ข้ามไปเนื้อหา

อรรถกถา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อรรถกถา (บาลี: อตฺถกถา; อ่านว่า อัดถะกะถา) คือคัมภีร์ที่รวบรวมคำอธิบายความในพระไตรปิฎกภาษาบาลี เรียกว่า คัมภีร์อรรถกถา บ้าง ปกรณ์อรรถกถา บ้าง อรรถกถา จัดเป็นแหล่งความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญรองลงมาจากพระไตรปิฎก และใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงอย่างแพร่หลายในวงการศึกษาพระพุทธศาสนา

แหล่งที่มาของคัมภีร์อรรถกถา ถูกแบ่งเป็น 2 ทฤษฎี ในการศึกษาเถรวาทดั้งเดิม เชื่อกันว่าคัมภีร์อรรถกถามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล[1] เนื่องจากมี "พุทธสังวัณณิตอรรถกถา" คำอธิบายจากพระพุทธเจ้าและ "อนุพุทธสังวัณณิตอรรถกถา" คำอธิบายจากพระอรหันต์ที่ทำการสังคายนาอยู่ในนั้น

และทฤษฎีที่ 2 คือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความหรือคำที่ยากในพระไตรปิฎกให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยยกศัพท์ออกมาอธิบายเป็นศัพท์ ๆ บ้าง ยกข้อความหรือประโยคยาว ๆ มาขยายความให้ชัดเจนขึ้นบ้าง แสดงทัศนะและวินิจฉัยของผู้แต่งสอดแทรกเข้าไว้บ้าง

(อรรถกถาในส่วนของพระพุทธเจ้าทรงอธิบายเอง อยู่ในปกิณณกเทสนา เป็นเรื่องที่เล็กน้อยที่ท่านรวบรวมเอาไว้จัดไว้ในชั้นอรรถกถาก็มี อรรถกถาในส่วนของพระอริยสาวกอธิบาย ในบางที่ได้แสดงชี้แจงคำที่ยากและอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ พระอรหันต์เหล่านั้นท่านมีความพิเศษท่านรู้พุทธประสงค์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระองค์ตรัสอย่างนี้ๆมุ่งหมายถึงสิ่งใดไม่ผิดพลาด ซึ่งผู้ที่มีภูมิความรู้แปลพระบาลีปฐมภูมิได้ ท่านจะเข้าใจว่า การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้ามาในรูปของ อุเทส [หัวข้อยกขึ้นแสดง มีทั้งพระคาถา และจุณณียะ] และปริปุจฉา [คำอธิบายในแต่ละอุเทสนั้น ๆ] เป็นไปในทิศทางเดียวกันและคล้อยตามกันไม่มีข้อใดบทความใดที่ขัดแย้งกัน)

อย่างไรก็ตาม อรรถกถานั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมดเนื่องจากอรรถกถาเป็นเนื้อหาที่ถูกแต่งขึ้นใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นบางอย่างไม่ได้ถูกระบุไว้ในพระไตรปิฎก เช่น 1. การที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่พระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 2. การที่พระพุทธเจ้าให้พระอานนท์ทำพระปริตร 3. มีการแต่งบัวเหล่าที่ 4 เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้แค่ 3 เหล่า ดังนั้นผู้ที่อ่านหรือศึกษาคัมภีร์อรรถกถาควรใช้วิจารณญาณในการศึกษาว่าส่วนไหนเชื่อถือได้ มีความสมเหตุผล และส่วนไหนไม่ควรเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

ลักษณะการอธิบายความในพระไตรปิฎกของอรรถกถานั้น ไม่ได้นำทุกเรื่องในพระไตรปิฎกมาอธิบาย แต่นำเฉพาะบางศัพท์ วลี ประโยค หรือบางเรื่องที่อรรถกถาจารย์เห็นว่าควรอธิบายเพิ่มเติมเท่านั้น ดังนั้นบางเรื่องในพระไตรปิฎกจึงไม่มีอรรถกถาขยายความ เพราะอรรถกถาจารย์เห็นว่าเนื้อหาในพระไตรปิฎกส่วนนั้นเข้าใจได้ง่ายนั่นเอง[2]

ต้นฉบับใบลานประกอบด้วยอรรถกถาสองภาษา พร้อมข้อความภาษาบาลีและคำแปลภาษาสิงหล

ความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถาในทางประวัติศาสตร์

[แก้]

ความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถาในเชิงประวัติศาสตร์ แบ่งได้เป็น 2 อย่าง คือ

