สภาความมั่นคงแห่งชาติ (ประเทศไทย)
articleนี้ อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป (เรียนรู้ว่าจะนำสารแม่แบบนี้ออกได้อย่างไรและเมื่อไร) |
สภาความมั่นคงแห่งชาติ | |
---|---|
![]() | |
ที่ทำการ | |
ทำเนียบรัฐบาลไทย | |
ภาพรวม | |
วันก่อตั้ง | 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 |
เขตอำนาจ | ประเทศไทย |
งบประมาณ | 170.3314 ล้านบาท (พ.ศ. 2555)[1] |
ผู้บริหารหลัก | พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประธาน พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์, เลขาธิการ ศิริวรรณ สุคนธมาน, รองเลขาธิการ ฉัตรชัย บางชวด, รองเลขาธิการ |
ต้นสังกัด | สำนักนายกรัฐมนตรี |
เว็บไซต์ | |
http://www.nsc.go.th |
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นคณะบุคคลในระบบราชการไทย มีภารกิจเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของชาติ เป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคง รวมทั้งอำนวยการ ประสานงานให้เป็นไปตามนโยบาย ตลอดจนจัดทำแผนเตรียมความพร้อมแห่งชาติต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคต
สภาความมั่นคงแห่งชาติมีสำนักเลขานุการ คือ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ประวัติ[แก้]
สภาความมั่นคงแห่งชาติ เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้มีภารกิจทางด้านการทหารเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และมีการประสานงานที่ดี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีสภาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานและมี เสนาธิการทหารบก เป็นเลขานุการสภา[2]
ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ และเรียกชื่อใหม่ว่า “สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร” [3] จนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร สภาการป้องกันพระราชอาณาจักรจึงถูกยกเลิกไป [4] ต่อมาเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการจัดตั้ง “สภาการสงคราม” ขึ้น โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาการสงคราม ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่เกี่ยวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ[5] แต่ก็ยกเลิกไป เนื่องจากได้มีการจัดตั้ง “สภาป้องกันราชอาณาจักร” ขึ้นแทน โดยออกเป็นพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร เมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2487[6]
จากนั้นเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักรออกมาใหม่ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม[7] และใช้อยู่จนกระทั่งได้มีการการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2499 และประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502[8] นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “สภาป้องกันราชอาณาจักร” เป็น “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” มาจนกระทั่งทุกวันนี้
วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507 โดยมีการปรับปรุงองค์ประกอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือ หัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น [9]
สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ[แก้]
ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 กำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สภา มช.) ประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่ง 11 ราย ดังต่อไปนี้
1 | นายกรัฐมนตรี | ประธาน |
2 | รองนายกรัฐมนตรี | รองประธาน |
3 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม | สมาชิก |
4 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | สมาชิก |
5 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ | สมาชิก |
6 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม | สมาชิก |
7 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม | สมาชิก |
8 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย | สมาชิก |
9 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | สมาชิก |
10 | ผู้บัญชาการทหารสูงสุด | สมาชิก |
11 | เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ | สมาชิกและเลขานุการ |
ทั้งนี้ ในการประชุมสภา มช. แต่ละครั้ง สามารถเชิญรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่นอกเหนือจากสมาชิกสภา มช. เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งคราว ในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ หากมีประเด็นพิจารณาที่เห็นสมควรแก่การเชิญให้ความเห็นและลงมติที่ประชุม
อำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ[แก้]
ตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
2. เสนอแนะและให้ความเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในมิติด้านความมั่นคง หรือประเด็น เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ ต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
3. พิจารณากำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ และแผนบริหารวิกฤตการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
4. กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณา
5. ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง แห่งชาติ
6. กำกับและติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
7. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ[แก้]
การแบ่งส่วนราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ[แก้]
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 รับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะทำให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ สมช. ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2554 แบ่งส่วนราชการได้ดังนี้ [10] [11]
กลุ่มภารกิจนโยบายและบริหารแผนงานความมั่นคง[แก้]
กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
กองประเมินภัยคุกคาม
กลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และอำนวยความมั่นคงเฉพาะด้าน[แก้]
กองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน
กองความมั่นคงภายในประเทศ
กองความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามข้ามชาติ
กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม
กองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน
กองความมั่นคงด้านการเตรียมพร้อมและการป้องกันประเทศ
กองความมั่นคงทางทะเล
กลุ่มภารกิจสนับสนุนทางวิชาการ และเครือข่ายการมีส่วนร่วม[แก้]
สถาบันความมั่นคงศึกษา
กลุ่มกฎหมาย
กลุ่มภารกิจสนับสนุนทางการบริหาร[แก้]
สำนักงานเลขาธิการ
กลุ่มตรวจสอบภายใน[แก้]
กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร[แก้]
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 15ก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกระทรวงทหารบกทหารเรือ (หน้า ๔๘)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร์
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร
- ↑ พระราชบัญญัติสภาการสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๗
- ↑ พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๘๗
- ↑ พระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๙๙
- ↑ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒
- ↑ พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๘๕ ก หน้า ๑ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๙
- ↑ https://www.ryt9.com/s/cabt/3098300
- ↑ http://www.nsc.go.th/?page_id=1109