หอยเต้าปูน
หอยเต้าปูน | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | มอลลัสกา Mollusca |
ชั้น: | หอยฝาเดียว Gastropoda |
ชั้นย่อย: | Caenogastropoda Caenogastropoda |
อันดับ: | Neogastropoda Neogastropoda |
วงศ์ใหญ่: | Conoidea Conoidea |
วงศ์: | หอยเต้าปูน Conidae Linnaeus, 1758 |
สกุล | |
หอยเต้าปูน (อังกฤษ: Cone snail, Cone shell) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมมอลลัสคา ชั้นแกสโทรโพดา เป็นสัตว์นักล่า พบได้ตามแถบแนวปะการัง เปลือกมีสีสันสดใส และมีลวดลายสวยงาม ดึงดูดสายตา แต่มีบางสายพันธุ์ที่สีของหอยเต้าปูนจะซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อเยื่อพิเศษ ที่ยังไม่ทราบการทำงานที่แน่ชัด (Periostracum) บางชนิดในแถบทะเลเขตร้อน จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ มีมากกว่า 500 สปีชี่ส์ จัดเป็นสัตว์กินเนื้อ มักจะล่าหนอนทะเล ปลาเล็ก ๆ หอย หรือแม้กระทั่งหอยเต้าปูนด้วยกันเองเป็นอาหาร เนื่องจากเคลื่อนที่ได้ช้า จึงมีการพัฒนาอาวุธเฉพาะตัวขึ้นมาคือ เข็มพิษ (venomous harpoon) เพื่อใช้สำหรับล่าเหยื่อและทำให้เหยื่อหมดสติก่อนกลายเป็นอาหาร ที่มีความรวดเร็วสูง ซึ่งในสายพันธุ์ขนาดใหญ่ พิษของหอยเต้าปูนมีความรุนแรงมากพอที่จะฆ่าคนได้[1]
ลักษณะทั่วไป
[แก้]หอยเต้าปูนเป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม มีเปลือกห่อหุ้มอยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย จากสัตว์อื่น ๆ ในท้องทะเล มีเข็มพิษเป็นอาวุธ พิษของหอยเต้าปูนเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความซับซ้อนในโครงสร้างของพิษ อีกทั้งยังออกฤทธิหลากหลาย ทำให้ยากที่จะป้องกันได้ ซึ่งพัฒนาการนี้เองทำให้หอยเต้าปูนได้เปรียบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น สามารถทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตชนิดเฉียบพลันได้ภายใน 1/200 วินาที ความเร็วในการจู่โจมอยู่ที่ 1/4 วินาที
หอยเต้าปูนสายพันธุ์ Conus geographus ที่รู้จักกันชื่อ หอยบุหรี่ มีเข็มพิษที่ร้ายแรงมาก ถึงกับมีคำกล่าวว่า หากใครถูกเข็มพิษของชนิดนี้เข้า จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงช่วงเวลา ของบุหรี่ 1 มวน ในสายพันธุ์ของเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ เข็มพิษจะสามารถเจาะทะลุถุงมือหรือชุดว่ายน้ำได้ พิษของมันจะทำให้ ปวด บวม ชา ในกรณีที่ร้ายแรง จะทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต สายตาพร่ามัว ระบบหายใจล้มเหลว ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดจะช่วยเยียวยาหรือรักษาพิษของหอยเต้าปูนได้
การพัฒนาตัวยาจากการสกัดพิษ
[แก้]พิษของหอยเต้าปูนมีชื่อว่า โคโนทอกซิน (conotoxins) เป็นหนึ่งในพิษที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ ที่ออกฤทธิต่อระบบประสาท ในหอยเต้าปูนแต่ละตัว จะสามารถสร้างพิษ ที่แตกต่างกันได้กว่า 100 ชนิด ซึ่งในพิษนี้จะมีสายโปรตีน (peptide) ที่สามารถยับยั้ง สารสื่อประสาทที่สำคัญหลายตัว ของสิ่งมีชีวิตได้ เมื่อสกัดเอาสายโปรตีนบางตัวออกมา นำมาวิจัยพัฒนาต่อ เป็นยาต่อต้านอาการเจ็บปวด ซึ่งมันจะไปหยุดยั้งเฉพาะความเจ็บปวดบางอาการเท่านั้น โดยที่ไม่ทำลายความรู้สึกทั้งหมด ในปัจจุบันสิ่งที่ใช้ระงับอาการเจ็บปวดคือ มอร์ฟีน แต่จากการทดลองพบว่า ยาที่สกัดจากพิษของหอยเต้าปูน มีประสิทธิภาพมากกว่ามอร์ฟีนถึง 1000 เท่า อีกทั้งยังสามารถใช้ได้ในอาการเจ็บปวดบางกรณี ที่มอร์ฟีนไม่สามารถระงับได้อีกด้วย
ดูเพิ่ม
[แก้]- บทความเกี่ยวกับหอยเต้าปูนบนข่าว BBC
- บทความ "หอยเต้าปูน จู่โจมสายฟ้าแลบ" บน NewScientist.com
- คลิปวิดีโอแสดง หอยเต้าปูนจู่โจมปลาและกิน บน youtube
- บทความจำแนกรายละเอียดพิษของหอยเต้าปูน เก็บถาวร 2010-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บทความพิษหอยเต้าปูนจาก National Institute of General Medical Sciences เก็บถาวร 2017-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข้อมูล โคโนทอกซิน เพิ่มเติม เก็บถาวร 2009-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน Conus geographus ปลิดชีวิต 70% ของผู้เคราะห์ร้าย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-09-30.