ข้ามไปเนื้อหา

พระคัมภีร์คนยาก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าต่าง “พระคัมภีร์คนยาก” ที่ มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่อาจจะสร้างจากชิ้นส่วนของบานหน้าต่างเดิมสองบาน
รายละเอียดจากหน้าต่างสองหน้าต่างจากมหาวิหารแคนเทอร์เบอรีที่เป็นเรื่องสองเรื่องที่ต่างกัน แต่ตัวแบบสองตัวในภาพทางด้านซ้ายเป็นตัวเดียวกัน และเสา โต๊ะ เชิงเทียน และหนังสือ ภาพซ้ายสร้างในสมัยกลาง และภาพขวาในสมัยวิกตอเรีย

พระคัมภีร์คนยาก (อังกฤษ: Poor Man's Bible) คำว่า “พระคัมภีร์คนยาก” ในปัจจุบันหมายถึงงานศิลปะภายในคริสต์ศาสนสถานที่อาจจะเป็นงานชิ้นเดียวหรืองานชุดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบการสอนสาระของคัมภีร์ไบเบิลต่อประชากรส่วนใหญ่ที่ไร้การศึกษา ศิลปะ “พระคัมภีร์คนยาก” อาจจะเป็นงานประติมากรรม งานแกะสลัก จิตรกรรม งานโมเสก หรือหน้าต่างประดับกระจกสี ในโบสถ์บางแห่งหน้าต่างบานเดียวก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พระคัมภีร์คนยาก” ขณะที่ในโบสถ์อื่นทั้งโบสถ์อาจจะตกแต่งด้วยบทบรรยายพระคัมภีร์ไบเบิลอันซับซ้อนภายใต้หัวใจของเรื่องที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[1]

ที่มา

[แก้]

พระคัมภีร์ภาพ

[แก้]

“พระคัมภีร์คนยาก” มิใช่งานเดียวกับงานที่เรียกกันว่า “บิเบลียเพาเพรุม” (Biblia Pauperum หรือ “พระคัมภีร์สำหรับคนจน”) ซึ่งเป็นคัมภีร์ไบเบิลที่เป็นสิ่งพิมพ์ประกอบภาพที่อาจจะออกมาในรูปของเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร หรือ หนังสือภาพพิมพ์แกะไม้ก็ได้ หนังสือพระคัมภีร์ภาพสีวิจิตรเป็นงานที่มีราคาสูงเกินกว่าที่ผู้ยากจนสามารถเป็นเจ้าของได้ แต่ถ้าเป็นงานที่พิมพ์จากบล็อกไม้ก็มีราคาต่ำกว่ามากและอาจจะใช้เป็นตำราสำหรับสอนผู้ยากจน

ตามชื่อภาษาละตินจะแปลว่าพระคัมภีร์สำหรับคนจนแต่หนังสือพระคัมภีร์ภาพแต่ในสมัยแรกเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นสำหรับผู้มีฐานะดี และงานแกะสลักและหน้าต่างประดับกระจกสีจะเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อความรู้ความบันเทิงสำหรับผู้ที่เข้ามาในคริสต์ศาสนสถาน และงานทั้งสองประเภทนี้ต่างก็ครอบคลุมหัวเรื่องหรือเนื้อเรื่องเดียวกัน และถือว่าเป็น งานประเภทที่เรียกว่า “รูปเคารพ

การเขียนงานจากแม่แบบ

[แก้]

ในสมัยก่อนที่จะเกิดสิ่งพิมพ์ขึ้น การสืบทอดเรื่องราวจากหนังสือกระทำโดยการคัดลอกจากต้นฉบับซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ใช้ในการอนุรักษ์บทงานเขียนคัมภีร์ไบเบิลและวรรณกรรมอื่น ๆ[2] นอกไปจากบทเขียนแล้วหนังสือคัดลอกเหล่านี้ก็มักจะมีความเห็นและภาพประกอบสอดแทรกด้วย ภาพที่ประกอบแม้ว่าจะเขียนโดยผู้มีความสามารถที่มีเอกลักษณ์และแนวเขียนทางด้านเทคนิคที่เป็นของตนเอง แต่ลักษณะรูปแบบของหัวเรื่องที่เขียนโดยทั่วไปแล้วมักจะเหมือนกันในรูปแบบของฉากเรื่องราวและองค์ประกอบอย่างเดียวกันที่เขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพียงแต่ใช้มีเดียที่ต่างกันเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นแม่บท (Motif) ที่เป็นภาพแกะหลายตัวที่ตัวหนึ่งจะยกเท้าขึ้นมาเกาหู ก็จะนิยมเขียนกันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ 14 ในเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร จิตรกรรมฝาผนัง หรือแผ่นงานสลักหรือภาพตัวแบบคู่ที่มีปีกที่พบบนโลงหินของโรมันโบราณก็นำมาใช้กันในศิลปะศาสนาคริสต์กันเสมอในการวาดภาพทูตสวรรค์เช่นในภาพสลักหินของพระเยซูกับทูตสวรรค์สององค์เหนือพระพาหาจากราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 หรือ 8 ในสเปน[1] หรือ ในภาพพระเยซูทรงรับบัพติศมาวาดโดยปีเอโตร เปรูจีโน การสร้างภาพจากแม่แบบที่เดิมเป็นหนังสือวิจิตรมักจะพบในการสร้างหน้าต่างประดับกระจกสี ที่มักจะนำมาจาก “บิเบลียเพาเพรุม

การถ่ายทอดความคิด

[แก้]

ระหว่างการเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ในยุโรปไปจนถึงฮังการีราวระหว่างปี ค.ศ. 1220 ถึงปี ค.ศ. 1230 วีลาร์ เดอ ออนกูร์ นายช่างด้านการก่อสร้าง (Master-builder) จากพิคาร์ดในฝรั่งเศสก็ได้วาดภาพสถาปัตยกรรม, ภาพวิทยาศาสตร์ และ รูปแบบต่าง ๆ ที่ยังคงเหลือไว้เป็นสมุดภาพเอาไว้ ภาพวาดส่วนใหญ่เป็นภาพที่ไม่ใช่ภาพเขียนต้นฉบับ ที่ออนกูร์เขียนขึ้นจากสิ่งก่อสร้างและงานศิลปะที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง การที่จะทำให้ภาพเหล่านี้มีประโยชน์ในการใช้สอยโดยผู้อื่น แต่ละภาพก็มีหมายเหตุประกอบที่เขียนอย่างละเอียดบรรจงโดยนักคัดอักษรวิจิตรและนำไปใส่รวมกันไว้ในกระเป๋าเอกสารที่เรียกว่า “portfolio” ซึ่งทำให้เราทราบถึงวิธีการถ่ายทอดรูปลักษณ์, ลวดลายการตกแต่ง และความคิดความอ่านจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง

ภาพเหมือนตนเองของแม็ทธิว แพริส นักพรตคณะเบเนดิกติน ผู้เป็นนักบันทึกประวัติศาสตร์และ จิตรกรเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร และ นักเขียนแผนที่ชาวอังกฤษ

แม้ว่าชื่อของช่างสลักหิน, จิตรกร, นักเขียนเอกสารตัวเขียนวิจิตร และ นักสร้างงานกระจกสีส่วนใหญ่แล้วจะสูญหายไปแต่เราก็ยังสามารถที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินบางคนได้บ้าง เช่น

สื่อมวลชนและที่ตั้ง

[แก้]

จิตรกรรมฝาผนัง

[แก้]
จิตรกรรมบนผนังด้านนอกของอารามโมลโดวิตาในโรมาเนีย

จิตรกรรมฝาผนังคือภาพเขียนบนพื้นผิวที่ฉาบด้วยปูนพลาสเตอร์ คำว่าจิตรกรรมฝาผนังในภาษาอังกฤษ “mural” มาจากภาษาลาตินว่า “muralis” ซึ่งเป็นงานที่มีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับงานโมเสกหรืองานกระจกสี และเป็นงานที่มีอายุยืนยาวอยู่ได้นานถ้าอยู่ในสภาพดี แต่ง่ายต่อการเกิดความเสียหายถ้าถูกความชื้นและรอยด่างจากควันเทียน จิตรกรรมฝาผนังที่บรรยายเรื่องราวมักจะเขียนกันบนตอนบนของผนังตอนบนหรือบนเพดาน และตอนล่างก็อาจจะเขียนให้ดูเหมือนหินอ่อนหรือม่าน นอกจากบริเวณดังกล่าวแล้วก็ยังมีเขียนกันตามโค้ง, เพดานโค้ง และ โดม

จิตรกรรมฝาผนังเป็นงานศิลปะที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการตกแต่งในสิ่งก่อสร้างของโรมันโบราณ จิตรกรรมฝาผนังตกแต่งสิ่งก่อสร้างทางคริสต์ศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดพบในสุสานใต้ดินแห่งกรุงโรม ภาพที่วาดหลายภาพเป็นรูปเคารพของพระเยซูในรูปแบบ “ชุมพาบาลผู้ประเสริฐ” (Good Shepherd) ที่มักจะเป็นภาพของชายหนุ่มไม่มีเครา ที่มีแกะคล้องอยู่บนไหล่ อีกหัวข้อหนึ่งที่นิยมกันคือ “แม่พระและพระกุมาร”, “โยนาห์” ถูกโยนลงทะเล, และ “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” ภาพเขียนภาพหนึ่งที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีมากอยู่ในสุสานอเรลลีที่เป็นภาพแรก ๆ ของพระเยซูที่กลายมาเป็นภาพที่เขียนโดยทั่วไป เป็นภาพชายชาวยิวมีหนวดสวมเสื้อคลุมยาว ภาพนี้เป็นภาพที่ทรงทำการเทศนาแก่ฝูงแกะและแพะไม่ใช่แก่กลุ่มชน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่น จิตรกรรมฝาผนังต่อมากลายมาเป็นงานศิลปะที่นิยมใช้ตกแต่งคริสต์ศาสนสถานโดยทั่วไป

