ข้ามไปเนื้อหา

ธัมมปทัฏฐกถา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธัมมปทัฏฐกถา (บาลี: ธมฺมปทฏฐกถา) เป็นอรรถกถาของธรรมบท หรือประมวลคาถา 423 คาถา ซึ่งปรากฏในขุททกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก กล่าวกันว่าพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์ชาวชมพูทวีป ซึ่งเดินทางไปแปลอรรถกถาในสิงหลทวีป (ศรีลังกา) ได้เรียบเรียงไว้จากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ปัจจุบันธัมมปทัฏฐกถาใช้เป็นคัมภีร์ในการศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย จึงเป็นคัมภีร์อรรถกถาที่ได้รับความนิยมศึกษามากที่สุดเล่มหนึ่ง

ผู้แต่ง

[แก้]

ตามขนบพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เป็นที่ยอมรับกันว่าพระพุทธโฆสะได้เรียบเรียงธัมมปทัฏฐกถาเป็นภาษามคธ เมื่อ พ.ศ. 956 [1] ซึ่งในคำนมัสการ ท่านผู้รจนาประกาศว่าท่านได้รับการอาราธนาจากพระเถระนามว่าพระกุมารกัสสปเถระ (เป็นนามพระเถระองค์หนึ่งในสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ ไม่ใช่พระกุมารกัสสปะในสมัยพุทธกาล) ให้รจนาคัมภีร์อรรถกถาอธิบายแจกแจงพระธรรมบทขึ้น [2]

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางแห่งแสดงความกังขาว่าพระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาคัมภีร์นี้จริงหรือไม่ โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสำนวนภาษาของธัมมปทัฏฐกถา กับอรรถกถาอื่น ๆ ที่พระพุทธโฆสะรจนา รวมถึงยังมีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างจากงานอื่นๆ ของท่าน เช่น นิทานเรื่องนายวาณิชย์โฆสก ที่ปรากฏในอรรถกถามโนรถปูรณีมีความแตกต่างจากที่ปรากฏในธัมมปทัฏฐกถา [3]

กระนั้น ได้มีผู้โต้แย้งในประเด็นนี้เช่นกันว่า ความแตกต่างนั้นเป็นเพราะเนื้อหาของพระไตรปิฎก ที่ท่านอรรถกถาจารย์อธิบายนั้นมีความแตกต่างกันไปตามหมวดหมู่ต่างๆ มิใช่เพราะสำนวนภาษาเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ พระพุทธโฆสะยังเป็นผู้ "แปล" อรรถกถาจากมหาอรรถกา มหาปัจจารี และกุรุทะ อรรถกา ของเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ รายละเอียดที่ปรากฏในอรรถกถาที่ท่านเรียบเรียงขึ้นจึงมีความแตกต่างกันไปบ้าง [4]

ทั้งนี้ นักวิชาการบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธโฆสะอาจเน้นแปลธัมมปทัฏฐกถามากกว่าเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เนื่องจากพบหลักฐานบ่งชี้ว่า มีการรจนาอรรถกถาของธรรมบทมาก่อนหน้าการมาถึงสิงหลทวีปของท่าน นอกจากนี้ ยังมีอรรถกถาฉบับอื่นๆ ที่อธิบายและแจกแจงรายละเอียดของธัมมปทัฏฐกถาแตกต่างจากฉบับของท่านพระพุทธโฆสะออกไปด้วย อาทิ ฉบับที่ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนเมื่อปี ค.ศ. 233 มีความแตกต่างในส่วนของคาถาและเรื่องประกอบพอสมควร [5] นอกจากนี้ ยังปรากฏเรื่องราวจากธัมมปทัฏฐกถา ในคัมภีร์ของนิกายอื่นๆ เช่น ในคัมภีร์ทิพยาวทาน อันมีต้นธารมาจากนิกายมูลสรวาทสติวาท และยังพบเรื่องราวในทำนองเดียวกันในพระไตรปิฎกภาษาทิเบตด้วย [6]

เนื้อหา

[แก้]

