ข้ามไปเนื้อหา

อนุสัญญาแรมซาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสัญญาแรมซาร์
อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ
โลโก้ของอนุสัญญาแรมซาร์
วันลงนาม2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1971
ที่ลงนามแรมซาร์ (ประเทศอิหร่าน)
วันมีผล21 ธันวาคม ค.ศ. 1975
เงื่อนไขการให้สัตยาบันโดย 7 รัฐ
ภาคี171[1]
ผู้เก็บรักษาผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก
ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน และเปอร์เซีย
www.ramsar.org
โปสเตอร์การประชุมอนุสัญญาแรมซาร์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2514 ที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน

อนุสัญญาแรมซาร์ (อังกฤษ: Ramsar Convention) คือความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน เช่น เพื่อการสกัดกั้นและยับยั้งการบุกรุกเข้าครอบครองและการลดถอยของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และเป็นการเพื่อรับรู้และรับรองความสำคัญพื้นฐานของพื้นที่ชุ่มน้ำในเชิงหน้าที่ทางนิเวศ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ตลอดจนคุณค่าทางนันทนาการ

อนุสัญญา

[แก้]

ชื่อเต็มที่เป็นทางการของ อนุสัญญาแรมซาร์ คือ อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat.) อนุสัญญาแรมซาร์ได้รับการร่างและรับรองจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมกันที่เมืองแรมซาร์ เมืองตากอากาศชายทะเลสาบแคสเปียน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2518

รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติตามอนุสัญญาแรมซาร์ หรือที่เรียกว่า พื้นที่แรมซาร์ ในปัจจุบัน (ณ ปี 2019) มีจำนวน 2,341 แห่ง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 252,479,417 เฮกตาร์ พื้นที่ฯ แห่งแรกของโลก คือ "คาบสมุทรโคเบิร์ก" ในประเทศออสเตรเลียโดยขึ้นทะเบียนเมื่อปี 1974 พื้นที่ฯ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ "รีอูเนกรู" ตั้งอยู่ที่ประเทศบราซิลและมีพื้นที่กว่า 120,000 ตร.กม. ตามด้วยพื้นที่ฯ "Ngiri-Tumba-Maindombe" ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และ "อ่าวควีนม็อด" ในแคนาดาที่มีเนื้อที่มากกว่า 60,000 ตร.กม.

ประเทศที่มีพื้นที่แรมซาร์มากที่สุดในโลก คือ สหราชอาณาจักรซึ่งมีพื้นที่แรมซาร์รวม 175 แห่ง ตามมาด้วยเม็กซิโกที่ 142 แห่ง ประเทศที่มีเนื้อที่ของพื้นที่ชุ่มน้ำมากที่สุดในโลกได้แก่ประเทศโบลิเวียที่รวมพื้นที่ชุ่มน้ำได้ 148,000 ตร.กม. โดยที่ประเทศแคนาดา ชาด คองโก และรัสเซียต่างมีพื้นที่ชุ่มน้ำรวมกันในแต่ละประเทศมากกว่า 100,000 ตร.กม.

ปัจจุบันมีภาคีอนุสัญญาทั้งสิ้น 171 ประเทศ เพิ่มจาก 119 ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2543 และจากเพียง 18 ประเทศที่ร่วมลงนามครั้งแรก 18 ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2514 ประเทศผู้ร่วมลงนามจะประชุมที่เรียกชื่อว่า "การประชุมร่วมของประเทศผู้ลงนาม" (Conference of the Contracting Parties -COP) ซึ่งประชุมกันทุก 3 ปี การประชุมครั้งแรกสุดประชุมที่เมืองคากลิอาริ ประเทศอิตาลีเมื่อ พ.ศ. 2523 การตกลงร่วมเพื่อแก้ไขอนุสัญญาครั้งแรกทำที่ปารีสเมื่อ พ.ศ. 2525 และที่เมืองเรจินาเมื่อ พ.ศ. 2530

การดำเนินงานและที่ทำการ

[แก้]
สำนักงานที่ทำการใหญ่ของสหภาพการอนุรักษ์แห่งโลกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สถานที่ซึ่งสำนักเลขาธิการแรมซาร์ร่วมใช้ด้วย ภาพจากเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการแรมซาร์: ถ่ายโดย D. Peck, Ramsar

มีคณะกรรมการหลักหนึ่งคณะ คณะกรรมการปริทัศน์หรือกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาทบทวนอีกหนึ่งคณะ และมีเลขาธิการทำหน้าที่บริหารจัดการอนุสัญญา โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองแกลนด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อยู่ร่วมกับ สหภาพการอนุรักษ์แห่งโลก (IUCN)

รายชื่อประเทศผู้ร่วมลงนาม

[แก้]

เอเชีย-แปซิฟิก

[แก้]

