ข้ามไปเนื้อหา

ภาณวาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาณวาร หรือ จตุภารณวารปาฬี (Catubhanavarapali) เป็นคัมภีร์รวบรวมบทสวดมนต์ในศาสนาพุทธใช้กันในไทยและในศรีลังกา แต่ที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในศรีลังกา พระภิกษุสงฆ์มักใช้สวดทั้งเล่มแบ่งออกเป็น 4 ช่วง หรือ ภารณวาร มักใช้เวลาสวดทั้งวันทั้งคืน เนื่องพระสูตรและบทสวด หรือ ปาฐะต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้มีความยาวพอสมควร ส่วนที่สำคัญที่สุดคือพระปริตร หรือมหาปริตร อันประกอบด้วยมงคลสูตร รัตนสูตร และกรณียมเตตสูตร[1]

ในไทย ภาณวาร หรือ จตุภาณวาร หมายถึงประมวลบทสวดมนต์ของโบราณ ปัจจุบันปรากฏในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง ยาวประมาณ 53 หน้า ประกอบด้วยบทสวด 22 บท (โบราณใช้คำว่า ธรรมประเภท 22 ภาค) จัดเป็น 4 ภาณวารเช่นเดียวกัน[2]

ด้วยความนิยมมากในลังกา ทำให้สาธุชนสามารถสดับการสวดจตุภารณวารฯ ได้ครวบถ้วนทุกภารณวารโดยไม่ยากนัก ซึ่งผิดกับไทยที่หากไม่ใช่งานมงคลใหญ่ หรืองานหลวงจะหาสดับการสวดอย่างครวบถ้วนได้ยาก อย่างไรก็ตาม เป็นเพราะไทยถือคัมภีร์สวดมนต์คนละฉบับ ที่เรียบเรียงพระสูตรสำหรับสวดไว้ต่างกันนั่นเอง

หลักฐานแรกที่ปรากฏคำว่า ภาณวาร ซึ่งนักวิชาการคาดว่าคือคำย่อของคัมภีร์จตุภารณวารปาฬี คือจารึกกาลุดิยะ โปกุณะ (Kaludiya pokuna) ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 9[3]

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ที่ลังกานิยมเรียกจตุภารณวารปาฬี ว่า ปิริตโปตะหรือ มหาปิริตโปตะ (Pirit-Pota) [4] บ้างก็เรียกว่า ปิรุวานะโปตวะหันสี (Piruvanapotvahase)[5]

เนื้อหา

[แก้]

พระสูตร และปาฐะหรือคาถาจากพระสูตรที่ปรากฏในจตุภารณวารปาฬี มีที่มาต่างกัน ส่วนใหญ่มาจากพระสุตตันตปิฎก และอีกส่วนมาจากพระวินัยปิฎกบ้าง รวมแล้ว 29 สูตร หรือ ปาฐะ อย่างไรก็ตามภารณวารฝ่ายไทยมีจำนวนพระสูตร หรือ ปาฐะ น้อยกว่าฝ่ายลังกา โดยจบที่อาฏานาฏิยสูตรเป็นบทเดียวของภารณวารที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องที่ท้าวเวสวัณมหาราช กราบทูลพระพุทธเจ้า ถวายบทสวดอันเป็นเครื่องรักษาคุ้มครองพุทธบริษัทจากพวกยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยเหตุที่พระสูตรนี้ยาวมาก จึงต้องแบ่งเป็น 2 ตอน เมื่อรวบรวมบทสวดใน 4 ภาณวาร เป็น 22 บทสวด ตรงกันทั้งในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง และในข้อมูลที่ระบุในคัมภีร์สารัตถสมุจจัย ซึ่งเป็นอรรถกถาของพระสูตรที่ปรากฏในจตุภารณวารปาฬี[6]

ฝ่ายลังกา ทั้งที่ปรากฏในบทสวดมนต์ฉบับหลวงของศรีลังกา (มหาปิริตโปตะ) และจตุภารณวารปาฬี ได้เพิ่มพระสูตรเข้ามาในภาณวารที่ 4 อีก 7 พระสูตร รวมทั้งหมด 4 ภาณวารเป็น 29 บทสวด[7]

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือสวดมนต์มหาปริตตัง (Mahaparittaṁ) ที่เรียบเรียงโดย อานันทโชติ ภิกขุ ที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา เมื่อปี 2005 กลับปรากฏว่า ภาณวารที่ 4 จบที่อาฏานาฏิยสูตร เพียงพระสูตรเดียวเหมือนกับธรรมเนียมฝ่ายไทย แต่นำพระสูตรอีก 7 สูตรที่รวมไว้ในภาณวาร 4 ไปรวมอยู่ในส่วนที่เรียกว่า "อติเรกานิ สัตตสุตตานิ"[8]

