ย่านบางแค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ย่านบางแคและถนนเพชรเกษมเมื่อมองจากสถานีบางแค

ย่านบางแค เป็นย่านที่ตั้งอยู่บริเวณเขตต่อเมืองตะวันตกของกรุงเทพมหานคร แต่เดิมย่านบางแคตั้งอยู่ในเขตการปกครองของเขตภาษีเจริญ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจัดตั้งเขตใหม่เรียกว่า เขตบางแค ทำให้ย่านบางแคตั้งอยู่บนรอยต่อของ 2 เขต คือ เขตบางแค (แขวงบางแคและแขวงบางแคเหนือ) กับเขตภาษีเจริญ (แขวงบางหว้าและแขวงบางด้วน) อาณาเขตทิศเหนือจรดแนวคลองบางจาก ทิศใต้จรดคลองภาษีเจริญและคลองบางแค ทิศตะวันออกจรดคลองบางหว้า และทิศตะวันตกจรดถนนวงแหวนรอบนอก มีพื้นที่โดยประมาณ 4.024 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,515 ไร่

ประวัติ[แก้]

ตั้งถิ่นฐาน[แก้]

บ้านเรือนบริเวณคลองราชมนตรี

ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับรัฐบาลอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2398 รัฐบาลไทยเปลี่ยนนโยบายเปิดขายข้าวไม่จำกัด ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทางฝั่งธนบุรีที่กระจุกตัวไม่ห่างจากริมน้ำนัก ได้ขยายออกไป ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญ เสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2415 เป็นคลองที่เชื่อมหัวเมืองแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ในช่วงหลังขุดคลองนี้เองทำให้พื้นที่ย่านบางแคเริ่มมีการตั้งถิ่นฐาน เกิดชุมชน เช่น ชุมชนวัดรางบัว บริเวณวัดบางแค (วัดนิมมานรดี) ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดตลาดท้องน้ำขนาดใหญ่ขึ้น คือ ตลาดน้ำบางแคหรือตลาดน้ำหน้าวัดนิมมานรดี เป็นพื้นที่บริเวณจุดตัดกันของคลองราชมนตรีและคลองภาษีเจริญใกล้กับวัดนิมมานรดี เคยเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี[1] คับคั่งไปด้วยเรือสินค้าจำพวกพืชผลต่าง ๆ ทั้งเรือพายขายผักและผลไม้ของชาวสวนในละแวกบางแค บางขี้แก้ง บางแวก บางไผ่ ฯลฯ[2]

สร้างถนน[แก้]

พ.ศ. 2500 ได้มีการสร้างถนนเพชรเกษม รวมถึงการสร้างซอยย่อย ถนนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งถนนสุขาภิบาล 1 ถนนสุขาภิบาลบางแค (ซอยเพชรเกษม 88) และถนนทางเข้าหมู่บ้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดชุมชนใหม่ ประกอบกับช่วงเวลานี้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยเส้นทางสายใต้ในระยะแรกได้จัดสถานีขนส่งสายใต้ที่แยกไฟฉาย โดยเส้นทางจำเป็นต้องผ่านถนนเพชรเกษมและบริเวณตลาดบางแค ทำให้ตลาดน้ำหน้าวัดนิมมานรดีเป็นที่รู้จักมากขึ้น ต่อมา พ.ศ. 2516 มีการสร้างตลาดทวีทรัพย์ ในขณะเดียวกันบทบาทการค้าบริเวณปากคลองราชมนตรีและคลองภาษีเจริญก็เริ่มลดลง

ย่านการค้า[แก้]

เดอะมอลล์บางแค

ย่านการค้าได้ย้ายมากระจุกตัวอยู่บริเวณถนนเพชรเกษมถัดจากตลาดทวีทรัพย์ ตั้งแต่สะพานข้ามคลองราชมนตรีไปถึงแยกถนนสุขาภิบาล 1 ต่อมามีการสร้างศูนย์การค้าวงษ์วิศิษฎ์ (พ.ศ. 2518) ตลาดศูนย์การค้าบางแค (พ.ศ. 2519) และตลาดใหม่บางแค (พ.ศ. 2520) ยังมีการเปิดห้างสรรพสินค้าระดับกลาง ได้แก่ ห้างคาเธ่ย์และห้างวันเดอร์

ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ย่านบางแคเริ่มเสื่อมโทรมลง ชุมชนบางแคประสบกับมลภาวะทางน้ำ ส่งผลต่อตลาดริมน้ำ ทำให้ต้องยกเลิกไปในที่สุด การคมนาคมทางบกเริ่มขยายตัว เกิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ย่านปิ่นเกล้า พระราม 2 ล้วนส่งผลให้ย่านบางแคถูกลดความสำคัญลง[3] ราว พ.ศ. 2530–2539 ย่านบางแคก็มีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามาเปิดมากถึง 5 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ ห้างสรรพสินค้าไอทีแกรนด์ ห้างสรรพสินค้าเซฟโก้ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางแค แต่หลังสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พ.ศ. 2540 มีผลให้ห้างสรรพสินค้าบางแห่งย่านบางแคไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต้องขายกิจการ และมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน ศูนย์การค้าเดอะมอลล์เป็นเพียงศูนย์การค้าเดียวที่ปรับตัวฝ่าวิกฤตจนเปิดให้บริการเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน[4]

การใช้ประโยชน์ที่ดิน[แก้]

ห้างสรรพสินค้าซีคอนบางแค ในปี พ.ศ. 2566

กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเอกชนรายใหญ่ มีแปลงที่ดินขนาดใหญ่ ได้แก่ ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม คลังสินค้า และโรงภาพยนตร์ รวมถึงพื้นที่โล่งยังไม่ได้พัฒนา ส่วนพื้นที่ริมถนนเพชรเกษม ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนรายย่อย ในส่วนที่ดินของรัฐ ได้แก่ สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค สถานีกาชาดที่ 11 สำนักงานเขตภาษีเจริญ สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ สถานีตำรวจดับเพลิงบางแค

ที่ดินประเภทที่พักอาศัยมีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 35.17 การปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัยค่อนข้างหนาแน่นบริเวณถนนเพชรเกษม ถนนสุขาภิบาล 1 และถนนซอยต่าง ๆ ในพื้นที่ถัดจากแนวถนนหลัก พื้นที่พักอาศัยส่วนใหญ่อยู่ในแขวงบางแคและแขวงบางแคเหนือ เป็นทั้งที่บ้านอาศัย อพาร์ตเมนต์ คอนโดมีเนียมและหมู่บ้านจัดสรร

พื้นที่พาณิชยกรรมกระจายไปตามถนนเพชรเกษม ได้แก่ ห้างเดอะมอลล์บางแค ซีคอนบางแค ไอทีแกรนด์ โลตัส ตลาดบางแค ห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ และอาคารพาณิชยกรรมริมถนน ส่วนใหญ่สูง 2–5 ชั้น

พื้นที่ประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าคิดเป็นร้อยละ 4.25 เช่น โรงงานนันยาง โรงงานซีคอน โรงงานปั่นนุ่น และโรงงานเย็บผ้า เป็นต้น ที่ดินประเภทเกษตรกรรมมีเพียงแขวงเดียวคือ แขวงบางแค บริเวณแนวคลองราษฎรสามัคคีและคลองภาษีเจริญ ปัจจุบันยังคงมีการทำการเกษตร ปลูกผัก ทำสวน

วัดมีเพียงแห่งเดียว คือ วัดนิมมานรดี มีโรงเรียน 7 แห่ง[3]

การเดินทาง[แก้]

ป้จจุบันย่านบางแคมีรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถเมล์สายที่ผ่าน ได้แก่ สาย 7, 7ก, 80, 81, 84, 84ก, 91, 91ก, 101, 147, 157, 165, 189 และ 547 มีรถตู้วิ่งเส้นทาง เดอะมอลล์บางแค-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-หมอชิต, เดอะมอลล์บางแค-ม.ราม 2, เดอะมอลล์บางแค-ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และเดอะมอลล์บางแค-บางใหญ่ มีรถสองแถว เช่นเส้นทาง เดอะมอลล์บางแค-โลตัส-เคหะ, เดอะมอลล์บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 และ เดอะมอลล์บางแค-บีทีเอสบางหว้า เป็นต้น[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. อภิญญา นนท์นาท. "ท่องเที่ยวและเรียนรู้เส้นทางวัฒนธรรมย่านบางแค-ภาษีเจริญ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-22. สืบค้นเมื่อ 2021-12-22.
  2. อภิญญา นนท์นาท (27 เมษายน 2559). ""ภาษีเจริญ" บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-15. สืบค้นเมื่อ 2021-01-14.
  3. 3.0 3.1 สมชาติ วิจิตราการลิขิต. "แนวทางการพัฒนาย่านการค้าฝั่งธนบุรี : กรณีศึกษา ย่านบางแค" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  4. "รู้จักย่านบางแคแบบเจาะลึก".
  5. "การเดินทางในย่านบางแค".