อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พิกัด: 13°45′24″N 100°30′6″E / 13.75667°N 100.50167°E / 13.75667; 100.50167
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงเวียน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
แผนที่
ชื่ออักษรไทยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ชื่ออักษรโรมันDemocracy Monument
รหัสทางแยกN108
ที่ตั้งแขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนดินสอ
» แยกสะพานวันชาติ
ถนนราชดำเนินกลาง
» แยกป้อมมหากาฬ
ถนนดินสอ
» ปากถนนมหรรณพ
ถนนราชดำเนินกลาง
» แยกคอกวัว

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ใช้เป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง อาทิ การชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาใน เหตุการณ์ 14 ตุลา, การชุมนุมของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553, การชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ พ.ศ. 2556 เป็นต้น

ประวัติ

แนวคิดและพิธีก่อฤกษ์

ในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีความคิดที่จะจัดสร้างอนุสรณ์เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังรำลึกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในชาติ และพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญของชาติ ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนี้นำมาซึ่งความสถาพรแก่ชาติ รัฐบาลจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การสร้างอนุสาวรีย์ เมื่อพิจารณาที่เหมาะสมนั้น จึงเห็นว่าบริเวณถนนราชดำเนินที่กำลังมีการปรับปรุงอยู่ในขณะนั้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ประกอบกับขณะนั้นกำลังมีการก่อสร้างสะพานเฉลิมวันชาติในบริเวณเดียวกัน การสร้างอนุสาวรีย์จะยิ่งสร้างความสง่างามแก่บ้านเมือง รัฐบาลได้จัดการประกวดการออกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้ โดยแบบที่ได้รับรางวัลและนำมาจัดสร้างคือแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

พิธีก่อฤกษ์อนุสาวรีย์ได้ถือฤกษ์วันชาติไทยในขณะนั้นคือ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นวันก่อฤกษ์ โดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เป็นประธานในพิธีมณฑล พิธีเริ่มต้นขึ้นในเวลา 9 นาฬิกา 16 นาที เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 9 นาฬิกา 57 นาที

งานก่อสร้างและพิธีเปิด

ไฟล์:Image010.jpg
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขณะกำลังก่อสร้าง

การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการการก่อสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อควบคุมกำกับการก่อสร้าง โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและ สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์[1] ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 250,000 บาท[2]

พิธีเปิดอนุสาวรีย์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในในพิธีเปิดอนุสาวรีย์เป็นข้อความตอนหนึ่งว่า

...อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ และเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย จะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง...

— จอมพล ป.พิบูลสงคราม

รายละเอียดอนุสาวรีย์

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลมด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบน อยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบ มีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วเตี้ย ๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา เป็นเสา คล้องโซ่เชื่อมต่อกัน

  • ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อม กลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ)
  • ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ
  • ลายปั้นนูนที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
  • พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
  • อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง หรือ ปีงูใหญ่

บทวิจารณ์

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้รับการวิจารณ์ถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมอย่างหลากหลาย รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไว้ว่า "อนุสาวรีย์นี้ไม่ได้ผล เพราะว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ออกแบบโดยการใช้ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ตัวอนุสาวรีย์...มันก็ไม่งามจริงๆ มันจะไม่งามแน่ๆ เพราะผู้ออกแบบมัวไปแก่ตัวเลขสัญลักษณ์เสีย โดยเฉพาะตัวพานรัฐธรรมนูญที่ขยายขนาด Scale แบบสุนัขย่าเหลที่นครปฐม"[3] นอกจากนี้อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า "...ทำหน้าที่เป็นเสมือนฉากแห่งความทันสมัยในยุคประชาธิปไตยที่ตัดขาดจากสมัยเดิม" [4] ผู้ช่วยศาสตราจารย์แจนนิส วงศ์สุรวัฒน์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้วิจารณ์ประติมากรรมนูนสูงของปีกอนุสาวรีย์และกล่าวถึงอนุสาวรีย์ว่า "...อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นการแสดงออกทางศิลปกรรมที่สำคัญชิ้นแรกต่อภาพของประชาธิปไตยในสายตาของคนไทย มันมีแง่มุมที่น่าเคารพบางประการ ที่ยังเป็นปัจจุบัน และมีภาพที่ดูไม่แน่ชัดบางประการ"[5]

สิ่งสืบเนื่อง

ในทางด้านคมนาคม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใช้นับเป็นหลักกิโลเมตร 0 ของทางหลวงสายประธานทั้งสี่ของประเทศไทย[6] ยกเว้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือ ถนนมิตรภาพ ที่เริ่มนับกิโลเมตร 0 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี [7] นอกจากนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวัดระยะทางไปยังจังหวัด อำเภอ หรือสถานที่ต่าง ๆ จากกรุงเทพมหานครอีกด้วย

คลังภาพ

อ้างอิง

  • วิชิต สุวรรณปรีชา . อนุสาวรีย์ของไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ: อักษรบัณฑิต, 2530. 84 หน้า
  • "สิทธิเดช แสงหิรัญ" โดย นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์
  1. 19 ศิลปินชั้นเยี่ยม สิทธิเดช แสงหิรัญ เรียกข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  2. รายงานการสร้างอนุสสาวรีย์ "ประชาธิปไตย" จากราชกิจจานุเบกษา เรียกข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  3. แสงอรุณ รัตกสิกร อนุสาวรีย์ที่ไทยทำ เรียกข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  4. ยุวดี มณีกุล เงาการเมืองในงานสถาปัตย์หลัง 2475 ข้อมูลวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
  5. Janice Wongsurawat. A Critical Analysis of the Form and Symbolic Content of the Democracy Monument as a Work of Art, With Emphasis on the Reliefs on the Base of Four Wings. The Research Center of Silpakorn University , 1987, pp. 25-35.
  6. กรมทางหลวง:จุดเริ่มต้นของทางหลวง
  7. [1]

แหล่งข้อมูลอื่น

13°45′24″N 100°30′6″E / 13.75667°N 100.50167°E / 13.75667; 100.50167