องค์ประกอบ

[แก้]

บทสวดมนต์ที่มาจากพระสูตรและปาฐะหรือคาถาในพระสูตร ตามที่ปรากฏในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงของไทย อันเป็นการสวดภาณวารแบบไทย และในจตุภารณวารปาฬี ของลังกา แม้จะแตกต่างกันในด้านจำนวนบท แต่โดยสรุปแล้ว (ทั้งหมด 29 บทสวด) มีรายละเอียด และการจัดแบ่งภาณวารดังต่อไปนี้

ภาณวารที่ 1

1. ติสรณคมนปาฐะ ว่าด้วยการประกาศรัตนตรัยเป็นสรณะ (ปรากฏอยู่ในปพฺพชฺชูปสมฺปทากถา, อญฺญติตฺถิยปุพฺพกถา และราหุลวตฺถุ มหาวรรค ในพระวินัยปิฎก และในสรณตฺตยํ ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

2. ทสสิกขาบท หรือ ศีล 10 หรือทศศีลของสามเณร (ปรากฏอยู่ในสิกฺขาปทกถา หมวดมหาวรรค ในพระวินัยปิฎก และในทสสิกฺขาปทํ ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย)

3. สามเณรปัญหาปาฐะ หรือสามเณรปัญหา บทถามปัญหาให้สามเณรตอบรวม 10 ข้อ (ปรากฏอยู่ในกุมารปญฺหา ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

4. ทวัตติงสาการปาฐะ บทว่าด้วยอาการ 32 ของร่างกาย (ปรากฏอยู่ในทฺวตฺติสากาโร ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

5. ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ บทว่าด้วยการพิจารณาปัจจัย 4 ในขณะที่บริโภคใช้สอย (รวบรวมจากมหาวรรค พระวินัยปิฎก)

6. ทสธัมมสุตตปาฐะ บทว่าด้วยธรรม 10 ประการ ที่ผู้บวชควรพิจารณาเนือง ๆ (ปรากฏอยู่ในปพฺพชิตอภิณฺหสุตฺตํ อโกฺกสวโคฺค ทสกนิปาต องฺคุตฺตรนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

7. มังคลสุตตปาฐะ บทว่าด้วยมงคลสูตร ซึ่งเป็นบทแรกของเจ็ดตำนาน (ปรากฏในมงฺคลสุตฺตํ ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

8. รตนสุตตปาฐะ บทว่าด้วยรัตนสูตร (ปรากฏในรตนสุตฺตํ ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

9. กรณียเมตตสุตตปาฐะ บทว่าด้วยกรณียเมตตสูตร (ปรากฏในเมตฺตสุตฺตํ ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

10. อหิราชสุตตปาฐะ หรืออหิราชสูตร บทว่าด้วยพระสูตรที่กล่าวถึง พญางูทั้ง 4 สกุล หรือ เรียกย่อว่า ขันธปริตต์เพียงแต่ว่า ขันธปริตร สวดเฉพาะบทกวีท้ายอหิราชสูตร (ปรากฏอยู่ในขุทฺทกวตฺถุกฺขนฺธกํ ขุทฺทกวตฺถูนิ ของพระวินัยปิฎก หมวดจูฬวคฺคปาฬิ และในอหิราชสุตฺตํ จตุกฺกนิปาต ปตฺตกมฺมวโคฺค ปตฺตกมฺมสุตฺตํ องฺคุตฺตรนิกาย ของพระสุตันตปิฎก)

11. เมตตานิสังสสุตตปาฐะ บทว่าด้วยพระสูตรกล่าวถึงอานิสงส์หรือผลดี 11 ประการของเมตตา (ปรากฏในเมตฺตาสุตฺตํ เมตฺตาวโคฺค อฎฺฐกนิปาต และในเมตฺตาสุตฺตํ ทุติยวโคฺค ทสก-เอกาทสกนิปาต องฺคุตฺตรนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย)

12. เมตตานิสังสคาถาปาฐะ บทว่าด้วยบทกวีแสดงอานิสงส์ของเมตตาหรือไมตรีจิต ในชุดนี้เน้นการไม่ประทุษร้ายมิตร (ปรากฏใน วรรคที่ 12 ของ 538. มูคปกฺขชาตกํ (1) หรือเตมิยชาดก ในมหานิปาต ชาตก ขุทฺทกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย)

