ข้ามไปเนื้อหา

เทวดา (ศาสนาพุทธ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเทวดาตามคติพุทธแบบไทย

ตามคติศาสนาพุทธ เทวดา (บาลี: देव;สันสกฤต: देव เทว) หมายถึงชาวสวรรค์ ถ้าเป็นเพศชายเรียกว่าเทพบุตร เพศหญิงเรียกว่าเทพธิดา[1] และเรียกโดยรวมว่าเทวดา[2] ในบางกรณีอาจครอบคลุมถึงพระพรหมทั้งหลายในพรหมโลกด้วย

ความเชื่อ

[แก้]

ในธชัคคสูตรระบุว่า บนสวรรค์มีเทวราชหลายองค์ เรียงตามลำดับศักดิ์ได้แก่ ท้าวสักกะ พระประชาบดี พระวรุณ และพระอีสาณ ในบรรดาเทวราชสี่องค์นี้ท้าวสักกะทรงเป็นจอมเทพ[3] คัมภีร์สารัตถปกาสินีระบุว่า บุรุษผู้เกิดที่ตักเทพเรียกว่าเทพบุตร สตรีผู้เกิดที่ตักเทพเรียกว่าเทพธิดา ถ้าไม่ระบุชื่อจะเรียกว่าเทวดาองค์หนึ่ง[4]

ประเภท

[แก้]

เทวดา แบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่

  1. เทวดาชั้นฉกามาพจร (ผู้ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม) อยู่บนสวรรค์ชั้นฉกามาพจร หรือสวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกามซึ่งมี 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี
  2. เทวดาชั้นรูปาวจรภูมิ หรือ รูปพรหม 16 ชั้น เป็นเทวดาที่ยังมีกายทิพย์อยู่
  3. เทวดาชั้นอรูปาวจรภูมิ หรือ อรูปพรหม เป็นเทวดาซึ่งไม่มีกายทิพย์

การเกิด

[แก้]

การเกิดเป็นเทวดาไม่ต้องผ่านครรภ์มารดา แต่จะเกิดกายเป็นเทวดาเลย เรียกว่าโอปปาติกะ มนุษย์จะเกิดเป็นเทวดาได้เมื่อจิตก่อนตายระลึกถึงความดีเล็กน้อยที่เคยทำไว้ในโลกมนุษย์ เกิดเป็นมหากุศลจิต 8 ดวง อันประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ การบริจาคทาน การฟังธรรม หรือการสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

อายุขัย

[แก้]

อายุของเทวดามีหน่วยเป็นปีทิพย์ ปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ไม่เท่ากัน คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ระบุอายุขัยของเทวดาแต่ละชั้นไว้ดังนี้[5] กล่าวคือ

  • 500 ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ประมาณ 9,000,000 ปี ด้วยการคำนวณแห่งปีมนุษย์
  • 1,000 ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประมาณ 4 เท่า จาก 9,000,000 ปี ด้วยการคำนวณแห่งปีมนุษย์ จึงเท่ากับ 36,000,000 ปี
  • 2,000 ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาสวรรค์ชั้นยามา ประมาณ 4 เท่า จาก 36,000,000 ปี ด้วยการคำนวณแห่งปีมนุษย์ จึงเท่ากับ 144,000,000 ปี
  • 4,000 ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาสวรรค์ชั้นดุสิต ประมาณ 4 เท่า จาก 144,000,000 ปี ด้วยการคำนวณแห่งปีมนุษย์ จึงเท่ากับ 576,000,000 ปี
  • 8,000 ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ประมาณ 4 เท่า จาก 576,000,000 ปี ด้วยการคำนวณแห่งปีมนุษย์ จึงเท่ากับ 2,304,000,000 ปี
  • 16,000 ปีทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ประมาณ 4 เท่า จาก 2,304,000,000 ปี ด้วยการคำนวณแห่งปีมนุษย์ จึงเท่ากับ 9,216,000,000 ปี

เทวดา ที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผลจะเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเช่นเดียวกับมนุษย์ เพียงแต่อายุจะยืนกว่ามนุษย์ดังกล่าวไว้ด้านต้น เทวดามีทั้งเทวดาที่ดีและเทวดาที่ไม่ดี ในอรรถกถามงคลสูตรกล่าวว่าเทวดาจะมาโลกมนุษย์ก็ด้วยกิจบางอย่าง เช่น กลิ่นศีลของผู้ปฏิบัติธรรม เช่น จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เวลามาจะมาตอนกลางคืนและยืนเฝ้าพระพุทธเจ้า เนื่องจากเทวดาจะเหม็นกลิ่นมนุษย์ได้ไกลถึง 100 โยชน์[6] (ประมาณ 1,600 กิโลเมตร)

การเสพกาม

[แก้]

สวรรค์ซึ่งอยู่ในชั้นกามาวจรภูมิคือยังเกี่ยวข้องกับกามคุณทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส การเสพกามเช่นกัน เทวดาจะมีการเสพกามกันไม่ต่างอะไรกับมนุษย์แต่จะมีความแตกต่างกันออกไปเพราะเบญจกามคุณที่เป็นเลิศกว่า สวยงามกว่า ประณีตกว่าเท่านั้น ยิ่งเกิดในภูมิชั้นสูงมากขึ้นไป การเสพกามก็ยิ่งเบาบางลงตามลำดับ

อาจารย์บางพวก (ฝ่ายวัดอภัยคีรีวิหาร) เชื่อว่าเทวดามีวิธีเสพกามต่างจากมนุษย์ ดังนี้

  • เทวดาสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา จะเสพกามเหมือนมนุษย์ มีน้ำเป็นที่สุด สามารถตั้งครรภ์ได้
  • เทวดาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จะเสพกามเหมือนมนุษย์ มีน้ำเป็นที่สุดเช่นกัน แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
  • เทวดาสวรรค์ชั้นยามา จะเสพกามด้วยการสวมกอดกัน
  • เทวดาสวรรค์ชั้นดุสิต จะเสพกามด้วยการสวมกอดกันเบาๆ
  • เทวดาสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จะเสพกามด้วยการจับมือ
  • เทวดาสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี จะเสพกามด้วยการจ้องตามองกัน

อย่างไรก็ตาม คัมภีร์สุมังคลวิลาสินีได้ปฏิเสธความเชื่อนี้โดยระบุว่า พระเถระบางท่านกล่าวว่า กามกิจย่อมสำเร็จแก่พวกเขา (เทวดา) ด้วยอาการสักว่าหัวเราะ สักว่ามองดูและสักว่าการสวมกอด. คำของพระเถระบางท่านนั้นถูกคัดค้านไว้ในอรรถกถาว่าคำที่กล่าวนั้นไม่มี. กามกิจที่จะพึงถูกต้องจะสำเร็จแก่ผู้ไม่ถูกต้องด้วยกาย หามิได้. เพราะว่า กามทั้งหลายของเหล่าเทพชั้นฉกามาวจรเป็นไปตามปรกติเหมือนกัน[7]

ส่วนเทวดาชั้นพรหมที่อยู่สูงกว่าจะไม่เสพกามเลยเพราะปราศจากกามฉันทะ

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), เทพ, พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
  2. พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), เทวดา, พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
  3. ๓. ธชัคคสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
  4. อรรถกถาปฐมกัสสปสูตรที่ ๑ อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวปุตตสังยุต ปฐมวรรค
  5. วีถิมุตตสังคหะ, อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนี, หน้า 59
  6. แก้อรรถบท เกวลกปฺปํ, อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
  7. อรรถกถาสังคีติสูตร, สุมังคลวิลาสินี