สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327
สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามสยาม-เวียดนาม | |||||||
การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (พิพิธภัณฑ์กวนชุนภูพงศ์ ณ ไทเซิน) | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) อาณาจักรกัมพูชา ตระกูลเหงียน | ราชวงศ์เตยเซิน (เวียดนาม) | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยาวิชิตณรงค์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เหงียน ฟุก อั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh) เจิว วัน เตี๊ยป (Châu Văn Tiếp) † เล วัน เกวิน (Lê Văn Quân) |
พระเจ้าท้ายดึ๊ก เหงียนญัค (Nguyễn Nhạc) เหงียน เหวะ (Nguyễn Huệ) เจือง วัน ดา (Trương Văn Đa) | ||||||
กำลัง | |||||||
มากกว่า 50,000 คน | 35,200 คน |
สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327 เป็นสงครามความขัดแย้งระหว่างสยามรัตนโกสินทร์ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับเวียดนามราชวงศ์เตยเซิน (Tây Sơn dynasty) ในประเด็นเรื่องการสนับสนุนเหงียนฟุกอั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh) หรือ"องเชียงสือ" ให้กลับไปครอบครองเมืองไซ่ง่อนดังเดิม ฝ่ายสยามยกทัพเข้าโจมตีเวียดนามภาคใต้ นำไปสู่การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút) ในพ.ศ. 2328 ซึ่งฝ่ายเวียดนามเตยเซินสามารถเอาชนะทัพฝ่ายสยามได้
เหตุการณ์นำ
[แก้]สงครามเมืองห่าเตียน
[แก้]หลังการล่มสลายของราชวงศ์หมิง ชายชาวจีนกวางตุ้งชื่อว่าหมักกิ๋ว (鄚玖, Mạc Cửu) หรือม่อจิ่ว (พินอิน: Mò Jiǔ) จากเมืองเหลยโจว (雷州, Léi Zhōu) มณฑลกวางตุ้ง ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง จึงเดินทางอพยพมายังเมืองพนมเปญของอาณาจักรกัมพูชาในพ.ศ. 2241[1] ขณะนั้นมีพ่อค้าชาวจีนและญวนมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเปียม (เขมร: ពាម) แปลว่า ปากน้ำ หมายถึง ปากน้ำเมืองบันทายมาศ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาอยู่ด้านใน เมือง"บันทายมาศ"และเมือง"เปียมบันทายมาศ"หรือ"ปากน้ำพุทไธมาศ"นี้เป็นคนละเมืองกัน แต่พงศาวดาวไทยมักเรียกเมืองเปียมบันทายมาศนี้ว่าเมืองบันทายมาศหรือพุทไธมาศด้วยสับสนว่าเป็นเมืองเดียวกัน หมักเก๋าเปิดบ่อนเบี้ยของตนเองขึ้นที่เมืองเปียมบันทายมาศ หรือเรียกเป็นภาษาเวียดนามว่าเมืองห่าเตียน (河仙 Hà Tiên) จนหมักเก๋ามีรายได้ร่ำรวย และได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์กัมพูชาเป็นที่ยศตำแหน่งขุนนาง"ออกญา" หมักเก๋ามีอำนาจปกครองชาวจีนและชาวญวนในเมืองห่าเตียน นำไปสู่การกำเนิดของราชรัฐห่าเตียน หมักเก๋าเข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกจู (Nguyễn Phúc Chu 阮福淍) ในพ.ศ. 2251 เหงียนฟุกจูแต่งตั้งให้หมักเก๋าเป็นเจ้าเมืองห่าเตียน (Hà Tiên 河仙) หรือเมืองเปียมบันทายมาศ เมื่อหมักเก๋าถึงแก่กรรมในพ.ศ. 2278 หมักเทียนตื๊อ (Mạc Thiên Tứ) หรือม่อซื่อหลิน (莫士麟 พินอิน: Mò Shìlín) บุตรชายของหมักเก๋าขึ้นเป็นเจ้าเมืองห่าเตียนคนต่อมา
หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 เจ้านายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงสองพระองค์ได้แก่ เจ้าศรีสังข์ ซึ่งเป็นพระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวงฝรั่งเศสให้เสด็จลี้ภัยมายังเมืองห่าเตียน จากนั้นจึงเสด็จลี้ภัยต่อไปยังเมืองอุดงของกัมพูชา อีกพระองค์หนึ่งคือเจ้าจุ้ย พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัย (ซึ่งเป็นพระโอรสในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) เสด็จหลบหนีมาประทับที่เมืองห่าเตียน ในพ.ศ. 2312 ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินกำลังเสด็จยกทัพลงไปปราบชุมนุมนครศรีธรรมราชนั้น หมักเทียนตื๊อได้มอบหมายให้หลานชายของตนยกทัพเรือเข้ามาโจมตีเมืองจันทบุรีและเมืองทุ่งใหญ่ (ตราด)[1]
ในพ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้แต่งทัพเรือเข้าโจมตีเมืองพุทไธมาศ[2] หรือห่าเตียน นำไปสู่สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 เพื่อปราบหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองห่าเตียน และเพื่อค้นหาองค์เจ้าศรีสังข์และเจ้าจุ้ย โดยมีพระราชโองการให้พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง 陳聯 หรือ เฉินเหลียน พินอิน: Chén Lián) ซึ่งว่าที่โกษาธิบดี ยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองพุทไธมาศ พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) สามารถเข้ายึดเมืองพุทไธมาศได้สำเร็จ หมักเทียนตื๊อหลบหนีไปยังโจดก (Châu Đốc 朱篤) สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) ขึ้นเป็นพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองพุทไธมาศ ได้รับสมยานามว่า “พระยาราชาเศรษฐีจีน” ในขณะที่หมักเทียนตื๊อได้รับสมยานามว่า "พระยาราชาเศรษฐีญวน" ต่อมาเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần 阮福淳) ส่งทัพญวนมาช่วยเหลือหมักเทียนตื๊อจนสามารถรวบรวมกำลังกลับเข้ามายึดเมืองพุทไธมาศหรือห่าเตียนคืนได้สำเร็จในพ.ศ. 2315 พระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) ยกทัพกลับขึ้นยึดเมืองพุทไธมาศได้อีกครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเมืองพุทไธมาศรักษาไว้ได้ยาก[2] จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) กวาดต้อนชาวเมืองพุทไธมาศห่าเตียนเลิกทัพกลับมายังกรุงธนบุรี ฝ่ายหมักเทียนตื๊ออดีตเจ้าเมืองห่าเตียนยังคงตั้งมั่นอยู่ในเวียดนามภาคใต้ต่อมา
กบฏเตยเซิน องเชียงสือลี้ภัย
[แก้]ในพ.ศ. 2314 ปีเดียวกันกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพเข้าโจมตีเมืองห่าเตียนนั้น เกิดกบฏเตยเซิน (Tây Sơn, 西山) หรือกบฏไกเซินขึ้น นำโดยสามพี่น้องตระกูลเหงียนวันได้แก่ เหงียนวันญัค หรือเหงียนญัค (Nguyễn Nhạc, 阮岳) เหงียนวันหลือ หรือเหงียนหลือ (Nguyễn Lữ, 阮侶) และเหงียนวันเหวะ หรือเหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ, 阮惠) สามพี่น้องเหงียนวันยกทัพกบฏเตยเซินเข้ายึดเมืองกวีเญิน (Qui Nhơn, 歸仁) ไว้เป็นฐานที่มั่น ในขณะที่เจ้าญวนเหนือจิ่ญซัม (Trịnh Sâm, 鄭森) ฉวยโอกาสยกทัพลงมาเข้ายึดเมืองเว้ได้สำเร็จ ทำให้เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนพร้อมทั้งสมาชิกตระกูลเหงียนต้องอพยพลี้ภัยลงมาอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน เหงียนเหวะยกทัพลงมายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จในพ.