กรณีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คำขอตีความคำพิพากษาวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ในคดีว่าด้วยปราสาทพระวิหาร (คดีระหว่างกัมพูชาและไทย) (คดีระหว่างกัมพูชาและไทย)
Request for Interpretation of the Judgment of 15 June 1962 in the Case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) (Cambodia v. Thailand)
สาระแห่งคดี
คำร้อง ขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาที่ศาลฯ มีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ในคดีว่าด้วยปราสาทพระวิหาร (คดีระหว่างกัมพูชาและไทย) และขอสิ่งชี้บอกมาตรการชั่วคราว
คู่ความ
ผู้ร้อง  กัมพูชา
ผู้คัดค้าน  ไทย
ศาล
ศาล ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
สั่ง
" ให้ภาคีถอนทหารออกจาก "เขตปลอดทหารชั่วคราว" โดยรอบปราสาท "
ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2554
วินิจฉัย
"
  • "บริเวณโดยรอบปราสาท" ได้แก่ส่วนยื่นพระวิหาร โดยมีจุดสิ้นสุดทางทิศเหนือที่เส้นบน "แผนที่ภาคผนวก 1" ในคดีเดิม
  • กัมพูชาและไทยต้องร่วมมือกันและกับชุมชนนานาชาติในการคุ้มครองแหล่งมรดกโลก ทั้งสองรัฐมีพันธกรณีต้องไม่ดำเนินมาตรการที่อาจก่อความเสียหายต่อปราสาท และศาลฯ ย้ำให้ต้องเข้าปราสาทได้จากที่ราบกัมพูชา
"
ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556
เว็บไซต์
Request for Interpretation of the Judgment of 15 June 1962 in the Case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) (Cambodia v. Thailand)

การร้องขอให้ตีความคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ในคดีปราสาทพระวิหาร (ระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย) (อังกฤษ: Request for interpretation of the Judgment rendered by the International Court of Justice on 15 June 1962 in the case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand)) เป็นคดีที่ประเทศกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร (ระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย) (Case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand)) ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ซึ่งในคำพิพากษานั้น ศาลวินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาและพิพากษาให้ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากตัวปราสาทและบริเวณใกล้เคียง แต่ไม่ได้ระบุว่า อาณาบริเวณมากน้อยเพียงไรที่จะเป็นของกัมพูชาด้วย

การตั้งต้นคดี[แก้]

ฮอ นำฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ตีความคำพิพากษา นำไปสู่การตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2554

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ที่ตัดสินไปแล้ว[1] และในวันเดียวกัน กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราวสำหรับรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน [2] ในคำร้องทั้งสองฉบับกัมพูชาได้กล่าวอ้างถึงความขัดแย้งไทย-กัมพูชาที่ยังคงเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ศาลแจ้งต่อสื่อมวลชนว่า คำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมนั้นถือเป็นการเริ่มต้นคดีใหม่ ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราวนั้นถือเป็นกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวเนื่องกับคดีใหม่ดังกล่าว[3][4]

คำร้องขอให้ตีความคำพิพากษา[แก้]

เนื้อหาคำร้องของกัมพูชา[แก้]

กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสความยาว 17 หน้า[5] มีใจความสำคัญดังนี้

กัมพูชาระบุว่าไทยมีข้อขัดแย้งต่อความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิมในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. ประเด็นที่กัมพูชาเห็นว่าคำพิพากษาเดิมนั้นได้อาศัยเขตแดนระหว่างประเทศที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างให้การยอมรับ
  2. ประเด็นที่กัมพูชาเห็นว่าเขตแดนดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่ในภาคผนวก 1 ที่ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาซึ่งศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษาเดิม ซึ่งศาลได้อาศัยแผนที่ฉบับนี้เพื่อวินิจฉัยว่าการที่กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารนั้นเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นเองจากการที่กัมพูชามีอธิปไตยเหนือบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่
  3. ประเด็นที่คำพิพากษาเดิมได้ตัดสินให้ไทยมีพันธกรณีต้องถอนกำลังทหารหรือบุคลากรอื่นออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทที่ตั้งอยู่บนเขตแดนของกัมพูชา โดยกัมพูชาเห็นว่าพันธกรณีที่มีลักษณะทั่วไปและต่อเนื่องดังกล่าวย่อมเป็นไปตามถ้อยคำในคำพิพากษาเดิมที่ศาลได้ยอมรับว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือบริเวณดังกล่าว