13. โมรปริตตปาฐะ บทว่าด้วย โมรปริตร บทสวดป้องกันภัยของพระโพธิสัตว์ เมื่อเสวยพระชาติเป็นนกยูง (ปรากฏในโมรชาตกํ - 159 ทุกนิปาต ชาตก ขุทฺทกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย)

14. จันทปริตตปาฐะ บทว่าด้วยเครื่องป้องกันของพระจันทร์ (ปรากฏในจนฺทิมสุตฺตํ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ ปฐมวโคฺค สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

15. สุริยปริตตปาฐะ บทว่าด้วยเครื่องป้องกันของพระอาทิตย์ (ปรากฏในสูริยสุตฺตํ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ ปฐมวโคฺค สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

16. ธชัคคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยธชัคคสูตร หรือธชัคคปริตร คือ พระสูตรกล่าวถึงชายธงของพระอินทร์ เป็นต้น ทำให้เกิดความมั่นใจฉันใด การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ทำให้เกิดความมั่นใจหายกลัวฉันนั้น (ปรากฏในธชคฺคสุตฺตํ สกฺกสํยุตฺตํ ปฐมวโคฺค สํยุตฺตนิกาย ในสุตตันตปิฎก)

ภาณวารที่ 2

1. มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยโพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหากัสสปะ (ปรากฏในปฐมคิลานสุตฺตํ โพชฺฌงฺคสํยุตฺตํ ปพฺพตวโคฺค สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

2. มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยโพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหาโมคคัลลานะ (ปรากฏในทุติยคิลานสุตฺตํ โพชฺฌงฺคสํยุตฺตํ ปพฺพตวโคฺค สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

3. มหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยโพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหาจุนทะ (ปรากฏในตติยคิลานสุตฺตํ โพชฺฌงฺคสํยุตฺตํ ปพฺพตวโคฺค สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

ภาณวารที่ 3

1. คิริมานันทสุตตปาฐะ หรือคิริมานนทสูตร บทว่าด้วยพระสูตรที่กล่าวถึงพระคิริมานนท์ (ปรากฏในคิริมานนฺทสุตฺตํ สจิตฺตวโคฺค องฺคุตฺตรนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

2. อิสิคิลิสุตตปาฐะ หรืออิสิคิลิสูตร บทว่าด้วยพระสูตรซึ่งกล่าวถึงภูเขาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวนมากอาศัยอยู่ (ปรากฏในอิสิคิลิสุตฺตํ อนุปทวโคฺค อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก)

ภาณวารที่ 4

1. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ปรากฏในปญฺจวคฺคิยกถา มหาขนฺธก มหาวคฺค ในพระวินัยปิฎก และในตถาคตสุตฺตํ สมาธิวโคฺค สจฺจสํยุตฺตํ สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตันตปิฎก)

2. มหาสมยสูตร หรือมหาสมัยสูตร (ปราฎในมหาสมยสุตฺตํ มหาวคฺค ทีฆนิกาย ในพระสุตันตปิฎก)

3. อาฬวกสูตร (ปรากฏในอาฬวกสุตฺตํ ยกฺขสํยุตฺตํ สคาถาวคฺค สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตันตปิฎก)

4. กสิภารทวาชสูตร (ปรากฏในกสิภารทฺวาชสุตฺตํ พฺราหฺมณสํยุตฺตํ สคาถาวคฺค สํยุตฺตนิกาย ในพระสุตันตปิฎก)

5. ปราภวสูตร (ปรากฏในปราภวสุตฺตํ อุรควโคฺค สุตฺตนิปาต ขุทฺทกนิกายในพระสุตันตปิฎก)


6. วสลสูตร (ปรากฏในวสลสุตฺตํ อุรควโคฺค สุตฺตนิปาต ขุทฺทกนิกาย ในพระสุตันตปิฎก)

7. สัจจวิภังคสูตร (ปรากฏในสจฺจวิภงฺคสุตฺตํ วิภงฺควโคฺค อุปริปณฺณาส มชฺฌิมนิกาย ในพระสุตันตปิฎก)

8. อาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยปริตร(ปรากฏในอาฎานาฎิยสุตฺตํ ปาถิกวคฺค ทีฆนิกาย ในพระสุตันตปิฎก)

  • หมายเหตุ การสวดภาณวารที่ 4 ของไทยเริ่มและจบที่อาฏานาฏิยสูตรเพียงบทเดียว

การสวด

[แก้]

