ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด

พิกัด: 12°35′27″N 101°25′01″E / 12.59083°N 101.41694°E / 12.59083; 101.41694
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
พระอาทิตย์ตกดินที่เขาแหลมหญ้า
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอแกลงและอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
พิกัด12°35′27″N 101°25′01″E / 12.59083°N 101.41694°E / 12.59083; 101.41694
พื้นที่131 ตารางกิโลเมตร (82,000 ไร่)
จัดตั้ง2 ตุลาคม พ.ศ. 2524
ผู้เยี่ยมชม1,619,908 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยในท้องที่อำเภอเมืองระยองและอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ครอบคลุมพื้นที่บนฝั่งและในท้องทะเล ประกอบด้วยเกาะเสม็ด เกาะจันทร์ เกาะทะลุ เกาะกุฎี เกาะมะขาม และเกาะปลายตีน เขาแหลมหญ้าและชายทะเลด้านทิศตะวันตกของเขาแหลมหญ้า[1][2][3]

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จัดเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งผสมหมู่เกาะในทะเล ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลของอ่าวไทยฝั่งตะวันออก พื้นน้ำทะเลประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 94 ของพื้นที่ทั้งหมด[4] สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาหินแกรนิต บริเวณเขาเปล็ด และเขาแหลมหญ้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 108 เมตร หาดทรายและห้วงน้ำทะเลตื้นเป็นแนวยาวบริเวณที่เรียกว่า หาดแม่รำพึง มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ภูมิประเทศของเกาะเสม็ดประกอบด้วยภูเขาและเนินเขาเตี้ยๆ เช่น เขากระโจม เขาพลอยแหวน และเขาพระเจดีย์ ด้านทิศตะวันตกของเกาะมีความลาดชันมาก ส่วนด้านทิศตะวันออกมีความลาดชันน้อย และมีหาดทรายยาวต่อเนื่องตลอดแนวด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือมีความกว้างมากที่สุดประมาณ 2,500 เมตร มีความยาวถึงท้ายเกาะประมาณ 6,500 เมตร ทางตอนกลางของเกาะจะเป็นเนินเขาไม่สูงมากนัก มีที่ราบซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรอยู่ตามริมฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก บริเวณปลายแหลมด้านทิศใต้มีเกาะเล็กๆ อยู่ใกล้อีก 3 เกาะ คือ เกาะจันทร์ เกาะสันฉลาม และหินขาว นอกจากนี้ยังมีเกาะในทะเลใกล้ชายฝั่งรวม 8 เกาะ ได้แก่ เกาะปลายตีน เกาะเกล็ดฉลาม เกาะมะขาม เกาะกรวย เกาะกุฎี เกาะท้ายค้างคาว เกาะทะลุ และเกาะยุ้งเกลือ

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด มีฝนตกโดยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,500 มิลลิเมตร ช่วงมรสุมอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน จะมีคลื่นลมแรงมาก ออกทะเลไปเที่ยวเกาะต่างๆ ไม่ได้เป็นบางครั้ง เฉลี่ยแล้วในรอบ 1 เดือน จะมีคลื่นลมแรงประมาณ 15 วัน และระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ในบางวันอาจจะมีลมมรสุมและฝนตกหนักออกทะเลไม่ได้เช่นกัน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 29 องศาเซลเซียส อากาศร้อนที่สุดอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีอากาศเย็นที่สุด

ทรัพยากรป่าไม้

[แก้]

ลักษณะการกระจายของพันธุ์พืชบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จะแปรผันไปตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้เป็น

  • ป่าดงดิบแล้ง เป็นสังคมพืชที่พบเป็นส่วนใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติทั้งบนฝั่งและบนเกาะ บนฝั่งจะพบมากบริเวณเขาแหลมหญ้า เขาเปล็ด และเขาเทียน บนเกาะพบกระจายอยู่ทั่วไป สภาพป่าค่อนข้างโปร่ง ไม่พบไม้ขนาดใหญ่เนื่องจากได้มีการเข้าทำลายและตัดฟันไม้ออกเป็นจำนวนมาก พันธุ์พืชที่พบได้แก่ มะนาวป่า นกนอน พลองใบใหญ่ เขล็ง โมกมัน ประดู่เลือด มะเดื่อ มะกล่ำต้น หรือ มะกล่ำตาช้าง ตะแบกเปลือกบาง ลาย กาสามปีก แสนคำ มะรุม มะเม่า มะหาด หว้า ก่อนก เข็มป่า เต่าร้าง ไผ่ และเอื้องม้าลาย หรือ เขากวางอ่อน เป็นต้น
  • ป่าชายหาด เป็นป่าที่ปกคลุมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่ดินเป็นทรายจัดน้ำทะเลท่วมไม่ถึงหรือบริเวณที่เป็นหินชิดฝั่งทะเล ดินค่อนข้างเค็ม ได้รับไอเค็มจากทะเล ต้นไม้ที่พบโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพุ่ม ลำต้นคดงอและแตกกิ่งก้านมาก กิ่งสั้นใบหนาแข็ง พันธุ์พืชที่พบได้แก่ โพทะเล ข่อย ตะบัน หูกวาง สนทะเล เตยทะเล และผักบุ้งทะเล เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า

