมชื่อ บุญสม อัตตะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของเรือเอก ขุนรุตรณไกร (แฮนน์ อัตตะนันทน์) และนางเหม อัตตะนันทน์ จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. 2474 จนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2477 และเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งประจำกรมทหารราบที่ 7 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

ราชการครั้งสำคัญของจอมพล เกรียงไกร คือ ได้เข้าร่วมสงครามเกาหลี ในฐานะผู้บังคับกองพันทหารอาสาสมัครชุดแรกแห่งกรมผสมที่ 21 (ขณะนั้นมียศเป็น"พันโท") ซึ่งกองทัพไทยจัดส่งไปร่วมรบกับสหประชาชาติในสงครามครั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2493 นับว่าเป็นผู้บังคับกองพันคนแรกของกองกำลังทหารไทย ที่ไปปฏิบัติราชการสงครามนอกประเทศ กองพันนี้ได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า เป็นกองกำลังที่มีความสามารถสูง และทำการรบด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว จนได้รับสมญานามว่า "กองพันพยัคฆ์น้อย"

จากการร่วมรบครั้งนี้ จอมพล เกรียงไกรจึงได้รับเหรียญบรอนซ์สตาร์ จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องหมายยืนยันความสามารถและความกล้าหาญของท่าน ภายหลังเมื่อท่านกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว ก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 (กองพันพยัคฆ์น้อย) และได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ 21 เมื่อ พ.ศ. 2496 (ปัจจุบันหน่วยนี้คือ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

ตำแหน่งราชการของท่านที่สำคัญอีกตำแหน่งคือ เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังรบที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ในช่วง พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2503

ตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายของจอมพล เกรียงไกร คือ แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512 (ขณะนั้นมียศเป็นพลโท) และได้รับหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการป้องการการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เขต 1 อีกตำแหน่งหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในขณะนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง

จอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดราชบุรี ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อวางแผนปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2515 พร้อมกันกับคณะนายทหารที่ร่วมเดินทางด้วยกันอีก 12 คน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพลเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 และยังได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพระราชทานเพลิงศพ ที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2516 อีกด้วย

ครอบครัว[แก้]

จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์ สมรสกับ คุณหญิงกานดา อัตตะนันทน์ มีบุตรธิดารวม 4 คน คือ

เกียรติยศ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศไทยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของต่างประเทศต่าง ๆ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[แก้]

เครื่องอิสริยาภรณ์สากล[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

รางวัล[แก้]

  • พ.ศ. 2559 – รางวัลโล่ห์เกียรติยศวีรบุรุษสงครามคาบสมุทรเกาหลีประจำปี ค.ศ. 2016 (2016 The Korean War Heroes Commemoration Ceremony)[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-14. สืบค้นเมื่อ 2018-07-21.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๑๕๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๔๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๑, ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๓
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๙๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๔๑ ง หน้า ๑๘๙๑, ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2022-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๘๙, ๗ ตุลาคม ๒๔๗๗
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๕๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน เก็บถาวร 2022-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๑๐๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๕
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๘๐ ง หน้า ๑๙๒๘, ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๙
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๕๖ ง หน้า ๕๒๔๐, ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๓
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๒ ง หน้า ๓๗, ๓ มกราคม ๒๔๙๙
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเหรียญปฏิบัติงานสหประชาชาติ เก็บถาวร 2022-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๕๑ ง หน้า ๒๕๗๕, ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๕
  14. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔๖๓, ๘ ตุลาคม ๒๕๐๐
  15. กระทรวงการต่างประเทศ (21 เมษายน 2559). "ข่าวสารนิเทศ : รัฐบาลเกาหลีใต้มอบรางวัลโล่ห์เกียรติยศแก่ผู้แทนทหารไทยในฐานะวีรบุรุษสงครามคาบสมุทรเกาหลี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-29. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]