หัวข้อเรื่องที่เขียนจากคัมภีร์ไบเบิลจะพบโดยทั่วไปในบริเวณต่าง ๆ ที่ประชากรนับถือคริสต์ศาสนาโดยทั่วไป ในโรมาเนียมีกลุ่มคริสต์ศาสนสถานที่ต่างจากคริสต์ศาสนสถานอื่น ๆ ที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังทั้งภายนอกและภาพในโบสถ์กันอย่างอร่ามหรูหรา บนซุ้มโค้งใหญ่เป็นภาพ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย[6]

นอกจากนั้นแล้วจิตรกรรมฝาผนังก็ยังเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปในอิตาลีที่วาดโดยวิธีที่เรียกว่า “จิตรกรรมฝาผนังปูนสด” หรือ “fresco” ที่เขียนบนปูนพลาสเตอร์ที่เพิ่งฉาบเสร็จที่ยังมีความชื้นอยู่บ้าง งานเขียนชิ้นเอกหลายชิ้นจากสมัยยุคกลาง จนถึง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยายังคงมีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบันอยู่หลายแห่ง ชิ้นที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของการเขียนบรรยายเรื่องจากคัมภีร์ไบเบิลมิได้เป็นงานเขียนที่สร้างขึ้นสำหรับคนยากจนและเป็นงานเขียนสำหรับผู้มีอำนาจและมีฐานะดี คือ งานเขียนภาพบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีนโดยไมเคิล แอนเจโลระหว่าง ค.ศ. 1508 ถึง ค.ศ. 1512 สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2

การเขียนจิตรกรรมฝาผนังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสโดยเฉพาะทางตอนใต้ที่ผนังมักจะมีขนาดที่กว้างกว่าผนังที่สร้างกันทางตอนเหนือที่จะนิยมการสร้างหน้าต่างประดับกระจกสีมากกว่า ในอังกฤษจิตรกรรมฝาผนังมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้นเพราะถูกทำลายไปมากระหว่างการปฏิรูปศาสนา งานจิตรกรรมฝาผนังชั้นดีมีพบอยู่บ้างในเยอรมนีและสเปน

งานโมเสก

[แก้]
งานโมเสกจากราวปี ค.ศ. 1118 ภายในอะยาโซเฟียในอิสตันบุลในตุรกี เป็นภาพจักรพรรดิจอห์นที่ 2 โคมเนนอสแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์และพระมเหสีไอรีนขนาบแม่พระและพระกุมาร

งานโมเสกเป็นศิลปะตกแต่งบนพื้นราบโดยใช้ชิ้นหินหรือแก้วหลากสีฝังบนปูน งานโมเสกทองจะใช้การแปะแผ่นทองคำเปลวลงบนแผ่นกระจกใส และฝังด้านที่เป็นแผ่นทองคำเปลวลงบนปูน สีทองที่เห็นก็จะเป็นสีทองที่ลอดมาจากกระจกทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการขีดข่วนหรือการร่อน การใช้โมเสกสีทองมักจะใช้ในการสร้างฉากหลังของตัวรูปแบบที่ทำให้ภาพดูสว่างเรือง การฝังโมเสกทำได้บนพื้นผิวที่ราบเท่ากันที่แบนหรือโค้งที่มักจะใช้ในการตกแต่งเพดานโค้งหรือโดม คริสต์ศาสนสถานที่ตกแต่งด้วยโมเสกแทบทั้งสถานจะดูเหมือนเป็นห้องที่อาบด้วยภาพและลวดลายไปทั้งห้อง

งานโมเสกเป็นการตกแต่งที่นิยมกันทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน และเนื่องจากความคงทนของงานทำให้มีการนำไปใช้ในการตกแต่พื้นด้วย ที่เริ่มด้วยการตกแต่งด้วยกรวดชิ้นเล็ก ๆ หรือแผ่นกระเบื้องหินอ่อนชิ้นเล็ก ช่วงศาสนาคริสต์ยุคแรกก็จะนิยมการตกแต่งด้วยกระเบื้องกระจกบนผนังและเพดานโค้ง ตัวอย่างก็ได้แก่การตกแต่งเพดานโค้งที่มิได้เป็นเรื่องราวภายในที่เก็บศพซานตาคอแสตนซาในกรุงโรม ซึ่งเป็นที่เก็บพระศพของคอนสแตนตินาพระราชธิดาในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 แต่ตัวอย่างที่ดีของการตกแต่งอันวิจิตรจากปลายสมัยโรมันก็เห็นจะเป็นการตกแต่งมุขโค้งด้านสกัดของโบสถ์ซานตาพูเดนเซียนาในกรุงโรม ส่วนการตกแต่งที่โบสถ์ซานตาพราสเซเดไม่ไกลนักเป็นการตกแต่งงานโมเสกแบบไบแซนไทน์

งานโมเสกเป็นการตกแต่งที่นิยมกันเป็นอันมากในสมัย ไบแซนไทน์ที่มักจะพบทั่วไปในกรีซ, ตุรกี, อิตาลี, ซิซิลี, รัสเซีย และอื่น ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการใช้โมเสกทองในการตกแต่งโดมของมหาวิหารเซนต์พอลในกรุงลอนดอนเป็นภาพ “กำเนิดมนุษย์[7] เก็บถาวร 2009-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แต่งานโมเสกเป็นงานที่หาดูได้ยากในบริเวณตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ในยุโรปตะวันตก นอกไปจากปรากและอาเคิน

งานสลักหิน

[แก้]

ประติมากรรมที่แกะจากหินเป็นงานศิลปะที่ถาวรที่สุดในการสร้างภาพ ความทนทานต่อสภาพภาวะอากาศทำให้เป็นวิธีที่ใช้ในการสร้างสิ่งตกแต่งประดับภายนอกคริสต์ศาสถานที่อาจจะเป็นทั้งรูปสลักลอยตัวหรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้าง หรือเป็นแผงภาพนูน รูปสลักที่ใช้ตกแต่งภายนอกสิ่งก่อสร้างที่คงอยู่อย่างไม่เสื่อมโทรมเท่าใดนักมาจนถึงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็มาถูกฝนกรดกัดกร่อนทำลายเสียหายไปมากอย่างรวดเร็ว แต่รูปสลักหินที่ใช้ตกแต่งภายในสิ่งก่อสร้างยังคงรักษารูปทรงไว้เป็นอย่างดีเช่นรูปสลักภาพชุดชีวิตของนักบุญยอห์นให้บัพติศมาภายในมหาวิหารอาเมียงในฝรั่งเศส หรือรูปสลักบนฉากหินที่มหาวิหารซอลสบรีในอังกฤษ

ประติมากรรมสลักหินของคริสต์ศาสนามีพื้นฐานมาจากรูปสลักบนโลงหินของโรมันที่มักจะเป็นภาพสลักตกแต่ง โลงหินของคริสเตียนมักจะมีภาพตกแต่งที่เป็นแผงขนาดเล็กที่เป็นเรื่องราวหรือภาพพระเยซูบนบัลลังก์ล้อมรอบด้วยนักบุญ ในสมัยไบแซนไทน์ในอิตาลีการตกแต่งด้วยประติมากรรมนูนก็เริ่มนำไปใช้ในการตกแต่ง “คาเทดรา”, “แท่นเทศน์”, “ซุ้มชิโบเรียม” และสิ่งอื่น ๆ ภายในคริสต์ศาสนสถาน ประติมากรรมสลักหินบนเสามักจะเป็นประติมากรรมตกแต่งแทนที่จะเป็นการบรรยายเรื่องราว ประติมากรรมที่บรรยายเรื่องราวในยุโรปตะวันตกมารุ่งเรืองที่สุดในสมัยโรมาเนสก์ และ สมัยกอทิก โดยเฉพาะในการตกแต่งมุขด้านหน้าด้านตะวันตก (West Front) ของมหาวิหาร ที่แพร่ขยายไปทั่วยุโรป ในอังกฤษการตกแต่งสถาปัตยกรรมด้วยประติมากรรมสลักหินที่เป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ที่เด่นที่สุดจะเป็นการตกแต่งฉากหินที่เป็นช่องเล็กช่องน้อยบนมุขด้านหน้าด้านตะวันตก แต่งานเหล่านี้ก็ถูกทำลายเสียหายไปมากระหว่างการปฏิรูปศาสนา

หน้าต่างประดับกระจกสี

[แก้]