[แก้]

จากการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด พบว่า มีสัตว์ป่าที่มีกระดูกสันหลังไม่น้อยกว่า 144 ชนิด ได้แก่ กระจงหนู หรือ กระจงเล็ก อีเห็นเครือ ลิงแสม กระรอกหลากสีสีแดง กระจ้อน หรือ กระรอกดินข้างลาย กระแตเหนือ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ นกยางทะเล เหยี่ยวนกเขาชิครา นกแอ่นตาล นกนางแอ่นบ้าน นกแซงแซวหางปลา นกแซงแซวปากกา นกเอี้ยงสาริกา งูสิงหางลาย งูเขียวดอกหมาก หรือ งูเขียวพระอินทร์ ตะกวด เหี้ย แย้ กิ้งก่าบินหัวแดง จิ้งจกบ้านหางหนาม จิ้งเหลนหลากหลาย ตุ๊กแกบ้าน คางคกบ้าน กบนา ปาดบ้าน และ อึ่งอ่างบ้าน เป็นต้น

ทรัพยากรใต้ทะเล

[แก้]

ในส่วนของทรัพยากรใต้ทะเลจะพบแนวปะการังในบริเวณรอบเกาะเสม็ด บริเวณหมู่เกาะกุฎี และบริเวณเกาะทะลุ แนวปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงอยู่ในบริเวณหินคันนา หินอ่าวไผ่ อ่าวเจ็ก อ่าวกิ่วหน้าใน เกาะจันทร์ เกาะปลายตีน เกาะกุฎี และเกาะทะลุ ความหลากหลายของสัตว์ทะเลที่พบได้แก่ ปะการังโต๊ะ ปะการังพุ่มไม้ ปะการังโขด ปะการังสมอง ปะการังเห็ด ปะการังอ่อน ปะการังถ้วยส้ม ฟองน้ำครก ปลิงทะเล เต่าตนุ ดอกไม้ทะเล ปลาการ์ตูน เม่นหนามดำ ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาโนรีครีบยาว ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ปลาอมไข่ ปลากล้วยฟ้าหลังเหลือง ปลากะรัง ปลาสีกุน ปลาโมง ปลาบู่ ปลากะตัก ปลาเห็ดโคน หอยมือเสือ หอยนมสาว หอยเบี้ยเล็ก หอยตลับ หอยเต้าปูน หอยหนาม ปูลม และปูใบ้ ฯลฯ[5]

การเดินทาง

[แก้]

รถยนต์ สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดระยองได้ โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 ซึ่งแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 136 ซึ่งจะทำให้ระยะทางสั้นลง ประมาณ 35 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวเมืองระยองแล้วเดินทางต่อไปอีก 12 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 231 เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ไปยังบ้านเพ เพื่อลงเรือไปเกาะเสม็ด สำหรับการเดินทางบนเกาะเสม็ดมีถนนเพียงสายเดียวซึ่งแต่เดิมใช้เป็นทางเดิน ถนนสายนี้ยาว 6 กิโลเมตร เริ่มจากตอนเหนือของอ่าวทับทิมตัดผ่านสระน้ำอโนดาต ลงสู่หาดทรายแก้ว ระยะทางจากบ้านเกาะเสม็ดถึงหาดทรายแก้ว ประมาณ 800 เมตร

เรือ การเดินทางโดยเรือไปยังเกาะเสม็ดจะต้องลงเรือที่ท่าเรือบ้านเพ (บนฝั่ง) ซึ่งมีท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง มีเรือโดยสารหลายขนาดบรรจุคนได้ตั้งแต่ 10-100 คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น. สำหรับท่าเรือที่เกาะเสม็ดทั้ง 3 แห่ง (บนเกาะ) คือ ท่าเรือด้านหัวเกาะ ด้านอ่าววงเดือน (อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ) และด้านอ่าวพร้าว (อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ) นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่อยู่บริเวณอ่าวที่มีขนาดเล็กนิยมใช้เรือเร็วส่วนตัวในการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวจากบ้านเพ ไปยังรีสอร์ทของตนเอง

รถโดยสารประจำทาง เดินทางโดยรถยนต์โดยสารประจำทางของบริษัทขนส่ง จำกัด จะมีทั้งรถยนต์โดยสารธรรมดาและปรับอากาศ ระหว่างกรุงเทพฯ-บ้านเพ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ถนนสุขุมวิท ประมาณชั่วโมงละคัน ตั้งแต่เวลา 05.00-20.30 น.

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  2. "Khao Laem Ya-Mu Ko Samet National Park". Bangkok Post. n.d. สืบค้นเมื่อ 18 November 2016.
  3. "KHAO LAEM YA - MU KO SAMET NATIONAL PARK". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-18. สืบค้นเมื่อ 18 November 2016.
  4. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 34{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  5. Elliot, Stephan; Cubitt, Gerald (2001). THE NATIONAL PARKS and other Wild Places of Thailand. New Holland Publishers (UK) Ltd. ISBN 9781859748862.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]