ยอดธง เสนานันท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครูยอดธง เสนานันท์
เกิด28 สิงหาคม พ.ศ. 2480
จังหวัดราชบุรี
เสียชีวิต8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 (75 ปี)
จังหวัดชลบุรี
ชกทั้งหมด49[1]

ยอดธง เสนานันท์ หรือ ยอดธง ศรีวราลักษณ์ (28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 – 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556) เป็นครูสอนวิชามวยไทยผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ จนได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคม โดยทั่วไปมักเรียกชื่อครูยอดธงกันว่า "ครูตุ๊ย" หรือ "ครูตุ้ย" นอกจากนี้ท่านยังมีลูกศิษย์เป็นนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายราย อาทิ สามารถ พยัคฆ์อรุณ, ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ รวมทั้ง ยอดสนั่น 3เคแบตเตอรี่[2] อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อให้เกิดนักมวยไทยแชมป์โลกมาแล้ว 57 ราย นับเป็นผู้สร้างแชมป์มวยไทยระดับโลกเป็นจำนวนมากสุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มวยไทย[3] ครูยอดธงเป็นเจ้าของค่ายมวยศิษย์ยอดธง ซึ่งอยู่ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิค่ายมวยยอดธงนานาชาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย[4][5]

ประวัติ[แก้]

ยอดธง เสนานันท์ เกิดวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และมีชื่อตามใบเกิดคือ ตุ๊ย แซ่ผู่ บิดาของเขาเป็นชาวจีนไหหลำ และมีพี่น้อง 6 คน (ชาย 4 คน หญิง 2 คน) โดยเป็นน้องชายของนางเยาวดี ราชเวชชพิศาล สะใภ้ของพันตรีหลวงราชเวชชพิศาล (โต๊ะ เวชอุไร)[1] เขาเป็นผู้ที่ชอบมวยมาตั้งแต่ 4 ขวบ อีกทั้งชื่นชอบกีฬาทุกประเภทที่เป็นการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นปลากัด ไก่ชน จบประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนเทศบาล 1 อำเภอเมืองบ้านโป่ง เมื่อมีอายุได้ 13 ปี ก็ย้ายมาอยู่กับพี่สาวที่บ้านของพันตรีหลวงราชเวชชพิศาล (โต๊ะ เวชอุไร) บริเวณแหลมราชเวช อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แล้วเริ่มหัดมวยอย่างจริงจังกับครูสิทธิเดช สมานฉันท์ โดยทำการชกมวยครั้งแรกในชื่อ เอราวัณ เดชประสิทธิ์[1] ที่งานวัดเขาพระบาทบางพระ อำเภอศรีราชา ตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยค่าตัวเพียง 50 บาท จากนั้นก็ตระเวนชกเรื่อยมา พออายุได้ 17 ปี ครูสุวรรณ เสนานันท์ ได้ชวนมาอยู่ค่ายมวย และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ยอดธง เสนานันท์” ท่านได้เดินสายชกมวยทั่วประเทศ ก่อนเลิกชกเพราะแม่ของภรรยาขอร้อง จึงตั้งค่ายมวยศิษย์ยอดธง ที่มาบตาพุด ก่อนย้ายมาอยู่ที่อำเภอบางละมุง และใช้ชื่อนี้เรื่อยมา จนกระทั่งแขวนนวม[6]

โดยมีชาวต่างชาติรุ่นแรกที่ได้มาฝึกมวยไทยที่ค่ายมวยแห่งนี้คือชาวดัตช์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ (ในสมัยที่ ก้องธรณี และสามารถ พยัคฆ์อรุณ รวมทั้ง ศรศิลป์ ศิษย์เนินพยอม กำลังเป็นที่รู้จักในวงการ) มาฝึกที่ค่ายมวยแห่งนี้ ซึ่งมี "ร็อบ กามัน" มาฝึกฝนเป็นคนแรก และมี "รูเซียน การ์บิน" เป็นรายต่อมา ก่อนที่รูเซียน การ์บิน จะขออนุญาตเปิดโรงฝึกโดยใช้ชื่อ "ศิษย์ยอดธงยิม" ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งผลให้ค่ายมวยดังกล่าว เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในเวลาต่อมา[7]

ในภายหลัง มีเหตุการณ์ที่โอซามุ โนงูจิ พยายามให้โลกหลงเข้าใจว่ามวยไทยมีต้นกำเนิดจากคิกบ็อกซิงของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งมีผู้กล่าวหาว่าการรำไหว้ครูเป็นการเต้นรำแบบชนเผ่าที่ไร้อารยธรรม ส่งผลให้ครูยอดธงเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งต่อมาโอซามุ โนงูจิ ได้นำนักมวยคิกบ็อกซิงมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อชกกับนักมวยไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ครูยอดธงได้อาสานำทัพมวยไทยไปสู้กับคิกบ็อกซิงในรายการบีเอส ซามูไร[8] และได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้มีคำสั่งเนรเทศโอซามุ โนงูจิ ออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง ในฐานะที่เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาของประเทศชาติ และหลังจากที่โอซามุ กลับถึงญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นก็มีคำสั่งห้ามโอซามุ โนงูจิ ยุ่งเกี่ยวกับวงการมวยอีกต่อไป เนื่องจากสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ประเทศ[9]

นักแสดงรับเชิญ[แก้]

ครูยอดธงยังได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์ องค์บาก โดยเป็นผู้อาวุโสข้างสังเวียนในฉากที่ ทิ้ง (จา พนม) สู้กับ บิ๊กแบร์ แม้จะไม่ได้มีการอ้างถึงชื่อครูยอดธงในภาพยนตร์ แต่หลายคนเชื่อว่าบุคคลในภาพยนตร์คือครูยอดธง[10] ตลอดจนได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์ เกิดมาลุย ด้วยเช่นกัน

รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล[แก้]

ครั้งหนึ่ง ครูยอดธงได้รับเงินรางวัลจากการเสี่ยงโชคสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่หนึ่งพร้อมแจกพอต ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นจำนวนเงิน 56 ล้านบาท[3] และท่านได้ใช้เงินนี้ในการช่วยเหลือวงการมวยและสังคม โดยคงเหลือไว้กับตัวประมาณสิบล้านบาท จากการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม ส่งผลให้ครูยอดธงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีในเวลาต่อมา[2][11]

กำปั้นนอกสังเวียน[แก้]

ครูยอดธงยังได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเองที่มีชื่อว่า กำปั้นนอกสังเวียน ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นโดยสำนักพิมพ์แพรว เนื้อหาได้กล่าวถึงประสบการณ์ของการเป็นนักมวย, การเปิดค่ายมวย, การนำนักมวยไทยไปประชัญฝีมือกับนักมวยคิกบ็อกซิงเพื่อประกาศศักดิ์ศรีสถาบันมวยไทย ตลอดจนความเชื่อตามมุมมองของตนเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม และความสุขทางใจในการอุทิศตนเพื่อสังคมที่มีค่ามากกว่าชื่อเสียงเงินทองที่ได้รับ[9]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ครูยอดธงเปิดค่ายมวยศิษย์ยอดธง ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และเป็นผู้รักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย แม้แต่เพดานที่บ้านพักของเขายังมีการฉาบทาสีเป็นธงชาติไทย[3] ครูยอดธงมีบุตรชายชื่อ อังคาร ศรีวราลักษณ์ หรือที่รู้จักในชื่อ ต่อย ศิษย์ยอดธง ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยในต่างประเทศ[12]

การเสียชีวิต[แก้]

ครูตุ้ย ยอดธง เสนานันท์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลชลบุรี หลังจากได้ล้มป่วยลงด้วยโรคของคนวัยชราภาพ โดยเฉพาะอาการป่วยทางสมองที่ได้รับกระทบกระเทือนเมื่อครั้งครูยอดธงเป็นนักมวยตั้งแต่อายุ 17 ปีเป็นต้นมา ซึ่งคณะแพทย์วินิจฉัยและแจ้งให้ทางญาติรับทราบสาเหตุการเสียชีวิต จากอาการติดเชื้อกระแสเลือด โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556[13][14][15][16]

ในการนี้ ร็อบ กามัน และรามอน เดกเกอร์ ได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของครูยอดธง รวมถึงโปรโมเตอร์วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ได้กล่าวว่าเป็นความสูญเสียบุคคลสำคัญไปอีกหนึ่งคนที่ซึ่งตนมีความผูกพันมาหลายสิบปี[1] ส่วนต่อย ศิษย์ยอดธง ผู้เป็นบุตรชายของครูยอดธง ได้มีแผนที่จะฟื้นฟูค่ายมวยศิษย์ยอดธงให้อยู่คู่วงการมวยไทยต่อไป[12]

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[แก้]

  • 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามวยไทยศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ณ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ถือได้ว่าครูยอดธง เป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นอกรั้วมหาวิทยาลัย[11][17]

เกียรติประวัติ[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]

ผลงานภาพยนตร์และละครโทรทัศน์[แก้]

ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 เงาปีศาจ. ‘ครูตุ๊ย′ ยอดธง เสนานันท์ ปิดฉากตำนานปรมาจารย์ คือบรมครูมวยไทยตัวจริง. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1696. วันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. ISSN 1686-8196. หน้า 94–96
  2. 2.0 2.1 ประวัติย่อครูยอดธง เสนานันท์
  3. 3.0 3.1 3.2 เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์. ลดธงครึ่งเสา อาลัย ‘ครูยอดธง’ บรมครูมวย ผู้มีหัวใจใหญ่กว่ากำปั้น. เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 21 ฉบับที่ 1081. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. ISSN 15135705. หน้า 84
  4. สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 173–175
  5. ยอดธง เสนานันท์ : ข่าวสดออนไลน์
  6. Kru Yodtong เก็บถาวร 2010-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  7. พรชัย มหามิตร. ย่างสามขุม. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 18 ฉบับที่ 6463. วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554. หน้า 26
  8. ปลายนวม น.เขลางค์. (2553). กำปั้นนอกสังเวียน. อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์. ISBN 9789744753199. หน้า 128
  9. 9.0 9.1 หนังสือกำปั้นนอกสังเวียน (สำนักพิมพ์แพรว)
  10. “Тайский бокс - это моя жизнь” (รัสเซีย)
  11. 11.0 11.1 ยอดธง เสนานันท์ ครูมวยผู้ทุ่มเทช่วยสังคม
  12. 12.0 12.1 ลูกครูตุ้ยระดมเรียกศิษย์ช่วยฟื้นฟูค่ายศิษย์ยอดธง
  13. “ยอดธง เสนานันท์” ครูมวยชื่อดังเสียชีวิตแล้ว[ลิงก์เสีย]
  14. สิ้นแล้ว ′ยอดธง เสนานันท์′ ครูมวยชื่อดัง ลูกศิษย์แห่ไว้อาลัย
  15. ปิดตำนานครูมวยไทย ยอดธง เสนานันท์[ลิงก์เสีย]
  16. 'ครูตุ๊ย'ปรมาจารย์มวยเสียชีวิตแล้ว
  17. วงการมวยเศร้าครูตุ้ยสิ้นลมด้วยโรคชรา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]