หน้าต่างประดับกระจกสีสร้างโดยการตัดกระจกสีเป็นชิ้นเล็กและนำมาประกอบเป็นภาพตามแม่แบบที่ร่างไว้โดยเชื่อมต่อกันด้วยตะกั่ว ภายในกรอบแข็งที่ทำด้วยโลหะ รายละเอียด เช่น รายละเอียดบนใบหน้าก็อาจจะใช้วิธีวาดบนผิวกระจก และย้อมด้วยสีเหลืองสดเพื่อทำให้บริเวณที่ขาวเด่นขึ้น ผลที่ออกมาก็จะเป็นภาพที่อร่ามตาด้วยสีสัน และเพิ่มความสว่างให้แก่บริเวณภายในของตัวโบสถ์ด้วย ขณะที่ตัวหน้าต่างประดับกระจกสีจะใช้เป็นการบรรยายเรื่องราว ถ้าตะกั่วที่ใช้ในการเชื่อมได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดีหน้าต่างก็จะคงทนอยู่ได้นานเป็นเวลาหลายร้อยปี

ในอิตาลีระหว่างสมัยไบแซนไทน์หน้าต่างมักจะปิดด้วยแผ่นอะลาบาสเทอร์บาง ๆ ที่แม้จะไม่เป็นรูปแต่ก็จะเป็นลวดลายเมื่อแสงส่องผ่าน งานอะลาบาสเทอร์ชิ้นที่เป็นรูปก็มีบ้างเช่นแผ่นอะลาบาสเทอร์ที่เป็นภาพพระวิญญาณบริสุทธิ์ภายในมหาวิหารนักบุญเปโตรในกรุงโรม [8] งานกระจกสีที่เป็นภาพแรกที่สุดเท่าที่ทราบเป็นภาพพระเศียรของพระเยซูขนาดเล็กที่บางชิ้นหลุดหายไปที่พบในคูไม่ไกลจากอารามลอร์ชที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 นอกจากนั้นก็มีแผ่นกระจกสีไม่มากนักจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 และ 11 ที่ปัจจุบันเป็นของพิพิธภัณฑ์ แผ่นแรกที่สุดเป็นแผ่นกระจกสีสี่แผ่นของพระเจ้าเดวิดและประกาศกสามองค์ที่มหาวิหารเอาก์สบวร์คในเยอรมนีที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1100 หน้าต่างประดับกระจกสีเป็นงานศิลปะหลักของการตกแต่งมหาวิหารและคริสต์ศาสนสถานต่าง ๆ ในฝรั่งเศส, สเปน, อังกฤษ และ เยอรมนี ในอิตาลีก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากนักที่สำคัญคือหน้าต่างที่สร้างโดยดุชโชที่มหาวิหารซีเอนา และที่ฐานของโดมที่มหาวิหารฟลอเรนซ์ที่ออกแบบโดยศิลปินฟลอเรนซ์ของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่รวมทั้งโดนาเทลโล, เพาโล อูเชลโล และ ลอเร็นโซ กิเบอร์ติ[9] เก็บถาวร 2006-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

จิตรกรรมแผง

[แก้]

จิตรกรรมแผงคืองานจิตรกรรมที่เขียนบนแผ่นไม้ ก่อนที่จะมีการเขียนด้วยสีน้ำมันที่ริเริ่มโดยศิลปินชั้นครูในเนเธอรแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จิตรกรรมแผงก็จะเขียนด้วยวิธีที่เรียกว่า “เทมเพอรา” โดยการผสมสีฝุ่นกับไข่แดง และเขียนลงบนพื้นขาว สีสันจะเกิดขึ้นจากชั้นสีต่าง ๆ ที่จิตรกรเขียนด้วยฝีแปรงสั้น ๆ รายละเอียดสุดท้ายก็มักจะตกแต่งด้วยทองคำเปลว เมื่อมีการเขียนภาพด้วยสีน้ำมันที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป การเขียนภาพก็ทำได้ง่ายขึ้น และ จิตรกรก็สามารถเขียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ด้วย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 การเขียนด้วยวิธีที่ว่านี้ทำกันในอียิปต์ในการเขียน “ภาพเหมือนผู้ตาย” ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในสภาพที่อยู่เป็นอันมาก จิตรกรรมแผงเทมเพอราเป็นศิลปะที่นิยมทำกันในสมัยไบแซนไทน์และเป็นวิธีที่นิยมในการเขียน “ไอคอน” การเขียนด้วยเทมเพอราเป็นวิธีการเขียนที่ต้องทำกันอย่างประณีตบรรจง ซึ่งทำให้ภาพที่เขียนมักจะมีขนาดเล็ก และมักนำมาติดกันเป็นแผงโดยการใช้บานพับที่เรียกว่า “บานพับภาพสอง” หรือ “บานพับภาพสาม” หรือ “บานพับภาพหลาย” (polyptych) ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพบนบานพับ จิตรกรรมแผงที่ใช้เป็นฉากแท่นบูชายังคงมีเหลือให้เห็นอยู่โดยเฉพาะในอิตาลีที่รวมทั้งงานเขียนจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยศิลปินเช่นดุชโช, ชิมาบูเย และ จอตโต ดี บอนโดเน

เมื่อเทคนิคการเขียนภาพเปลี่ยนไปเป็นการเขียนด้วยสีน้ำมันจิตรกรรมแผงสีน้ำมันก็มาแทนที่จิตรกรรมแผงเทมเพอรา สีน้ำมันมีคุณสมบัติที่ทำให้สีดูอร่ามและลึกกว่าการเขียนด้วยสีฝุ่น ที่ทำให้ผิวภาพมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติมากกว่า

งานสีน้ำมันบนผ้าใบ

[แก้]

สีน้ำมันประกอบด้วยรงควัตถุผสมกับน้ำมันเมล็ดฝ้ายหรือน้ำมันชนิดอื่น ซึ่งเป็นวัสดุการเขียนที่ใช้เวลแห้งนาน ที่เป็นวิธีการเขียนที่ทำให้ศิลปินสามารถนำไปใช้ในการเขียนภาพแนวต่าง ๆ ได้ เช่น การเขียนบนแผงไม้แข็ง แต่เพราะความยืดหยุ่นของสีผสมทำให้ใช้เขียนบนผ้าใบที่ทำจากผ้าลินินเนื้อแน่นก็ได้ ทั้งน้ำมันเมล็ดฝ้ายและผ้าลินินจึงต่างก็เป็นผลิตผลของพืชชนิดเดียวกันที่ปลูกกันทางยุโรปตอนเหนือ การขึงผ้าใบบนกรอบสามารถทำให้สร้างภาพเขียนขนาดใหญ่ได้มากกว่าการเขียนบนแผ่นไม้ที่ทำกันมาแต่เดิม นอกจากนั้นน้ำหนักของภาพก็ยังเบากว่าและขนย้ายได้สะดวกกว่า แต่ง่ายต่อการได้รับความเสียหายระหว่างการขนย้ายมากกว่า

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จิตรกรรมสีน้ำมันจะเขียนกันอย่างปราณีตบรรจงเพื่อสร้างความราบมันและสว่างเรืองจากชั้นสีต่าง ๆ เพื่อเลียนแบบคุณสมบัติของการเขียนด้วยเทมเพอรา ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 การใช้สีน้ำมันเพิ่มความเป็นอิสระมากขึ้น และการใช้ฝีแปรงก็กว้างและหยาบขึ้นจนสามารถเห็นฝีแปรงแบบต่าง ๆ ได้

สีน้ำมันเดิมเป็นวิธีการเขียนที่นิยมกันในการเขียนฉากแท่นบูชาและในที่สุดก็มาแทนที่การเขียนด้วยเทมเพอรา ความง่ายของการเขียนภาพขนาดใหญ่ด้วยสีน้ำมันนอกจากจะสามารถทำให้จิตรกรสามารถสร้างฉากแท่นบูชาขนาดใหญ่กว่าเดิมได้ และมาแทนที่บานพับภาพที่ประกอบด้วยแผงเล็ก ๆ มาเชื่อมติดต่อกัน แต่ยังมีน้ำหนักเบากว่าไม้มาก ซึ่งทำให้สามารถใช้ติดตั้งบนเพดานได้ จิตรกรสามารถเขียนภาพบนผ้าใบที่ขึงไว้ในกรอบก่อนที่จะนำไปติดตั้งได้ โดยไม่ต้องใช้การตั้งนั่งร้านขึ้นไปเขียนกันบนเพดาน จิตรกรเวนิส เช่น ทิเชียน, ทินโทเรตโต และ เพาโล เวโรเนเซต่างก็เขียนงานโดยวิธีนี้ ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ เขียน “ทุกขกิริยาของพระเยซู” เป็นภาพเขียนขนาดใหญ่

งานไม้

[แก้]

คุณสมบัติของไม้เหมาะกับการใช้ในการเป็นศิลปะตกแต่งต่าง ๆ ภายในคริสต์ศาสนสถาน ที่อาจจะเป็นงานแกะสลัก, งานปะแผ่นไม้บนผนัง หรือ งานฝังไม้กับวัสดุอื่น ไม้สามารถนำไปขัดเงา, ทาสี หรือ ปิดทองก็ได้ งานที่ทำก็อาจจะเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว งานที่แกะอย่างปราณีตโดยช่างฝีมือเช่นงานของทิลมัน รีเมนชไนเดอร์ หรือ งานสลักฉากแท่นบูชาที่คาลคาร์ทางตอนเหนือของเยอรมนี หรืองานแกะที่นั่งในบริเวณร้องเพลงสวด ที่บาดชูสเซนรีด ทางตอนใต้ของเยอรมนี เป็นงานที่ดูเหมือนมีชีวิตจิตใจ แต่งานแกะสลักไม้เหล่านี้ต้องได้รับการอนุรักษ์จากราและแมลงที่จะสร้างความเสียหายให้แก่เนื้อไม้

