กะท่าง
กะท่าง | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก Amphibia |
อันดับ: | Urodela Urodela |
วงศ์: | วงศ์ซาลาแมนเดอร์แท้ Salamandridae |
สกุล: | นิวต์จระเข้ Tylototriton Anderson, 1871 |
สปีชีส์: | Tylototriton verrucosus |
ชื่อทวินาม | |
Tylototriton verrucosus Anderson, 1871 |
กะท่าง (อังกฤษ: Himalayan newt; ชื่อวิทยาศาสตร์: Tylototriton verrucosus) เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เป็นสัตว์จำพวกนิวต์ หรือ ซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ เพียงชนิดเดียวที่พบได้ในประเทศไทย
ลักษณะ
[แก้]มีรูปร่างสีน้ำตาลคล้ำ มีแต้มสีส้มเหลืองบนส่วนปากและปุ่มบนแผ่นหลังและหางสีส้ม ด้านใต้ท้องสีออกส้มจนถึงสีน้ำตาลเหลือง ความยาวประมาณ 13-15 เซนติเมตร นิ้วเท้าหน้ามี 4 นิ้ว นิ้วเท้าหลังมี 5 นิ้ว มีลักษณะพิเศษคือ เมื่อขาหรือหางขาดไป สามารถงอกใหม่ได้ โดยจะอาศัยในลำธารตามเชิงเขา มีอาณาบริเวณแคบ ๆ มีต้นไม้ใหญ่ เช่น ยาง, ไทร, กระบาก, มะไฟ, มะกอก และเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม
ในฤดูผสมพันธุ์ตกอยู่ในราวเดือนกันยายนจนถึงตุลาคม กะท่างโตเต็มวัยเมื่ออายุได้ 2 ปี จะมารวมกลุ่มเพื่อการผสมพันธุ์กันตามแอ่งน้ำนิ่งตามลำธาร ตัวเมียจะวางไข่ติดอยู่กับพืชน้ำ ไข่มีสีเทาดำห่อหุ้มด้วยวุ้นใส เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5.5 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 16-20 วัน ที่อุณหภูมิประมาณ 19-20 องศาเซลเซียส และตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ในน้ำจะมีเหงือกเป็นพู่เห็นได้ภายนอกจำนวน 3 คู่ ตัวอ่อนกินลูกอ๊อดและแมลงน้ำเป็นอาหาร ใช้เวลาประมาณ 60 วัน จึงมีสภาพเหมือนตัวเต็มวัย [2]
การกระจายพันธุ์
[แก้]ในประเทศไทย พบอาศัยอยู่ตามภูเขาสูงในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางตอนบน เช่นที่ ดอยอินทนนท์, ดอยหลวงเชียงดาว, ดอยสุเทพ-ปุย และดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่, ภูหลวง จังหวัดเลย, น้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ดอยภูคา จังหวัดน่าน และดอยสอยมาลัย จังหวัดตาก เป็นต้น [3] พบอยู่ในระดับสูง 1,200 - 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในป่าดิบเขา ในต่างประเทศพบที่รัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย, รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์, มณฑลยูนนาน ประเทศจีน, ภาคเหนือของประเทศลาว และในประเทศเวียดนามทางตอนเหนือ [1]
สายพันธุ์
[แก้]ในประเทศไทยมีการค้นพบ 6 ชนิด
ลำดับ | ชื่อไทย | ชื่อวิทยาศาสตร์ | การค้นพบ |
1 | กะท่างน้ำหิมาลัย | Tylototriton verrucosus | Anderson, 1871 |
2 | กะท่างน้ำเหนือ | Tylototriton uyenoi | Nishikawa, Khonsue, Pomchote, and Matsui, 2013 |
3 | กะท่างน้ำอีสาน | Tylototriton panhai | Nishikawa, Khonsue, Pomchote, and Matsui, 2013 |
4 | กะท่างน้ำดอยลังกา | Tylototriton anguliceps | Le, Nguyen, Nishikawa, Pham, Matsui, Bernardes, 2015 |
5 | กะท่างน้ำดอยภูคา | Tylototriton phukhaensis | Pomchote, Khonsue, Thammachoti, Peerachidacho, Suwannapoom, 2020 |
6 | กะท่างน้ำอุ้มผาง | Tylototriton umphangensis | Pomchote, Peerachidacho, Sapewisut, Khonsue, Thammachoti, 2021 |
- กะท่างน้ำเหนือ, กะท่างน้ำภูคา และกะท่างน้ำอุ้มผาง ถูกรายงานว่าเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่พบเฉพาะในประเทศไทย [4]
