สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314
ส่วนหนึ่งของ สงครามสยาม-เวียดนาม

แผนที่ อินโดจีน ในปี 2313
วันที่ตุลาคม พ.ศ. 2314 ถึงพ.ศ. 2315
สถานที่
คู่สงคราม
กรุงธนบุรี (สยาม) ตระกูลเหงียน
อาณาจักรกัมพูชา
ราชรัฐห่าเตียน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระยายมราช (ทองด้วง)
เจ้าพระยาจักรี (หมุด)
พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง)
พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยางจิ้นจง)
เหงียน ฟุก ถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần)
เหงียน กิ๋ว ด่าม (Nguyễn Cửu Đàm)
เหงียน ฮิ๋ว เญิน (Nguyễn Hữu Nhơn)
เหงียน ควา เทวียน (Nguyễn Khoa Thuyên)
พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน)
ออกญายมราช (ทุย)
หมัก เทียน ตื๊อ (Mạc Thiên Tứ)
กำลัง
ประมาณ 20,000 คน มากกว่า 12,000 คน

สงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 เป็นสงครามความขัดแย้งระหว่างสยามสมัยกรุงธนบุรีในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียนรวมไปถึงอาณาจักรเขมรอุดงในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) และราชรัฐห่าเตียนซึ่งการปกครองโดยหมักเทียนตื๊อหรือพระยาราชาเศรษฐี ต่อเนื่องมาเป็นการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมู้ต

เหตุการณ์นำ[แก้]

หลังจากที่ตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียนร่วมกันเข้ายึดเมืองดงกิญ (ฮานอย) คืนจากราชวงศ์หมัก (Mạc dynasty) และฟื้นฟูราชวงศ์เล (Lê dynasty) ขึ้นได้สำเร็จในพ.ศ. 2135 เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียน ฮว่างเด๊หรือพระเจ้าเวียดนามราชวงศ์เลประทับอยู่ที่เมืองดงกิญอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าญวนเหนือตระกูลจิ่ญ ในขณะที่ตระกูลเหงียนตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นในเวียดนามภาคกลางและใต้ เป็นเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน ทำให้เวียดนามแบ่งออกเป็นสองส่วน เจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียนแผ่ขยายอำนาจลงสู่เวียดนามภาคใต้บริเวณปากแม่น้ำโขง ซึ่งเดิมเป็นดินแดนของอาณาจักรเขมรอุดง และเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียนยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองในกัมพูชาอีกด้วย

กำเนิดรัฐบันทายมาศห่าเตียน[แก้]

อนุสาวรีย์ของม่อจิว (Mò Jiǔ) หรือหมักกิ๋ว (Mạc Cửu) ที่เมืองห่าเตียน

หลังการล่มสลายของราชวงศ์หมิง ชายชาวจีนกวางตุ้งชื่อว่าหมักกิ๋ว (Mạc Cửu, 鄚玖) หรือม่อจิ่ว (พินอิน: Mò Jiǔ) จากเมืองเล้ยโจว (Leizhou) มณฑลกวางตุ้ง ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง จึงเดินทางอพยพมายังเมืองบันทายมาศ หรือเมืองเปียม (เขมร: ពាម) ของอาณาจักรเขมรอุดงในพ.ศ. 2241[1] เมืองบันทายมาศเป็นเมืองท่าที่มีชาวจีนและชาวญวนอาศัยอยู่ หมักกิ๋วตั้งบ่อนเบี้ยขึ้นที่เมืองบันทายมาศจนร่ำรวยมีฐานะขึ้น จนได้รับบรรดาศักดิ์ออกญาจากกษัตริย์กัมพูชา หมักกิ๋วนำเมืองบันทายมาศเข้าสวามิภักดิ์ต่อทั้งกัมพูชาและเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน[1] ในพ.ศ. 2250 หมักกิ๋วเจ้าเมืองบันทายมาศเข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกจู (Nguyễn Phúc Chu 阮福淍) ได้รับยศและตำแหน่งเป็น"กิ๋วหง็อกเหิ่ว" (Cửu Ngọc hầu) นำไปสู่การกำเนิดของราชรัฐห่าเตียน (Hà Tiên 河仙) อย่างไรก็ตาม พงศาวดารกัมพูชาระบุว่าในเวลาเดียวกันนั้นมีขุนนางเขมรคือออกญาราชาเศรษฐี (เขมร: ឧកញ៉ារាជាសេដ្ឋី) อีกคนหนึ่งปกครองเมืองบันทายมาศอยู่แล้ว สันนิษฐานว่าหมักกิ๋วนั้นมีอำนาจปกครองชาวจีนและญวนในบันทายมาศ ในขณะที่ออกญาราชาเศรษฐีปกครองชาวกัมพูชา แยกส่วนอยู่คู่กัน[1]

หมักกิ๋วถึงแก่กรรมในพ.ศ. 2278 หมักเทียนตื๊อ (Mạc Thiên Tứ, 鄚天賜) หรือม่อซื่อหลิน (莫士麟 พินอิน: Mò Shìlín) บุตรชายของหมักกิ๋วขึ้นสืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองบันทายมาศต่อจากบิดา ในสมัยของหมักเทียนตื๊อเมืองบันทายมาศหรือรัฐห่าเตียนเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากการค้าและขึ้นมามีอำนาจบทบาททางการเมืองในภูมิภาค

การแย่งชิงราชสมบัติในกัมพูชา[แก้]

วัดอุดงโบราณสถานเมืองหลวงเก่า ณ อุดงมีชัยของอาณาจักรกัมพูชา

ในพ.ศ. 2257 สมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราช หรือนักองค์ธรรม กษัตริย์กัมพูชาซึ่งในพงศาวดารไทยเรียกว่า"พระธรรมราชาวังกระดาน"[2] ขัดแย้งกันกับองค์อิ่มนักแก้วฟ้าหรือที่พงศาวดารไทยเรียกว่า"นักแก้วฟ้าสะจอก"[2] พระแก้วฟ้าขอกำลังสนับสนุนจากเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกจูเข้ามาช่วย ฝ่ายนักองค์ธรรมพ่ายแพ้เดินทางมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายญวนจึงตั้งให้พระแก้วฟ้าเป็นกษัตริย์กัมพูชาต่อมา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระพระราชทานบ้านเรือนบริเวณวัดค้างคาว[2]ให้แก่นักองค์ธรรมได้อยู่อาศัย

ในพ.ศ. 2260 สมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีพระราชโองการให้ยกทัพเข้าโจมตีกัมพูชาและเมืองบันทายมาศ เพื่อนำนักองค์ธรรมคืนสู่ราชสมบัติกัมพูชา เจ้าพระยาจักรีโรงฆ้องเป็นแม่ทัพทางบก[2] ในขณะที่เจ้าพระยาพระคลังจีนเป็นแม่ทัพเรือ ฝ่ายทัพเรือสยามพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายญวนและหมักกิ๋วเมืองห่าเตียน ส่วนฝ่ายทัพบกเจ้าพระยาจักรีโรงฆ้องนำทัพเข้าล้อมเมืองอุดง พระแก้วฟ้ากษัตริย์กัมพูชาฝ่ายญวนยอมอ่อนน้อมยอมส่งบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองแก่สยาม เจ้าพระยาจักรีจึงยกทัพกลับ แต่ทว่ากัมพูชายังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนามเจ้าญวนใต้

ในพ.ศ. 2265 พระแก้วฟ้ายกราชสมบัติให้แก่พระโอรสคือนักพระสัตถาเป็นกษัตริย์กัมพูชาองค์ต่อมา ในพ.ศ. 2280 นักองค์ธรรมพระศรีธรรมราชากลับมาครองกัมพูชาเป็นกษัตริย์อีกครั้ง พระสัตถาพ่ายแพ้เสด็จหลบหนีไปเมืองญวน นักองค์ธรรมครองราชย์สมบัติจนถึงพ.ศ. 2290 จึงสวรรคต พระมหาอุปโยราชพระองค์ทองขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระรามาธิบดี แต่ทว่าในปีต่อมาพ.ศ. 2291 ฝ่ายญวนได้ฉวยโอกาสยกทัพนำพระสัตถาอดีตกษัตริย์เขมรมาโจมตีเมืองอุดง พระรามาธิบดีเสด็จหนีไปยังอยุธยารัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโองการให้พระยาราชสุภาวดี[2] (ประตูจีน) ยกทัพนำนักองค์สงวนพระโอรสของนักองค์ธรรมออกจากกรุงศรีอยุธยามาครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระศรีไชยเชษฐาแห่งกัมพูชาเมื่อพ.ศ. 2291 พระสัตถาพ่ายแพ้เสด็จหลบหนีไปเมืองญวนอีกครั้งและสิ้นพระชนม์ ในระยะเวลาเพียงสองปีนี้ มีกษัตริย์กัมพูชาขึ้นครองราชสมบัติแล้วสามพระองค์

