ข้ามไปเนื้อหา

เซฟาโลสปอริน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยากลุ่ม Cephalosporins จัดเป็นยาปฏิชีวนะกลุ่ม B-lactams ที่สกัดจากเชื้อรา Cephalosporium acremonium ซึ่งสารประกอบที่สกัดได้จากเชื้อรานี้มี 3 ชนิด คือ Cephalosporin P, Cephalosporin N และ Cephalosporin C ซึ่งยาที่ใช้ในปัจจุบันเป็นอนุพันธุ์กึ่งสังเคราะห์ที่ได้จาก Cephalosporin C เพราะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ

คุณสมบัติทางเคมี

[แก้]

ยากลุ่ม Cephalosporins มีสูตรโครงสร้างคล้ายยากลุ่ม Penicillins โดยโครงสร้างประกอบด้วย 7-aminocephalosporanic acid nucleus ซึ่งประกอบด้วยวงแหวน B-lactam เชื่อมติดกับวงแหวน dihydrothiazine ส่วน Penicillins นั้นโครงสร้างประกอบด้วยวงแหวน B-lactam เชื่อมติดกับวงแหวน thiazolidine

กลไกการออกฤทธิ์

[แก้]
  1. ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย โดยจับกับ penicillin-binding protein (PBP) แล้วยับยั้ง transpeptidase ใน PBP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการ cross-link สาย peptidoglycan เพื่อสร้างผนังเซลล์
  2. กระตุ้นเอนไซม์ autolysin ทำให้แบคทีเรียย่อยสลายตัวเองมากขึ้น
  3. ยามีฤทธิ์ bactericidal แต่อาจมีฤทธิ์ bacteriostatic ขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียและขนาดของยาที่ใช้

ขอบเขตการออกฤทธิ์

[แก้]
Cephalosporin รุ่นที่ 1 (first generation)
ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก เช่น Staphylococci Streptococci รวมทั้งแบคทีเรียแกรมลบบางชนิด เช่น E. coli, Klebsiella pneumoniae และ Proteus mirabilis ยาไม่ครอบคลุมเชื้อ Enterococci (Enterococcus faecalis) และ methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA)
Cephalosporin รุ่นที่ 2 (second generation)
มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมลบได้มากขึ้น เช่น Moraxella catarrhalis, Hemophilus influenza และ Neisseria แต่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียแกรมบวกได้ลดลงเมื่อเทียบกับ Cephalosporin รุ่นที่ 1 นอกจากนี้ยังใช้ได้ผลต่อเชื้อ Anaerobes เช่น Bacteroides fragillis ยากลุ่มนี้ใช้ไม่ได้ผลกับ Pseudomonas aeruginosa
Cephalosporin รุ่นที่ 3 (third generation)
มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้น้อยกว่า Cephalosporin รุ่นที่ 1 และ 2 แต่ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบหลายชนิดรวมทั้งเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Enterobacteriaceae
Cephalosporin รุ่นที่ 4 (fourth generation)
มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้กว้างขึ้นและได้ผลดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ Cephalosporin รุ่นที่ 3 และใช้ได้ผลดีต่อเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยา Cephalosporin รุ่นที่ 3
Cephalosporin รุ่นที่ 5 (fifth generation)
เป็นรุ่นที่พัฒนาขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์คาดหวังให้มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียกว้างทั้งแกรมบวกและแกรมลบ โดยมีผลกับ แกรมบวก ได้แก่ methicillin-sensitive Staphylococcus aureus (MSSA) , methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) , methicillin-resistant coagulase-negative staphylococci (MRCoNS), Streptococcus spp. และ penicillin-resistant streptococcus pneumoniaet (PRSP) และแกรมลบ ได้แก่ Enterobacter cloacae, Escherichia coli, Proteus vulgaris, Pseudomonas aeruginosa, Serratia spp. และ Haemophilus influenzae

