สภาความมั่นคงแห่งชาติ (ประเทศไทย)
บทความนี้อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป |
The National Security Council | |
ตราประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติ | |
ภาพรวมสภา | |
---|---|
ก่อตั้ง | 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 |
สภาก่อนหน้า |
|
ประเภท | ส่วนราชการ |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | ทำเนียบรัฐบาลไทย |
บุคลากร | 355 คน (พ.ศ. 2562)[1] |
งบประมาณต่อปี | 279,600,500 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
ฝ่ายบริหารสภา |
|
ต้นสังกัดสภา | สำนักนายกรัฐมนตรี |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ |
สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สภา มช. (อังกฤษ: The National Security Council) เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองของไทยที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยใช้ในการประสานงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ[3][4]
สภาความมั่นคงแห่งชาติมีสำนักงานทำหน้าที่เลขานุการสภา คือสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (อังกฤษ: Office of the National Security Council)
ประวัติ
[แก้]สภาความมั่นคงแห่งชาติ เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้มีภารกิจทางด้านการทหารเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และมีการประสานงานที่ดี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีสภาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานและมีเสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการสภา[5]
ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ และเรียกชื่อใหม่ว่า “สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร” [6] จนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร สภาการป้องกันพระราชอาณาจักรจึงถูกยกเลิกไป [7] ต่อมาเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการจัดตั้ง “สภาการสงคราม” ขึ้น โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาการสงคราม ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่เกี่ยวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ[8] แต่ก็ยกเลิกไป เนื่องจากได้มีการจัดตั้ง “สภาป้องกันราชอาณาจักร” ขึ้นแทน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร เมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2487[9]
จากนั้นเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักรออกมาใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม[10] และใช้อยู่จนกระทั่งได้มีการการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2499 และประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502[11] นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “สภาป้องกันราชอาณาจักร” เป็น “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” มาจนกระทั่งทุกวันนี้
วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507 โดยมีการปรับปรุงองค์ประกอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือ หัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น[12]
สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ
[แก้]ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 กำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สภา มช.) ประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่ง 11 ราย ดังต่อไปนี้
1 | นายกรัฐมนตรี | ประธาน |
2 | รองนายกรัฐมนตรี | รองประธาน |
3 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม | สมาชิก |
4 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | สมาชิก |
5 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ | สมาชิก |
6 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม | สมาชิก |
7 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม | สมาชิก |
8 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย | สมาชิก |
9 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | สมาชิก |
10 | ผู้บัญชาการทหารสูงสุด | สมาชิก |
11 | เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ | สมาชิกและเลขานุการ |
ทั้งนี้ ในการประชุมสภา มช. แต่ละครั้ง สามารถเชิญรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่นอกเหนือจากสมาชิกสภา มช. เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งคราว ในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ หากมีประเด็นพิจารณาที่เห็นสมควรแก่การเชิญให้ความเห็นและลงมติที่ประชุม
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
[แก้]เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
[แก้]เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ซึ่งกำหนดให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาความมั่นคงเเห่งชาติเสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายงานผลการดำเนินงานสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๖, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ สภาความมั่นคงแห่งชาติ
- ↑ บทบาทเลขาฯ สมช.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกระทรวงทหารบกทหารเรือ (หน้า ๔๘)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร์
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร
- ↑ พระราชบัญญัติสภาการสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๗
- ↑ พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๘๗
- ↑ พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๙
- ↑ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒
- ↑ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๘๕ ก หน้า ๑ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๙