ในพ.ศ. 2300 พระมหาอุปโยราช (นักองค์หิง)[3] ยกทัพไปสู้รบกับพระมหาอุปราชพระอุไทยราชา (นักองค์ตน) นักองค์ตนพระมหาอุปราชจึงเสด็จหลบหนีไปเมืองเปียมบันทายมาศ ขอพึ่งหมักเทียนตื๊อหรือ"นักพระโสร์ทศ"[3]เจ้าเมืองบันทายมาศ หมักเทียนตื๊อรับนักองค์ตนเจ้าชายกัมพูชาเป็นบุตรบุญธรรม[1][3] หมักเทียนตื๊อขออนุญาตเจ้าญวนใต้ให้แต่งตั้งนักองค์ตนเป็นกษัตริย์กัมพูชาองค์ใหม่ และส่งทัพเมืองบันทายมาศไปปราบพระมหาอุปโยราชนักองค์หิงได้สำเร็จ ฝ่ายนักองค์ตนจับองค์หิงสำเร็จโทษประหารชีวิต พระอนุชาติกษัตรี[3]พระชายาขององค์หิงส่งทัพมารบกับนักองค์ตน นักองค์ตนตีทัพของพระอนุชาติกษัตรีแตกพ่ายไป พระศรีไชยเชษฐาเสด็จลี้ภัยจากเมืองอุดงไปสวรรคตที่เมืองโพธิสัตว์ในพ.ศ. 2300 พระอนุชาติกษัตรีถูกจับประหารชีวิต พระรามราชานักองค์โนนซึ่งอยู่ฝ่ายองค์หิงและเป็นโอรสของพระศรีไชยเชษฐาหลบหนีไปเมืองสันธุก นักองค์ตนตามไปจับกุมนักองค์โนนที่เมืองสันธุกได้ใส่กรงขังไว้ ออกญาปาร (เหตุ) ลักลอบเปิดกรงให้นักองค์โนนหลบหนีไปกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ[3]

สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์ตน ทรงตอบแทนบุญคุณให้แก่นักพระโสร์ทศหมักเทียนตื๊อที่ได้ช่วยเหลือพระองค์ให้ได้ราชสมบัติกัมพูชา จึงยกดินแดนห้าเมืองซึ่งรวมไปถึงเมืองกำปงโสมและเมืองกำปอดให้แก่หมักเทียนตื๊อ[1] ชาวเวียดนามจึงเข้ามาตั้งรกรากในอาณาบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมากขึ้น นำไปสู่การก่อตั้งเมืองล็องโห่ (Long Hồ) เมืองซาเด๊ก (Sa Đéc) และเมืองเจิวด๊ก (Châu Đốc) โดยฝ่ายเวียดนาม[1]

สมัยกรุงธนบุรี[แก้]

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ พ.ศ. 2310

ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาตั้งรกรากในหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกของสยามเช่นจันทบุรี บางปลาสร้อย โดยเฉพาะเมืองจันทบุรีเป็นชุมชนที่มีชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่จำนวนมาก เมื่อครั้งที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ฝ่ายอยุธยาได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือจากพระยาราชาเศรษฐีหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศ พระยาราชาเศรษฐีได้ส่งกองกำลังและเสบียงอาหารมาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา[4] แต่ถูกพม่าตีสะกัดจึงถอยกลับไป ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2310 ประมาณสามเดือนก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระยาตาก ขุนนางเชื้อสายจีนแต้จิ๋วนามว่าเจิ้งเจา (鄭昭 พินอิน: Zhèng Zhāo) หรือเจิ้งสิ้น (鄭信 พินอิน: Zhèng Xìn) นำกองกำลังฝ่าวงล้อมของพม่าออกมาจากอยุธยา เดินทางไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรีอันเป็นเมืองของชาวจีนแต้จิ๋ว นักองค์โนนเจ้าชายกัมพูชาได้ติดตามพระยาตากออกมาในครั้งนั้นด้วย นักองค์โนนจึงเป็นหนึ่งในผู้ติดตามของพระยาตากแต่แรกเริ่ม พระยาตากแต่งศุภอักษรให้พระยาพิชัยราชาและนายบุญมีไปขอความช่วยเหลือจากพระยาราชาเศรษฐี[4]หมักเทียนตื๊อในการร่วมรบกับพม่า ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310 พระยาตากสามารถเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ พระยาจันทบุรี (เจ้าขรัวหลาน) หลบหนีไปยังเมืองบันทายมาศ[4]

หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าแล้ว เจ้าชายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ยังตกค้างอยู่ได้แก่ เจ้าศรีสังข์ (พระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ) ได้หลบหนีมายังเมืองบางปลาสร้อย เจ้าศรีสังข์ได้พบกับมิชชันนารีฝรั่งเศส ซึ่งได้ช่วยเหลือเจ้าศรีสังข์ให้เสด็จลี้ภัยมายังเมืองบันทายมาศจากนั้นนำเสด็จต่อไปยังเมืองอุดงกัมพูชา[5] และเจ้าจุ้ย (พระโอรสของเจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นพระโอรสในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เสด็จลี้ภัยมายังเมืองบันทายมาศอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของหมักเทียนตื๊อ พระยาตากมีหนังสือถึงหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศขอให้ส่งตัวเจ้าศรีสังข์[5] แต่หมักเทียนตื๊อปฏิเสธเนื่องจากมีความหมายมั่นที่จะยกเจ้าชายสยามให้ขึ้นครองราชสมบัติเพื่อขยายอิทธิพลของตนเอง

หมักเทียนตื๊อมีความขัดแย้งกับกลุ่มพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วในหัวเมืองชายทะเลตะวันออก[1] ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรี ในพ.ศ. 2311 หมักเทียนตื๊อออกอุบายให้หลานของตนเองขนข้าวขึ้นทัพเรือมายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาพบเพื่อประทุษร้าย[1] แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้เท่าทันจึงทรงส่งกองกำลังไปตีทัพเรือของเมืองบันทายมาศที่ปากน้ำแตกพ่ายไปและยึดข้าวของเมืองบันทายมาศไว้ได้[1] ทัพเรือบันทายมาศถอยไปที่เมืองบางปลาสร้อยซึ่งหลานของหมักเทียนตื๊อล้มป่วยเสียชีวิต (พงศาวดารไทยระบุว่า แลสำเภาบันทุกเข้าสารมาแต่เมืองพุทไธมาศ จำหน่ายถังละสามบาทสี่บาทห้าบาทบ้าง ทรงพระกรุณาให้ซื้อแจกคนทั้งปวง)[6] ปีต่อมาพ.ศ. 2312 หมักเทียนติ๊อส่งทัพเรือมาโจมตีเมืองจันทบุรี[1] พงศาวดารกัมพูชาระบุว่า พ.ศ. 2313 นักพระโสร์ทศยกทัพไปโจมตีเมืองจันทบุรีและเมืองทุ่งใหญ่ แต่แตกพ่ายแพ้ถอยกลับมาเมืองเปียม[3]