- ในอดีต ประเทศไทยเคยเรียกรวมกะท่างน้ำทุกชนิดว่าเป็น Tylototriton verrucosus หรือ กะท่างน้ำหิมาลัย หรือเรียกว่าตัวกะท่างเฉย ๆ โดยไม่มีการแยกชนิดที่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่กะท่างน้ำแต่ละท้องถิ่นมีสีสันและรูปร่างที่ต่างกัน เช่น แบบสีส้มการกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือ (ปัจจุบันคือชนิดกะท่างน้ำเหนือ) และแบบสีคล้ำกระจายตัวอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ปัจจุบันคือชนิดกะท่างน้ำอีสาน) จึงมีการศึกษาวิจัยอย่างชัดเจน ในปี 2013 สามารถแยกกะท่างน้ำเหนือและกะท่างน้ำอีสาน ออกจากชนิด Tylototriton verrucosus หรือกะท่างน้ำหิมาลัย [5]
- หลังจากการแยกกะท่างน้ำเหนือและกะท่างน้ำอีสานออกจากกะท่างน้ำหิมาลัย ในปี 2013 ทำให้กะท่างน้ำหิมาลัย หรือ Tylototriton verrucosus กลายเป็นกะท่างน้ำกลุ่มเล็ก ๆ ที่พบได้ในภาคเหนือตอนบนเท่านั้น เช่น พบที่ดอยช้าง จ.เชียงราย และอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ ในขณะที่กะท่างน้ำเหนือ หรือ Tylototriton uyenoi กลายเป็นกะท่างน้ำกลุ่มใหญ่ในภาคเหนือแทน และพบได้หลายจังหวัดในภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, กำแพงเพชร ยาวลงมาอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี
สถานะ
[แก้]สถานภาพของกะท่างในปัจจุบันนับได้ว่าเป็นสัตว์หายากและเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดขอนแก่น เคยมีรายงานว่าในอดีตพบประชากรกะท่างในลำธารเป็นจำนวนมาก แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกและถูกจับไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันกะท่างมีจำนวนลดน้อยถดลง โดยเฉพาะตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์ แต้มสีส้มบนลำตัวจะชัดเจนมาก กะท่างมักถูกจับในฤดูผสมพันธุ์เพราะเห็นได้ชัดในธรรมชาติ จนได้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า King salamander หรือ Emperor salamander (มักจะถูกเรียกรวมว่าเป็น ซาลาแมนเดอร์) เป็นที่ยอมรับของนักเลี้ยงสัตว์ว่า เป็นนิวต์ที่มีสีสันสวยงามที่สุดในโลก แต่ว่าการนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงมักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกะท่างชอบอากาศเย็นและน้ำที่มีค่าอ็อกซิเจนสูง จึงไม่สามารถปรับตัวได้ในสถานที่เลี้ยงขนาดแคบ โดยเฉพาะสถานที่เลี้ยงในสังคมเมืองที่มีอากาศร้อน
กะท่างได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และกรมประมงได้ทำการวิจัยเพาะขยายพันธุ์กะท่างในที่เลี้ยงเป็นที่สำเร็จได้แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กะท่างยังต้องถูกเพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขาสูง
กะท่าง มีชื่อเรียกในภาษาเหนือว่า "จั๊กกิ้มน้ำ" หรือ "จั๊กคาก" ซึ่งแปลว่า "จิ้งจกน้ำ" [6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Tylotriton verrucosus". IUCN Red List of Threatened Species.
- ↑ "กะท่าง, จักกิ้มน้ำ, จักก่าน้ำ". สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า. 6 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2014.
- ↑ "ยลโฉม ซาลาแมนเดอร์ บน ดอยสอยมาลัย เผยหาดูได้ยาก-สวยที่สุด". ช่อง 7. 1 กรกฎาคม 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กรกฎาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2015.
- ↑ https://ngthai.com/animals/39212/tylototriton-umphangensis/
- ↑ https://ngthai.com/animals/30155/new-newts-in-nan/
- ↑ "กะท่าง, จักกิ้มน้ำ". สัตว์ป่าเมืองไทย. 6 มกราคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2014.