กัมพูชาอธิบายต่อว่า แม้ไทยจะไม่โต้แย้งว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร แต่เมื่อไทยโต้แย้งว่ากัมพูชาไม่มีอธิปไตยเหนือบริเวณโดยรอบและใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ย่อมถือว่าไทยโต้แย้งว่าเส้นเขตแดนที่ศาลได้ยอมรับไว้ตามคำพิพากษาเดิมนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งย่อมกระทบไปถึงบริเวณตัวปราสาทด้วยเช่นกัน

กัมพูชาจึงมีขอให้ศาลวินิจฉัยและสั่งว่า พันธกรณีที่ไทยต้องถอนกำลังทหารหรือกำลังตำรวจใด ๆ หรือเจ้าหน้าที่ยามหรือผู้เฝ้าดูแลอื่น ๆ ที่ไทยได้เคยให้ประจำอยู่ ณ ตัวปราสาทหรือบริเวณใกล้ตัวปราสาท (ตามบทปฏิบัติการข้อ 2 ของคำพิพากษาเมื่อ พ.ศ. 2505) เป็นผลโดยเฉพาะที่เกิดจากพันธกรณีอันทั่วไปและต่อเนื่องที่ไทยจะต้องเคารพบูรณภาพอาณาเขตของกัมพูชา โดยที่บริเวณตัวปราสาทและบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตดังกล่าวได้มีการปักปันโดยเส้นเขตแดนตามแผนที่ซึ่งศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษาเดิมอันศาลได้อาศัยเป็นฐานในการพิพากษา

ลักษณะการพิจารณาคดี[แก้]

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีที่รัฐร้องขอให้ศาลตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 60 ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคี ประกอบกับระเบียบศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 98 โดยศาลจะอาศัยเพียงคำร้องของกัมพูชาฝ่ายเดียวเพื่อรับคดีไว้พิจารณาก็ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อศาลได้รับคดีเข้าสู่สารบบความแล้ว ก่อนที่ศาลจะสามารถตีความคำพิพากษาเดิม ศาลจะต้องวินิจฉัยคำร้องของกัมพูชาเสียก่อนว่ามีเหตุแห่งคดีที่เข้าเงื่อนไขให้ตีความได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากแนววินิจฉัยในอดีตแล้ว[6] ศาลจะพิจารณาเงื่อนไขสองประการคือ

  1. คำร้องของกัมพูชาต้องมุ่งหมายให้ตีความคำพิพากษาเดิมอย่างแท้จริงเพื่อให้ความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิมชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยมิใช่เพื่อตอบคำถามใหม่ที่ไม่ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม
  2. คำร้องของกัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาและไทยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าว

หากคำร้องไม่เข้าเงื่อนไขทั้งสอง ศาลก็จะพิพากษาว่าคำร้องดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การตีความคำพิพากษาเดิมได้ อย่างไรก็ดีหากคำร้องบางส่วนหรือทั้งหมดเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ศาลก็จะพิจารณาคำร้องส่วนดังกล่าวเพื่อตีความคำพิพากษาเดิม โดยการตีความจะปรากฏในคำพิพากษาฉบับใหม่

กระทรวงการต่างประเทศคาดว่าไทยจะต้องทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศาลภายในประมาณเดือนตุลาคม 2554 ซึ่ง คาดว่ากระบวนพิจารณาการตีความอาจจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2555[7]

การโต้แย้งของฝ่ายไทย[แก้]

กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ฝ่ายไทยโต้แย้งประเด็นของกัมพูชา โดยยกธรรมนูญศาลโลกข้อ 60 มาอ้าง การตีความคำพิพากษาต้องเป็นเรื่องต่อเนื่องจากคดีหลัก คือ คดีปราสาทพระวิหาร และหากศาลตัดสินโดยใช้แผนที่เขตแดนของฝรั่งเศสจะทำให้เป็นการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาล[8]

การร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราว[แก้]

เนื้อหาคำร้องของกัมพูชา[แก้]

กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสความยาว 3 หน้า[9] มีใจความสำคัญดังนี้