ฝ่ายจีนราชวงศ์ชิงส่งขุนนางลงมาสืบเหตุการณ์ที่เมืองห่าเตียนในพ.ศ. 2311[7] ขุนนางจีนได้รับข้อมูลว่าพระยาตากนามว่าเจิ้งสิ้นได้ตั้งตนขึ้นในสยามทำการปราบปรามชุมนุมต่างๆ ขุนนางจีนได้พบกับเจ้าจุ้ยที่เมืองบันทายมาศ[7]และหมักเทียนตื๊อได้มอบแผนที่แสดงเส้นทางจากเมืองกวางตุ้งถึงสยามให้แก่ขุนนางจีน[7] เมื่อพระยาตากได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ทรงส่งผู้แทนข้าหลวงนำศุภอักษรไปยังเมืองกว่างโจว (เมืองกวางตุ้ง) ในพ.ศ. 2311 ทรงใช้พระนามเรียกขานพระองค์เองว่า"เจาพีหย่ากันเอินชื่อ"[7] (昭丕雅甘恩敕) ขอการรับรองจากราชสำนักจีนเพื่อเข้าสู่ระบบบรรณาการจิ้มก้อง แต่ราชสำนักจีนปฏิเสธการรับรองเนื่องจากหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศได้แจ้งแก่ราชสำนักจีนว่ายังมีทายาทของกษัตริย์อยุธยาประทับอยู่ที่เมืองบันทายมาศ[7] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งทูตไปกว่างโจวอีกครั้ง โดยนำเชลยพม่าที่จับมาได้จากเชียงใหม่ไปมอบให้แก่ราชสำนักจีน[7] เนื่องจากในขณะนั้นจีนและพม่ามีความขัดแย้งกันอยู่ในสงครามจีน-พม่า (Sino-Burmese War) ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงใช้พระนามว่า"เจิ้งเจา"

สงครามตีเมืองกัมพูชา พ.ศ. 2312[แก้]

บริเวณประตูชายแดนระหว่าง เวียดนามกัมพูชา ของเมืองห่าเตียน

ในพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชสาสน์ถึงพระนารายณ์ราชานักองค์ตน ให้กัมพูชาแต่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเครื่องบรรณาการไปถวายแก่กรุงธนบุรีดังเช่นเคยในสมัยอยุธยา พระนารายณ์ราชาซึ่งฝักใฝ่ญวนและได้รับการสนับสนุนจากหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของสยาม "พระเจ้าตากนี้ เปนเสมอเพียงแต่บุตรจีนไหหง แลมาตั้งตัวเองขึ้นเปนกระษัตริย์ จะให้เรานำเครื่องราชบรรณาการดอกไม้ทองเงินไปถวาย ยอมเป็นเมืองขึ้นเช่นนี้ดูกะไรอยู่"[3] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระพิโรธจึงมีพระราชโองการให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ยกทัพจำนวน 2,000 คน[6] ให้นักองโนนไปในกองทัพด้วย ไปทางเมืองนครราชสีมาทางหนึ่ง และพระยาโกษา (ตั้งเลี้ยง) ยกทัพไปทางปราจีนบุรีอีกทางหนึ่ง เข้าโจมตีเมืองอุดงเพื่อยกราชสมบัติให้แก่นักองค์โนน

ฝ่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ยกทัพจากเมืองนครราชสีมาเข้าโจมตีเมืองเสียมราฐ สู้รบกับออกญากลาโหม (ปาง) ที่เมืองเสียมราฐ ฝ่ายสยามเข้ายึดเมืองเสียมราฐได้สำเร็จ ออกญากลาโหม (ปาง) สิ้นชีวิตในที่รบ[3] ส่วนพระยาโกษา (ตั้งเลี้ยง) ยกทัพจากปราจีนบุรีเข้ายึดเมืองพระตะบองได้สำเร็จ นักองค์ตนพระนารายณ์ราชากษัตริย์กัมพูชาจึงเสด็จยกทัพออกมารบทางทะเลสาบเขมรเพื่อยึดเมืองเสียมราฐคืน พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชายกทัพเรือออกรบกับพระนารายณ์ราชาในทะเลสาบเขมร[6]

ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพออกไปปราบชุมนุมนครศรีธรรมราช เกิดข่าวลือว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินได้เสด็จสวรรคต[6] พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาเกรงว่าจะเกิดจลาจลขึ้นจึงถอยทัพออกจากกัมพูชากลับไปยังธนบุรี พระยาอภัยรณฤทธิ์หยุดทัพที่นครราชสีมาในขณะที่พระยาอนุชิตราชายกทัพมาถึงลพบุรี จึงทราบข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ทรงเป็นอันตรายแต่อย่างใด[6] ฝ่ายพระยาโกษาเมื่อทราบว่าทัพทางเสียมราฐได้ถอยกลับไป จึงถอยจากพระตะบองกลับมาอยู่ที่ปราจีนบุรี พระยาโกษามีหนังสือบอกกราบทูลว่า[6] พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาถอยทัพออกมาก่อน ตนเองจึงถอยทัพออกตามมาเนื่องจากเกรงว่าหากเหลือตั้งอยู่ทัพเดียวจะถูกฝ่ายกัมพูชาทุ่มโจมตี สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้ตำรวจนำตัวพระยาอนุชิตราชามาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่าเหตุใดจึงยกทัพกลับมาก่อน พระยาอนุชิตราชาตอบว่าเกิดข่าวลือออกไปเกรงว่าข้าศึกอื่นจะมาแย่งชิงพระนครธนบุรีจึงหวังรีบกลับมารักษาแผ่นดินไว้[6] สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงสดับฟังแล้วจึงคลายพระพิโรธ สรรเสริญพระยาอนุชิตราชาว่าเป็นคนสัตย์ซื่อแท้[6] และมีพระราชโองการให้พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาเลิกทัพกลับธนบุรี

สงครามตีเมืองกัมพูชาและบันทายมาศ พ.ศ. 2314[แก้]

การจัดเตรียมทัพ[แก้]

ภูมิภาค บริเวณสันเขาห่าเตียน

ในพ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชดำริที่จะยกทัพไปตีเมืองกัมพูชาให้แก่นักองค์โนน และเพื่อตามหาเจ้าศรีสังข์และเจ้าจุ้ยอีกครั้ง ทรงมีพระราชโองการให้เกณฑ์ไพร่พลไทยจีนทัพบกทัพเรือ สรรพาวุธต่างๆ และทรงให้จัดทัพเข้าตีเมืองกัมพูชาดังนี้;

  • พระยายมราช (ทองด้วง) (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี[4] เอกสารชั้นต้นจดหมายเหตุรายวันทัพคราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมรระบุว่าดำรงตำแหน่งเป็นพระยายมราช เช่นเดียวกับพงศาวดารกัมพูชาซึ่งระบุว่าเป็นพระยายมราช) ยกทัพบกจำนวน 10,590 คน[8] ให้นักองค์โนนไปในทัพนี้ด้วย ยกจากปราจีนบุรีเข้าโจมตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เข้าโจมตีเมืองอุดงบันทายเพชร
  • สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จนำทัพเรือด้วยพระองค์เอง เข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ เสด็จทางชลมารค ทรงพระที่นั่งเรือรบ กองทัพเรือหลวงมีจำนวน 10,866 คน[8] ทรงให้พระยาพิพิธ (เฉินเหลียน 陳聯 หรือ ตั้งเลี้ยง) ผู้ว่าที่โกษาธิบดี ยกทัพเรือล่วงหน้าไปก่อน และทรงให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยางจิ้นจง[9] 楊進宗 Yáng Jìnzōng)[7] เป็นทัพหน้า

พระยายมราช (ทองด้วง) ยกทัพออกจากธนบุรีไปเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 11[8] (17 ตุลาคม พ.ศ. 2314) จดหมายเหตุรายวันทัพฯระบุจำนวนไพร่พลจำนวนเรือและอาวุธในกองเรือต่างๆไว้ดังนี้;[8]