  1. อรรถกถามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
  2. อรรถกถาเริ่มมีในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พ.ศ. 236

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงหลัง คัมภีร์อรรถกถาภาษาบาลีดั้งเดิมได้สูญหายจากประเทศอินเดียไป เหลือเพียงคัมภีร์อรรถกถาภาษาสิงหล ซึ่งพระมหินทเถระได้นำอรรถกถาในภาษาบาลีมาเผยแพร่ในเกาะลังกาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 236)"

ดังนั้นในปี พ.ศ. 945 พระพุทธโฆสะ พระภิกษุชาวอินเดีย จึงได้รับอาราธนามาที่เกาะลังกาเพื่อแปลคัมภีร์อรรถกถากลับคืนสู่ภาษาบาลี ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นผลงานการแปลของท่านพระพุทธโฆสะ[3]

ทั้งนี้ อรรถกถาภาษาสิงหลโบราณที่พระอรรถกถาจารย์รุ่นต่อมา เช่น พระพุทธโฆสะและพระธัมมปาละ ได้ทำการเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษามคธนั้น ต้นฉบับได้สูญหายไปหมดแล้ว แต่จากข้อมูลที่หลงเหลืออยู่ สามารถจำแนกแยกอรรถกถาโบราณเหล่านี้ออกเป็น 3 หมวด คือ

อรรถกถาวินัยปิฎก

[แก้]
  1. มหาอรรถกถา หรือมูลอรรถกถา เป็นผลงานของพระสงฆ์คณะมหาวิหารเมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา แก้ครบทั้ง 3 ปิฎก ซึ่งมหาอรรถกถานี้ นำมาจากชมพูทวีปสู่เกาะสิงหล โดยพระมหามหินทเถระ แล้วแปลเรียบเรียงเป็นภาษาสิงหลไว้โดยพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกชาวสิงหล เพื่อหลีกเลี่ยงความเลอะเลือนแห่งคำวินิจฉัยที่มาจากต่างลัทธิต่างนิกาย และที่มาจากศาสนาอื่น ๆ รวมถึงเพื่อความสะดวกแก่การศึกษาของพระสงฆ์ชาวสิงหล อรรถกถานี้เป็นความเป็นมาแต่เริ่มที่พระพุทธโฆสาจารย์ยึดถือเป็นต้นแบบในการแต่งอภินวอรรถกถา ซึ่งปรากฏเป็นผลงานของพระโปราณาจารย์ เรียกชื่อ ว่า สมันตปาสาทิกา และมหาปัจจรี เป็นต้น[4]
  2. มหาปัจจรีอรรถกถา คือ อรรถกถาแพใหญ่ แต่งขณะที่นั่งบนแพ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง
  3. กุรุนทีอรรถกถา แต่งที่กุรุนทีมหาวิหารในศรีลังกา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง
  4. อันธกัฏฐกถา แต่งเป็นภาษาอันธกะ แล้วสืบต่อกันมาขยายไปยังเมืองกัฏฐิปุระ หรือเมืองคอนเจวารามในอินเดียภาคใต้ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง
  5. สังเขปัฏฐกถา คือ อรรถกถาย่อ สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งในอินเดียภาคใต้ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง
  6. วินัยอัฏฐกถา ไม่ปรากฏสถานที่แต่งและชื่อผู้แต่ง [5]

อรรถกถาสุตตันตปิฎก

[แก้]
  1. มหาอรรถกถา หรือ มูลอรรถกถา
  2. สุตตันตอรรถกถา หรือ อรรถกถาพระสูตร
  3. อาคมัฏฐกกถา อรรถกถานิกาย 4
  4. ทีมัฏฐกถา อรรถกถาทีฆนิกาย
  5. มัชฌิมัฏฐกถา คืออรรถกถามัชฌิมนิกาย
  6. สังยุตตัฏฐกถา คืออรรถกถาสังยุตตนิกาย
  7. อังคุตตรัฏฐกถา คืออรรถกถาอังคุตตรนิกาย [5]

อรรถกถาอภิธรรมปิฎก

[แก้]
  1. มหาอรรถกถา หรือมูลอรรถกถา
  2. อภิธัมมัฏฐกถา คืออรรถกถาอภิธรรม [5]

นอกจากนี้ ยังมีอรรถกถาอื่น ๆ อีก คือ

  1. จูฬปัจจรีย์อรรถกถา คือ สังเขปอรรถกถานั่นเอง
  2. อริยอรรถกถา คือ อรรถกถาภาษาอริยะ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง
  3. ปันนวาร (อรรถกถา) คือ อรรกถาที่ประมวลข้อวินิจฉัยจากมูลอรรถกถาหรือมหาอรรถกถา

