อัฏฐสาลินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อัฏฐสาลินี หรืออรรถสาลินี เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในธัมมสังคณี แห่งพระอภิธรรมปิฎก ผลงานของพระพุทธโฆสะ แต่งขึ้นโดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหลชื่อมหาปัจจรีย์ ซึ่งนอกจากจะอธิบายคำและศัพท์เทคนิคทางจิตวิทยา เจตสิก รูป นิพพาน ทางพระพุทธศาสนาในธัมมสังคณีแล้ว ยังให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์อีกด้วย[1] ทั้งนี้ คัมภีร์อัฏฐสาลินีเป็นที่นิยมศึกษากันมากในหมู่นักศึกษาพระอภิธรรม และเป็นหนึ่งในผลงานของพระพุทธโฆสะที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด[2]

ผู้แต่ง[แก้]

ในนิคมกถา หรือคำลงท้ายคัมภีรร์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาขึ้น[3] ส่วนในประวัติของพระพุทธโฆสะ ระบุว่า เมื่อครั้งที่ท่านอยู่ที่วิหารอันเป็นสำนักของพระเรวตะ ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น พระพุทธโฆสะ แต่งปกรณ์ชื่อญาโณทัย แล้วจะเริ่มรจนาอัฏฐสาลินี อธิบายความในธัมมสังคณี และอรรถกถาพระปริตร ครั้นพระเรวตเถระเห็นเช่นนั้นจึงบอกว่า ในชมพูทวีปนี้มีแต่พระบาลีคัมภีร์พระไตรปิฎกเท่านั้น อรรถกถาหามีไม่ อาจริยวาทต่างๆ ก็ไม่มีเช่นกัน[4] [5]

"แต่อรรถกถาเป็นภาษาสีหลล้วน ที่พระมหินท์ผู้ทรงปรีชาญาณ ตรวจดูกถามรรคที่ได้ขึ้นสู่สังคีติทั้ง 3 ครั้ง นับถือเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ และพระเถระมรพระสารีบุตรเป็นต้น ร้อยกรองไว้ แล้วแต่งขึ้นไว้ในภาษาสีหล ยังเป็นไปอยู่ในสีหลทวีป เธอจงไปที่สิงหลทวีปนั้นตรวจดูอรรถกถาสีหลนั้น แล้วปริวรรตไว้ในภาษามคธเสียได้ อรรถกถา (ที่ปริวรรต) นั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวง"[6][7]

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธโฆสะจึงเดินทางมายังลังกาทวีป แล้วดำเนินการแปลและเรียบเรียงอรรถกถาของเดิมอันถูกแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาสิงหล กลับเป็นภาษาบาลีอีกครั้งหนึ่ง จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า อัฏฐสาลินีเริ่มแต่งขึ้นเมื่อครั้งที่ท่านยังอยู่ที่ชมพูทวีป (อินเดีย) แต่ก็อาจแต่งแล้วเสร็จภายหลังเดินทางไปลังกาแล้วก็ตาม ดังมีผลจากการศึกษาโดยละเอียดพบว่า คัมภีร์อัฏฐสาลินีแต่งขึ้นหลังคัมภีร์สมันตปาสาทิกา [8] ซึ่งคัมภีร์สมันตปาสาทิกา รจนาขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 927-973 ณ เมืองอนุราธปุระในศรีลังกา

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาของอัฏฐสาลินีมีความลึกซึ้ง โอฬาร ครอบคลุมทั้งหลักธรรมในพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งมีความลึกซึ้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่พระอรรถกถาจารย์ ยังได้อธิบายอย่างพิสดารยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังมีการอธิบายบริบทแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมหัวข้อนั้นๆ ทำให้มีมิติและขอบเขตที่กว้างขวางรอบด้าน นับเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาชิ้นเอก อีกชิ้นหนึ่ง

คุณค่าในทางพุทธธรรม[แก้]

ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของคัมภีร์อัฏฐสาลินี คือการอธิบายหลักธรรมอันลึกซึ้งในพระอธิรรม โดยพระอรรถกถาจารย์ ได้ให้ทั้งคำนิยามและแจกแจงข้อธรรมต่าง ๆ โดยพิสดารไว้อย่างครบครัน นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอวิบากจิตตามวาทะ หรือความเห็นของพระเถระต่างๆ (ในอรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์) รวมถึงมีการอ้างคำพรรณนาเกี่ยวกับลักษณะของจิต ตามถ้อยคำของพระนาคเสนเถระ แห่งคัมภีร์มิลินทปัญหา (ในอรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์) อีกด้วย