  • กองพระยาพิชัยไอศวรรย์ เรือรบหลวง 44 ลำ รวมเรือทั้งสิ้น 73 ลำ ไพร่พลรวม 1,686 คน ปืนคาบศิลา 426 กระบอก รวมปืนทั้งสิ้น 684 กระบอก
  • กองพระยาพิพิธ เรือรบหลวง 12 ลำ ไพร่พลรวม 1,481 คน ปืนคาบศิลา 16 กระบอก รวมปืนทั้งสิ้น 64 กระบอก
  • กองพระสีหราชเดโช เรือรบ 27 ลำ ไพร่พลรวม 974 คน ปืนคาบศิลา 324 กระบอก รวมปืนทั้งสิ้น 462 กระบอก
  • กองพระท้ายน้ำ เรือรบ 43 ลำ ไพร่พลรวม 1,101 คน ปืนคาบศิลา 37 กระบอก รวมปืนทั้งสิ้น 346 กระบอก
  • กองเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เรือทั้งสิ้น 13 ลำ ไพร่พลรวม 649 คน รวมปืนทั้งสิ้น 178 กระบอก
  • กองพระยาโกษานอกราชการ เรือรบ 10 ลำ เรือสำเภา 24 ลำ รวมเรือทั้งสิ้น 34 ลำ ไพร่พลรวม 1,705 คน ปืนคาบศิลา 361 กระบอก รวมปืนทั้งสิ้น 533 กระบอก
  • กองพระยาทิพโกษา เรือรบหลวง 7 ลำ รวมเรือทั้งสิ้น 13 ลำ ไพร่พลรวม 453 คน ปืนคาบศิลา 123 กระบอก รวมปืนทั้งสิ้น 175 กระบอก
  • กองหลวง สมเด็จพระเจ้าตากสิน เรือรบหลวง 85 ลำ ไพร่หลวง 1,102 คน ไพร่สม 962 คน รวมไพร่พล 2,246 คน ปืนคาบศิลา 725 กระบอก รวมปืนทั้งสิ้น 1,016 กระบอก[8]

สยามโจมตีและเข้ายึดเมืองบันทายมาศ[แก้]

สุสานของหมักเทียนตื๊อ (Mạc Thiên Tứ) ที่เขานุ้ยบิ่ญ (núi Bình San) ทางตอนเหนือของเมืองห่าเตียน

วันอาทิตย์ แรมสิบเอ็ดค่ำเดือนสิบเอ็ด[4] (3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314) สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงเรือพระที่นั่งสำเภาพร้อมเรือแม่ทัพนายกองไทยจีนทั้งหลายประกอบด้วยเรือรบ 200 ลำ เรือทะเล 200 ลำ กำลังพล 15,000 คน[4][6] ยกพยุหยาตราจากธนบุรีไปยังปากน้ำสมุทรปราการ จากนั้นเสด็จยกทัพต่อไปยังจันทบุรี มีพระราชโองการให้พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) ยกทัพล่วงหน้าไปโจมตีเมืองกำปงโสม ทัพเรือหลวงใช้เวลาห้าวันจึงเดินทางถึงปากน้ำเมืองบันทายมาศในวันพฤหัสบดีขึ้นแปดค่ำเดือนสิบสอง[4][6] (14 พฤศจิกายน) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จขึ้นไปบนตึกจีนแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองบันทายมาศ มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) และพระยาทิพโกษา ไปทำค่ายน้ำสองฟากไว้สำหรับเรือรบปืนใหญ่ ขณะนั้นมีนายมาชาวญวนเข้าสวามิภักดิ์[8] นายมากราบทูลว่าพระยาราชาเศรษฐีกำลังคิดวางแผนที่จะหนี จึงมีพระราชโองการให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยางจิ้นจง) แต่งสาสน์ให้นายมาชาวญวนถือเข้าไปหาพระยาราชาเศรษฐีใจความว่า

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวยกกองทัพบกทัพเรือมานี้ พระราชประสงค์จะเศกพระองค์รามราชาให้ครองกรุงกัมพูชาธิบดี แล้วจะเอาตัวเจ้าจุ้ยเจ้าเสสังแลข้าหลวงชาวกรุงซึ่งไปอยู่เมืองใดๆจงสิ้น ถ้าและพระยาราชาเศรษฐีมิได้ภักดีด้วยเห็นว่าต้านทานได้ ก็ให้แต่งการป้องกันเมืองจงสรรพ ถ้าเห็นว่าจะสู้มิได้ ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดอยู่ ให้ออกมากราบถวายบังคม เราจะช่วยทำนุบำรุง เถิงว่าแก่แล้วมามิได้ ก็ให้แต่งหุเอียบุตรออกมาถวายบังคงจงฉับพลัน ถ้าช้าอยู่จะทรงพิโรธฆ่าเสียให้สิ้น

[4]

ฝ่ายพระยาราชาเศรษฐีหมักเทียนตื๊อได้รับสาสน์แล้ว ตอบว่าขอเวลาปรึกษาหารือขุนนางกันก่อน ถ้าได้ข้อตกลงแล้วจะกราบทูลอีกครั้ง หลักฐานเวียดนามระบุว่า เมืองบันทายมาศนั้นเป็นป้อมปราการมีกำแพงเพียงทำจากไม้เท่านั้น[1] ฝ่ายเมืองบันทายมาศสูญเสียกำลังพลไปมากจากการโจมตีเมืองจันทบุรีก่อนหน้านี้ เกณฑ์กำลังพลมาป้องกันเมืองได้เพียง 1,000 คนเท่านั้น[1] หมักเทียนตื๊อขอความช่วยเหลือจากเหงียนฟุกถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần, 阮福淳) เจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน แต่ฝ่ายเวียดนามยังไม่ให้การสนับสนุนแก่หมักเทียนตื๊อ เนื่องจากในครั้งก่อนเมื่อพ.ศ. 2310 หมักเทียนตื๊อเคยขอทัพญวนมา ทัพญวนมารออยู่เป็นเวลานานแต่ทัพสยามไม่ได้ยกมา[1] ฝ่ายสยามนำปืนใหญ่ขึ้นไปบนเขายิงถล่มใส่เมืองบันทายมาศ[1] ส่วนในเมืองบันทายมาศนั้นคลังกระสุนดินดำเกิดระเบิดขึ้นสร้างความสับสนวุ่นวาย หมักเทียนตื๊อให้บุตรชายคือหมักตื๊อซุง (Mạc Tử Dung, 鄚子溶) นำทัพเข้ารบกับสยามทางบก และหมักตื๊อถั๋ง (Mạc Tử Thảng, 鄚子淌) รบกับสยามทางเรือ[1]

ผ่านไปสามวันหมักเทียนตื๊อยังไม่ตอบสาสน์ของพระยาพิชัยไอศวรรย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตรัสเรียกประชุมแม่ทัพ ตรัสถามว่าจะให้เข้าโจมตีหักเอาเมืองบันทายมาศในคืนนี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ให้ว่าได้ ถ้าไม่ได้ก็ว่าไม่ได้ ถ้าว่าได้แต่บุกเข้าไปแล้วไม่ได้ถอยออกมาจะให้ประหารชีวิตเสีย[8] ถ้าบุกเข้าไปยึดเมืองบันทายมาศได้จะทรงปูนบำเหน็จ มีพระราชโองการให้ตั้งค่ายล้อมเมืองและเกณฑ์กำลังพล 2,400 คน และอาทมาท 111 คน เข้าสมทบกองอาจารย์ พระราชทานฤกษ์และอุบายให้เข้าโจมตีเมืองบันทายมาศในคืนนั้น[4]

ในเวลาสองยามคืนนั้น กองอาจารย์พร้อมไพร่พลและอาทมาทเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ สามารถปืนกำแพงขึ้นไปได้ ฝ่ายสยามจุดไฟเผาเมืองบันทายมาศเกิดแสงสว่างสู้รับกับฝ่ายญวนในเมืองนั้น ฝ่ายทัพสยามที่ล้อมเมืองไม่สามารถยกเข้าไปช่วยได้ เนื่องจากฝ่ายญวนยังรักษาเชิงเทินไว้อยู่ยิงปืนใหญ่ใส่ทัพสยาม ฝ่ายสยามยกกำลังเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศทั้งทางน้ำทางบก เข้ายึดเมืองบันทายมาศได้สำเร็จในเช้าวันรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนสิบสอง[4][6] (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314) แม่ทัพฝ่ายญวนได้ช่วยเหลือพระยาราชาเศรษฐีหมักเทียนตื๊อให้ลงเรือหลบหนีออกจากเมืองบันทายมาศไปได้[1] ไปอยู่ที่เมืองเจิวด๊ก (พงศาวดารกัมพูชาว่าไปที่ตึกเขมา)[3] ส่วนบุตรชายสามคนของหมักเทียนตื๊อได้แก่ หมักตื๊อฮว่าง (Mạc Tử Hoàng, 鄚子潢) หมักตื๊อถั๋ง และหมักตื๊อซุง หลบหนีไปเกียนซาง[1]อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเวียดนาม

วันรุ่งขึ้นเสด็จไปประที่วังหรือจวนของพระยาราชาเศรษฐี ให้พลทหารทั้งปวงเที่ยวเก็บทรัพย์สินในเมืองมาได้จำนวนมาก ตรัสถามพระญาณประสิทธิ์ พระสุธรรมาจารย์ และอาจารย์จันทร์ แห่งกองอาจารย์นั้นว่า เมื่อคุมทหารเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศนั้นเข้าทางด้านใดของเมือง อาจารย์ทั้งสามตอบไม่เหมือนกันและไม่ตรงกับความจริง จึงลงพระราชอาญาให้เฆี่ยนอาจารย์ทั้งสาม ทรงได้บุตรีของพระยาราชาเศรษฐีสองคนมีผู้นำมาถวายฯ[8] ฝ่ายเจ้าจุ้ยซึ่งประทับอยู่ที่เมืองบันทายมาศลงเรือเสด็จหนีออกไปเช่นกันแต่ถูกจับกุมกลับมาได้ มีพระราชโองการให้เฆี่ยนเจ้าจุ้ยหนึ่งยกแล้วจองจำไว้[8] พระราชทานเงินรางวัลให้แก่ผู้ที่สามารถเข้าตีเมืองบันทายมาศได้ก่อน เป็นเงินถึงสามร้อยยี่สิบห้าชั่ง แล้วมีประกาศกฏห้ามมิให้กำลังพลสยามทำร้ายราษฏรจีนญวน ให้ค้าขายดังแต่ก่อน ทรงแต่งตั้งพระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) ผู้ว่าราชการที่โกษา[4][6][8] เป็นพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองปากน้ำพุทไธมาศ นับจากนั้น พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) จึงได้รับสมยานามว่า"พระยาราชาเศรษฐีจีน" ในขณะที่หมักเทียนตื๊ออดีตเจ้าเมืองบันทายมาศได้รับสมยานามว่า"พระยาราชาเศรษฐีญวน"

สยามเข้ายึดเมืองกัมพูชา[แก้]

อาวุธโบราณของแม่ทัพสยาม ค้นพบในบริเวณห่าเตียน

ฝ่ายพระยายมราช (ทองด้วง) ยกทัพสามารถเข้ายึดเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และเข้าโจมตีเมืองอุดง เมื่อเสียเมืองบันทายมาศให้แก่สยามแล้ว หมักเทียนตื๊อจึงส่งคนไปแจ้งข่าวทูลแก่สมเด็จพระนารายณ์ราชานักองค์ตนกษัตริย์กัมพูชา พระนารายณ์ราชาพร้อมทั้งพระราชวงศ์รวมทั้งเจ้าศรีสังข์จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่ง พร้อมกับข้าราชการข้าราชบริพารกัมพูชา เสด็จหนีไปยังตระโลงโขศบทอันเจียน[3]ที่บาพนม บรรดาราษฏรชาวกัมพูชาจึงพากันแตกตื่น ลงเรือตามเสด็จหนีไปด้วย พระยายมราชจึงสามารถเข้ายึดเมืองอุดงได้สำเร็จ ราษฏรชาวกัมพูชาตั้งค่ายตัดไม้มาปักเป็นรั้วขึ้นที่คลองปากกระสา[3]หรือคลองมักกะสาที่บาพนมเพื่อป้องกันตนเอง โดยมีออกญายมราช (ทุย) เป็นผู้นำ[3]

วันพุธเดือนสิบสองขึ้นสิบสี่ค่ำ (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314) สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพเรือกำลังพล 5,000 คน[8] ออกจากเมืองบันทายมาศไปตามคลองเพื่อตามหาพระยาราชาเศรษฐี ทรงให้ชาวจีนผู้หนึ่งทางไป ปราบฏว่าชาวจีนผู้นั้นนำทางผิด จึงทรงให้ประหารชีวิตชาวจีนคนนั้นเสีย[8] จากนั้นให้เชลยชาวกัมพูชานำทาง ปรากฏว่าเชลยชาวกัมพูชานั้นกระโดดหนีลงน้ำ ข้าหลวงจึงแทงชาวกัมพูชานั้นเสียชีวิต[8] สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาถึงเกาะพนมเปญเมื่อวันพุธเดือนสิบสองแรมหกค่ำ (27 พฤศจิกายน) เจ้าพระยาจักรี (หมุด) นำความมากราบทูลว่า เจ้ากัมพูชาหลบหนีไปอยู่ที่บาพนม[4] จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี พระสีหราชเดโช และพระท้ายน้ำ ยกทัพติดตามไป วันรุ่งขึ้นทัพหลวงจึงเสด็จตามไป เจ้าพระยาจักรีมีหนังสือมาบอกว่าญวนลูกหน่ายมารับเจ้ากัมพูชาไปเมืองญวนแล้ว[4] ทัพหลวงเสด็จไปถึงคลองมักกะสาพบกับค่ายของราษฏรชาวกัมพูชาซึ่งได้ตั้งขึ้นไว้ป้องกันตนเอง ประกอบด้วยกำลังพลชาวกัมพูชา 1,000 คน ตั้งค่ายสองฟากคลองมีแพผูกกั้นไว้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้เจ้าพระยาจักรีนำกองกำลังเข้าโจมตีค่ายกัมพูชา นำไปสู่การรบที่คลองมักกะสา ในวันแรมแปดค่ำเดือนสิบสอง (29 พฤสจิกายน) ค่ายราษฏรกัมพูชานั้นแตกพ่ายฝ่ายสยามจับได้เชลยชาวกัมพูชาจำนวนมาก[8]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกลับมาที่พนมเปญ พระรามราชานักองค์โนนมาจากเมืองอุดงบันทายเพชรมาเข้าเฝ้าที่พนมเปญ จึงพระราชทานเครื่องต้น ปืนใหญ่น้อย และครัวราษฏรชาวกัมพูชาที่กวาดต้อนมาได้นั้นให้แก่นักองค์โนน ครองเมืองอุดงเป็นใหญ่ในกัมพูชา[6] โปรดฯให้พระยายมราช (ทองด้วง) และพระยาโกษานอกราชการ อยู่ช่วยราชการนักองค์โนนในกัมพูชาจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ[8] จากนั้นมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ตั้งอยู่ที่บ้านจินจงคอยเกลี้ยกล่อมเมืองป่าสัก (เมืองซ้อกจัง Sóc Trăng) ให้เข้าสวามิภักดิ์[8] และสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกลับถึงเมืองบันทายมาศในวันจันทร์เดือนอ้ายขึ้นสามค่ำ[8] (9 ธันวาคม พ.ศ. 2314) มีพระราชโองการให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยางจิ้นจง) แต่งคนไปแจ้งข่าวที่พระนครธนบุรี

ฝ่ายหมักเทียนตื๊อ ซึ่งหลบหนีไปเมืองเจิวด๊ก ได้ขอความช่วยเหลือจากแม่ทัพญวนชื่อต๊งเฟื๊อกเหียป (Tống Phước Hiệp, 宋福洽) จากเมืองล็องโห่ เจ้าพระยาจักรี (หมุด) นำทัพเข้าโจมตีเมืองเจิวด๊ก นำไปสู่การรบที่เมืองเจิวด๊ก ต๊งเฟื๊อกเหียปนำทัพเข้าป้องกันการรุกรานของสยามที่เมืองเจิวด๊กสามารถขับทัพสยามให้ถอยร่นไปได้[1] เจ้าพระยาจักรีกราบทูลรายงานว่า รบกับญวนที่เมืองป่าสักเสียหลวงรักษมณเฑียรถูกญวนสังหารในที่รบกับเสียเรือ 8 ลำ[8] พระยาอธิกวงศาเจ้าเมืองป่าสักชาวกัมพูชาเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม เอกสารเวียดนามระบุว่าทัพเรือฝ่ายสยามไม่ชำนาญเส้นทางแม่น้ำ ฝ่ายเวียดนามสามารถเอาชนะทัพเรือสยามได้ สังหารพลสยามได้ 300 คน และยึดเรือสยามได้ 5 ลำและฝ่ายสยามทิ้งเรือหนีขึ้นบกไป[1]

สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานปืนใหญ่ 5 กระบอก และปืนคาบศิลา 100 กระบอก ไว้ให้แก่นักองค์โนนไว้ป้องกันกัมพูชาจากญวน เจ้าพระยาจักรีมีหนังสือถึงนักองค์โนนว่าให้อย่าพึ่งเก็บส่วยภาษีจากราษฏรเนื่องจากยังอยู่ในภาวะสงคราม และเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ได้กล่าวโทษแก่พระยาพิชัยไอศวรรย์ว่าตีเมืองบันทายมาศไม่สำเร็จร้อนถึงทัพหลวงต้องเสด็จตีเมืองบันทายมาศด้วยพระองค์เอง สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงคาดโทษพระยาพิชัยไอศวรรย์ให้ก่อกำแพงพระนครธนบุรีให้สำเร็จในเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นการไถ่โทษ และพระราชทานข้าวเปลือก 70 เกวียนไว้ให้แก่พระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) เพื่อแบ่งให้แก่นักองค์โนนในเวลาที่ขัดสน[8] เจ้าพระยาศรีธรรมธิราชผู้รักษาพระนครธนบุรีส่งความมากราบทูลข่าวการศึกพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จยกทัพออกจากเมืองบันทายมาศในวันอังคารแรมสามค่ำเดือนอ้าย (24 ธันวาคม พ.ศ. 2314) กลับไปยังพระนครธนบุรี โดยนำเชลยประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวของหมักเทียนตื๊อที่จับกุมได้ รวมทั้งเจ้าจุ้ยและพระยาจันทบุรี (เจ้าขรัวหลาน) อดีตเจ้าเมืองจันทบุรีที่จับตัวได้กลับไปด้วย เสด็จถึงธนบุรีในวันจันทร์เดือนยี่ขึ้นเก้าค่ำ (13 มกราคม พ.ศ. 2315)[8] โปรดฯพระราชทานญวนข้างในให้แก่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาสมบัติ และเจ้าพระยามหามณเฑียร ให้โขลนนำไปพระราชทานถึงเรือน[8] เอกสารเวียดนามระบุว่า ต่อมาเจ้าจุ้ยถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต[1]

ญวนยึดเมืองบันทายมาศคืน[แก้]

ทิวทัศน์ของเมือง ห่าเตียน (จังหวัดเกียนซาง, เวียดนาม)

หมักเทียนตื๊อยอมรับผิดขอโทษแก่เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนผู้เป็นนายของตนว่าเสียเมืองบันทายมาศให้แก่สยามไป เหงียนฟุกถ่วนให้อภัยแก่หมักเทียนตื๊อและมอบเงินให้ ในเดือนสาม (กุมภาพันธ์) พ.ศ. 2315 เจ้าศรีสังข์สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์ตนเจ้ากัมพูชาเสด็จจากตระโลงโขศมาประทับที่แพรกเมียดกันโดร์หรือคลองปากหนู[3] ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2315 เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนจัดตั้งทัพเข้าโจมตีเพื่อยึดเมืองบันทายมาศและกัมพูชาคืนจากสยามดังนี้;[1]

  • เหงียนกิ๋วด่าม (Nguyễn Cửu Đàm, 阮久潭) ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น ด่ามอึงเหิ่ว (Đàm Ưng hầu) ยกทัพมาตามแม่น้ำโขง
  • เหงียนควาเทวียน (Nguyễn Khoa Thuyên) ยกทัพจากเมืองสักซ้า (Rạch Giá) และซาเด๊ก เข้าโจมตีเมืองบันทายมาศทางทะเล
  • เหงียนหิวเญิน (Nguyễn Hữu Nhơn) ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น เญินทัญเหิ่ว (Nhơn Thanh hầu) ยกทัพมาตามแม่น้ำป่าสัก ประกอบด้วยกำลังพล 1,000 คน เรือรบ 50 ลำ[1]

หมักเทียนตื๊ออาศัยลี้ภัยอยู่ที่เมืองเกียงซางหรือเกิ่นเทอ (Cần Thơ) ฝ่ายเวียดนามใช้เวลาเตียมทัพห้าเดือน ถึงเริ่มยกทัพมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2315[1] ฝ่ายเวียดนามยกทัพมาทางทะเล พระยาราชาเศรษฐีจีน (ตั้งเลี้ยง) เจ้าเมืองบันทายมาศตั้งตัวไม่ทัน ยกพลชาวไทยจีนเข้าสู้รบกับฝ่ายญวนเป็นเวลาสามชั่วโมง[6] ไม่สามารถต้านทานได้ ฝ่ายเวียดนามจึงยึดเมืองบันทายมาศคืนได้สำเร็จ พระยาราชาเศรษฐีจีนจำต้องหลบหนีออกจากเมืองบันทายมาศไปยังเมืองกำปอด พระยาปังลิมา[6]เจ้าเมืองกำปอดให้ความช่วยเหลือแก่พระยาราชาเศรษฐีจีนจัดเตรียมไพร่พลเข้ายึดเมืองบันทายมาศคืน พระยาราชาเศรษฐีจีนให้เวลาเตรียมทัพสามวัน จึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศอีกครั้งในเวลากลางคืนเวลาสองยาม พระยาราชาเศรษฐีให้ทหารทุกคนคาบไม้ติ้วไว้ในปากเพื่อไม่ให้มีเสียง[6] ว่ายน้ำยกทัพเข้ายึดเมืองบันทายมาศคืนได้สำเร็จดังเดิม ฝ่ายพระยายมราช (ทองด้วง) ที่เมืองอุดง เมื่อทราบข่าวว่าเมืองบันทายมาศเสียให้แก่ญวน จึงเตรียมยกทัพลงมาช่วยพระยาราชาเศรษฐี แต่พระยาราชาเศรษฐีสามารถยึดเมืองคืนได้ก่อน[6]

ฝ่ายทัพเวียดนามทางแม่น้ำป่าสัก เหงียนหิวเญินผู้เป็นแม่ทัพล้มป่วยจึงมอบหมายให้เฮี้ยนเชืองเหิ่ว (Hiến Chương hầu) เป็นผู้นำทัพแทน เฮี้ยนเชืองเหิ่วพ่ายแพ้ให้แก่ทัพสยามที่แม่น้ำป่าสักถอยไปอยู่ที่เมืองเกิ่นเทอ[1]

เหงียนกิ๋วด่ามส่งขุนนางกัมพูชาคือออกญายมราช (ทุย) เป็นแม่ทัพหน้ายกทัพจำนวน 10,000 คน เข้าโจมตีเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ที่เปียมเบญจพัน (ในจังหวัดไพรแวง) ฝ่ายไทยพ่ายแพ้แตกพ่ายไป ฝ่ายญวนเข้ายึดเมืองพนมเปญได้สำเร็จ[1][3] เป็นเหตุให้นักองค์โนนที่เมืองอุดงหลบหนีไปยังเมืองกำปอดชายทะเล ฝ่ายเวียดนามจึงสามารถเข้าครองกัมพูชาตะวันออกได้ ในขณะที่พระยายมราช (ทองด้วง) ยังคงรักษาการอยู่ที่เมืองอุดง

ในกลางปีพ.ศ. 2315 สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์ตนเสด็จจากแพรกเมียตกันโดร์มาประทับที่แพรกปักปรัดหรือคลองบางเชือกหนัง[3] กัมพูชาเกือบทั้งหมดจึงกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของพระอุไทยราชา (นักองค์ตน) และฝ่ายเวียดนาม ยกเว้นหัวเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ได้แก่เมืองกำปอด เมืองกำปงโสม และเมืองบาทีอยู่ภายใต้อำนาจของนักองค์โนน ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกำปอด นักองโนนมีกำลังพลจากธนบุรี 500 คน[3] นักองโนนเกณฑ์ไพร่พลกัมพูชาจากเมืองตรัง เมืองเชิงกรรชุม และเมืองบันทายมาศ ยกจากเมืองกำปอดมาตั้งอยู่ที่เปียมระกา ออกญายมราช (ทุย) นำทัพออกมารบกับนักองโนนที่เปียมระกา[3] ฝ่ายเวียดนามส่งองโดยจินมาเป็นเบาฮอหรือผู้อารักขาในกัมพูชา

พระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง) บอกข้อราชการไปยังธนบุรี ในปีต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2316 เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนมีคำสั่งให้หมักเทียนตื๊อส่งผู้แทนมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ธนบุรีเพื่อเจรจาสงบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรับไมตรีและโปรดฯพระราชทานบุตรหญิงและภรรยาของหมักเทียนตื๊อกลับคืนไป[1] สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริว่า เมืองบันทายมาศนั้นรักษาไว้ได้ยาก[6] จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐีถอยทัพออกมาจากบันทายมาศ พระยาราชาเศรษฐีจึงกวาดต้อนชาวเมืองบันทายมาศลงเรือใหญ่น้อยกลับเข้ามาที่กรุงธนบุรีตามพระราชกำหนดนั้น ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2316 จากนั้นจึงมีพระราชโองการให้พระยายมราชถอยทัพกลับจากกัมพูชาเช่นกัน พระยายมราชกวาดต้อนชาวกัมพูชาจำนวนประมาณ 10,000 คนเศษ[3]กลับไปยังธนบุรีทัพ ฝ่ายญวนจึงถอนกำลังออกไปจากกัมพูชาในเช่นกันในปีนั้นพ.ศ. 2316[1]

ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]

กบฏเต็ยเซิน[แก้]

บริเวณสุสานของ ม่อจิว ณ เมืองห่าเตียน

ในสงครามครั้งนี้เมืองบันทายมาศถูกทัพฝ่ายสยามทำลายเมืองลง ทำให้เมืองห่าเตียนบันทายมาศสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในบริเวณหัวเมืองชายฝั่งตะวันออก หมักเทียนตื๊ออดีตเจ้าเมืองห่าเตียนพำนักอยู่ที่เมืองเกิ่นเทอหลังสงครามสิ้นสุดลงแล้วโดยที่ไม่ได้กลับไปเมืองห่าเตียนอีก ชาวกัมพูชาค่อยๆเข้าแทนที่ชาวจีนในเมืองบันทายมาศ[1]

ในพ.ศ. 2314 ปีเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพมาตีเมืองบันทายมาศนั้น ได้เกิดกบฏเต็ยเซิน (Tây Sơn) ขึ้น นำโดยสามพี่น้องตระกูลเหงียนวันเพื่อต่อต้านการปกครองของเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียนฟุก ในพ.ศ. 2316 กบฏเต็ยเซินได้เข้ายึดเมืองกวีเญิน (Quy Nhơn) ได้สำเร็จ และต่อมาปีพ.ศ. 2317 เจ้าญวนเหนือจิ่ญซัม (Trịnh Sâm, 鄭森) ได้ฉวยโอกาสนี้ยกทัพจากเมืองฮานอยทางเหนือลงมาโจมตียึดเมืองเว้ (Huế) ได้สำเร็จ เป็นเหตุให้เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนรวมทั้งสมาชิกตระกูลเหงียนและข้าราชการจำต้องหลบหนีลงเรือไปลี้ภัยทางใต้ที่เมืองไซ่ง่อน[1]

ในพ.ศ. 2320 เหงียนวันเหวะ หรือเหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ, 阮惠) หนึ่งในสามพี่น้องเต็ยเซิน ยกทัพลงมาตีเมืองไซ่ง่อนยึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จ เหงียนฟุกถ่วนเจ้าญวนใต้หลบหนีมาอาศัยอยู่กับหมักเทียนตื๊อที่เมืองเกิ่นเทอ หมักเทียนตื๊อส่งบุตรชายคือหมักตื๊อซุงยกทัพไปสู้กับเต็ยเซินแต่พ่ายแพ้ หมักเทียนตื๊อนำพาเจ้าญวนใต้หลบหนีต่อไปยังเมืองล็องเซวียน (Long Xuyên) แต่ทว่าเหงียนเหวะยกทัพติดตามมาจนถึงเมืองล็องเซวียน ยึดเมืองได้ และจับกุมตัวเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกถ่วนไปสำเร็จโทษประหารชีวิตที่เมืองไซ่ง่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งข้าหลวงนั่งเรือไปพบกับหมักเทียนตื๊อ เสนอให้หมักเทียนตื๊อเข้ามาพึ่งพระโพธิสมภารที่กรุงธนบุรี หมักเทียนตื๊อมีความเกรงกลัวในพระราชอำนาจ จึงเดินทางมาพร้อมกับครอบครัวของตนเองและโตนเทิ้ตซวน (Tôn Thất Xuân 尊室春) หรือ"องเชียงชุน" (ông chánh Xuân) ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกตระกูลเหงียน เข้ามาที่เมืองจันทบุรีจากนั้นเดินทางต่อมาถึงกรุงธนบุรีในที่สุดในพ.ศ. 2321[1]

ในพ.ศ. 2323 พระองค์แก้ว (ด้วง) เจ้าชายกัมพูชา ได้ทูลแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินว่า พบจดหมายของ"องเชียงสือ"เหงียนฟุกอั๊ญ เจ้าญวนใต้คนใหม่ซึ่งกำลังต่อสู้กับเต็ยเซินอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน โดยองเชียงสือนั้นได้เขียนจดหมายถึงองเชียงชุนผู้เป็นญาติให้ก่อกบฏเข้ายึดพระนครธนบุรี หมักเทียนตื๊อเมื่อได้ทราบความดังนั้นจึงฆ่าตัวตายไปเสียก่อน[1] สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตองเชียงชุน รวมทั้งครอบครัวของหมักเทียนตื๊อได้แก่ภรรยาของหมักเทียนตื๊อ บุตรชายสองคนได้แก่หมักตื๊อฮว่างและหมักตื๊อซุง และชาวเวียดนามจำนวนทั้งสิ้น 53 คน[1] ล้วนถูกประหารชีวิต ออกญากลาโหมได้ทูลขอให้ไว้ชีวิตบุตรชายของหมักเทียนตื๊อที่อายุยังน้อย ได้แก่ หมักตื๊อซิญ (Mạc Tử Sinh 鄚子泩) หมักตื๊อท้วน (Mạc Tử Tuấn, 鄚子浚) หมักตื๊อเทียม (Mạc Tử Thiêm, 鄚子添) และหลานของหมักเทียนตื๊ออีกสามคน[1]

เหตุการณ์สืบเนื่องในอาณาจักรกัมพูชา[แก้]

แผนที่ชายแดนระหว่างกัมพูชาเวียดนาม ภาพพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2372

ในปีพ.ศ. 2315 สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์ตนเจ้ากัมพูชาทรงตระหนักว่าสงครามความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับนักองค์โนน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสยามและเวียดนามนั้น เป็นเหตุให้อาณาประชาราษฏร์ชาวกัมพูชาได้รับความเดือดร้อน ต้องพรัดพรากล้มหายตายจากประสบกับภาวะอดอาหาร[3] ส่วนฝ่ายญวนที่เคยให้การสนับสนุนแก่พระองค์นั้น เวลานี้ต้องประสบกับเหตุการณ์กบฏเต็ยเซิน จึงมีพระราชโองการให้พระองค์แก้ว (ด้วง) เป็นผู้แทนพระองค์ไปเจรจาสงบศึกกับแม่ทัพไทยในกองทัพของนักองค์โนนที่เปียมระกา ฝ่ายแม่ทัพไทยและนักองค์โนนจึงถอยกลับไปอยู่ที่เมืองกำปอดและส่งพระองค์แก้ว (ด้วง) ไปยังกรุงธนบุรี ฝ่ายพระองค์แก้วเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขอพระราชทานสงบศึกเป็นมิตรไมตรีด้วย แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงไม่ไว้วางพระทัยนักองค์ตน จึงมีพระราชโองการให้จับกุมพระองค์แก้วไปจำคุกเสีย[3]