การแบ่งกลุ่ม

[แก้]
Cephalosporin รุ่นที่ 1
  • Cephalexin
  • Cephradine
  • Cefadroxil
  • Cefazolin
Cephalosporin รุ่นที่ 2
  • Cefaclor
  • Cefuroxime axetil
  • Cefprozil
  • Loracarbef
  • Cefotetan
  • Cefoxitin
  • Cefuroxime
Cephalosporin รุ่นที่ 3
  • Cefixime
  • Cefpodoxime
  • Cefdinir
  • Ceftibuten
  • Cefoperazone
  • Cefotaxime
  • Ceftazidime
  • Ceftizoxime
  • Ceftriaxone
Cephalosporin รุ่นที่ 4
  • Cefepime
  • Cefpirome
Cephalosporin รุ่นที่ 5
  • Ceftobiprole
  • Ceftaroline

กลไกการดื้อยา

[แก้]
  1. เชื้อแบคทีเรียสร้าง B-lactamases มากขึ้น
  2. เปลี่ยนแปลงที่ PBP
  3. ลดการผ่านของยาเข้าสู่เซลล์

เภสัชจลนศาสตร์

[แก้]
การดูดซึม
ยากลุ่ม Cephalosporins ส่วนใหญ่ให้โดยการฉีด (IV, IM) เนื่องจากไม่ทนกรดในกระเพาะอาหาร มีบางตัวที่สามารถทนกรดในกระเพาะอาหารได้ เช่น Cephalexin Cefadroxil Ceprozilและ Cefaclor จึงให้โดยการรับประทาน ซึ่งอาหารมีผลต่อการดูดซึมและระดับยาในเลือดของยาเหล่านี้ ยกเว้น Cefadroxil
การกระจาย
ยากลุ่ม Cephalosporins กระจายตัวได้ดีในเนื้อเยื่อต่าง ๆ และของเหลวในร่างกาย โดยความเข้มข้นของยาจะมีมากที่ตับและไต นอกจากนี้ยังสามารถผ่านทางรกและน้ำนมได้ด้วย
การเปลี่ยนแปลง
ยากลุ่ม Cephalosporins ส่วนใหญ่ไม่ถูกเปลี่ยนสภาพ ยกเว้น Cefotaxime Cephalothin และ Cephapirin ที่ถูกเปลียนแปลงได้บ้างที่ตับและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้ desacetyl metabolite ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้น้อยลง
การขับถ่าย

ยากลุ่ม Cephalosporins ถูกขับถ่ายได้ 2 ทาง ดังนี้

  1. ทางไต เป็นส่วนใหญ่โดยกระบวนการ Glomerular filtration, Tubular secretion หรือทั้งสองอย่าง
  2. ทางน้ำดี โดยผ่านตับ พบเป็นส่วนน้อย เช่น Ceftriaxone, Cefoperazone

อาการไม่พึงประสงค์

[แก้]
  1. การแพ้ยา เช่น ผื่นคัน ลมพิษและanaphylaxis (พบน้อย) มักพบอาการแพ้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Penicillins
  2. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  3. ผลต่อตับ เช่น ทำให้ระดับ SGOT และ SGPT เปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อหยุดยา
  4. ผลต่อไต เช่น ทำให้ระดับ BUN และ serum creatinin เพิ่มขึ้น
  5. ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  6. ปฏิกิริยาเฉพาะที่บริเวณที่ฉีด เช่น ถ้าฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะทำให้ปวดมากบริเวณที่ฉีด หรือถ้าฉีดเข้าเส้นเลือดดำในขนาดที่สูงเป็นเวลานานอาจทำให้หลอดเลือดดำอักเสบได้
  7. ติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น เชื้อรา Candida และ Pseudomonas

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

[แก้]
  1. ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Cephalosporins และ Penicillins
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

อ้างอิง

[แก้]
  • เภสัชวิทยา, คณาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537, หน้า 369-371
  • เภสัชวิทยา, คณาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพิมพ์เท็กซ์แอนด์เจอร์นัล, 2545, หน้า 459-469
  • เภสัชวิทยา 2, ภก. พยงค์ เทพอักษรและคณะ, บริษัท ประชุมช่าง จำกัด, 2544, หน้า 63-70
  • เภสัชวิทยา 2, คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท นิวไทยมิตรการพิมพ์ (1996) จำกัด, 2541, หน้า 48-67
  • เภสัชวิทยา, คณาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด, 2552, หน้า 547-550