อรรถกถาเหล่านี้เรียกว่า โปราณอรรถกถา หรือ อรรถกถาเก่า ซึ่งพระสังคีติกาจารย์ได้ยกขึ้นสู่สังคายนาถึง 3 ครั้งและนำเผยแพร่ยังเกาะสิงหลโดยพระมหามหินทเถระชาวชมพูทวีปภายหลังสังคายนาครั้งที่ 3 แล้วได้รับการแปลเรียบเรียงเป็นภาษาสิงหลเพื่อหลีกเลี่ยงความเลอะเลือนแห่งคำวินิจฉัยที่มาจากต่างลัทธิต่างนิกาย และที่มาจากศาสนาอื่น ๆ [4]

คัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฎก (บางส่วน)

[แก้]

อรรถกถาที่พระพุทธโฆสะ พระพุทธทัตตะ พระธรรมปาละ พระอุปเสน และพระมหานามะ เป็นต้น แต่งและแปลเรียบเรียงจากมูลอรรถกถาหรือมหาอรรถกถาภาษาสิงหล เรียกว่า อภินวอรรถกถา หรืออรรถกถาใหม่ ซึ่งอรรถกถาของยุคอภินวอรรถกถาเริ่มจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้นมาจัดว่าเป็นยุคที่วงการศึกษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาแสดงมติว่าเป็น “ยุคทองของอรรถกถา” เพราะมีอรรถกถาเกิดขึ้นมากมาย โดยเนื้อหาของอรรถกถาเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันในลักษณะอธิบายความที่สื่อต่อกันเป็นลำดับตามกระแสความ ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎกและอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก [4]

ต่อไปนี้คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระไตรปิฎก 45 เล่ม มีทั้งหมด 23 คัมภีร์ โดยอาจมีชื่อคัมภีร์ซ้ำกันบ้าง

คัมภีร์อรรถกถาพระวินัยปิฎก

[แก้]
  1. มหาวิภังค์ ภาค 1 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา
  2. มหาวิภังค์ ภาค 2 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา
  3. ภิกขุนีวิภังค์ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา
  4. มหาวรรค ภาค 1 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา
  5. มหาวรรค ภาค 2 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา
  6. จุลวรรค ภาค 1 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา
  7. จุลวรรค ภาค 2 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา
  8. ปริวาร มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา

นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์กังขาวิตรณี อรรถกถาพระปาติโมกข์ 

คัมภีร์อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก

[แก้]

คัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎก
๔๕ เล่ม

    พระวินัยปิฎก    
   
                                       
สุตฺ คัมภีร์
ขันธกะ
ปริ
               
   
    พระสุตตันตปิฎก    
   
                                                 
ที สํ องฺ ขุ
                                                 
   
    พระอภิธรรมปิฎก    
   
                                                           
สงฺ วิภงฺ ธา
ปุ.
กถา ย. ปัฏฐานปกรณ์
                       
   


  1. ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สุมังคลวิลาสินี
  2. ทีฆนิกาย มหาวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สุมังคลวิลาสินี
  3. ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สุมังคลวิลาสินี
  4. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปปัญจสูทนี
  5. มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปปัญจสูทนี
  6. มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปปัญจสูทนี
  7. สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สารัตถปกาสินี
  8. สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สารัตถปกาสินี
  9. สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สารัตถปกาสินี
  10. สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สารัตถปกาสินี
  11. สังยุตตนิกาย มหาวรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สารัตถปกาสินี
  12. อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มโนรถปูรณี
  13. อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มโนรถปูรณี
  14. อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มโนรถปูรณี
  15. อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มโนรถปูรณี
  16. อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มโนรถปูรณี
  17. ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปรมัตถโชติกา
  18. ขุททกนิกาย ธรรมบท มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ธัมมปทัฏฐกถา
  19. ขุททกนิกาย อุทาน-อิติวุตตกะ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี
  20. ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปรมัตถโชติกา
  21. ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ-เปตวัตถุ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี
  22. ขุททกนิกาย เถรคาถา-เถรีคาถา มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี
  23. ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ชาตกัฏฐกถา
  24. ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 2 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ชาตกัฏฐกถา
  25. ขุททกนิกาย มหานิทเทส มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สัทธัมมปัชโชติกา
  26. ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สัทธัมมปัชโชติกา
  27. ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สัทธัมมปกาสินี
  28. ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 1 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ วิสุทธชนวิลาสินี
  29. ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ วิสุทธชนวิลาสินี
  30. ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ มธุรัตถวิลาสินี
  31. ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปรมัตถทีปนี
  • นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์สารัตถสมุจจัย อรรถกถาภาณวาร อธิบายเนื้อหาของพระสูตรและปาฐะต่าง ๆ จากพระสูตรและข้อควาจากพระวินัยหลากหลายที่มา ที่ปรากฏในภาณวาร หรือหนังสือสวดมนต์หลวง