ต่อมาในพ.ศ. 2317 สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์ตนเสด็จไปประทับที่เกาะจีน พระองค์แก้ว (ด้วง) ส่งคนมากราบทูลสมเด็จพระอุไทยราชา ขอพระราชทานบุตรและภรรยาของพระองค์แก้วไปที่ธนบุรี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงเชื่อว่าพระองค์แก้วนั้นมีความซื่อสัตย์จริง จึงทรงพระกรุณาให้ถอดพระองค์แก้วออกจากคุก สมเด็จพระอุไทยราชาเจ้ากัมพูชามีดำริว่า การที่พระรามราชานักองค์โนนยกทัพมากระทำการสงครามเหตุเกิดจากการที่นักองค์โนนปรารถนาในราชสมบัติกัมพูชา ตรัสเรียกประชุมพระมหาสังฆราช พระมหาราชครู ขุนนางใหญ่น้อยแล้ว จึงเห็นว่าควรมอบราชสมบัติให้แก่พระรามราชานักองค์โนนเพื่อยุติสงคราม ในปีต่อมาพ.ศ. 2318 สมเด็จพระอุไทยราชาทรงให้พระพรหมมุนี (หลง) ซึ่งเป็นที่พระสังฆราช นำความถวายพระพรไปยังนักองค์โนนที่เมืองกำปอด อัญเชิญให้มาครองราชสมบัติที่เมืองบันทายเพชร นักองค์โนนจึงเดินทางจากเมืองกำปอดมายังเมืองอุดง ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระรามราชากษัตริย์กัมพูชาพระองค์ใหม่ ส่วนสมเด็จพระอุไทยราชานักองค์ตน ทรงลดยศลงเป็นพระมหาอุปโยราช[3] และให้นักองค์ธมเป็นพระมหาอุปราช

ในพ.ศ. 2320 ออกญาวิบูลราช (ชู) คิดก่อกบฏยกราชสมบัติให้แก่พระมหาอุปราช (องค์ธม) แต่พระมหาอุปราชทรงไม่เห็นด้วย ออกญาวิบูลราช (ชู) เกรงว่าตนจะมีความผิดจึงนำความไปทูลแก่สมเด็จพระรามราชาว่าพระมหาอุปราชจะเป็นกบฏ สมเด็จพระรามราชาจึงมีพระราชโองการให้ลอบปลงพระชนม์พระมหาอุปราชไปเสียในเดือนยี่มกราคมพ.ศ. 2321[3] ในเดือนเดียวกันนั้นพระมหาอุปโยราชนักองค์ตนประชวรสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระรามราชานักองค์โนนเจ้ากัมพูชาจึงครองอำนาจอยู่พระองค์เดียว ในสงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมีคำสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เดินทางมายังกัมพูชาเพื่อเกณฑ์ไพร่พลและเสบียงอาหารไปสงครามกับลาว สมเด็จพระรามราชาจึงมีพระราชโองการให้เกณฑ์ไพร่พลและเสบียงในเขตเมืองกำปงสวายและกำปงธมมอบให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ สร้างความไม่พอใจแก่ราษฏรชาวกัมพูชาซึ่งได้รับความเดือดร้อน[3] ออกญาเดโช (แทน) เจ้าเมืองกำปงสวายจึงก่อการกบฏขึ้นในพ.ศ. 2322 สมเด็จพระรามราชาส่งเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) เข้าปราบกบฏ แต่เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) กลับไปเข้ากับฝ่ายกบฏ เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ขอความช่วยเหลือจากองเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญ ซึ่งกำลังสู้รบกับเต็ยเซินอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน องเชียงสือส่งทัพญวนเข้ามายังกัมพูชา สมเด็จพระรามราชาทรงพ่ายแพ้ถูกสำเร็จโทษถ่วงน้ำที่บึงขยอง[3] เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จึงยกเอานักองค์เองพระชนมายุเพียงเจ็ดชันษาขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาพระองค์ใหม่ภายใต้ความคุ้มครองของเวียดนาม

ความสัมพันธ์ระหว่างธนบุรีและจีน[แก้]

เรือใบบรรทุกทรัพยากร ทำการจิ้มก้องเพื่อยืนยันทำการค้าความสัมพันธ์ระหว่างสยาม–จีน

หลังจากที่หมักเทียนตื๊อเสียงเมืองห่าเตียนบันทายมาศให้แก่ทัพฝ่ายสยามแล้ว หมักเทียนตื๊อได้ส่งคนไปรายงานเหตุการณ์ต่อราชสำนักจีนราชวงศ์ชิงที่ปักกิ่งในปีพ.ศ. 2315 ดังปรากฏในเอกสารของจีน จดหมายเหตุทางทหารของราชวงศ์ชิง (軍機處檔摺件)[7] ฉบับหนึ่งซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2315 ระบุว่า;

ปีที่แล้วเจิ้งสิ้นยกทัพขนาดใหญ่มา (ตีเมืองห่าเตียน) เป็นจำนวนหลายหมื่นคน โดยมีเฉินเหลียนเป็นแม่ทัพเรือและหยางจิ้นจงผู้เป็นนายเรือเป็นทัพหน้า

[7]

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเข้ายึดและทำลายเมืองห่าเตียนลงแล้ว และเจ้าศรีสังข์และเจ้าจุ้ยได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ราชสำนักจีนมีทัศนคติต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินในทางที่ดีขึ้น เอกสารจีนเริ่มที่จะเรียกขานพระนามว่า"เจิ้งเจา" สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งผู้แทนพระองค์เป็นพ่อค้าจีนนำราชสาสน์ไปถึงเมืองกวางตุ้งในพ.ศ. 2317 และพ.ศ. 2318 เพื่อขอซื้อกำมะถันมาใช้ในการสงคราม[7] ในพ.ศ. 2320 หลี่ ซื่อเหยา (李侍堯 พินอิน: Lǐ Shìyáo) ข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างสี กราบทูลพระจักรพรรดิเฉียนหลงว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินในฐานะกษัตริย์แห่งสยามมีความสามารถและความทุ่มเทในการสู้รบกับพม่าซึ่งเป็นศัตรูของจีน แสดงให้เห็นจากการส่งเชลยชาวพม่าให้แก่จีน[7] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2320 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งผู้แทนสามคนไปพบกับหยางจิ่งสู้ (楊景素 พินอิน: Yáng Jǐngsù) ข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างสีคนใหม่ แจ้งว่าทางธนบุรีต้องการขอการรับรองจากราชสำนักจีน เป็นเหตุให้พระจักรพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งไปยังหยางจิ่งสู้ว่า ทรงอนุญาตให้ทางธนบุรีเข้ามาติดต่อและซื้อกำมะถันเพิ่มเติมได้[10] ในครั้งนี้ราชสำนักจีนได้เรียกขานสมเด็จพระเจ้าตากสินว่าเป็น"อ๋อง"[10] ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการยอมรับจากราชสำนักจีน จักรพรรดิเฉียงหลงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานตราตั้งให้แก่สมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ทว่าในปีต่อมาพ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชสาสน์ประทับตราบัวแก้วบนอักษร"ปิ้น"ไปยังกรุงปักกิ่ง ขออนุญาตเลื่อนการส่งบรรณาการออกไป[7]เนื่องจากการที่สยามได้รับความเสียหายจากสงครามอะแซหวุ่นกี้

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงส่งคณะทูตอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบไปจิ้มก้องยังราชสำนักปักกิ่งในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2324[7][10] ในครั้งนี้พระราชสาสน์คำหับไม่มีตราโลโต[11] เนื่องจากฝ่ายธนบุรียังไม่ได้รับตราโลโตมาจากราชสำนักจีน ใช้ตราไอยราพตแทน[11] ราชสำนักจีนมอบตราตั้งหรือตราโลโตให้แก่สยามอย่างเป็นทางการในพ.ศ. 2330[7] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 1.26 1.27 1.28 1.29 1.30 1.31 1.32 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔: พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม).
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 3.21 3.22 3.23 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจก ในงานศพ พระตำรวจตรี พระยากำแหงรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจ ผู้บิด พ.ศ. ๒๔๖๐.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  5. 5.0 5.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙: เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศกับ ครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาคที่ ๖. มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าธำรงศิริ พิมพ์ในการบำเพ็ญกุศล อายุครบ ๕๐ ปี พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีหงส์
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 Masuda Erika. The Fall of Ayutthaya and Siam's Disrupted Order of Tribute to China (1767-1782). Taiwan Journal of Southeast Asian Studies, พ.ศ. 2550.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖: จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร และจุลยุทธการวงศ์
  9. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
  10. 10.0 10.1 10.2 Geoff Wade, James K. Chin. China and Southeast Asia: Historical Interactions. Routledge, 19 ธ.ค. 2561.
  11. 11.0 11.1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์. (พ.ศ. 2506). บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ประทานพระยาอนุมานราชธน กรุงเทพ: ไทยวัฒนาพานิช.