ศ. 2320 เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนหลบหนีมาพึ่งหมักเทียนตื๊อ หมักเทียนตื๊อเข้าช่วยเหลือเจ้าญวนใต้โดยการตั้งรับเตยเซินที่เมืองล็องเซวียน (Long Xuyên, 龍川)[1] เหงียนเหวะยกทัพเข้ายึดเมืองล็องเซวียนได้สำเร็จ จับกุมตัวเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนไปประหารชีวิต สมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อทรงทราบว่าหมักเทียนตื๊อพ่ายแพ้ให้แก่เตยเซิน จึงทรงส่งทรงข้าหลวงนั่งเรือไปพบกับหมักเทียนตื๊อ[1] หมักเทียนตื๊อเกรงพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงยินยอมเดินทางมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงธนบุรีแต่โดยดีพร้อมกับ”องเชียงชุน” (ông chánh Xuân, 翁正春) โตนเทิ๊ตซวน (Tôn Thất Xuân 尊室春) ซึ่งเป็นสมาชิกในตระกูลเหงียน
เหงียนฟุกอั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, 阮福暎) หรือ"องเชียงสือ" ตั้งมั่นที่เมืองไซ่ง่อนเพื่อต้านทานกบฏเตยเซิน ในพ.ศ. 2323 ขุนนางชาวกัมพูชาถวายจดหมายฉบับหนึ่ง กราบทูลว่าองเชียงสือมีจดหมายลับมาถึง”องเชียงชุน”โตนเทิ๊ตซวนให้ก่อการกบฏขึ้นเข้ายึดกรุงธนบุรี หมักเทียนตื๊อเมื่อทราบข่าวได้ทำการฆ่าตัวตายไปก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิต”องเชียงชุน” รวมทั้งบุตรต่าง ๆ ของหมักเทียนตื๊อและผู้ติดตามชาวญวนจำนวนรวมทั้งสิ้นห้าสิบสามคน[1] เหลือเพียงบุตรคนหนึ่งของหมักเทียนตื๊อชื่อว่าหมักตื๊อซิญ (Mạc Tử Sinh 鄚子泩) ซึ่งอายุยังน้อย พระยากลาโหมได้ทูลขอให้ไว้ชีวิต สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงไว้ชีวิตหมักตื๊อซิญแต่ทรงให้เนรเทศไป
พ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพเข้าโจมตีกัมพูชา ในสงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2324 แต่ทว่าได้เกิดเหตุจลาจลกบฎพระยาสรรค์ที่ธนบุรี ตามเอกสารเวียดนาม เจ้าพระยาสุรสีห์ได้เจรจาสงบศึกกับแม่ทัพญวนเหงียนหิวทวิ่[3] (Nguyễn Hữu Thụy) ซึ่งเป็นผู้แทนขององเชียงสือ จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงทำการปราบจลาจลที่กรุงธนบุรีแล้วขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในพ.ศ. 2325 และในปีเดียวกันนั้น องเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญพ่ายแพ้ให้แก่เหงียนเหวะแห่งราชวงศ์เตยเซิน เหงียนเหวะสามารถเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จเป็นเหตุให้องเชียงสือเดินทางลี้ภัยมายังเกาะกระบือแขวงเมืองกำปงโสม ในขณะนั้นพระยาชลบุรีและพระระยองตระเวนสลัดไปจนถึงเกาะกระบือพบกับองเชียงสือ พระยาชลบุรีและพระระยองเสนอให้องเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพ[4] เอกสารฝ่ายเวียดนามระบุว่า เหงียนฟุกอั๊ญได้มอบหมายให้ขุนนางคนสนิทชื่อว่าเจิววันเตี๊ยป (Châu Văn Tiếp, 朱文接) ติดต่อขอความช่วยเหลือจากสยามผ่านทางขุนนางสยามชื่อว่าพระยาทัศดาจตุรงค์
องเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญพร้อมทั้งครอบครัวและขุนนางผู้ติดตามทั้งหลายเดินทางถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรฯทรงให้การช่วยเหลือแก่องเชียงสือเป็นอย่างดี ตามสัญญามิตรไมตรีที่ได้กระทำไว้ก่อนหน้านี้เมื่อพ.ศ. 2324 ที่กัมพูชา พระราชทานให้ไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านต้นสำโรง (ต่อมาคือสถานกงสุลโปรตุเกส) หมักตื๊อซิญ บุตรชายของหมักเทียนตื๊ออดีตเจ้าเมืองห่าเตียนได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อองเชียงสือ ที่กรุงเทพฯ องเชียงสือได้พบกับหมักตื๊อซิญ (Mạc Tử Sinh 鄚子泩) บุตรชายของหมักเทียนตื้อเจ้าเมืองห่าเตียนที่ยังเหลือรอดชีวิตไม่ถูกประหาร หมักตื๊อซิญได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อองเชียงสือ[3]