เนื้อหาของธัมมปทัฏฐกถาเป็นการอธิบายเนื้อหาเบื้องหลังพระธรรมบทบทต่าง ๆ รวมถึงแจ้งถึงผลแห่งการประกาศพระธรรมเทศนาอันเกี่ยวเนื่องกับพระธรรมบทบทนั้น ๆ ว่า มีผู้ได้ผลแห่งการแสดงพระธรรมเทศนานั้น เช่น ประกาศถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตลอดชีวิต ไปจนถึงได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตผล มากน้อยเท่าไร นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายตำนาน การอธิบายศัพท์ที่สำคัญ และขยายความศัพท์ในเชิงไวยากรณ์และในเชิงธรรมนิยาม

ทั้งนี้ ท่านผู้รจนาธัมมปทัฏฐกถาได้สรุปไว้ตอนท้ายของอรรถกาเรื่องนี้ว่า "อรรถกถาแห่งพระธรรมบท มีประมาณ 72 ภาณวาร อันข้าพเจ้า ประกาศเรื่อง 299 เรื่อง (ในเรื่องเหล่านี้นับรวมทั้งหมดมี 302 เรื่อง) คือ ในยมกวรรค อันเป็นวรรคแรกของวรรคทั้งปวง 14 เรื่อง, ในอัปปมาทวรรค 9 เรื่อง ในจิตตวรรค 9 เรื่อง, ในปุปผวรรค 12 เรื่อง ในพาลวรรค 15 เรื่อง, ในบัณฑิตวรรค 11 เรื่อง, ในอรหันตวรรค 10 เรื่อง, ในสหัสสวรรค 14 เรื่อง, ใน ปาปวรรค 12 เรื่อง, ในทัณฑวรรค 11 เรื่อง, ในชราวรรค 9 เรื่อง, ในอัตตวรรค 10 เรื่อง, ในโลกวรรค 11 เรื่อง, ในพุทธวรรค 9 เรื่อง, ในสุขวรรค 8 เรื่อง, ในปิยวรรค 9 เรื่อง, ในโกธวรรค 8 เรื่อง, ในมลวรรค 12 เรื่อง ในธัมมัฏฐวรรค 10 เรื่อง, ในมรรควรรค 10 เรื่อง, ในปกิณณกวรรค 9 เรื่อง, ในนิรยวรรค 9 เรื่อง; ในนาควรรค 8 เรื่อง, ในตัณหาวรรค 12 เรื่อง, ในภิกขุวรรค 12 เรื่อง, ในพราหมณวรรค 39 เรื่อง" [7]

การแพร่หลาย

[แก้]

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ศึกษาหลักสูตรพระปริยัติธรรมในประเทศไทยว่า หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ฉบับตีพิมพ์แบบสมัยใหม่มีจำนวน 8 เล่ม แต่เรียกว่า 8 ภาค เป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก แต่ละเล่มหนาอย่างต่ำ 126 หน้า สูงสุดหนา 216 หน้า คณะสงฆ์กำหนดให้เป็นหลักสูตร (แบบเรียน) เรียนและสอบความรู้พระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่ใช้ยุติในปัจจุบันนี้หลาบชั้นด้วยกันดังนี้ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1-2-3-4 ใช้เป็นหลักสูตร ประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลมคธเป็นไทยโดยพยัญชนะและโดยอรรถ ชั้นประโยค 1-2 และเปรียญตรีปีที่ 1-2 หมวดบาลีศึกษา นอกจากนั้น ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 ยังใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวงวิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ. 4 อีกด้วย ส่วนธัมมปทัฏฐกถา ภาค 2-3-4 ใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ. 5 ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5-6-7-8 ใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลมคธเป็นไทยโดยพยัญชนะและโดยอรรถ และวิชาสัมพันธ์ไทย ชั้นประโยค ป.ธ. 3 และยังใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ. 6 อีกด้วย [8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์.
  2. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย. หน้า 6 - 7
  3. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 81
  4. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 82
  5. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 82
  6. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 83
  7. กองตำรา มหากุฏราชวิทยาลัย. (2481). พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 8 หน้า 300
  8. ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์. ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 1
  • กองตำรา มหากุฏราชวิทยาลัย. (2481). พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 8. พระนคร. มหากุฏราชวิทยาลัย.