ในสมัยไบแซนไทน์งานแกะสลักจะนิยมการแกะงาช้างมากกว่าไม้ และส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นงานแกะสลักศิลปะคริสต์ศาสนาขนาดเล็ก, แผง หรือ เฟอร์นิเจอร์ เช่น งานแกะ “บัลลังก์แม็กซิมัส” สำหรับแม็กซิมัสแห่งราเวนนาผู้เป็นพระสังฆราชแห่งราเวนนา ที่เป็นภาพแกะนูนที่เป็นเรื่องราวของพระคัมภีร์ไบเบิลและนักบุญ ประติมากรรมไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปที่ยังมีอยู่เป็นงานไม้โอ้คทาสีปิดทองเป็นภาพการตรึงกางเขนของพระสังฆราชเยโรที่ทำระหว่าง ค.ศ. 969 ถึง ค.ศ. 971 ภายในมหาวิหารโคโลญ[10] หลังจากนั้นประติมากรรมไม้ก็มีเหลืออยู่มาขึ้นทั้งในรูปของกางเขน, รูปสลักทั้งเล็กและใหญ่ที่อาจจะเป็นพระแม่มารีกับพระบุตร หรือ นักบุญ เฟอร์นิเจอร์ไม้ในคริสต์ศาสนสถานก็จะสลักเสลากันอย่างละเอียดสวยงามตามแต่กำลังทรัพย์ นอกจากนั้นก็ยังมีการสลักคาน และปุ่มไม้บนเพดาน ส่วนการแกะสลักฉากกางเขนก็ทำกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา งานแกะไม้โดยเฉพาะการแกะฉากแท่นบูชาในเยอรมนีมารุ่งเรืองที่สุดในสมัยปลายกอธิค/ต้นเรอเนสซองซ์ ในเบลเยียมการแกะสลักไม้มารุ่งเรืองที่สุดในสมัยบาโรกเมื่อมีการแกะแท่นเทศน์ขนาดใหญ่กันอย่างแพร่หลาย

งานโลหะ

[แก้]

งานโลหะของคริสต์ศิลป์มีหลายรูปหลายแบบตั้งแต่กางเขนขนาดเล็กไปจนถึงประติมากรรมขนาดใหญ่ที่สร้างเป็นอนุสรณ์ให้แก่ผู้เสียชีวิตอันหรูหรางดงาม หรือในรูปของฉากกางเขนอันวิจิตร โลหะที่ใช้ก็มีตั้งแต่ทองคำเปลวหรือเงินถักไปจนถึงการหล่อสัมริด และ เหล็กดัด งานโลหะมักจะใช้ในการสร้างภาชนะที่ใช้สำหรับการทำพิธีศีลมหาสนิท, ในการสร้างเชิงเทียน และการตกแต่งขอบคันด้วยลวดลายและเทคนิคการสร้างงานโลหะแบบต่าง ๆ โลหะสามารถใช้ในการหล่อหลอม, ตี, บิด, สลัก, ฝัง และ ลงยา ถ้าอนุรักษ์อย่างถูกต้องก็จะเป็นงานที่คงทนอยู่ได้เป็นเวลานาน โลหะส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นทอง, เงินลงยา และ สัมริดลงยา

ตั้งแต่สมัยไบแซนไทน์ตอนต้นก็เริ่มจะมีงานโลหะที่เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับการทำพิธีศีลมหาสนิทออกมาในหลายรูปหลายแบบ บางชนิดเช่น “จานขนมปังศักดิ์สิทธิ์” (Paten) ที่พบที่อันติโอคมีการตกแต่งผิวโลหะ (Repoussé) เป็นลวดลายภาพเกี่ยวกับศาสนา จากคริสต์ศตวรรษที่ 8 ก็เริ่มมีการสร้างกางเขนแบบไบแซนไทน์ และถ้วยอาร์ดาห์จากไอร์แลนด์ที่ตกแต่งด้วยการลงยาคลัวซอนเน (Cloisonné) ตั้งแต่สมัยโรมาเนสก์เป็นต้นมาก็มีงานโลหะต่าง เช่น การประดับแท่นบูชาด้วยทองที่มหาวิหารบาเซิล (ค.ศ. 1022), ประตูสัมริดของมหาวิหารมอนรีอาลโดยโบนันโน ปิซาโน (ค.ศ. 1185), อ่างศีลจุ่มอันวิจิตรที่โบสถ์นักบุญมีคาเอล ฮิลเดสไฮม์ (ค.ศ. 1240) และหีบใส่มงคลวัตถุและงานตกแต่งแท่นเทศน์ของมหาวิหารโคโลญ, งานตกแต่งแท่นบูชา และ สิ่งตกแต่งอื่น ๆ เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1400 โดนาเทลโลประติมากรผู้มีชื่อเสียงถูกจ้างให้สร้างรูปลักษณ์สำหรับฉากสำหรับบาซิลิกาซานอันโตนิโอที่ปาดัว

พหุศิลป์

[แก้]

การสร้างงานศิลปะด้วยวัสดุหลายอย่างเป็นเรื่องที่ทำกันตามปกติ เช่น จิตรกรรมสีน้ำมันมักจะอยู่ในกรอบลงยาอันงดงามหรูหรา สิ่งที่ตกแต่งอย่างอร่ามเรืองรองมักจะเป็นการตกแต่งที่ใช้สื่อผสมโดยการผสานงานศิลปะประเภทต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมและประติมากรรมเข้าเป็นงานชิ้นเดียวกัน

ที่บาซิลิกาซานมาร์โค งานที่มีชื่อเสียงฉากแท่นบูชาทองซานมาร์โค (Pala d'Oro) เป็นฉากแท่นบูชาที่ทำติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีฉะนั้นลักษณะงานจึงมีทั้งอิทธิพลของศิลปะไบแซนไทน์และศิลปะกอธิค ฉากแท่นบูชาทองทำด้วยทองคำฝังด้วยเอนนาเมล, อัญมณี และ ไข่มุก งานสลักหินแข็งและงานแกะอัญมณีถือกันว่าเป็นงานที่มีคุณค่าในสมัยโบราณที่ใช้ช่างทองผู้มีฝีมือเป็นผู้ทำ ในสมัยบาโรกการใช้สื่อผสมก็เจริญถึงจุดสูงสุดเมื่อมีการสร้างแท่นบูชาจากงานฝังหินประดับ[3] (Pietra dura) และหินอ่อน, ไม้และโลหะ ที่มักจะมีจิตรกรรมสีน้ำมันประกอบด้วย งานบางชิ้นก็ออกมาเหมือนงานลวงตาที่ทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกว่าได้เห็นมโนทัศน์

งานสื่อผสมอื่นที่นิยมกันก็ได้แก่ประติมากรรมสำหรับสักการะโดยเฉพาะภาพพระแม่มารี ที่มักจะมีพระพักตร์ที่เขียนบนปูนพลาสเตอร์ แต่ก็มีบ้างที่ขี้ผึ้ง, งาช้าง, กระเบื้อง และ เครื่องดินเผาสีหม้อใหม่[4] (terracotta) ประติมากรรมก็มักจะทรงเครื่องอย่างหรูหราด้วยผ้าซาตินตกแต่งด้วยเปียโลหะ และ ลูกไม้, ไข่มุก, ประคำ และบางครั้งก็จะมีอัญมณี หรือสิ่งตกแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถวายโดยผู้ศรัทธา

งานสื่อผสมอีกแบบหนึ่งที่สำคัญคืองาน “จัดฉาก” (Tableau) ที่อาจจะเป็นฉาก “พระเยซูในสวนเกทเสมนี” ที่นิยมสร้างกันในสุสานในเยอรมนี หรือ ฉาก “ความโทมนัส” ที่มักจะเป็นงานชุดที่ตั้งภายในคริสต์ศาสนสถานในเยอรมนีและฝรั่งเศส หรือ “การประสูติของพระเยซู” ที่ทำกันโดยทั่วไประหว่างเทศกาลคริสต์มัส

หัวเรื่อง

[แก้]

ฉากจากพระคัมภีร์ไบเบิล

[แก้]
ชีวิตของพระเยซู” - ฉากแท่นบูชาอิเซนไฮม์โดยแม็ทไทอัส กรึนวอลด์จากโบสถ์โคลมาร์

ชีวิตของพระเยซู หัวข้อที่นิยมกันที่สุดในการสร้าง “พระคัมภีร์คนยาก” คือ งานเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซู ที่รวมทั้งการประสูติของพระเยซู, การชื่นชมของแมไจ, การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ, พระเยซูผจญมาร, ทุกขกิริยาของพระเยซู, การตรึงกางเขนของพระเยซู และ พระเยซูคืนชีพ การทำก็อาจจะเป็นภาพต่อเนื่องกันเป็นชุดที่อาจจะเป็นงานจิตรกรรม, งานโมเสก, งานประติมากรรมไม้ หรือ หน้าต่างประดับกระจกสี ที่อาจจะตั้งบนผนังของคริสต์ศาสนสถาน โดยเฉพาะภายในมหาวิหารในฝรั่งเศส หรือ ในเยอรมนี ภาพก็อาจจะตั้งอยู่ในช่องบนฉากกางเขนเพื่อที่จะให้ผู้เดินผ่านรอบจรมุขจะได้มองเห็นได้ง่าย

แต่ก็บ่อยครั้งการสร้างงานก็จะเป็นเพียงช่วงชีวิตช่วงใดช่วงหนึ่ง ที่นิยมกันมากก็คือฉากการตรึงกางเขนและพระเยซูคืนชีพ แต่หัวเรื่องอาจจะแตกต่างกันจากโบสถ์หนึ่งไปอีกโบสถ์หนึ่ง โบสถ์ที่ตั้งอยู่ใกล้สถานพยาบาลก็อาจจะเน้นในเรื่องการรักษาโดยปาฏิหาริย์ หรืออีกโบสถ์หนึ่งก็จะเน้นชีวิตในด้านพระภารกิจของพระองค์ที่ทรงกระทำต่อผู้อื่น หัวเรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20

ชีวิตของพระนางพรหมจารี การบรรยายพระคัมภีร์อีกรูปแบบหนึ่งคือการสร้างภาพชุด “ชีวิตของพระนางพรหมจารี” ในสมัยแรกที่สร้างก็มักจะเป็นภาพชีวิตในวัยต้นที่อาจจะมีฉากเพิ่มเติมเชิงเคลือบแคลงที่มาจากหนังสือเช่นจาก “พระวรสารนักบุญยากอบ” ที่เขียนขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 ภาพพระประวัติของพระแม่มารีย์มักจะบรรยายมาจนถึงการกำเนิดของพระเยซู ที่รวมทั้งภาพ “การนมัสการของโหราจารย์” และ “พระเยซูหนีไปอียิปต์” และข้ามมาถึงบั้นปลายชีวิตโดยเฉพาะภาพการ “การตรึงพระเยซูที่กางเขน” และในที่สุด “มรณกรรมของพระนางพรหมจารี” ที่ต่อมาในสมัยกลางมาแทนด้วยภาพ “แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

One of ten gilt bronze panels in low relief. It shows scenes in the story of Joseph visited in Egypt by his brothers, come to beg for grain in the famine. Rear left, Joseph sits on a throne while his brothers plead. Centrally is a large circular granary surrounded by arches. To the right, a group of people load a heavy sack onto a camel. To the left, a gold cup is discovered hidden in the sack of the youngest brother, a small child. The eldest brother tears his clothes in despair.
พันธสัญญาเดิม”- โจเซฟในอียิปต์บน “ประตูสวรรค์” โดยลอเร็นโซ กิเบอร์ติ

ทางสู่กางเขน งานชุดสำคัญอีกชุดหนึ่งที่นิยมทำกันคืองาน “ทางสู่กางเขน” ซึ่งเป็นภาพเกี่ยวกับทุกขกิริยาของพระเยซูที่บรรยายเหตุการณ์ความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของพระเยซูในช่วงเวลาก่อนที่จะทรงถูกพิจารณาคดี และถูกตัดสินให้ถูกประหารชีวิตโดยการตรึงกางเขน การตรึงพระเยซูที่กางเขนทางสู่กางเขน” เป็นภาพชุดที่จะปรากฏในโบสถ์คาทอลิกแทบทุกแห่ง ที่ใช้ในการสักการะ และช่วยในการเป็นภาพกระตุ้นการสวดมนต์หรือการทำสมาธิ ภาพชุดทางสู่กางเขนมักจะเป็นงานจิตรกรรมสีน้ำมัน ประติมากรรมภาพนูน หรือ ไม้สลักนูน ที่ประดับในกรอบที่ห้อยรายบนผนังรอบภายในโบสถ์ เพื่อให้ง่ายต่อการตามลำดับเรื่องราว

พันธสัญญาเดิม งานจากพันธสัญญาเดิมก็เป็นงานอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยม ที่อาจจะเป็นภาพ “พระเจ้าสร้างโลกและมนุษย์” และ ภาพ “ขับจากสวรรค์” เพราะเนื่องมาจากการผิดพระประสงค์ของพระเจ้าของอาดัมและอีฟ งานครบชุดที่เกี่ยวกับพันธสัญญาเดิมเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก ชุดที่เก่าที่สุดทำด้วยโมเสกราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 ภายในมหาวิหารซานตามาเรียมายอเรในกรุงโรม นอกจากนั้นก็มีจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์อีกสองชุดในอิตาลี ชุดหนึ่งวาดโดยจุสโต เดมนาบวยภายในหอศีลจุ่มของมหาวิหารปาดัวในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และอีกภาพหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันโดยบาร์โทโล ดิ เฟรดิภายในโบสถ์ที่ซันจีมิญญาโน นอกจากนั้นก็ปรากฏบนหน้าต่างประดับกระจกสีเช่นที่วิหารแซงต์-ชาเปลในกรุงปารีส แต่ภาพชุดพันธสัญญาเดิมที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นภาพที่ปรากฏบนประตูสัมริดของหอศีลจุ่มซานจิโอวานนิแห่งฟลอเรนซ์ที่สร้างโดยลอเร็นโซ กิเบอร์ติที่เรียกกันว่า “ประตูสวรรค์” ส่วนภาพอื่นที่ปรากฏก็มักจะมีขนาดเล็กกว่าที่อาจจะสร้างเหนือประตูหรือหน้าต่างเป็นต้น

ชีวิตของนักบุญ

[แก้]

คริสต์ศาสนสถานและมหาวิหารหลายแห่งใช้ชื่อนักบุญในสมัยแรก ๆ หรือบางโบสถ์ก็จะก่อตั้งโดยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลบางคนผู้ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญ ความสัมพันธ์นี้ก็มักจะออกมาในรูปของการตกแต่งโบสถ์ด้วยงานศิลปะ ที่อาจจะเป็นภาพชีวประวัติของบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวกับการกำเนิด, กิจการที่กระทำ และ/หรือ การพลีชีพ

การตกแต่งก็อาจจะเป็นระเบียงภาพ เช่น ประติมากรรมภาพนูนของเรื่องราวชีวิตของนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ที่มหาวิหารอาเมียงส์ในฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่รอบนอกของบริเวณพิธีในบริเวณจรมุข หรืออาจจะเป็นภาพเดี่ยวเช่นประติมากรรมนักบุญเซบาสเตียนขณะที่ถูกผูกกับเสาหรือต้นไม้และมีลูกศรปักเต็มตัว หรือจิตรกรรมหรือประติมากรรมของนักบุญคริสโตเฟอร์แบบพระเยซูข้ามแม่น้ำ เป็นต้น

เรื่องราวชีวิตของนักบุญอาจจะมีพื้นฐานมาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นที่น่าเชื่อถือ หรืออาจจะมาจากเรื่องราวที่ประดิษฐ์คิดค้นกันขึ้น บางเรื่องก็ง่ายต่อการเข้าใจว่าเป็นผู้ใด เช่นเรื่องราวเกี่ยวกับโจนออฟอาร์คผู้แต่งตัวอย่างนักรบ, นักบุญสตีเฟนผู้เป็นมรณสักขีองค์แรกของคริสต์ศาสนา หรือ นักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิผู้เทศนานก แต่ก็มีนักบุญอีกมากที่เป็นที่รู้จักกันเฉพาะในท้องถิ่น เช่นนักบุญฟินาแห่งซานจิมิยาโนที่มีภาพเขียนอันงดงามขณะที่กำลังนอนเสียชีวิตที่เขียนโดยโดเมนนิโค เกอร์ลันเดา

ประกาศก, สาวก และ สังฆราช

[แก้]
มรณสักขีของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์, แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย, มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์, อัครสังฆราชออสคาร์ โรเมโร และพาสเตอร์เดียทริค บอนเฮิฟเฟอร์

การสร้างงานเกี่ยวกับประกาศก, สาวก และ สังฆราช หรือผู้เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนามักจะทำในบริบทของการใช้เป็นสิ่งตกแต่ง หัวเรื่องก็อาจจะเป็นหัวเรื่องที่เข้าใจง่าย เช่นการสร้างแถวบนหน้าต่างประดับกระจกสีเป็นภาพของประกาศกผู้พยากรณ์การมาเกิดของเมสไซยาห์ หรือภาพในช่องโค้งบนฉากก็อาจจะเป็นรูปสลักของพระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชศรัทธาต่อศาสนา เช่นการตกแต่งระเบียงกษัตริย์บนผนังภายในด้านตะวันตกของมหาวิหารโนเทรอดามแห่งแรงส์ ถ้าเป็นสาวกก็มักจะเป็นอัครสาวกสิบสององค์ แต่บางครั้งก็จะรวมนักบุญพอล, นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์, นักบุญแมรี แม็กดาเลน และอื่น ๆ ซึ่งมักจะเป็นนักบุญที่นิยมกัน หรือบางครั้งก็จะขึ้นอยู่กับท้องถิ่นเช่นความนิยมในการสร้างภาพนักบุญเซบาสเตียน หรือ นักบุญร็อคในอิตาลี หรือความนิยมในการสร้างภาพนักบุญจอห์น นโพมุคในสาธารณรัฐเช็กเป็นต้น ลักษณะรูปทรงที่มักจะเป็นแนวตั้งทำให้เหมาะกับการใช้ตกแต่งประกอบโครงร่างทางสถาปัตยกรรม ที่มักจะเป็นทรงเสา, รอบประตูหรือหน้าต่าง หรือบนชั้นบนด้านหน้าของมหาวิหาร

