หางนกยูงฝรั่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หางนกยูงฝรั่ง
ต้นหางนกยูงฝรั่งกำลังบานสะพรั่ง (Florida Keys)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: โรสิด
อันดับ: ถั่ว
วงศ์: ถั่ว
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยราชพฤกษ์
สกุล: Delonix
(Boj. ex Hook.) Raf.
สปีชีส์: Delonix regia
ชื่อทวินาม
Delonix regia
(Boj. ex Hook.) Raf.
ชื่อพ้อง
  • Delonix regia var. flavida Stehle
  • Delonix regia var. genuina Stehle
  • Delonix regia var. genuina Stehlé
  • Poinciana regia Hook.
  • Poinciana regia Bojer [2]

หางนกยูงฝรั่ง (อังกฤษ: Flam-boyant, The Flame Tree, Royal Poinciana) หรือที่เรียกว่า นกยูง, นกยูงฝรั่ง, ชมพอหลวง, ส้มพอหลวง (ภาคเหนือ), หงอนยูง (ภาคใต้), อินทรี (ภาคกลาง), และยูงทอง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พันธุ์ไม้จากทวีปแอฟริกาอยู่ในวงศ์พืชตระกูลถั่ว เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบในหน้าแล้ง ทรงพุ่มต้นแผ่กว้าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ดอกเป็นช่อออกที่ปลายกิ่ง มีกลีบห้ากลีบ สีแดงจัดจนถึงสีส้ม ฝักเป็นลักษณะฝักถั่วแบนยาว เมื่อแก่จะเป็นฝักแห้งแข็งสีดำ[3]

ประวัติ[แก้]

หางนกยูงฝรั่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Delonix regia (Bojer) Raf. อยู่ ในวงศ์ถั่ว (Leguminosae) เช่นเดียวกับนนทรี ขี้เหล็ก ประดู่แดง ชงโค คูน กาหลง กัลปพฤกษ์ และก้ามปู เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บนเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2367 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลีย[4]

ในประเทศไทยมีผู้นำเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม โดยปัจจุบันมีต้นหางนกยูงสองชนิดคือหางนกยูงฝรั่งและหางนกยูงไทยที่เป็นไม้พุ่มและดอกสีสดใสหลากสี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นโตเต็มที่สูงราว 12 - 18 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างทรงกลมคล้ายร่ม แผ่กิ่งก้านออกคล้ายก้ามปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมขาวถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากโผล่พ้นดินออกโดยรอบเมื่อโตเต็มที่ ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ขนาดใบย่อยใกล้เคียงกับใบย่อยของมะขาม แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง เป็นพืชผลัดใบ[5] ในประเทศไทยมักผลัดใบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน

ออกดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นพิเศษ ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ และเกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกหางนกยูงความจริงประกอบด้วยสี 2 สี คือสีแดงและสีเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะมี 2 สีนี้อยู่ด้วยกันจึงเห็นเป็นสีแสด ดอกใดที่สีเหลืองมากกว่าก็เป็นสีแสดออกเหลือง ดอกใดสีแดงมากกว่าก็เป็นสีแสดออกแดง แต่ก็มีหางนกยูงบางต้นออกดอกสีแดงแท้ๆ และบางต้นออกดอกสีเหลืองบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยาก โดยทั่วไปจึงพบแต่หางนกยูงฝรั่งสีแสด ทั้งนี้ผลของหางนกยูงฝรั่งเป็นฝักแบนโค้งรูปดาบ และเมล็ดเรียงตามขวาง[6]

การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเป็นหลัก และสามารถใช้วิธีติดตา ต่อกิ่ง เสียบยอด (ที่จะทำให้ไม่กลายพันธุ์) และขึ้นได้ดีในดินทั่วไป

ฤดูออกดอก[แก้]

หางนกยูงฝรั่งออกดอกเป็นช่อ ในช่วงช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปีใดอากาศร้อนและแห้งแล้งมากจะยิ่งออกมาก ดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่ง

ดอกของต้นหางนกยูงฝรั่ง

สรรพคุณทางยา[แก้]

รากนำมาต้มหรือทอดรับประทานกับอาหาร เป็นยาขับโลหิตในสตรี แก้อาการบวมต่าง ๆ ลำต้นนำมาฝนทาแก้พิษ ถอนพิษสัตว์ต่อยกัดได้[7] เมล็ดอ่อนของหางนกยูงฝรั่งนำมากินสด ๆ ได้ สำหรับเมล็ดแก่ต้องนำมาทำให้สุกเสียก่อนจึงจะใช้กินได้ เพราะมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ แต่จะถูกทำลายด้วยความร้อน ดอกสามารถนำมาไล่แมลงวีได้

เกร็ด[แก้]

หางนกยูงฝรั่ง(ที่ออกดอกสีทองซึ่งหาได้ยาก)เป็นต้นไม้พระราชทานให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ชาวธรรมศาสตร์เรียกว่า "ต้นยูงทอง") และนอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้มงคลประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

อ้างอิง[แก้]

  1. Rivers, M. (2014). "Delonix regia". IUCN Red List of Threatened Species. 2014: e.T32947A2828337. doi:10.2305/IUCN.UK.2014-1.RLTS.T32947A2828337.en. สืบค้นเมื่อ 12 November 2021.
  2. "Delonix regia (Hook.) Raf. — The Plant List". theplantlist.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-24. สืบค้นเมื่อ 2023-05-12.
  3. หางนกยูงฝรั่ง[ลิงก์เสีย], วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ
  4. "Presentación de PowerPoint" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-08-28.
  5. หางนกยูงฝรั่งความสดใสแห่งฤดูร้อน, มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  6. หางนกยูงฝรั่ง เก็บถาวร 2010-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โรงเรียนวัดหอมเกร็ด (ไพศาลประชานุกูล)
  7. หางนกยูงฝรั่งดอกแดง เก็บถาวร 2010-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]