ข้ามไปเนื้อหา

สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452
สัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษฯ 10 มีนาคม ร.ศ. 127
สำเนาสนธิสัญญาฯ ฉบับภาษาไทย
บริบท
  • สยามยกรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี (เกอดะฮ์) และปะลิสให้กับสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
  • อังกฤษยอมรับอธิปไตยของสยามเหนือปาตานี
วันลงนาม10 มีนาคม พ.ศ. 2452
ที่ลงนามกรุงเทพมหานคร
วันมีผล9 กรกฎาคม พ.ศ. 2452
ผู้ลงนาม
ภาคี
ภาษาไทยและอังกฤษ
ข้อความทั้งหมด
:th:สัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษฯ 10 มีนาคม ร.ศ. 127 ที่ วิกิซอร์ซ

สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 (อังกฤษ: Anglo-Siamese Treaty of 1909)[1] หรือ สัญญากรุงเทพฯ (Bangkok Treaty of 1909) เป็นสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์กับสยาม ซึ่งได้มีการลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้ที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452[2][3] และรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2452[4] สนธิสัญญาฉบับนี้มีทั้งสิ้น 8 ข้อโดยมีสาระสำคัญคือ:

  • สยามยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสรวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ
  • หนี้สินต่าง ๆ ที่รัฐมลายูเหล่านั้นมีต่อรัฐบาลสยาม อังกฤษจะชดใช้ให้
  • อังกฤษรับรองซึ่งอธิปไตยของสยามเหนือปัตตานี
  • อังกฤษให้เงินกู้ให้แก่สยามจำนวน 4.63 ล้านปอนด์เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
  • ยกเลิกอนุสัญญาลับอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2440
  • สยามควรปรึกษาอังกฤษ หากต้องการให้หรือจัดการสิทธิในเหมืองถ่านหิน ท่าเรือ และอู่เรือในมณฑลราชบุรีแก่ชาติอื่น ๆ

สนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นจากการที่เอ็ดเวิร์ด เฮนรี สโตรเบล ที่ปรึกษาชาวอเมริกันของรัฐบาลสยาม ได้ทูลถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2450 ว่ารัฐบาลสยามไม่สามารถไว้ใจสุลต่านเมืองเหล่านี้ได้ และวันใดก็วันหนึ่งไม่ช้าหรือเร็ว อังกฤษจะต้องหาทางเอาดินแดนส่วนนี้ไปได้แน่ หากปล่อยไว้สยามอาจเสียดินแดนเหล่านี้โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนเลย

แม้สยามจะต้องสูญเสียดินแดนกว่า 38,000 ตารางกิโลเมตร แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยมีพระราชดำริต่อดินแดนส่วนนี้ว่า "เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้…หากเราต้องสูญเสียหัวเมืองเหล่านี้ให้แก่อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียทางด้านวัตถุอื่นใดอีก..."[5] อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้สุลต่านไทรบุรีโกรธเคืองมาก โดยตรัสว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้"[6]

รัฐบาลสยามไม่มีท่าทีที่แสดงความลังเลหรือต้องการเมืองประเทศราชเหล่านี้ไว้ โดยพิจารณาตามเอกสารประชุมเสนาบดีรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับเรื่องเขตแดนในแหลมมลายูก่อน ลงนามสนธิสัญญากับอังกฤษปี พ.ศ. 2452 “...ในเวลานี้เรายังมีของที่มีราคาอยู่ จึงควรถือเอาราคาอันนี้แลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น...” ตามความหมายของข้อความดังกล่าว คือ การใช้หัวเมืองมลายูเหล่านี้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากอังกฤษ บ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลสยามพร้อมที่จะผลักเอาพันธะของเมืองเหล่านี้ในระบบการปกครองแบบจารีตออกไป เพราะเหตุผลจากข้อความข้างต้นที่ได้ยกมาสื่อความถึงสยามจะไม่ได้ประโยชน์จากเมืองเหล่านี้ และไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาประเทศราชได้อย่างเต็มกำลังสามารถ รวมถึงในอนาคตหัวเมืองมลายูจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศของสยาม เนื่องจากพื้นที่หัวเมืองมลายูโดยเฉพาะเมืองกลันตัน และตรังกานู ในประวัติศาสตร์ของสยามเมืองเหล่านี้ห่างไกลจากการรับรู้และเป็นหัวเมืองประเทศราชอย่างแท้จริง เหตุการณ์ยกเมืองไทรบุรีให้แก่อังกฤษ มีการอัญเชิญจดหมายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพในฐานะรัฐบาลสยาม แสดงความขอบใจในความภักดีของสุลต่านที่มีต่อพระมหากษัตริย์สยามตั้งแต่อดีตเรื่อยมา[7]

หลังจากลงนามในสนธิสัญญาสยามกับอังกฤษปี พ.ศ. 2452 ผลตอบแทนที่สยามได้รับประโยชน์แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนกฎหมาย เช่น การยกเลิกสิทธิสภาพนอก อาณาเขต รวมถึงยกเลิกสนธิสัญญาลับปี พ.ศ. 2440 ซึ่งสยามลงนามกับอังกฤษมีใจความ ห้ามสยามโอนหรือให้สิทธิพิเศษแก่ชาติอื่นในการพื้นที่ตั้งแต่เมืองบางตะพานลงมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอังกฤษ 2. ส่วนความช่วยเหลือ ได้แก่ การสร้างเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยความช่วยเหลือทางด้านการเงิน อังกฤษให้สยามกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละสี่ รวมถึงความช่วยเหลือทางด้านทรัพยาการบุคคล เช่น วิศวกร นายช่าง รวมทั้งการให้ยืมข้าราชการจากอาณานิคมมาทำงานในหน่วยงานของรัฐบาลสยาม ฯลฯ[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Siam. Treaty with Great Britain เก็บถาวร 2024-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Hamilton King. 13 May 1909.
  2. "กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง : การเริ่มต้น "ความจริง" เกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง*". ศิลปะวัฒนธรรม. 11 มีนาคม พ.ศ. 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. U.S. Department of State, Bureau of Intelligence and Research, Office of the Geographer, "International Boundary Study: Malaysia - Thailand Boundary," No. 57 เก็บถาวร 16 กันยายน 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 15 November 1965.
  4. Great Britain, Treaty Series, No. 19 (1909)
  5. ชารอม อาหมัด. ความสัมพันธ์ระหว่างเคดาห์กับสยาม (๒๕๒๘). หน้า ๑๑๙-๑๒๐. อ้างถึงใน ครองชัย หัตถา. ปัตตานี. หน้า ๑๑๑.
  6. อ.บางนรา. ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า ๑๖๔-๑๖๕. อ้างถึงใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. “อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี : ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปัตตานีและบทสนทนาระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นในการเขียนประวัติศาสตร์” (เอกสารต้นฉบับ, กำลังจะตีพิมพ์), หน้า ๔๔.
  7. ชัยวัฒน์ ปะสุนะ. (2564). “รัฐบาลสยามกับการจัดการปกครอง 4 หัวเมืองมลายู (ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานู) ระหว่าง ค.ศ. 1873-1910”. วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 12(2), 231.
  8. ชัยวัฒน์ ปะสุนะ. (2564). “รัฐบาลสยามกับการจัดการปกครอง 4 หัวเมืองมลายู (ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานู) ระหว่าง ค.ศ. 1873-1910”. วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 12(2), 236.