การอธิบายข้อธรรมต่าง ๆ นั้น อาทิเช่น การอธิบายลักษณะและให้นิยามของคำว่า "จิต" ไว้ว่า จิตทั้งหมดมีการรู้แจ้งอารมณ์ทั้งนั้น และจิตเท่านั้นเป็นหัวหน้า ดังพระอรรถกถาจารย์พรรณนาว่า "บุคคลย่อมรู้แจ้งรูปารมณ์อันเห็นด้วยจักษุ ด้วยจิตนั่นแหละฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธรรมารมณ์ อันรู้แล้วด้วยใจ ด้วยจิตนั่นแหละ เหมือนอย่างว่า บุคคลผู้รักษาพระนครนั่งอยู่ที่ทาง 4 แพร่ง ในท่ามกลางพระนครย่อมใคร่ครวญ ย่อมกำหนดชนผู้มาแล้วๆ ว่า คนนี้เป็นเจ้าถิ่น คนนี้เป็นผู้จรมา ฉันใด พึงทราบข้ออุปไมยฉันนั้น"[9]

ยังมีการอธิบายลักษณะของกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ในอรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์ โดยยกตัวอย่างว่า หากบุคคลหนึ่งคิดว่าจะไปล่าสัตว์ (เนื้อ) จัดเตรียมเครื่องมือแล้วออกล่า แต่ใช้เวลาล่าทั้งวันก็ไม่ได้สัตว์มา อกุศลจากการคิดที่จะล่าแต่ยังไม่ทันได้ล่านี้ ยังไม่เป็นกายกรรม เพราะไม่ถึงกรรมบถ แต่ท่านอธิบายว่า พึงทราบว่า อกุศลจิตนี้ ชื่อว่า กายทุจริตอย่างเดียว[10] เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

คุณค่าในด้านความรู้ทั่วไป[แก้]

นอกจากจะอธิบายหลักธรรมอันลึกซึ้งในพระอภิธรรมปิฎกแล้ว อัฏฐสาลินี ยังรวบรวมสรรพวิทยาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพระอภิธรรมปิฎกไว้มากมายมหาศาล มีลักษณะเป็นงานในเชิงสารานุกรมเช่นเดียวกับอรรถกถาฉบับอื่นๆ ที่รจนาโดยพระพุทธโฆสะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริบทแวดล้อมของพระอภิธรรม

อาทิเช่น การบอกเล่าประวัติความเป็นมาของพระอภิธรรมและการท่องจำ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลทางประวัติศาสตร์บางคนที่เกี่ยวข้องกับพระอภิธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเกี่ยวข้องกับหลักธรรมคำสอนที่ปรากฏในพระอภิธรรม เช่น อาราฬดาบส กาลามะ พระอชิตะ พระอัญญาโกณฑัญญเถระ พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย พระมหินทะ พระนาคเสนเถระ พระทีปังกรพุทธเจ้า พระวิปัสสีพุทธเจ้า นางมัลลิกา นางสุชาดา เป็นต้น[11]

นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ มีการระบุชื่อแม่น้ำบางสาย เช่น อจิรวดี คงคา โคธาวารี เนรัญชรา มหี สรภูและอโนมา เป็นต้น การระบุชื่อเมืองบางเมือง เกาะบางเกาะและสถานที่บางแห่ง เช่น กาสิปุระ เปนัมปังคณะ โกศล ป่าอิสิปตนะ ชมพูทวีป เชตวัน ตัมพปัณณิ ปาตลีบุตร ราชคฤห์ สาเกต สาวัตถี เป็นต้น[12]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง[แก้]

คัมภีร์อัฏฐสาลินีได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเป็นส่วนใหญ่ มีหลักฐานว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 23 พระมนีรัตนะ เถระ (Manirathana Thera) ได้แปลคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากเป็นภาษาพม่า หนึ่งในนั้นคือคัมภีร์อัฏฐสาลินี [13] และต่อไปนี้ คือคัมภีร์ชั้นรองที่อธิบายเนื้อความในคัมภีร์อัฏฐสาลินีอีกเป็นทอดๆ ไป ดังนี้

  • คัมภีร์ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาธัมมสังคณี เป็นคัมภีร์ในระดับฎีกา พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกาทวีป[14]

อ้างอิง[แก้]

  1. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 78
  2. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 83
  3. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 1 ภาค 2 หน้า 632
  4. พระพุทธโฆสะเถระ. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง. (2554). หน้า 11
  5. ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์.
  6. พระพุทธโฆสะเถระ. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง. (2554). หน้า 11
  7. ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์.
  8. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 84
  9. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 316
  10. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 274
  11. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 78
  12. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 78
  13. Rohan L. Jayetilleke. (2007). Shwedagon Pagoda The Icon of Theravada Buddhism.
  14. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. หน้า 107
  15. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. หน้า 112
  16. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 105
  17. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. หน้า 115

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • Rohan L. Jayetilleke. (2007). Shwedagon Pagoda The Icon of Theravada Buddhism. in Budusarana. (2007/02/10). The Associated Newspapers of Ceylon Ltd.,
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • พระพุทธโฆสะเถระ. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง. (2554). วิสุทธิมรรคฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ. วัดมหาธาตุฯ
  • ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์. โครงการอนุรักษ์คัมภีร์
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 1 ภาค 1
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 1 ภาค 2