ในลังกา หลังจากเข้าพรรษาแล้ว ทุกวัดจะจัดให้มีการสวดจตุภารณวาร เพื่ออำนวยอวยชัยและความมั่งมีศรีสุขให้บังเกิดขึ้นกับพระอารามและโดยชุมชน ในบางครั้งจะมีการเลือกบทสวด หรือ ปาฐะ หรือพระสูตรที่เหมาะสมมาสธยายเพื่ออำนวยพรแก่สษธุชนที่มาทำบุญที่วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามบ้านเมืองเกิดเรื่องร้ายแรง จะมีการสวดสาธยายเพื่อให้อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยช่วยปกปักคุ้มครองให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากโรคาพยาธิหรือภยันตราย เนื่องจากในจตุภารณวารฯ นั้นมีการรวมบทสวดพระปริตรไว้ด้วยนั่นเอง

ส่วนในไทย สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาของไทยได้อธิบายไว้ว่า

"ในสมัยที่นิยมใช้บทสวดมนต์หลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ บท และมีงานสวดติดต่อกันหลาย ๆ วัน ก็จะต้องเพิ่มบทสวดให้มากขึ้น ข้อกำหนดในการสวดจึงเกิดขึ้น เรียกว่า ภาณวาร แปลว่า “วาระแห่งการสวด” ซึ่งมี 4 ภาณวาร คือ สวดแต่ละวาระประมาณ 2 ชั่วโมงจบ เมื่อพักพอสมควรแล้ว จึงเริ่มสวดชุดที่ 2 พักแล้วสวดชุดที่ 3 พักแล้วสวดชุดที่ 4 เป็นจบจตุภาณวาร หรือครบ 4 ชุด ถ้าสวดคืนเดียวอาจต้องใช้เวลาตลอดถึงจนรุ่งสว่าง แต่ถ้าแบ่งงานเป็นหลายวัน ก็อาจแบ่งสวดวันละชุด ข้อกำหนดว่าในแต่ละภาณวาร มีอะไรบ้าง และรวม 4 ภาณวารมี 22 บทหรือรายการนั้น มีบอกไว้ชัดแล้วในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง ซึ่งมีข้อความตรงกับคำชี้แจงในหนังสือสารัตถสมุจจัย ภาษาบาลี"

นอกจากนี้ เฉพาะการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยสุตตปาฐะ ในภาณวารที่ 4 นั้น มีรูปแบบเฉพาะที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากการสวดบทอื่น ๆ ในภาณวาร โดยในหนังสือสวดมนต์ของไทยจะแบ่งเป็น 2ภาค คือ ปุพพภาค และปัจฉิมภา ภามคแรกเรียกว่า “ยกฺขภาควาร” หรือ ภาณยักษ์ส่วนภาคหลังเรียกว่า “พุทฺธภาควาร” หรือภาณพระ นิยมสวดกันด้วยความเชื่อว่า จะสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ จนผู้คนทั่วไปเรียกกันว่าการสวดภาณยักษ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการสวดภาณยักษ์ เป็นการเรียกโดยสะดวก เพราะในการสวดภาณยักษ์นั้นมีทั้งภาณยักษ์ และภาณพระ รวมกันเป็นอาฏานาฏิยสูตรนั่นเอง

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. David J. Kalupahana. (2001). หน้า 139
  2. ดู ขยายความคำพระ ใน http://www.polyboon.com/kumpra/06.php เก็บถาวร 2016-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Mahinda Deegalle. (2006). หน้า 49
  4. Donald K. Swearer. (2004). หน้า 115
  5. David J. Kalupahana. (2001). หน้า 139
  6. สุชีพ ปุญญานุภาพ. "สวดมนต์ คือ อะไร"
  7. สุชีพ ปุญญานุภาพ. "สวดมนต์ คือ อะไร"
  8. Anandajoti Bhikkhu (Editor). (2005). หน้า iv

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Donald K. Swearer. (2004). Becoming the Buddha: The Ritual of Image Consecration in Thailand. Princeton. Princeton Univ Pr.
  • Anandajoti Bhikkhu (Editor). (2005). Safeguard Recitals. Kandy. Buddhist PublicationSociety.
  • Anandajoti Bhikkhu (Editor). (2009). Catubhāṇavārapāḷi, A New Edition. ใน http://www.buddhanet-de.net/ เก็บถาวร 2014-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Mahinda Deegalle. (2006). Popularizing Buddhism: Preaching as Performance in Sri Lanka. Albany. State University of New York Presss.
  • David J. Kalupahana. (2001). Buddhist Thought and Ritual. Delhi. Motilal Banarsidass.
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. "สวดมนต์ คือ อะไร". ในนิตยสาร ธรรมจักษุ ปีที่ 87 ฉบับที่ 7 เมษายน 2546.
  • ขยายความคำพระ ใน http://www.polyboon.com/kumpra/06.php เก็บถาวร 2016-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน