ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
2T (คุย | ส่วนร่วม)
add english wikilink
บรรทัด 113: บรรทัด 113:


[[de:Siamesischer Familienorden]]
[[de:Siamesischer Familienorden]]
[[en:Order of Chula Chom Klao]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:00, 27 เมษายน 2551

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสถาปนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อ พ.ศ. 2416 ด้วยทรงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทรงอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนนานมาเป็นเวลา 90 ปี ก็ด้วยความจงรักภักดีและการปฏิบัติราชการของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง ทั้งมีพระราชประสงค์จะทรงชุบเลี้ยงบรรดาทายาทของบุคคลเหล่านี้ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในราชการสืบเนื่องต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานสามารถรับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ "จุลจอมเกล้า" เป็นนามของเครื่องราชอิสรยาภรณ์ตระกูลนี้ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ"

ประเภท ลำดับชั้นตรา และจำนวน

กฎหมายได้บัญญัติจำแนกเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทฝ่ายหน้าสำหรับบุรุษ และประเภทฝ่ายในสำหรับสตรี คำว่าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เรียกตามตำแหน่งที่เคยจัดให้เฝ้าแต่สมัยโบราณ ทั้งยังได้กำหนดจำนวนเครื่องราชฯ ในตระกูลนี้ในแต่ละชั้นตราไว้เป็นการแน่นอน หากชั้นตราใดมีผู้ได้รับพระราชทานเต็มตามจำนวนแล้ว ก็จะไม่พระราชทานชั้นตรานั้นแก่ผู้อื่นอีก ชั้นตราจะว่างก็ต่อเมื่อผู้ได้รับพระราชทานอยู่เดิมสิ้นชีวิตหรือได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น โดยญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับพระราชทานเ้ลื่อนชั้นตราสูงขึ้น ต้องมีหน้าที่ส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจุลจอมเกล้าที่ได้รับพระราชทานหรือชั้นรองตามกฎหมายแก่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

  • สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า (บุรุษ) มี 3 ชั้น 7 ชนิด คือ
ชั้นที่ 1 มี 2 ชนิด ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) ไม่จำกัดจำนวน
ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) จำนวน 30 สำรับ
ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) จำนวน 200 สำรับ
ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) จำนวน 250 ดวง
ชั้นที่ 3 มี 3 ชนิด ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) จำนวน 250 ดวง
ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) จำนวน 250 ดวง
ตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.) จำนวน 100 ดวง
  • สำหรับพระราชทานฝ่ายใน (สตรี) มี 4 ชั้น 5 ชนิด คือ
ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) จำนวน 20 สำรับ
ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) จำนวน 100 ดวง
ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) จำนวน 100 ดวง
ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) จำนวน 250 ดวง
ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) จำนวน 150 ดวง

ธรรมเนียมการพระราชทาน

เมื่อครั้งดั้งเดิม มีพระราชดำริจะพระราชทานแต่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตการพระราชทานไปยังผู้ทำประโยชน์อื่น ๆ ทั้งในราชการแผ่นดินและในราชการส่วนพระองค์ด้วย เช่น พ่อค้าวาณิช และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น ปัจจุบันจะทรงพระราชทานในโอกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี

ในการพระราชทานจะพระราชทานชั้นตราเรียงตามลำดับจากชั้นเริ่มต้นไปสู่ชั้นสูงสุดในแต่ละฝ่าย ดังนี้

ไฟล์:Decorjulmale.jpg
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายหน้า
ไฟล์:Decorjulfemale.jpg
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายใน

ฝ่ายหน้า (บุรุษ)

ทายาทที่รับพระราชทานตราสืบตระกูลจะได้รับตราดังนี้ แล้วแต่กรณี คือ

  1. ตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.)
  2. ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)

สำหรับพระราชทานแก่บุคคลทั่วไป ปกติแล้วจะเริ่มต้นและเรียงไปหาชั้นสูงสุดตามลำดับ ดังนี้

  1. ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)
  2. ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
  3. ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
  4. ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
  5. ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)

ฝ่ายใน (สตรี)

  1. จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)
  2. ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)
  3. ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
  4. ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
  5. ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)

คำนำนามสำหรับสตรี

สตรีผู้ได้รับพระราชทานตราจตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ยกเว้นสตรีในราชสกุลตั้งแต่หม่อมหลวงขึ้นไป ให้ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง" สำหรับผู้ที่สมรสแล้ว หรือ "คุณ" สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมรส

ส่วนผู้ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) และปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) ยกเว้นสตรีในราชสกุลตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ใช้คำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" สำหรับผู้ที่สมรสแล้ว หรือ "คุณ" สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมรส

การสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น แตกต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นตรงที่สามารถมีการสืบตระกูลเครื่องราชอิริยาภรณ์ได้ โดยถ้าเป็นบุตรสืบตระกูลบิดา จะได้รับพระราชทาน "ตติยจุลจอมเกล้า" แต่ถ้าเป็นหลานสืบตระกูลปู่ จะได้รับพระราชทาน "ตติยานุจุลจอมเกล้า" ลักษณะการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีดังต่อไปนี้[1]

  • เมื่อบิดาได้รับพระราชทาน "เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ" บุตรชายได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ และให้รับสืบตลอดไป จนหาตัวผู้สืบสายโลหิตเป็นชายมิได้
  • เมื่อบิดาได้รับพระราชทาน "เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า" บุตรชายได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ แต่การสืบตระกูลจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้เท่านั้น
  • เมื่อบิดาได้รับพระราชทาน "ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ" หรือ "ทุติยจุลจอมเกล้า" บุตรชายได้รับสืบตระกูลเมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว และจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้เท่านั้น

ผู้สืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น จะเป็นบุตรชายคนโตที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม หากบุตรชายคนโตไม่สมควรจะได้รับการพระราชทาน บิดาสามารถขอพระราชทานให้บุตรชายคนรองลงมาก็ได้ แต่การสืบตระกูลจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้เท่านั้น นอกจากนี้ ถ้าบุตรชายคนโตวิกลจริตหรือเสียชีวิตลงก่อนได้รับพระราชทาน ก็จะพระราชทานแก่หลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายคนโตก่อน แต่ถ้าไม่มีหลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายคนโตก่อนแล้ว ก็จะพระราชทานแก่บุตรชายคนต่อไป

พระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า ลักษณะเป็นตรางารูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.2 เซนติเมตร สูง 9.8 เซนติเมตร ลายภายในเป็นรูปสายสร้อยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็นรูปวงกลม ภายในวงกลมเป็นรูปดาราอยู่เบื้องบน เป็นรูปตราจุลจอมเกล้าทั้งด้านหน้าและด้านหลังอยู่เบื้องล่าง ที่วงขอบมีอักษรว่า "คณาธิบดี ของตรา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล" พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ใช้สำหรับประทับประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า[2] ในปัจจุบัน พระราชลัญจกรนี้พ้นสมัย และเก็บรักษาอยู่ที่กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันจะประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์กำกับพระปรมาภิไธยแทน [3]

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน

พระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ลักษณะเป็นตรางารูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.2 เซนติเมตร สูง 9.6 เซนติเมตร ลายภายในเป็นรูปสายสร้อยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็นรูปวงกลม ภายในวงกลมเป็นรูปดาราอยู่เบื้องบน เป็นรูปตราจุลจอมเกล้าทั้งด้านหน้าและด้านหลังอยู่เบื้องล่าง ที่วงขอบมีอักษรว่า "มหาสวามินี ของตรา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล" พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ใช้สำหรับประทับประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า[2] ในปัจจุบัน พระราชลัญจกรนี้พ้นสมัย และเก็บรักษาอยู่ที่กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันจะประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์กำกับพระปรมาภิไธยแทน เช่นเดียวกับฝ่ายหน้า [3]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๕๓
  2. 2.0 2.1 พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก 130 มาตรา 11
  3. 3.0 3.1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. พระราชลัญจกร. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง,, พ.ศ. 2538. 200 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7771-63-2