กัมพูชากล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2554 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นบริเวณปราสาทพระวิหารและจุดอื่น ๆ ตามเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและต้องเดินทางหนีภัย ซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวได้ดำเนินมาจนกระทั่งเวลาที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโดยไทยเป็นฝ่ายที่ตั้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ทั้งหมด ศาลจึงจำเป็นต้องมีวิธีการอันเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของกัมพูชา และป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น หากปราศจากวิธีการของศาลและไทยยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ก็จะทำให้ปราสาทพระวิหารเสียหาย รวมไปถึงทำให้ผู้คนล้มตายและทุกข์ทรมานจากการปะทะกันโดยอาวุธ ซึ่งจะร้ายแรงยิ่งขึ้น

กัมพูชาจึงขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราวดังต่อไปนี้

  1. ให้ไทยถอนกำลังจากจุดต่าง ๆ ในบริเวณประสาทพระวิหารอันเป็นดินแดนของกัมพูชาโดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข
  2. ห้ามมิให้ไทยดำเนินการทางทหารใด ๆ ในบริเวณประสาทพระวิหาร
  3. สั่งให้ไทยไม่กระทำการใด ๆ ที่อาจแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

ลักษณะการพิจารณาคดี[แก้]

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 41 ซึ่งไทยเป็นภาคี ประกอบกับระเบียบศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 73 ถึง 78 โดยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิม

ก่อนที่ศาลจะสามารถระบุวิธีการชั่วคราว ศาลต้องวินิจฉัยคำร้องว่าได้ปรากฏเหตุที่เข้าเงื่อนไขให้สามารถระบุวิธีการชั่วคราวได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากแนววินิจฉัยในอดีตแล้ว[10] ศาลจะพิจารณาเงื่อนไขสามประการคือ

  1. กัมพูชาต้องแสดงให้ศาลเห็นถึงมูลคดีในเบื้องต้นว่าการขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมนั้นสามารถนำไปสู่การพิจารณาในเนื้อหาต่อไปได้ กล่าวคือศาลต้องพอใจในเบื้องต้นว่ากัมพูชามิได้ขอให้ตีความคำถามใหม่ที่ไม่ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม และกัมพูชาและไทยต่างมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าวอยู่จริง (อย่างไรก็ดี ไทยย่อมมีสิทธิต่อสู้หักล้างมูลคดีเบื้องต้นดังกล่าวในภายหลังได้)
  2. กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่าวิธีการชั่วคราวจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของกัมพูชาจากความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ภายหลัง
  3. กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ภายหลังอาจเกิดขึ้นก่อนที่ศาลจะได้พิจารณาคดีที่ขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมแล้วเสร็จ

กระทรวงการต่างประเทศคาดว่าศาลจะนัดฟังการแถลงคดีด้วยวาจาโดยกัมพูชาและไทย ประมาณวันที่ 30–31 พฤษภาคม 2554 เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูลต่อศาลเกี่ยวกับการขอให้มีวิธีการชั่วคราว โดยแต่ละฝ่ายจะมีเวลาแถลงคดีด้วยวาจาประมาณฝ่ายละ 4 ชั่วโมง[11]

การโต้แย้งของฝ่ายไทย[แก้]

นายวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าคณะทนายกฎหมายระหว่างประเทศในการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2554

สำหรับคำร้องขอวิธีการชั่วคราวของกัมพูชานั้น ฝ่ายไทยชี้ว่า คำขอดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เร่งด่วนและไม่มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ การอ้างถึงปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควายไม่ได้เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร และสถานการณ์ทั่วไปตามชายแดนของทั้งสองประเทศยังคงเป็นไปอย่างปกติ นอกจากนี้การจัดทำหลักเขตแดนระหว่างสองประเทศยังมีกลไกทวิภาคีอยู่[8]

การแถลงด้วยวาจา[แก้]

ศาลกำหนดการแถลงด้วยวาจาออกเป็นสองรอบ ในวันที่ 31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน สำหรับวันที่ 31 พฤษภาคม ได้กำหนดให้กัมพูชาแถลงเวลา 10.00–12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และไทยแถลงเวลา 16.00–18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และในวันที่ 1 มิถุนายน กำหนดให้กัมพูชาแถลงเวลา 10.30–11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และไทยแถลงเวลา 17.00–18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ด้านฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า กัมพูชาเตรียมร้องขอวิธีการชั่วคราวจากศาลเพื่อปกป้องสันติภาพและหลีกเลี่ยงการยกระดับการปะทะในพื้นที่ ยืนยันว่าประเทศไทยอยู่ใต้เงื่อนไขต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาท[12] ส่วนทางด้านฝ่ายไทย วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำเนเธอร์แลนด์, อิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการแถลงด้วยวาจาร่วมกับกัมพูชา[13]