ออสเตรเลีย, อาเซอร์ไบจาน, บาห์เรน, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีน, จอร์เจีย, ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, จอร์แดน, คีร์กีซสถาน, เลบานอน, มาเลเซีย, มองโกเลีย, เนปาล, นิวซีแลนด์, ปากีสถาน, ปาเลา, ปาปัวนิวกินี, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, ซีเรีย, ทาจิกิสถาน, ไทย, ตุรกี, อุซเบกิสถาน, เวียดนาม

แอฟริกา

[แก้]

แอลจีเรีย, เบนิน, บอตสวานา, บูร์กินาฟาโซ, บุรุนดี, ชาด, คอโมโรส, สาธารณรัฐคองโก, โกตดิวัวร์, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, จิบูตี, อียิปต์, อิเควทอเรียลกินี, กาบอง, แกมเบีย, กานา, กินี-บิสเซา, เคนยา, ไลบีเรีย, ลิเบีย, มาดากัสการ์, มาลาวี, มาลี, มอริเตเนีย, มอริเชียส, โมร็อกโก, นามิเบีย, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, เซเนกัล, เซอร์เบีย, เซียร์ราลีโอน, แอฟริกาใต้, แทนซาเนีย, โตโก, ตรินิแดดและโตเบโก, ตูนิเซีย, ยูกานดา, แซมเบีย

อเมริกา

[แก้]

อาร์เจนตินา, บาฮามาส, เบลีซ, โบลิเวีย, บราซิล, แคนาดา, ชิลี, โคลัมเบีย, คอสตาริกา, คิวบา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, เอกวาดอร์, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, กินี, จาเมกา, ลิกเตนสไตน์, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, เม็กซิโก, นิการากัว, ปานามา, ปารากวัย, เปรู, เซนต์ลูเชีย, ซูรินาม, สหรัฐอเมริกา, อุรุกวัย, เวเนซุเอลา

ยุโรป

[แก้]

แอลเบเนีย, อาร์มีเนีย, ออสเตรีย, เบลารุส, เบลเยียม, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, บัลแกเรีย, โครเอเชีย, ไซปรัส, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีก, ฮังการี, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลัตเวีย, มอลตา, มอลโดวา, โมนาโก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, โปแลนด์, โปรตุเกส, มาซิโดเนีย, โรมาเนีย, รัสเซีย, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ยูเครน, สหราชอาณาจักร

ประเทศผู้ร่วมลงนามใหม่

[แก้]

แอนติกาและบาร์บูดา (2 ตุลาคม พ.ศ. 2548), กาบูเวร์ดี (18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548), แอฟริกากลาง (5 เมษายน พ.ศ. 2549), เลโซโท (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547), หมู่เกาะมาร์แชลล์ (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547), โมซัมบิก (3 ธันวาคม พ.ศ. 2547), พม่า (17 มีนาคม พ.ศ. 2548), รวันดา (1 เมษายน พ.ศ. 2549), ซามัว (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548), เซเชลส์ (22 มีนาคม พ.ศ. 2548), ซูดาน (7 พฤษภาคม พ.ศ. 2548), คาซัคสถาน (15 มกราคม พ.ศ. 2550)

รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์

[แก้]

พื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ในประเทศไทย

[แก้]

พื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 15 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 405,219 เฮกตาร์[2][3] ดังนี้

ลำดับ สถานที่ ที่ตั้ง พื้นที่ (ha) วันเดือนปีที่ขึ้นทะเบียน
1 ควนขี้เสียนในพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช 494 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
2 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง บึงกาฬ 2,214 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
3 ดอนหอยหลอด สมุทรสงคราม 87,500 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
4 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย เชียงราย 434 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
5 ปากแม่น้ำกระบี่ กระบี่ 21,299 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (ป่าพรุโต๊ะแดง) นราธิวาส 20,100 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
7 อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง - ปากแม่น้ำตรัง ตรัง 66,313 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
8 ปากแม่น้ำกะเปอร์ - อุทยานแห่งชาติแหลมสน - ปากแม่น้ำกระบุรี ระนอง 122,046 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
9 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง สุราษฎร์ธานี 10,200 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
10 อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา พังงา 40,000 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
11 พื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ 6,892 8 มกราคม พ.ศ. 2551
12 หนองกุดทิง บึงกาฬ 2,200 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552
13 หมู่เกาะกระ นครศรีธรรมราช 374 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556
14 หมู่เกาะระ-เกาะพระทอง พังงา 19,648 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556
15 แม่น้ำสงครามตอนล่าง นครพนม 5,504.5 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Convention on Wetlands of International Importance especially as Waterfowl Habitat. Ramsar, 2 February 1971". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 3, 2020.
  2. THAILAND
  3. Annotated List of Wetlands of International Importance Thailand

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]