การเลือกว่าจะสร้างรูปใดหรือหัวข้อใดบางครั้งก็ยากที่จะเข้าใจได้ การเลือกก็ขึ้นอยู่กับปรัชญาท้องถิ่น หรือความต้องการชั่วแล่นของผู้จ้างงานอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งรูปที่สร้างก็ง่ายต่อการบอกได้ว่าเป็นผู้ใดเพราะมีสัญลักษณ์ประจำตัวประกอบ เช่นนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ก็อาจจมีกางเขนใบหญ้าและแถบหรืออาจจะสวมเสื้อขนอูฐ, นักบุญแมรี แม็กดาเลนก็จะมีผอบน้ำมันหอม, นักบุญปีเตอร์ถือกุญแจสวรรค์, นักบุญอากาธาถือถาดที่มีหน้าอก ผู้เป็นมรณสักขีก็มักจะถือใบปาล์ม หรือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่า นักบุญเดอนีส์ประคองหัวตนเองที่อ้างกันว่าเดินถือรอบเมือง

หัวข้อที่นิยมสร้าง

เทววิทยาศาสนคริสต์

[แก้]

“จากวิวรณ์ถึงวิวรณ์”

[แก้]

การสื่อความสำนึก, ความรู้สึกผิด และความกลัว

The sculptured section from above a Gothic door. The pointed archway has four molded bands carved with small angels. The triangular section framed by the arch has the figure of Christ surrounded by the Four Heavenly Beasts, the eagle of St John, the winged ox of St Luke, the winged man of St Matthew and the winged lion of St Mark.
“วิวรณ์”- พระเยซูผู้ทรงเดชานุภาพหน้ามหาวิหารอองเฌส์
A Gothic fresco showing, to the right, a carved throne on which sits the Virgin Mary with the Christ Child. Around the throne are four angels. To the left stands St Francis in a brown robe, looking small and humble. The colour of the background and robes is predominantly sky blue, but the ancient surface has flaked to show brown underpainting. The faces are gentle and realistic.
“การไถ่บาปด้วยความรัก”- แม่พระและพระกุมารกับนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี โดย ชิมาบูเยภายในชั้นล่างของมหาวิหารนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี

วัตถุประสงค์หนึ่งในการสร้าง “พระคัมภีร์คนยาก” ภายในคริสต์ศาสนสถานก็เพื่อแสดงให้ผู้เข้ามาสักการะได้เห็น “ทางไปสู่การไถ่บาป” (Way to Salvation) การบรรลุถึงจุดที่ว่าทำได้โดยการดำเนินตามวิวรณ์สองทาง โดยเข้าถึงพระเจ้าด้วยตัวของผู้ถือคริสต์ศาสนาเอง และ โดยการสร้างงานศิลปะ

การที่ “พระคัมภีร์คนยาก” จะสามารถบรรลุจุดประสงค์นี้ได้ ผู้ชมงานศิลปะก็จะต้องมีความรู้และยอมรับปรัชญาพื้นฐานว่าตนเป็นสัตว์โลกผู้มีบาปฉะนั้นจึงต้องถูกนำมาพิจารณาในวันตัดสินครั้งสุดท้าย ในวันนั้นซึ่งเป็นวันที่บรรยายในหนังสือเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “หนังสือวิวรณ์ของนักบุญยอห์น” หรือ “หนังสือวิวรณ์” ที่นักบุญยอห์นบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นรวมทั้ง Apocalypse และมโนทัศน์ของพระเจ้าประทับบนบัลลังก์บนสัตว์สวรรค์ทั้งสี่ - สิงโตมีปีก, มนุษย์มีปีก, วัวมีปีก และ อินทรี ที่บรรยายในหนังสือเอเสเคียลด้วย

พระธรรมวิวรณ์อาจจะเขียนร่วมกับ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” หรือภาพสรวงสวรรค์ หรือ นรก หรือไม่ก็ได้ เหนือประตูทางเข้าโบสถ์ ในบริเวณที่มีหินมาก ก็อาจจะมีการใช้แผ่นหินแกะเป็นรูปดังว่าเหนือซุ้มประตูเข้าโบสถ์ก็ได้

การสื่อความศรัทธา, ความหวัง และ ความรัก วิวรณ์ทางที่สองที่ “พระคัมภีร์คนยาก” จะทำให้ได้จุดประสงค์คือการบอกให้ผู้ชมงานทราบถึงแผนการของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ในความรอด (Salvation) โดยการส่งพระบุตรซึ่งคือพระเยซูให้เกิดในร่างของมนุษย์ ให้เติบโตขึ้นท่างกลางมนุษย์ และ ให้เสียพระชีพอย่างทารุณเพื่อเป็นการไถ่บาปต่างที่มนุษย์ได้ทำขึ้น พระเยซูที่ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนสถานก็เพื่อเป็นการแสดงความรัก ความกรุณา และ พระเดชานุภาพของพระเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ หรือเป็นการกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นหัวใจของ “พระคัมภีร์คนยาก” ทั้งหมด

นัยยะของสิ่งชั่วร้ายที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติอาจจะแสดงให้เห็นได้ด้วยวิธีหลายวิธี แม้ว่าภาพที่น่ากลัวจาก “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” จะเป็นงานที่นิยมทำกันในยุคกลาง แต่เมื่อมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาหัวข้อเหล่านี้ก็หมดความนิยมลง แต่ที่นิยมเพิ่มขึ้นจะเป็นภาพจากหนังสือปฐมกาลที่เป็นเรื่องราวของอาดัมและอีฟกินผลไม้ที่ถูกห้ามโดยพระเจ้า นอกจากนั้นก็มีภาพเกี่ยวกับบาป 7 ประการ และเรื่องประกอบคำสอนเกี่ยวกับเพื่อนเจ้าสาวผู้ฉลาดเฉลียว และ ผู้งี่เง่า สิ่งที่เขียนขึ้นก็เป็นการทำให้ผู้คนหันเข้าหาพระเจ้าเพื่อให้ได้รับความรักและความกรุณาจากพระองค์

พระกรุณาของพระเจ้าอาจจะแสดงออกได้หลายวิธี เช่นในภาพการกำเนิดของพระเยซู, การพลีชีพของพระเยซู, การคืนชีพของพระเยซู หรือ การแสดงความมีเดชานุภาพของพระเยซู

ในคริสต์ศาสนสถานบางแห่งก็จะเน้นเหตการณ์ที่เกี่ยวกับเซนต์ที่วัดอุทิศให้ เช่นถ้าเป็นวัดที่อุทิศให้แก่นักบุญทอมัสก็อาจจะมีภาพนักบุญทอมัสอยู่บนแท่นบูชาเอกที่เป็นภาพของนักบุญทอมัสเห็นพระเยซูผู้คืนชีพผู้ประกาศพระองค์ว่าเป็น “พระเจ้า” คริสต์ศาสนสถานที่อุทิศให้แก่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีก็อาจจะมีภาพเรื่องราวชีวิตและปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับพระองค์ การได้รับแผลศักดิ์สิทธิ์จากพระเยซูเป็นต้น

บริบทของพันธสัญญาใหม่และพันธสัญญาเดิม

[แก้]
This stained glass window is divided into five long sections, above which the stone tracery looks like a lacey medallion. The colours are not like Medieval glass; there is a lot of bright red, pale blue, apple green, mauve and pink.
“การอ้างอิง” - หน้าต่างด้านตะวันออกของโบสถ์เซนต์แมรีที่ชิลแลมในสหราชอาณาจักร เป็นภาพเก้าภาพที่เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์และการคืนชีพของพระเยซูที่คู่กับฉากจากพันธสัญญาเดิมที่เป็นเหตุการณ์ที่พยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมา

การตกแต่งภาพเกี่ยวกับฉากชีวิตของพระเยซูบางครั้งก็จะสร้างในบริบทของหรือเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันจากพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม หรือบางครั้งก็มาจากกิจการของอัครทูต บุคคลบางคนจากพันธสัญญาเดิมบางท่านก็จะถือว่าเป็น “ปาง” หรือ ผู้ที่มาก่อนพระเยซูในรูปแบบต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วกิจการหรืออุปนิสัยของบุคคลเหล่านี้จะตรงกันข้ามกับพระเยซู ตัวอย่างเช่น ตามพระคัมภีร์อาดัมเป็นผู้ที่ได้รับการสร้างจากความบริสุทธิ์และความไร้มลทินโดยพระเป็นเจ้า และเป็นผู้ที่ไม่สามารถที่จะเอาชนะสิ่งที่มายั่วยวนได้ ที่ทำให้กลายเป็นผู้นำมวลมนุษย์ไปสู่ความมีบาป แต่พระเยซูนั้นตรงกันข้าม พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่โดยปราศจากมลทิน และทรงพลีชีพเพื่อที่จะไถ่บาปกรรมต่าง ๆ ที่อาดัมและลูกหลานได้ทำไว้

การอ้างอิงไปยังระหว่างพันธสัญญาเดิม และพันธสัญญาใหม่ก็มักจะทำด้วยวิธีวางเปรียบเทียบอย่างง่าย ๆ โดยเฉพาะในงานกระจกสีของยุคกลาง ที่อาจจะวางฉากชีวิตของพระเยซูตามแนวตั้งกลางขนาบสองข้างด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันจากพันธสัญญาเดิมหรือจากกิจการของอัครทูต การกระทำเช่นนี้ก็คล้ายกับการสร้างพระคัมภีร์ภาพที่มักจะวางองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน หรือบางครั้งการสร้างพระคัมภีร์คนยากก็อาจจะใช้พื้นฐานจากพระคัมภีร์ภาพ ในหน้าต่างประดับกระจกสีของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่วนที่เป็นเรื่องหลักมักจะมีขนาดใหญ่กว่าเรื่องรองที่มาจากพันธสัญญาเดิม การจัดลักษณะนี้นิยมทำกันอยู่บ้างในการเขียนจิตรกรรมแผงเมื่อต้นสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

หน้าต่างด้านตะวันออกของวัดเซนต์แมรีที่ชิลแลม, เค้นท์
บนหน้าต่างที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการจัดคู่ดังนี้-

  • ขณะที่พระเยซูทรงมีความทุกข์ระทมทางอารมณ์ เมื่อทรงสวดมนต์อยู่ในสวนเกทเสมนี พระองค์ก็ตรัสสั่งให้สาวกเปโตร ยากอบ และ ยอห์นคอยอยู่ไม่ไกลนัก แต่สาวกทั้งสามองค์ก็เผลอหลับไป ฉะนั้นจึงเท่ากับเป็นการ “ละทิ้ง” พระองค์ บานล่างเป็นภาพโยเซฟนักฝันถูกจับถ่วงน้ำในบ่อโดยพี่ชายของตนเองและถูกละทิ้ง
  • พระเยซูทรงถูกบังคับให้แบกกางเขนไปยังที่ทำการตรึงในบริเวณที่เรียกว่ากอลกอธา บานล่างเป็นภาพอิสอัคแบกฟืนเดินตามอับราฮัมผู้เป็นพ่อโดยไม่รู้ว่าพ่อวางแผนที่จะสังเวยตนเองแก่พระเจ้า
  • พระเยซูถูกตรึงที่กางเขน บานล่างเป็นภาพชาวอิสราเอลไลท์ฆ่าแกะสังเวยและทาสีบนคานเหนือประตูด้วยเลือดแกะเป็นสัญญาณแก่เทวดาของพระเจ้าเนื่องในเทศกาลปัสกา
A square fresco. In a shallow stage-like space is shown the empty tomb of Jesus, like a rectangular box of pink marble. Two angels sit on its edge while four Roman soldiers lie sprawled asleep in front of it. To the extreme right, walking out of the picture frame, is Jesus, robed in white and carrying a banner symbolising Victory. He gestures to restrain Mary Magdalene, who kneels at the centre of the picture in a red cloak, and reaches out both hands to touch him.
พระเยซูคืนชีพ. จอตโต ดี บอนโดเน, ชาเปลสโครเวนยี, ปาดัว ราว ค.ศ. 1305
  • พระเยซูคืนชีพสามวันหลังจากที่เสด็จสิ้นพระชนม์ไปจากการถูกตรึงกางเขน บานล่างเป็นภาพวาฬคายโยนาห์หลังจากที่กลืนเข้าไปได้สามวัน
  • พระเยซูเสด็จสู่สรวงสวรรค์ บานล่างเป็นภาพเอลียาห์ถูกอุ้มขึ้นสวรรค์โดยเทวดา

ชาเปลสโครเวนยี, ปาดัว, อิตาลี ภาพบางชุดที่เป็นภาพชุดที่ซับซ้อน นอกไปจากการอ้างถึงเรื่องราวในพันธสัญญาเดิม ก็ยังอ้างถึงอ้างถึงเรื่องราวในพันธสัญญาใหม่เองด้วย เช่นงานเขียนโดยจอตโต ดี บอนโดเนจิตรกรเอกชาวอิตาลีที่เขียนภายในชาเปลสโครเวนยีที่เมืองปาดัวเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมื่อดูเผิน ๆ และก็จะเป็นภาพต่อเนื่องของฉากการเกิดและชีวิตวัยเด็กของเวอร์จินแมรีและชีวิตของพระเยซูเป็นชั้น ๆ บนผนัง ตามลำดับที่ทราบกัน โดยมีแผงเล็กที่เป็นภาพจากพันธสัญญาเดิมประกอบระหว่างภาพเหล่านี้ แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วก็จะเป็นภาพที่มีบริบทที่ลึกซึ้ง การจัดภาพเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นการจัดที่แสดงความหมายที่แสดงความสัมพันธ์กันระหว่างภาพสองชุด ไม่ว่าจะเป็นการวางภาพตามแนวตั้งในแถวเดียวกัน หรือ การวางตรงข้ามกันระหว่างผนังห้องที่ตรงข้ามกัน การวางภาพคู่เคียงเช่นว่าก็รวมทั้งการวางภาพแมไจคุกเข่าถวายความเคารพชื่นชมพระบุตรคู่เคียงกับภาพนักบุญปีเตอร์คุกเข่าล้างเท้าให้สาวก หรือการชุบชีวิตนักบุญลาซารัสโดยพระเยซูคู่กับการคืนชีพของพระองค์เอง

การสืบทอด

[แก้]
This crudely carved statue shows St James as a bearded knight in armour with a red cloak and upraised sword. He rides a white galloping horse which is trampling the bodies of two armoured men.
“สาวก”- ประติมากรรมไม้ของนักบุญเจมส์ใหญ่ผู้ที่เชื่อกันว่าได้เดินทางมาช่วยชาวสเปนในการเอาชนะผู้รุกรานชาวมัวร์

วัตถุประสงค์หนึ่งของการตกแต่งคริสต์ศาสนสถานก็เพื่อเป็นการยืนยันความสำคัญและความมีบทบาทของคริสต์ศาสนสถานต่อคริสต์ศาสนาและต่อผู้ถือคริสต์ศาสนา ในความหมายอย่างกว้าง ๆ คริสต์ศาสนสถานคือผู้ถือคริสต์ศาสนาเอง แต่ในความหมายอย่างแคบ ๆ แล้วคริสต์ศาสนสถานก็จะหมายถึงองค์กร และ โดยเฉพาะองค์กรที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยผู้นอกศาสนา, คตินิยม, ความแตกแยก และ การปฏิรูป ซึ่งทำให้จำเป็นที่จะต้องบำรุงรักษา และ ยืนยันความคงอยู่ในฐานะของการเป็นทางสู่ความรอด

การตกแต่งคริสต์ศาสนสถานมักจะสะท้อนบทบาทของสถาบันศาสนา วัตถุประสงค์สำคัญวัตถุประสงค์หนึ่งคือการแสดงว่า “คริสต์ศาสนสถาน” ก่อตั้งขึ้นโดยสาวกและประวัติความเป็นมาก็สามารถสืบสาวกลับไปยังต้นตอได้โดยไม่มีช่องว่าง วิธีหนึ่งที่ใช้ในการแสดงความต่อเนื่องคือการเป็นเจ้าของเรลิกของสาวกหรือนักบุญผู้พลีชีพเพื่อศาสนาจากสมัยคริสเตียนยุคแรก การไปแสวงหาหรือซื้อขายแลกเปลี่ยนอวัยวะของนักบุญหรือเรลิกที่เกี่ยวข้องกับพระเยซูเป็นกิจการที่กระทำกันอย่างแพร่หลายรุ่งเรืองในสมัยกลาง ตัวอย่างเช่น มีคริสต์ศาสนสถานสามแห่งที่ต่างก็อ้างว่าเป็นเจ้าของร่างของมารีย์ชาวมักดาลา หรือจำนวนวัดที่อ้างว่าเป็นเจ้าของพระทนต์น้ำนมของพระแม่มารีย์ก็มีมากกว่าจำนวนฟันน้ำนมของเด็กเป็นต้น

เมื่อมีเรลิกแล้วทางคริสต์ศาสนสถานก็จะสร้างภาชนะ, หีบ หรือ กรอบตกแต่งสิ่งเหล่านี้กันอย่างหรูหราด้วยงาช้าง, ทอง และ อัญมณีอันมีค่า นักบุญบางองค์ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญผู้มีอำนาจในการรักษาอาการเจ็บป่วย ก็จะเป็นปัจจัยในการดึงดูดนักแสวงบุญเข้าวัดซึ่งเป็นการสร้างความมั่งคั่งและชื่อเสียงให้แก่วัดที่เกี่ยวข้อง และถ้าเป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีการดึงดูดก็จะครอบคลุมไปถึงคริสต์ศาสนาอื่นที่ตั้งเรียงรายบนเส้นทางการแสวงบุญมาจนถึงคริสต์ศาสนสถานที่เป็นที่เก็บรักษามงคลวัตถุของนักบุญผู้นั้น คริสต์ศาสนสถานสามแห่งที่เป็นที่นิยมกันที่สุดของนักแสวงบุญในสมัยกลางคือโบสถ์โฮลีเซพัลเครอในกรุงเยรูซาเลม, มหาวิหารซันตีอาโกเดกอมปอสเตลาในสเปน และ มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีในเค้นท์ในอังกฤษ[11]

