ข้ามไปเนื้อหา

ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต
เกิดอำนาจ บุญรอด[1]
19 เมษายน พ.ศ. 2500 (67 ปี)[1]

ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต (19 เมษายน พ.ศ. 2500 – ) เจ้าของฉายา เสือยิ้มยาก เป็นนักมวยไทยชาวไทย ที่ได้รับการกล่าวขวัญในระดับโลก จากการต่อสู้กับแชมป์คาราเต้ชาวอเมริกัน ผู้มีนามว่าเบนนี เออร์คิวเดซ[4][5]

ประวัติ

[แก้]

ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต มีชื่อจริงคืออำนาจ บุญรอด เขาเริ่มฝึกมวยไทยด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 14 ปี และเข้าร่วมแข่งขันในงานวัดบริเวณใกล้บ้าน โดยใช้ชื่อรักศักดิ์ ถนอมศักดิ์ ภายหลังเขาได้เข้าสู่กรุงเทพ โดยอยู่สังกัดค่ายเกียรติบัณฑิต ซึ่งทางกลุ่มผู้สนับสนุนพร้อมใจตั้งชื่อให้แก่เขาใหม่ในนาม ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต นับจากนั้น[1]

ในปี พ.ศ. 2515 ณรงค์น้อยเริ่มด้วยการเป็นฝ่ายชนะน็อกเพิ่มศิริ ลูกตรอกจันทร์ ที่สนามมวยเวทีลุมพินี จากนั้น เขาเริ่มเป็นที่รู้จัก เมื่อเป็นผู้ครองแชมป์รายการ ขวัญใจมุมน้ำเงิน ของสนามมวยราชดำเนิน[1]

ช่วงปี พ.ศ. 2517–2523 ณรงค์น้อยมีชื่อเสียงอย่างมาก จากการปะทะกับคู่ชกระดับแถวหน้าของยุคนั้นแทบทุกราย ไม่ว่าจะเป็นหนองคาย ส.ประภัสสร, วิชาญน้อย พรทวี, ผุดผาดน้อย วรวุฒิ, สกัด พรทวี, จิตติ เมืองขอนแก่น และขาวสด ศิษย์พระพรหม ตลอดจนเป็นผู้ชนะคิกบ็อกเซอร์ชาวญี่ปุ่นอย่างโทชิโอะ ฟูจิวาระ (藤原敏男)[1]

สำหรับการต่อสู้ที่ได้รับการกล่าวขวัญในระดับโลก คือเมื่อครั้งที่ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต และเนตร ศักดิ์ณรงค์ เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อพิสูจน์ฝีมือระหว่างมวยไทยกับแชมป์คาราเต้ ที่จัดขึ้น ณ แกรนด์โอลิมปิกออดิทอเรียม ลอสแอนเจลิส ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2520 [4]

โดยณรงค์น้อยได้พบกับคู่ชกอย่างเบนนี เออร์คิวเดซ ซึ่งเป็นแชมป์คาราเต้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐ ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้เอง ที่ณรงค์น้อยเตะปลายคางเบนนี เออร์คิวเดซ จนหลับทั้งยืนในยกสุดท้าย (กติกา 9 ยก) ทว่า ผู้ตัดสินยังไม่ทันนับถึงสิบ ระฆังยกเกิดดังขึ้นเสียก่อน กระทั่งเกิดกรณีที่ฝ่ายกรรมการให้เบนนี เออร์คิวเดซ เป็นฝ่ายชนะ ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากเห็นว่าณรงค์น้อยเป็นฝ่ายชนะ ส่งผลให้เกิดการจลาจลขึ้น และในที่สุดทางฝ่ายกรรมการได้เปลี่ยนผลการแข่ง โดยประกาศว่าไม่มีการตัดสิน[4][5]

ส่วนในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ณรงค์น้อยเป็นฝ่ายแพ้คะแนนแฟนต้า เพชรเมืองตราด และได้อำลาจากการแข่งขัน ขณะอายุ 25 ปี[1]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ณรงค์น้อยสมรสกับทิพย์วัลย์ ที่รักกันมาตั้งแต่สมัยแข่งมวย นอกจากนี้ เขายังประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่วางแผนไว้ตั้งแต่สมัยเป็นนักมวย ทั้งอพาร์ตเมนต์บริเวณถนนสุทธิสาร และทาวน์เฮาส์แบ่งขายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[1]

ส่วนฉายา เสือยิ้มยาก ของณรงค์น้อย มาจากการที่เมื่อเขาขึ้นสังเวียนมักมีสีหน้าเคร่งขรึม แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนสุภาพ พูดน้อย มีความเป็นสุภาพบุรุษทั้งในและนอกสังเวียน เป็นที่ประทับใจของแฟนมวย[1]

กระแสตอบรับ

[แก้]

ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต ได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นนักมวยไทยที่เอาชนะได้ยากที่สุดสำหรับหนองคาย ส.ประภัสสร ซึ่งทั้งคู่ทำศึกชิงชัยกัน 7 ครั้ง โดยณรงค์น้อยเป็นฝ่ายชนะ 4 ครั้ง ในขณะที่หนองคายเป็นฝ่ายชนะ 3 ครั้ง[6]

