ประวัติศาสตร์มวยไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การแข่งมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่งในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์มวยไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอพยพของประชากรที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน บนฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง ของประเทศจีน โดยตามตำนานของไทย เชื่อว่ามีผู้คนจำนวนมากที่เดินทางออกจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มาสู่ประเทศไทย เพื่อค้นหาที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการเกษตร อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการโยกย้ายของพวกเขา ชาวไทยกลุ่มนี้ได้ถูกโจมตีโดยโจรและสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีโรคต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญ เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันร่างกายและจิตใจ, การรับมือกับความทุกข์ยาก ชาวไทยสยามจึงได้คิดค้นวิธีการต่อสู้ โดยในเบื้องต้น ได้มีการเรียกกันในชื่อฉุปศาสตร์[1]

แม้ว่าการจัดเก็บเอกสารตำราทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะสูญหายไปเมื่อครั้งที่ถูกกองทัพพม่าทำลาย และขับไล่ออกจากเมืองอยุธยาในสมัยสงครามพม่า-ไทย (พ.ศ. 2302–2303) แต่เราก็ยังสามารถพบได้จากบันทึกของพม่า, กัมพูชา และจากชาวยุโรปเมื่อครั้งมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก รวมถึงจากบันทึกเหตุการณ์ของล้านนา หรือเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน[1][2]

สมัยสุโขทัย[แก้]

เมืองหลวงของประเทศไทยในช่วงนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1781 ถึง พ.ศ. 1951 ตามรายการที่บันทึกไว้ในศิลา สุโขทัยมีความขัดแย้งกับหลายเมืองที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมักจะเผชิญหน้ากับข้าศึกจากภูมิภาคต่าง ๆ ดังนั้น ทางเมืองสุโขทัยจึงมีคำสั่งให้มีการฝึกฝนในกองทัพ รวมถึงการใช้ดาบ, หอก และอาวุธอื่น ๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ นอกจากนี้ การฝึกต่อสู้โดยใช้ร่างกายมีประโยชน์มากในยามบ้านเมืองไม่มีสงคราม ทักษะการต่อสู้ด้วยการใช้หมัด, เข่า และศอก ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกซ้อมของกองทัพสุโขทัย[2][3]

ในยามสงบ การฝึกมวยไทยจะเป็นกิจกรรมแบบไม่แบ่งชนชั้น โดยบรรดาชายไทยวัยหนุ่มจะได้รับทักษะการต่อสู้และป้องกันตัว ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อนเข้ารับราชการทหาร[2] ศูนย์ฝึกซ้อมส่วนใหญ่จัดขึ้นที่บริเวณรอบเมือง โดยเฉพาะสำนักสมอคร ในแขวงเมืองลพบุรี รวมถึงมีการสอนตามลานวัด โดยมีพระภิกษุเป็นผู้ฝึกสอน[3]

ในช่วงเวลานี้ มวยไทยได้รับการยกย่องเป็นศิลปะชั้นสูงทางสังคม และนำมาใช้จริง ในการพัฒนาสมรรถภาพทางกายแก่นักรบ, การสร้างความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญต่อผู้ปกครองบ้านเมือง[2] พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกของสุโขทัย ทรงเชื่อมั่นในประโยชน์ของมวยไทย จึงส่งราชโอรสสองพระองค์ไปยังสำนักสมอคร เพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบทอดราชบัลลังก์ ระหว่างปี พ.ศ. 1818 ถึง 1860 พ่อขุนรามคำแหงทรงนิพนธ์ตำหรับพิชัยสงคราม ที่มีการกล่าวถึงมวยไทย เช่นเดียวกับทักษะการต่อสู้อื่น ๆ[3]

สมัยกรุงศรีอยุธยา[แก้]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งองค์พระนเรศวรมหาราช

สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1988 ถึง พ.ศ. 2310 ในช่วงนี้มีสงครามจำนวนมากระหว่างไทย, พม่า และกัมพูชา[2] จึงได้มีการฝึกพัฒนาทักษะด้านมวยไทยเพื่อการป้องกันตัว อาจารย์ผู้ถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้นี้ให้แก่ชาวไทยไม่ได้มีจำกัดเฉพาะในพระบรมมหาราชวังดังเช่นก่อนหน้านี้[3] โดยมีสำนักดาบพุทไธสวรรย์ ที่ได้รับความนิยมในสมัยนี้ มีนักเรียนหลายคนเข้ามาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย พวกเขาฝึกวิชาดาบ และการต่อสู้ระยะประชิด ด้วยดาบหวาย จากการเรียนรู้การต่อสู้โดยไม่ใช้อาวุธของทหารนี้เอง ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้มวยไทยโบราณ ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมของมวยไทย โดยสำนักมวยไทยในยุคนั้น ได้เริ่มถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ประชาชน[2]

สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133–2147)[แก้]

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงให้ความสำคัญต่อมวยไทยอย่างยิ่ง โดยให้การฝึกแก่บรรดาชายหนุ่ม เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านมวยไทยทั้งในแง่ของความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในตนเอง พวกเขาได้รับคำสั่งให้เรียนรู้การต่อสู้ด้วยอาวุธทุกชนิด นอกจากนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงแต่งตั้งกองเสือป่าแมวมอง ซึ่งเป็นหน่วยรบแบบกองโจร[2] โดยกองทหารเหล่านี้ สามารถกอบกู้เอกราชของประเทศไทยจากประเทศพม่าได้ในช่วงเวลาดังกล่าว[3][4]

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2147–2233)[แก้]

ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีแต่ความสงบสุข จึงทำให้มีโอกาสในการพัฒนาสังคม, เศรษฐกิจ และการทหารแห่งราชอาณาจักร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมวยไทย ที่ได้กลายเป็นกีฬาประจำชาติ ในช่วงเวลานี้ ได้มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายแห่ง[2] ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่ในการฝึกโดยเฉพาะ โดยการสร้างสังเวียนมวยและลานดิน ซึ่งมีเชือกเพียงเส้นเดียวกั้น และมีกฎกติการการแข่งขัน ในบริเวณสี่เหลี่ยมจัตุรัส[3] นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินให้แข็งเพื่อพันข้อมือ วิธีการเช่นนี้จึงได้รับการเรียกกันในชื่อคาดเชือก (การใช้เชือกพัน) หรือที่รู้จักกันในชื่อมวยคาดเชือก (การต่อสู้กันโดยมีเชือกพัน)[2][3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "The History of Muay Thai" (ภาษาอังกฤษ). muaythai-fighting.com. February 2008. สืบค้นเมื่อ 27 January 2013.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 "History and Traditions of Muay Thai" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2014-04-14. สืบค้นเมื่อ 27 January 2013.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 "Histoy of Muay Thai and Muay Thai Tranning" (ภาษาอังกฤษ). tigermuaythai.com. 2013. สืบค้นเมื่อ 27 February 2013.
  4. "The Historical Origin of Muay Thai" (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 23 January 2014.

บรรณานุกรม[แก้]