พระยานครสวรรค์ตีเมืองไซ่ง่อน
[แก้]ในพ.ศ. 2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้พระยานครสวรรค์และพระยาวิชิตณรงค์ ยกทัพไปทางกัมพูชาเพื่อโจมตียึดเมืองไซ่ง่อนจากเตยเซินคืนให้แก่องเชียงสือ[4] พระยานครสวรรค์และพระยาวิชิตณรงค์ได้รับกำลังพลจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ผู้สำเร็จราชการกัมพูชา และยกทัพลงไปโจมตีเมืองไซ่ง่อน “องติเวือง”เหงียนหลือ หนึ่งในสามพี่น้องเตยเซินซึ่งรักษาเมืองไซ่ง่อนอยู่นั้น ทราบข่าวว่าสยามยกทัพมาตีเมืองไซ่ง่อนจึงจัดมาตั้งรับฝ่ายไทยที่เมืองซาเด๊ก (Sa Đéc, 沙瀝) พระยานครสวรรค์นำทัพเรือฝ่ายไทยเข้าโจมตีฝ่ายญวนที่ซาแดกเป็นสามารถยึดเรือและอาวุธของฝ่ายเตยเซินได้ แต่พระยานครสวรรค์กลับส่งอาวุธที่ยึดมาได้คืนให้แก่ฝ่ายญวน พระยาวิชิตณรงค์จึงบอกเข้าไปยังกรุงเทพว่าพระยานครสวรรค์เป็นกบฏไปเข้ากับศัตรู พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงให้มีตราเรียกทัพของพระยานครสวรรค์กลับคืน สอบสวนแล้วเป็นความจริง จึงทรงพระราชอาญาประหารชีวิตพระยานครสวรรค์พร้อมทั้งพรรคพวกอีกสิบสองคนที่วัดโพธาราม[4]
สงคราม
[แก้]ในปีต่อมา เดือนเมษายนพ.ศ. 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ เสด็จยกทัพจำนวน 5,000 คน[4] ยกทัพเรือทางทะเลไปโจมตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่องเชียงสืออีกครั้ง พร้อมทั้งโปรดฯให้พระยาวิชิตณรงค์เกณฑ์ทัพกัมพูชาจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) อีก 5,000 สมทบไปทางบกเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อน ในขณะที่เอกสารฝ่ายเวียดนามระบุว่า แม่ทัพสยามที่ยกทัพมาทางกัมพูชาชื่อว่า Lục Côn Sa Uyên, 綠崑沙鴛 (นครสวรรค์?) และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์แบน (Chiêu Chùy Biện , 昭錘卞) ในขณะที่ทัพทางเรือสยามมีแม่ทัพชื่อเจ้าตัง (Chiêu Tăng, 昭曾 หมายถึงกรมหลวงเทพหริรักษ์) และเจ้าเสือง? (Chiêu Sương, 昭霜) ส่วนตัวองเชียงสือเองนั้น จัดหากองกำลังได้เป็นจำนวนประมานสามพันคน โดยมีเจิววันเตี๊ยปและหมักตื๊อซิญเป็นแม่ทัพ
ฝ่ายเตยเซินเมืองไซ่ง่อนในขณะนั้น มีเจืองวันดา (Trương Văn Đa 張文多) เป็นผู้รักษาเมืองไซ่ง่อน เมื่อเจืองวันดาทราบข่าวว่าสยามยกทัพมาตีเมืองไซ่ง่อน จึงจัดทัพไปตั้งรับสยามที่ล็องเซวียน
การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต
[แก้]กรมหลวงเทพหริรักษ์เสด็จยกทัพเรือไปถึงเมืองปากน้ำพุทไธมาศหรือห่าเตียน ได้ทัพของพระยาทัศดาจตุรงค์ที่เมืองพุทไธมาศเข้าสมทบ ประจบกับทัพของพระยาวิชิตณรงค์ที่ยกมาจากกัมพูชา ทัพฝ่ายสยามใช้เวลาในการจัดตั้งทัพและยกทัพมาถึงบริเวณปากแม่น้ำโขงในเดือนตุลาคมปลายปีพ.ศ. 2327 พระยาวิชิตณรงค์ยกทัพร่วมสยาม-กัมพูชาล่วงหน้าไปเป็นทัพหน้าเข้าโจมตีเมืองซาเด๊กหรือเปียมจอซาแดก ถึงแพรกพระยามัน พระยาวิชิตณรงค์ได้ต่อสู้กับทัพของเจืองวันดาและสามารถขับทัพฝ่ายเตยเซินให้ถอยร่นไปได้ เจิววันเตี๊ยปแม่ทัพคนสนิทขององเชียงสือถูกสังหารในที่รบ พระยาทัศดาจตุรงค์ได้รับบาดเจ็บ องเชียงสือตั้งเลวันเกวิน (Lê Văn Quân 黎文勻) ขึ้นเป็นแม่ทัพแทน ฝ่ายสยามสามารถยึดสักซ้า (Rạch Giá,瀝架) โจดก และเกิ่นเทอ (Cần Thơ, 芹苴) ได้ ฝ่ายเจืองวันดาถอยไปตั้งที่หมีทอ (Mỹ Tho, 美湫) หรือสมิถ่อ ในขณะที่ทัพฝ่ายไทยตั้งอยู่ที่ซาเด๊ก