ในขณะที่เว็บไซต์ข่าวสด ได้ให้การยกย่องถึงการต่อสู้ระหว่างณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต กับวิชาญน้อย พรทวี เมื่อครั้งป้องกันแชมป์รุ่นจูเนียร์ไลต์เวท ที่สนามมวยราชดำเนิน โดยระบุว่า มีความดุเดือด เร้าใจ ควรค่าต่อการจดจำ[7]

เกียรติประวัติ

[แก้]

สถิติการแข่งขัน

[แก้]
วันที่ ผล คู่ชก รายการ สถานที่จัด วิธีชนะ ยก
26 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 แพ้ ไทย แฟนต้า เพชรเมืองตราด แพ้คะแนน
ไม่ทราบปี ไทย แป้นน้อย สาครพิทักษ์
18 มิถุนายน พ.ศ. 2524 แพ้ ไทย เก่งกล้า ศิษย์เส่ย ศึกถล่มพสุธา สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
29 เมษายน พ.ศ. 2524 ชนะ ไทย เก่งกล้า ศิษย์เส่ย ศึกมุมน้ำเงิน สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
พ.ศ. 2524 แพ้ ไทย หนองคาย ส.ประภัสสร แพ้คะแนน
22 มกราคม พ.ศ. 2523 แพ้ ไทย เผด็จศึก พิษณุราชันย์ สนามมวยเวทีลุมพินี แพ้คะแนน
30 เมษายน พ.ศ. 2522 ชนะ ไทย หนองคาย ส.ประภัสสร สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
17 มกราคม พ.ศ. 2522 แพ้ ไทย เผด็จศึก พิษณุราชันย์ มวยไทยเสด็จพระราชกุศล ครั้งที่ 6 สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
2 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ชนะ ไทย วิชาญน้อย พรทวี สนามมวยราชดำเนิน
18 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ชนะ ไทย จิตติ เมืองขอนแก่น สนามมวยเวทีลุมพินี ชนะคะแนน
12 มีนาคม พ.ศ. 2520 ไม่มีการตัดสิน สหรัฐ เบนนี เออร์คิวเดซ อีเวนต์สมาคมคิกบ็อกซิงโลก ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ไม่มีการตัดสิน (เกิดจลาจลในฝูงชน) 9
ไม่ทราบปี ชนะ ญี่ปุ่น โทะชิโอะ ฟุจิวะระ
15 ธันวาคม พ.ศ. 2519 แพ้ ไทย วิชาญน้อย พรทวี สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
28 กันยายน พ.ศ. 2519 ชนะ ไทย วังวน ลูกมาตุลี สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
20 กันยายน พ.ศ. 2519 ชนะ ไทย หนองคาย ส.ประภัสสร ศึกสายใจไทย (รายการมวยการกุศล) สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
26 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ชนะ ไทย สกัด พรทวี สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
15 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 แพ้ ไทย หนองคาย ส.ประภัสสร สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
6 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 แพ้ ไทย ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
31 มีนาคม พ.ศ. 2519 แพ้ ไทย ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา ศึกเพชรทองคำ สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 แพ้ ไทย วิชาญน้อย พรทวี ศึกมุมน้ำเงิน สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
29 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย วังวน ลูกมาตุลี สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
29 กันยายน พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
14 สิงหาคม พ.ศ. 2518 แพ้ ไทย ผุดผาดน้อย วรวุฒิ ศึกมุมน้ำเงิน สนามมวยราชดำเนิน แพ้คะแนน
30 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย เริงศักดิ์ พรทวี สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
24 เมษายน พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
31 มีนาคม พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย หนองคาย ส.ประภัสสร สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย สุขสวัสดิ์ ศรีเทเวศน์ สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
23 มกราคม พ.ศ. 2518 ชนะ ไทย เด่นธรณีน้อย เลือดทักษิณ สนามมวยราชดำเนิน ชนะคะแนน
พ.ศ. 2515 ชนะ ไทย เพิ่มศิริ ลูกตรอกจันทร์ สนามมวยเวทีลุมพินี ชนะน็อก 2

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 "Sport Classic:เว็บข่าวกีฬาและสุขภาพ » "เสือยิ้มยาก" ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-24. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.
  2. มวยไทยบนเวที แต่ละยุคสมัย - Siamsporttalk.com
  3. สโมสรนักสู้ 30/07/59 - thairath.co.th
  4. 4.0 4.1 4.2 "Sport Classic:เว็บข่าวกีฬาและสุขภาพ » เปิดปูมมวยไทยสยบกังฟู-คาราเต้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
  5. 5.0 5.1 NATE SAKNARONG - Siam Fight Mag เก็บถาวร 2017-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  6. "Sport Classic:เว็บข่าวกีฬาและสุขภาพ » หนองคาย ส.ประภัสสร "แข้งซ้ายลุ่มน้ำโขง"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
  7. ตำนานมวย! "วิชาญน้อย พรทวี" ป้องกันแชมป์จูเนียร์ไลต์เวต เวทีราชดำเนินกับ "ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต"