มธุรัตถวิลาสินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มธุรัตถวิลาสินี เป็นคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในพุทธวงศ์ แห่งขุททกนิกาย ผลงานของพระพุทธทัตตะ ซึ่งเป็นพระอรรถกถาจารย์รุ่นหลังพระพุทธโฆสะ เนื้อหาหลักของคัมภีร์นี้ ก็เพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวที่ปรากฏในหมวดพุทธวงศ์ ซึ่งว่าด้วยพุทธประวัติ พระจริยาวัตร และพุทธลักษณะของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่าง ๆ

ชื่อคัมภีร์[แก้]

มธุรัตถวิลาสินี สามารถแยกได้ออกเป็น 3 คำ คือ "มธุร" แปลว่า "ไพเราะ" หรือ "อร่อย" ส่วนคำว่า "อัตถ" แปลว่า "เนื้อความ" และคำว่า "วิลาสินี" แปลว่า "งาม" รวมเป็น มธุรัตถวิลาสินี อันมีความหมายว่า "อรรถกถานี้งามด้วยเนื้อความอันไพเราะ" นอกจากนี้ คัมภีร์นี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "มธุรัตถัปปกาสินี" ซึ่งแปลว่า "เป็นอรรถประกาศเนื้อความอันไพเราะ" [1]

ผู้แต่ง[แก้]

นิคมนกถา หรือ คำส่งท้ายเรื่องของมธุรัตถวิลาสินี ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธทัตตะคือผู้รจนาคัมภีร์นี้ ดังปรากฏข้อความว่า "พระเถระโดยนามที่ท่านครูทั้งหลายขนานให้ปรากฏว่า พระพุทธทัตตะ แต่งคัมภีร์อรรถกถา ชื่อมธุรัตถวิลาสินี" [2]

โดยท่านผู้รจนาพรรณนาว่า คัมภีร์นี้แต่งขึ้นขณะที่ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วิหารริมฝั่งชุมทางแม่น้ำกาวีระ แถบท่าเรือกาวีระ ในแคว้นโจฬะ อินเดียใต้ โดยท่านพักอาศัยอยู่ ณ พื้นปราสาทด้านทิศตะวันออกในวิหารนั้น โดยวิหารอันงดงามและรื่นรมย์สมดังที่ท่านพรรณนาว่า "มีกำแพงและซุ้มประตูอันงามโดยอาการต่างๆ ถึงพร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ น่าดู น่ารื่นรมย์ เป็นที่คับแคบแห่งทุรชนที่ถูกกำจัด เป็นที่สงัดสบาย น่าเจริญใจ" แห่งนี้ สร้างขึ้นโดยสาธุชนผู้มีนามว่า กัณหทาส[3]

ข้อมูลชั้นเดิมระบุว่า ผู้ที่รจนาคัมภีร์นี้คือพระพุทธทัตตะ พระเถระชาวอินเดียใต้สมัยราชวงศ์โจฬะ ผู้เดินทางไปสืบพระศาสนาที่ลังกาและอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธโฆสะ แม้แต่ข้อมูลชั้นหลังส่วนใหญ่ก็ระบุตรงกันว่า พระพุทธทัตตะคือ ผู้รจนาคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี [4] โดยท่านได้รับการอาราธนาจากพุทธสีหะ ให้แต่งคัมภีร์นี้ขึ้น เพื่อทำลายความชั่วร้ายในใจปวง เพื่อความตั้งมั่น แห่งพระพุทธศาสนา เพื่อความเกิดและเจริญแห่งบุญของปวงประชารวมถึงตัวท่านผู้รจนาเอง และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อยังมหาชนให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [5]

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คัมภีร์อรรถกถานี้อาจจะเป็นงานที่มีก่อนพระพุทธโฆสะไปลังกาด้วยซ้ำ [6] โดยคาดว่า เนื่องจากมีผู้แสดงความเห็นว่าพระพุทธทัตตะอาจมีอายุมากกว่าหรือเท่ากับพระพุทธโฆสะ แต่ข้ออ้างนี้ตกไปเนื่องจาก [7]นอกจากนี้ในคัมภีร์พุทธโฆสุปปัตติ หรือชีวประวัติพระพุทธโฆสะระบุว่า พระพุทธทัตตะเดินทางไปลังกาก่อนอีกฝ่ายเพื่อรจนาคัมภีร์ชินาลังการ และคัมภีร์ทันตะธาตุโพธิวงศ์ แต่มิได้รจนาอรรถถาหรือฎีกาอธิบายพระไตรปิฎกแต่อย่างใด จึงอาราธนาให้พระพุทธโฆสะช่วยรจนาอรรถกถาพระไตรปิฎกด้วย [8] หลักฐานส่วนนี้ช่วยยืนยันความเป็นไปได้ที่มธุรัตถวิลาสินีอาจถูกรจนาขึ้นหลังจากยุคที่ผลงานของพระพุทธโฆสะเจิดจรัสในลังกา

ทั้งนี้ ในคัมภีร์จูฬคันถวงศ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมสารบัญคัมภีร์ทางพุทธศาสนา แต่งขึ้นในพม่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ระบุว่า มธุรัตถวิลาสินีแต่งขึ้นโดยผู้ที่มีนามว่ากัสสปะ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเป็นการระบุถึงคัมภีร์คนละเล่มกัน [9]

เนื้อหา[แก้]

พระพุทธทัตตะ ระบุไว้ในนิคมนกถา ว่า การแต่งคัมภีร์นี้อิงกับอรรถกถาเดิม โดยมีการตัดทอนส่วนที่เยิ่นเย้อออกไป แล้วเรียบเรียงเนื้อความให้มีความไพเราะขึ้น (ข้าพเจ้ายึดทางแห่งอรรถกถาเก่า อันประกาศ ความแห่งบาลี เป็นหลักอย่างเดียวแต่งอรรถกถาพุทธวงศ์ เพราะละเว้นความที่เยิ่นเย่อ ประกาศแต่ความ อันไพเราะทุกประการ ฉะนั้น จึงชื่อว่า มธุรัตถวิลาสินี) [10]

ในตอนท้ายสุดของคัมภีร์ ท่านผู้รจนาระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า "คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี กล่าวโดยภาณวารมี 26 ภาณวาร (หมวด) โดยคันถะมี 6,500 คันถะ (ผูก) โดยอักษร มี 23,000 อักษร" [11]

เนื้อหาของมธุรัตถวิลาสินีพรรณาความแห่งพระคัมภีร์พุทธวงศ์ตั้งแต่ต้นจนจบ วิธีการประพันธ์ใช้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เล่าเรื่องก่อนแล้วสรุปเรื่องเข้าหาคาถาที่ตั้งเป็นนิกเขปบทไว้เป็นตอน ๆ แล้วอธิบายคาถาให้แจ่มแจ้งทั้งอรรถะและพยัญชนะ ทั้งไวยากรณ์ ซึ่งเป็วรรณนาที่ทำให้เข้าใจความในพระคัมภีร์พุทธวงศ์ได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น [12]

การอธิบายความในคัมภีร์นี้ มีทั้งการให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพุทธประวัติและลักษณะของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบันรวม 25 องค์ และมีการพยากรณ์ถึงพระอนาคตพุทธเจ้าอีก 1 พระองค์ นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายในทำนองถามตอบ ว่าด้วยนัยแห่งศัพท์และหลักธรรมต่างๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์นี้

อาทิเช่นการอธิบายความหมายโดยพิสดารของคำว่า "ตถาคต" [13] การอธิบายคำว่า "สัตถา" หรือ "ศาสดา" ว่าเพราะพระพุทธเจ้าทรงพร่ำสอนสัตว์ทั้งหลายตามความเหมาะสม ด้วยประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า [14]เป็นต้น

การอธิบายทศพลญาณหรือกำลังญาณทั้ง 10 ประการของพระพุทธเจ้า [15] การแจกแจงลักษณะของการสร้างบารในการเป็นพระพุทธเจ้ามี ว่า แบ่งออกเป็น การบริจาคสิ่งของภายนอกเรียกว่า "บารมี" การบริจาคอวัยวะเรียกว่า "อุปบารมี" การบริจาคชีวิต เรียกว่า "ปรมัตถบารมี" [16] เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่ปรากฏในพุทธประวัติ อาทิ การอธิบายว่า พรหมที่มาทูลอาราธนาให้พระศาสดาแสดงธรรม เคยเป็นพระเถระชื่อ สหกะ ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้าทำปฐมฌานให้เกิด จบชีวิตแล้ว ก็บังเกิดเป็นมหาพรหมในปฐมฌานภูมิมีอายุ 1 กัป เรียกกันว่า ท้าวสหัมบดีพรหม [17] เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. (2529). มธุรัตถวิลาสินี. หน้า 26
  2. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 752
  3. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 751
  4. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 96
  5. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 16
  6. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 129
  7. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 100
  8. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 97
  9. G.P. MALALASEKERA. (2007). หน้า 310
  10. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 751
  11. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 753
  12. มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. (2529). มธุรัตถวิลาสินี. หน้า 30
  13. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 44
  14. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 103
  15. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 14
  16. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 153
  17. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 37

บรรณานุกรม[แก้]

  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2
  • มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. (2529). มธุรัตถวิลาสินี. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ.
  • G.P. MALALASEKERA. (2007). Dictionary of Pali Proper Names: N-H. New Delhi. Motilal Banarsidass.
  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.