เจืองวันดารายงานสถานการณ์ขอความช่วยเหลือไปยังพระเจ้าท้ายดึ๊กเหงียนญัค ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายเตยเซินที่เมืองกวีเญิน เหงียนญัคจึงมีพระราชโองการให้อนุชาคือเหงียนเหวะยกทัพจำนวน 20,000 คน มาช่วยเจืองวันดาต่อสู้กับทัพสยาม เหงียนเหวะยกทัพเรือมาตั้งที่เมืองหมีทอหรือสมิถ่อในเดือนมกราคมพ.ศ. 2328 เอกสารฝ่ายเวียดนามระบุว่าเหงียนเหวะพยายามที่จะเจรจากับฝ่ายสยามด้วยการถวายของมีค่าแด่กรมหลวงเทพหริรักษ์ ให้ฝ่ายสยามเลิกสนับสนุนองเชียงสือและมาเป็นไมตรีกับเตยเซินแทน ฝ่ายองเชียงสือได้มอบหมายให้หมักตื๊อซิญจัดเตรียมเรือไว้ในกรณีที่พ่ายแพ้และต้องหลบหนี เหงียนเหวะจัดทัพตั้งซุ่มไว้ที่สักเกิ่ม (Rạch Gầm, 瀝涔) และสว่ายมุ๊ต (Xoài Mút, 吹蔑) ริมสองฝั่งริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบลงใกล้กับหมีทอเพื่อซุ่มโจมตีฝ่ายไทย
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2328 กรมหลวงเทพหริรักษ์มีพระบัญชาให้พระยาวิชิตณรงค์ตั้งรักษาเป็นทัพหลังอยู่ที่บ้านป่ายุง (Ba Giồng) และเสด็จนำทัพเรือจากซาเด๊ก เข้าโจมตีเหงียนเหวะที่หมีทอ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2328 ทัพฝ่ายสยามล่องตามแม่น้ำโขงมาถึงสักเกิ่มและสว่ายมุ๊ต จุดที่เหงียนเหวะได้เตรียมซุ่มไว้ นำไปสู่การรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút) ทัพฝ่ายเตยเซินได้เข้าปิดล้อมทางหัวและท้ายของทัพเรือสยาม ทำให้ทัพฝ่ายสยามถูกล้อมทั้งหน้าและหลัง ทัพเตยเซินเข้าโจมตีกระหนาบสองข้างทำให้ทัพเรือสยามทิ้งเรือหนีขึ้นบกพ่ายแพ้แตกพ่ายไป[4] ในเวลานั้นเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมเจิ่งนองไปทั่วสมรภูมิ สร้างความลำบากให้แก่ทัพฝ่ายสยามในการถอยทางบก ข้าหลวงในกรมหลวงเทพหริรักษ์หากระบือได้ตัวหนึ่ง ให้ทรงกระบือลุยน้ำเสด็จไปยังกัมพูชา[4] ฝ่ายองเชียงสือซึ่งได้เตรียมเรือไว้ก่อนหน้าแล้ว ล่องเรือกลับมาถึงกัมพูชาเช่นกัน องเชียงสือได้รับความลำบากขาดแคลนอาหารจนกระทั่งเหงียนวันถ่าญ (Nguyễn Văn Thành 阮文誠) คนสนิทขององเชียงสือจำต้องปล้นหาอาหารมาประทังเลี้ยงองเชียงสือผู้เป็นนายของตน และองเชียงสือส่งหมักตื๊อซิญไปกราบทูลแจ้งข่าวให้แก่กษัตริย์สยามให้ทรงทราบ[3]
บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง
[แก้]ในสงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2327 นี้ ฝ่ายสยามขาดความชำนาญเกี่ยวกับภูมิประเทศลักษณะสาขาของคลองต่าง ๆ บริเวณปากแม่น้ำโขง ทำให้ฝ่ายเวียดนามเตยเซินสามารถใช้ลักษณะของแม่น้ำเพื่อปิดล้อมทัพเรือสยาม จนนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายเตยเซินในที่สุด
หลังจากการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ตเพียงสิบเดือน เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น ทำให้การตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่องเชียงสือจำต้องยุติ องเชียงสือส่งคนสนิทของตนได้แก่ เลวันเกวิน และเหงียนวันถ่าญ เข้าร่วมกับสยามในการรบกับพม่าที่ไทรโยค (Sài Nặc)[3] หลังจากสิ้นสุดสงครามเก้าทัพ ตามเอกสารเวียดนาม กรมพระราชวังบวรฯประทานให้ยกทัพไปช่วยองเชียงสืออีกครั้ง แต่ฝ่ายองเชียงสือปฏิเสธเนื่องจากไม่ต้องการความช่วยเหลือจากสยามอีกต่อไป[3] คณะทูตโปรตุเกสนำโดยอันโตนิโอ เดอ วีเซนต์ (Antonio de Veesent) มาเข้าเฝ้าฯที่กรุงเทพในพ.ศ. 2329 ฝ่ายโปรตุเกสเสนอช่วยยกทัพช่วยองเชียงสือกอบกู้บ้านเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯไม่โปรดให้โปรตุเกสช่วยองเชียงสือ องเชียงสือจึงปฏิเสธความช่วยเหลือของโปรตุเกสไป[3] ในระหว่างที่พำนักอยู่กรุงเทพองเชืองสือติดต่อ"สังฆราชอาดรัง" (Bishop of Adran) ปีแยร์ ปีโญ เดอ เบแอน (Pierre Pigneau de Behaine) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสในการขอความช่วยเหลือทางทหารจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จนสุดท้ายบรรลุข้อตกลงกับราชสำนักฝรั่งเศสในพ.ศ. 2330
ฝ่ายราชวงศ์เตยเซิน เหงียนเหวะยกทัพขึ้นเหนือเข้ายึดเมืองดงกิญและเวียดนามภาคเหนือได้สำเร็จในพ.ศ. 2329 ยกเลิกการปกครองของราชวงศ์เลและตระกูลจิ่ญไปในที่สุด เหงียนเหวะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระเจ้ากวางจุง (Quang Trung) แห่งราชวงศ์เตยเซิน เมื่อพระเจ้ากวางจุงสวรรคตในพ.ศ. 2331 ราชวงศ์เตยเซินอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้องเชียงสือ เดินทางออกจากกรุงเทพฯ เข้ายึดเมืองไซง่อนและเวียดนามภาคใต้เป็นฐานที่มั่น ตั้งตนเป็น"เจ้าอนัมก๊ก"ได้ด้วยความช่วยเหลือจากกองเรือฝรั่งเศส ระหว่างที่องเชียงสือเป็นเจ้าอนัมก๊กอยู่ที่เมืองไซ่ง่อนนั้น ได้ส่งเครื่องบรรณการมาถวายที่กรุงเทพฯห้าครั้ง[4] ต่อมาในพ.ศ. 2344 เจ้าอนัมก๊กองเชียงสือสามารถยึดเมืองเว้ได้ ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮว่างเด๊พระเจ้าเวียดนามยาล็องและสถาปนาราชวงศ์เหงียน
ในพ.ศ. 2353 พระเจ้ายาล็องมีสาสน์มาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทูลขอเมืองพุทไธมาศหรือห่าเตียนให้ไปขึ้นแก่ญวน[5] เมืองพุทไธมาศห่าเตียนจึงเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่นั้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
- ↑ 2.0 2.1 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) . พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โปรดให้พิมพ์แจก ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก (พัว จุลเสวก) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Cao Xuân Dục. Quốc triều chính biên toát yếu (國朝正編撮要). พ.ศ. 2451. Link
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙; พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส.
- สงครามเวียดนาม–สยาม
- ประวัติศาสตร์เวียดนาม
- สงครามเกี่ยวข้องกับทวีปเอเชีย
- สงครามยุคใหม่
- สงครามเกี่ยวข้องกับไทย
- สงครามเกี่ยวข้องกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์
- สงครามเกี่ยวข้องกับเวียดนาม
- ความสัมพันธ์ทางการทหารไทย–เวียดนาม
- สงครามในคริสต์ศตวรรษที่ 18
- สงครามในคริสต์ทศวรรษ 1780
- ยุทธการเกี่ยวข้องกับไทย
- ยุทธการเกี่ยวข้องกับเวียดนาม
- ยุทธนาวีเกี่ยวข้องกับไทย
- ยุทธนาวีเกี่ยวข้องกับเวียดนาม
- การบุกครองโดยไทย
- การบุกครองเวียดนาม
- ราชรัฐห่าเตียน
- สงครามเตยเซิน
- จักรพรรดิกวาง จุง
- สยามในคริสต์ทศวรรษ 1780