ข้ามไปเนื้อหา

อินเชียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อินเซียง (อิ๋น ฉ่าง)
尹賞
เจ้ากรมนครบาล (執金吾 จื๋อจินอู๋)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
นายทะเบียน (主簿 จู่ปู้)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 228 (228)
กษัตริย์โจยอย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตไม่ทราบ
อาชีพขุนนาง

อินเชียง หรือ อินซง[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า อิ๋น ฉ่าง (จีน: 尹賞; พินอิน: Yǐn Shǎng) เป็นขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เดิมรับราชการในวุยก๊ก ภายหลังแปรพักตร์มาเข้าด้วยจ๊กก๊กแล้วได้เป็นขุนนางตำแหน่งเจ้ากรมนครบาลในราชสำนักจ๊กก๊ก[2]

ประวัติ

[แก้]

อินเซียงเป็นชาวอำเภอเอ๊กก๋วน (冀縣/兾縣 จี้เซี่ยน) เมืองเทียนซุย (天水郡 เทียนฉุ่ยจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอกานกู่ มณฑลกานซู่ เริ่มรับราชการในตำแหน่งนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) ในที่ว่าการของเมืองเทียนซุยของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก

ในปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กได้เปิดการทัพบุกวุยก๊กครั้งแรก โดยเข้ายึดเขากิสาน (祁山 ฉีซาน; พื้นที่ภูเขาโดยรอบบริเวณที่เป็นอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เวลานั้นอินเชียงพร้อมด้วยเพื่อนร่วมราชการได้แก่เกียงอุย เลี้ยงซี (梁緒 เหลียง ซฺวี่) เลี้ยงเขียน (梁虔 เหลียง เฉียน) และคนอื่น ๆ กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางตรวจราชการกับม้าจุ้น (馬遵 หม่า จุน) เจ้าเมืองเทียนซุย ม้าจุ้นทราบข่าวการบุกของจ๊กก๊กและได้ยินว่าหลายอำเภอในเมืองเทียนซุยแปรพักตร์ไปเข้าด้วยข้าศึก ม้าจุ้นจึงระแวงว่าเกียงอุย เลี้ยงเขียน และคนอื่น ๆ กำลังเดินทางเพื่อไปสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊กด้วย ม้าจุ้นจึงหนีไปในเวลากลางคืนและไปหลบภัยที่อำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในเขตนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่)[3]

เมื่อเกียงอุย อินเชียง และคนอื่น ๆ รู้ว่าม้าจุ้นละทิ้งพวกตนและหนีไปเพียงลำพัง จึงพยายามไล่ตามม้าจุ้นไปแต่ไม่ทัน พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในอำเภอเซียงเท้งเมื่อทั้งหมดเดินทางมาถึง เกียงอุยจึงนำทั้งหมดไปยังอำเภอเอ๊กก๋วน (冀縣/兾縣 จี้เซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอกานกู่ มณฑลกาซู่) แต่ขุนนางผู้รักษาอำเภอเอ๊กก๋วนก็ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้ามาเช่นกัน อินเชียง เกียงอุย เลี้ยงซี เลี้ยงเขียน และคนอื่น ๆ เห็นว่าพวกตนไม่มีทางเลือกอื่น จึงเข้าไปสวามิภักดิ์แปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก[4] ภายหลังทั้งหมดได้รับราชการเป็นขุนนางตำแหน่งสูงในราชสำนักจ๊กก๊ก อินเซียงได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมนครบาล (執金吾 จื๋อจินอู๋) อินเชียงเสียชีวิตก่อนการล่มสลายของจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 263[5]

ในนิยายสามก๊ก

[แก้]

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 อินเชียงเป็นนายทะเบียนในเมืองเทียนซุย หลังเกียงอุยสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก ม้าจุ้นและแฮหัวหลิมระแวงว่าอินเชียงและเลี้ยงซีจะแอบสมคบกับเกียงอุยเป็นไส้ศึกอยู่ภายในเมืองเทียนซุย จึงคิดจะจับทั้งคู่สังหารเสีย ในเวลากลางคืนแฮหัวหลิมจึงส่งคนไปเชิญอินเชียงและเลี้ยงซีมาพบหลายครั้ง หวังจะลวงมาสังหาร แต่อินเชียงและเลี้ยงซีเข้าใจสถานการณ์จึงไม่ได้ไปพบแฮหัวหลิม และนำทหารใต้บังคับบัญชาไปเปิดประตูเมืองให้ทัพจ๊กก๊กเข้าเมือง และเข้าสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก อินเชียงได้รับได้รับการแต่งตั้งจากจูกัดเหลียงเป็นให้นายอำเภออุยก๋วน (冀城令 จี้เฉิงลิ่ง)[6][7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("ฝ่ายเกียงอุยกลับมาจึงว่าแก่ม้าจุ้นว่า จูล่งเสียทีแก่เราครั้งนี้เห็นจะบอกเนื้อความแก่ขงเบ้ง ๆ เห็นว่าในเมืองเรามิได้มีทหารก็จะรีบยกลอบมาตีเอา จำเราจะแยกทหารออกซุ่มอยู่นอกเมือง ข้าพเจ้าจะอยู่ทิศตวันออก ให้เลี้ยงเขียนกับอินซงคุมทหารซุ่มอยู่ทิศตวันตก ให้เลี้ยงซีคุมทหารอยู่รักษาเมือง ตัวท่านจงไปตั้งซุ่มอยู่ทิศใต้ ถ้าขงเบ้งยกทหารมาเห็นเพลิงสัญญาข้าพเจ้าแล้วก็ให้ล้อมรบเข้าจับเอาตัวขงเบ้งให้ได้") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 30, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. (尹賞執金吾) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  3. (建興六年,丞相諸葛亮軍向祁山,時天水太守適出案行,維及功曹梁緒、主簿尹賞、主記梁虔等從行。太守聞蜀軍垂至,而諸縣響應,疑維等皆有異心,於是夜亡保上邽。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  4. (維等覺太守去,追遲,至城門,城門已閉,不納。維等相率還兾,兾亦不入維。維等乃俱詣諸葛亮。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  5. (維昔所俱至蜀,梁緒官至大鴻臚,尹賞執金吾,梁虔大長秋,皆先蜀亡歿。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  6. สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 93.
  7. "สามก๊ก ตอนที่ ๗๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 30, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

บรรณานุกรม

[แก้]