คัมภีร์อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก

[แก้]
  1. ธัมมสังคณี มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ อัฏฐสาลินี
  2. วิภังค์ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ สัมโมหวิโนทนี
  3. ธาตุกถา มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา หรือปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  4. ปุคคลบัญญัติ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา หรือปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  5. กถาวัตถุ มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ กถาวัตถุอรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  6. ยมก ภาค 1 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ยมกปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  7. ยมก ภาค 2 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ยมกปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  8. ปัฏฐาน ภาค 1 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปัฏฐานปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  9. ปัฏฐาน ภาค 2 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปัฏฐานปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  10. ปัฏฐาน ภาค 3 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปัฏฐานปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  11. ปัฏฐาน ภาค 4 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปัฏฐานปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  12. ปัฏฐาน ภาค 5 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปัฏฐานปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)
  13. ปัฏฐาน ภาค 6 มีคัมภีร์อรรถกถาชื่อ ปัฏฐานปกรณ์อรรถกถา หรือ ปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ (ปัญจปกรณัฏฐกถา)

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • พระไตรปิฎกภาษาบาลี คัมภีร์หลักทางพระพุทธศาสนา (คัมภีร์ชั้นต้น หรือชั้น 1)
  • ฎีกา คัมภีร์อธิบายความในอรรถกถาหรือฎีกา (คัมภีร์ชั้น 3)
  • อนุฎีกา คัมภีร์ที่พระอาจารย์ทั้งหลายแต่งแก้หรืออธิบายเพิ่มเติมฎีกา
  • โยชนา คัมภีร์ที่อธิบายความหมายของศัพท์และความสัมพันธ์ในประโยคของภาษาช่วยให้การแปลคัมภีร์อรรถกถาและฎีกา
  • คัณฐี คัมภีร์ที่พรรณาไปตามลำดับบท เลือกพรรณนาเฉพาะบทปาฐะ
  • ทีปนี คัมภีร์ที่พรรณนาความหมายคำอธิบายอย่างชัดเจน
  • มธุ คัมภีร์ที่รจนาขึ้นรวมกับมูลฎีกา โดยพรรณนาขอความของมูลฎีกา
  • ละตัน (ละตันอัฎฐกถา) คัมภีร์ชนิดเล็ก ๆ สั้น ๆ เขียนโดยสังเขป ให้จำง่าย
  • นิสสยะ หรือ นิสสัย คัมภีร์แปลพระไตรปิฎกเป็นต้น เช่นแปลมาสู่ภาษาพม่า โดยวิธีการยกศัพท์
  • ปกรณ์วิเสส คัมภีร์หรือหนังสือที่พิเศษ ที่ไม่ได้แต่งอธิบายธรรมะตามคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งโดยเฉพาะ
  • สัททาวิเสส กลุ่มคัมภีร์ไวยกรณ์บาลีที่ว่าด้วยหลักภาษาในพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์พื้นฐาน แห่งความเข้าใจในภาษาบาลีตลอดจนการเรียนรู้และวินิจฉัยข้ออรรถข้อธรรมในพระ ไตรปิฎก
  • คัมภีร์ทางศาสนาพุทธในประเทศไทย

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ไม่รู้จักพระไตรปิฎก-อรรถกถา จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร - หนังสือธรรมะ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)". www.papayutto.org.
  2. ณรงค์ จิตฺตโสภโณ, พระมหา. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2527
  3. เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท. วิทยานิพนธ์ปริญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2524. 184 หน้า. (อัดสำเนา)
  4. 4.0 4.1 4.2 วรรณคดีบาลี. หน้า 68
  5. 5.0 5.1 5.2 ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
  • E.W.Adikaram,Early History of Buddhism in Ceylon (Columbo:M.D.Gunasena Co.,Ltd.,1953),p. 1.
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]