คำสั่งศาล[แก้]

เขตปลอดทหารชั่วคราว ตามคำสั่งศาลฯ
หลังการแถลงการของศาลได้มีการตั้งป้ายจากฝั่งกัมพูชาแสดงข้อความว่า "ฉันมีความภูมิใจที่เกิดเป็นชาวเขมร" หันหน้ามายังฝั่งไทย

วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 แผนกข้อมูลข่าวสาร (Information Department) ของศาลแถลงว่า ศาลจะอ่านคำสั่งสำหรับคำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราว ในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 เวลา 10:00 นาฬิกา (เวลาท้องถิ่น) ณ วังสันติ (Peace Palace)[14] ครั้นวันเวลาดังกล่าว ศาลนั่งพิจารณา โดยมี ฮิซะชิ โอะวะดะ ประธานศาลเป็นประธานในการนั่งพิจารณา[14] โอะวะดะอ่านคำสั่งของศาลมีใจความดังนี้[15]

  1. ด้วยมติเอกฉันท์ ให้ยกคำร้องของไทยที่ขอให้ศาลจำหน่ายคำร้องของกัมพูชาซึ่งขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวออกจากสารบบความของศาลฯ
  2. กำหนดวิธีการชั่วคราว ดังต่อไปนี้
    1. ด้วยมติ 11 ต่อ 5 เสียง กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราว แล้วให้คู่ความทั้งสองถอนบุคลากรทางทหารที่ประจำอยู่ในเขตนั้นออกไปทันที และให้งดเว้นจากการส่งทหารใด ๆ เข้าไปยังเขตดังกล่าว ทั้งห้ามดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทางทหาร ณ เขตนั้นด้วย
    2. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ห้ามประเทศไทยขัดขวางกัมพูชาจากการเข้าถึงปราสาทพระวิหารโดยเสรี หรือจากการส่งเสบียงโดยปราศจากบุคลากรทางทหารเข้าไปยังปราสาทนั้น
    3. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้คู่ความทั้งสองร่วมมือกันในอันที่จะให้ผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าถึงเขตปลอดทหารชั่วคราวได้
    4. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ห้ามคู่ความทั้งสองปฏิบัติการใด ๆ อันจะยังให้ข้อพิพาทย่ำแย่ลงหรือลุกลามขึ้น หรือระงับยากขึ้น
  3. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้คู่ความทั้งสองรายงานให้ศาลทราบเป็นระยะ ๆ ถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวข้างต้น
  4. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้บรรดามูลคดีอันเป็นเหตุให้มีคำสั่งนี้คงอยู่ในความควบคุมของศาลต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคำร้องขอให้ตีความ

ปฏิกิริยา[แก้]

การแถลงด้วยวาจา[แก้]

พิพากษา[แก้]

ปฏิกิริยา[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-04-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-07.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-09.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-03-31. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  7. http://www.mfa.go.th/web/3037.php?id=27269[ลิงก์เสีย]
  8. 8.0 8.1 "กษิต" แจงกรณีกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลกให้ออกวิธีการชั่วคราว[ลิงก์เสีย]
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-04-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  11. http://www.mfa.go.th/web/3037.php?id=27269[ลิงก์เสีย]
  12. ""ฮอร์ นัมฮง" แถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก สั่งไทยถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาททันที!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-06-05.
  13. ""กษิต ภิรมย์"เข้าร่วมการแถลงด้วยวาจาไทย-กัมพูชา คดีปราสาทเขาพระวิหารที่ศาลโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-06-05.
  14. 14.0 14.1 "Press Release 2011/20 - The Court to deliver its Order on Monday 18 July 2011 at 10 a.m." (PDF). International Court of Justice. 7 July 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2011-08-15.
  15. "Order of 18 July 2011 - Request for the Indication of Provisional Measures" (PDF). International Court of Justice. 18 July 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2011-07-23.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]