ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา
ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในธาตุกถาปกรณ์ ในพระอภิธรรมปิฎก ของพระไตรปิฎกภาษาบาลี ซึ่งธาตุกถา มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การสงเคราะห์เข้ากันได้หรือไม่ได้ของธรรม 3 ประการ คือ ขันธ์ 5 อายตนะ ธาตุ[1]
ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งในปรมัตถทีปนี หรือปัญจปกรณัฏฐกถา หรือ อรรถกถาปัญจปกรณ์ หรือบางทีก็เรียกว่า "ปรมัตถทีปนี ปัญจัปปกรณัฏฐกถา ธาตุกถาวัณณา"[2] เป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ แต่งตามคำอาราธนาของพระจุลลพุทธโฆสะชาวลังกา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 1000 - 1,100 ซึ่งปรมัตถทีปนี หรือปัญจัปปกรณัฏฐกถา นั้นเป็นการอธิบายเนื้อความในปกรณ์ทั้ง 5 ของพระพระอภิธรรมปิฎก 5 คัมภีร์ คือ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน [3] โดยธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ปรมัตถทีปนี ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม และใหญ่โตมโหมาร
ทั้งนี้ โดยเหตุที่ธาตุกถามักรวมกับปุคคลบัญญัติอยู่ในเล่มเดียวกัน อรรถกถาของทั้ง 2 ปกรณ์ของพระอภิธรรมปิฎกนี้ จึงมักรวมเป็นฉบับเดียวกัน แต่ในบางกรณีก็แยกเป็นเอกเทศจากกัน[4]
เนื้อหา
[แก้]โดยเหตุที่พระอภิธรรมปิฎก มีเนื้อหาเป็นข้อธรรมล้วน ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคล จึงมีความยากที่จะทำความเข้าใจ พระอรรถกถาจารย์จึงต้องมีการขยายความเนื้อหาในปกรณ์ หรือพระอภิธรรมปิฎกเล่มต่าง ๆ ด้วยการเสริมเนื้อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อธรรมนั้นๆ พร้อมทั้งมีการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงความลึกซึ้งของพระอภิธรรมปิฎกได้มากขึ้น
ในธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา พระพุทธโฆสะให้คำอธิบายที่ไม่ยืดยาวนัก เนื่องจากในธาตุกถาปกรณ์มีการอธิบายลักษณะธรรมต่าง ๆ อย่างกระชับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยท่านผู้รจนาจะใช้วิธีสรุปความจากเนื้อหาในปกรณ์ให้มีความรวบรัดยิ่งขึ้น ด้วยถ้อยความที่ง่ายต่อการเข้าใจยิ่งขึ้น เช่นในสังคหิเตนอสังคหิตปทนิทเทส มีการยกหัวข้อย่อยของนิทเทสมาอธิบายพอให้เกิดความเข้าใจ
เช่น อรรถกถาสัจจนิทเทส ท่านผู้รจนาได้ชี้แจงจุดที่น่าจะก่อให้เกิดความกังขาไว้เป็นข้อความสั้น ๆ เกี่ยวเนื่องกับเหตุที่มีการลำดับของมัคคสัจ[5] หรือในอรรถกถาอินทริยนิทเทส ท่านผู้รจนาได้อธิบายโดยวิธีการรวบยอดว่า "รูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยรูปขันธ์ อรูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์" และอินทรีย์ที่เหลือก็มีการกำหนดในลักษณะเดียวกัน เป็นต้น[6]
อย่างไรก็ตาม บางอรรถาธิบายก็มีเนื้อหายาวกว่าเนื้อความในปกรณ์ เช่นอรรถกถาปฏิจจสมุปปาทนิทเทส ในอรรถกถาสังคหาสังคหปทนิทเทส โดยในนิทเทสนี้ ท่านผู้รจนาได้ทำการอธิบายทั้งมูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมิได้มีพระดำรัสดังนั้น และเหตุใดพระองค์จะจึงมีพระดำรัสดังนั้น เช่นเหตุใดจึงทรงตรัสว่า " เอกาทสหายตเนหิ สตฺตรสหิ ธาตูหิ" นอกจากนี้ ยังมีการขยายความข้อความสำคัญเช่น "ทฺวีหิ อายตเนหิ" หมายความว่า "อายตนะ 2 คือ รูปายตนะและธัมมายตนะ" เป็นต้น[7]
คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
[แก้]ชั้นฎีกา
- ธาตุกถามูลฎีกา หรือปัญจปกรณ์มูลฎีกา, ปรมัตถปกาสินี, ลีนัตถโชติกา, ลีนัตถโชตนา, ลีนัตถปทวัณณนา รจนาโดยพระอานันทะเถระ แต่งที่ลังกาทวีป ราวศตวรรษที่ 6 หรือ ระหว่างศตวรรษที่ 8 - 9[8] [9]
ชั้นอนุฎีกา
- ธาตุกถานุฎีกา หรือปัญจปกรณานุฎีกา, ลีนัตถวัณณนา, ลีนัตถปกาสินี, อภิธรรมานุฎีกา รจนาโดยพระจุลละธัมมปาล ราวศตวรรษที่ 6 หรือ ระหว่างศตวรรษที่ 8 - 9[10] บ้างก็ว่าแต่งโดยพระอานันทะเถระ แต่งที่ลังกาทวีป[11]
ชั้นโยชนา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 49
- ↑ ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 105
- ↑ วรรณคดีบาลี หน้า 78
- ↑ ดู The Life and Work of Buddhaghosa หน้า 84
- ↑ ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. หน้า 22
- ↑ ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. หน้า 24
- ↑ ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. หน้า 43 - 45
- ↑ ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 107
- ↑ Reference Table of Pali Literature
- ↑ Reference Table of Pali Literature
- ↑ ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 112
- ↑ ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 114
- ↑ Reference Table of Pali Literature
บรรณานุกรม
[แก้]- Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co. ฃ
- Bhikkhu Nyanatusita. (2008). Reference Table of Pali Literature. electronic publication by author
- คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพมหานคร. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม 3
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.