คริสต์ศาสนสถานโดยเฉพาะสำนักสงฆ์มักจะมีนักบุญประจำวัดที่เป็นของตนเองเช่นมหาวิหารแคนเตอร์บรีก็จะมีนักบุญทอมัสแห่งแคนเตอร์บรี หรือ นักบุญทอมัส เบ็คเค็ทผู้ที่ถูกลอบสังหารโดยข้าราชสำนักในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ขณะที่กำลังทรงสวดมนต์อยู่ในคูหาสวนมนต์ภายในมหาวิหาร และในที่สุดสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ก็ต้องทรงทำการแก้บาปโดยการเดินทางไปแสวงบุญหรือไปแก้บาปที่มหาวิหารแคนเตอร์บรี แม้ว่าหน้าต่างประดับกระจกสีของมหาวิหารจะสูญหายไปมาก แต่ก็ยังมีแผ่นกระจกที่ยังแสดงการปาฏิหาริย์ของนักบุญทอมัส เบ็คเค็ททั้งก่อนหน้าและหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว

คริสต์ศาสนสถานที่เป็นสำนักสงฆ์จะเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับนักบุญประจำลัทธิของสำนักสงฆ์ และที่พบเสมอคือภาพพระแม่มารีและพระบุตรล้อมรอบด้วยนักบุญที่รวมทั้งนักบุญในคริสต์ศตวรรษที่ 1 และนักบุญที่เป็นของลัทธิประจำสำนักสงฆ์ที่ว่าจ้างให้เขียนภาพ

อีกวิธีหนึ่งที่เป็นการรับรองสถานะของคริสต์ศาสนสถานคือบทบาทของความรับผิดชอบในการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ เช่นที่พบในวัดเซนต์จอห์นที่ไทด์เวลล์ในดาร์บีเชอร์ในอังกฤษที่เป็นงานแกะไม้ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เป็นภาพพิธีรับศีลจุ่ม พิธีรับศีลมหาสนิท และ พิธีรับศีลบวช

ภาพชุด

[แก้]

โลก

[แก้]

หัวข้องานที่เป็นที่นิยมกันในบรรดาคริสต์ศาสนสถานหลายแห่งจะเป็นภาพสรรเสริญพระบารมีของพระเจ้าในการเป็น “พระผู้สร้าง” และ ผู้วางกฎระเบียบต่าง ๆ ในสิ่งที่ทรงสร้างขึ้น การสร้างงานก็มักจะเป็นภาพพระเจ้าขณะที่กำลังทรงสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามที่บรรยายในหนังสือปฐมกาล[5] - สร้างโลก, สร้างพระอาทิตย์ และ พระจันทร์บนท้องฟ้า และ สร้างมนุษย์ชายและหญิงคนแรก นอกจากนั้นก็ยังใช้สัญลักษณ์เช่นแม่น้ำสี่สายสำหรับโลกที่บรรยายว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลจากสวนอีเดน เมื่อมาถึงสมัยบาโรก โลกก็จะเป็นลูกโลกกลมที่ความเป็นจริงแตกต่างกันออกไป

เช่นในพระธรรมปฐมกาล[6] ที่ระบุแม่น้ำสี่สายที่แบ่งโลก เช่นเดียวกับบทเขียนสำคัญของคริสต์ศาสนาที่เขียนโดยผู้นิพนธ์พระวรสารสี่ท่าน ตามความเชื่อแล้วก็จะมีสี่ทิศ, ลมสี่ทิศ, ธาตุหลักทั้ง 4ที่ประกอบด้วยไฟ, อากาศ, ดิน และ น้ำ และอารมณ์ทั้งสี่ที่มีผลต่อธรรมชาติของมนุษย์ เลขสี่ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งที่พระเจ้าทรงใช้ในการจัดระบบความเป็นระเบียบของโลก ฉะนั้นการสร้างงานที่เกี่ยวกับจำนวนสี่จึงพบเสมอในศิลปะคริสต์ศาสนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง โลก และ สิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างในโลก[12]

จักรราศี

[แก้]

หัวเรื่องที่เกี่ยวกับการเป็นผู้สร้างของพระเจ้า คือระบบของพระเจ้า (God's Order) พระเจ้าในหนังสือปฐมกาลผู้ทรงสร้างพระอาทิตย์ให้ส่องให้โลกสว่างในเวลากลางวัน และพระจันทร์ในเวลากลางคืน ก็ยังทรงจัดให้ดวงดาวต่างให้โคจรไปตามการหมุนเวียนของฤดูกาลเพื่อให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว สัญลักษณ์ของจักรราศีขนาดเล็กก็ยังคงใช้ประดับเช่นตามรอบโค้งของประตู หรือ บนหน้าต่างประดับกระจกสี ตามทรงโค้งของวัฏจักร นอกจากนั้นก็ยังเหมาะแก่การตกแต่งบนแผงแคบเล็กบนซี่หน้าต่างกุหลาบที่มีลักษณะกลมด้วย

จักรราศีเป็นสิ่งที่คู่เคียงกับงานศิลปะที่เรียกว่า “แรงงานสิบสองเดือน” (Labours of the Months) ซึ่งเป็นภาพแสดงกิจการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเดือนต่างของรอบปี เช่นการปลูกพืชพรรณ, การเก็บเกี่ยว, การล่าสัตว์ และ การเลี้ยงเทศกาลเป็นต้น

พรสวรรค์จากพระเป็นเจ้า

[แก้]

ตามปรัชญาพระธรรมปฐมกาลกล่าวว่าพระเจ้าทรงสร้างสวรรค์และโลกมนุษย์ และทรงสร้างมนุษย์ในรูปลักษณ์ของพระองค์ (พระธรรมปฐมกาล 1:26)[7] และประทานความสามารถในการสร้างสรรค์ให้ หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ไม่ปรากฏบ่อยนัก ถ้ามีก็จะเป็นการแสดงพรสวรรค์ในการเป็นช่างหิน, ช่างสลักไม้, จิตรกร และ ช่างกระจกขณะที่กำลังทำงานช่าง นอกจากนั้นก็ยังมีภาพของนักบวช, นักดนตรี หรือ นักคัด และ คนปั่นด้าย, คนทอผ้า, พ่อค้า, คนครัว, คนลากเกวียน, คนฆ่าสัตว์, หมอยา, คนล่าขนสัตว์, ชาวประมง และ คนเลี้ยงแกะ

โดยทั่วไปแล้วการสร้างงานศิลปะที่เป็นภาพชีวิตชาวบ้านจะไม่จัดอยู่ในประเภทศิลปะที่เรียกว่าวิจิตรศิลป์ แต่จะเป็นศิลปะที่ถือกันว่าเป็นศิลปะระดับรองหรือบางครั้งก็ไม่เป็นที่ทราบกัน ศิลปินจึงมักจะซ่อนภาพเหล่านี้ไว้ในพงใบไม้บนหัวเสา หรือ บนปุ่มหินบนเพดาน หรือบางครั้งก็จะเป็นแผ่นภาพเล็ก ๆ ตกแต่งภายนอกสิ่งก่อสร้าง หรือ สลักไว้ใต้เก้าอี้อิงภายในบริเวณร้องเพลงสวด

แต่ถ้างานศิลปะประเภทนี้สร้างโดยสมาคมศิลปิน ก็อาจจะเป็นงานชั้นดีที่สร้างโดยศิลปินมีชื่อ เช่นประติมากรรมชุดนักบุญผู้พิทักษ์ที่อยู่ในช่องบนผนังด้านนอกของโบสถ์ซันมีเกเล ใน ฟลอเรนซ์ที่เป็นภาพนักบุญจอร์จโดยโดนาเทลโล ซึ่งเป็นประติมากรรมที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดชิ้นหนึ่งของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น นักบุญผู้พิทักษ์ต่างก็มีอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างเหล็ก, ทหาร, แพทย์, คนเก็บภาษี และ ช่างทำรองเท้า[13] เก็บถาวร 2009-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[14] เก็บถาวร 2012-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ตัวอย่างสำคัญ

[แก้]
ภาพ สถานที่
หอล้างบาปแห่งปาดัว
งานตกแต่งหอศีลจุ่มกลมขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ข้างมหาวิหารปาดัวเป็นงานชิ้นเอกของจุสโต ดิ เมนาบวยและถือกันว่าเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังอันสมบูรณ์ของศิลปะพระคัมภีร์คนยากที่สร้างระหว่าง ค.ศ. 1376 ถึง ค.ศ. 1378
โบสถ์ซันจีมิญญาโน
โบสถ์ซันจีมิญญาโนมีจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพที่ดีมากโดยจิตรกรหลายคน ที่ประกอบด้วยภาพการตัดสินครั้งสุดท้าย, ฉากจากพันธสัญญาเดิมที่รวมทั้งเรื่องของโจป และ ชีวิตของพระเยซู และงานจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญอีกหลายชิ้น
งานโมเสกที่มหาวิหารซันมาร์โก

มหาวิหารซันมาร์โกมีงานโมเสกอันงดงามตกแต่งประตูทางเข้า, ซุ้ม, ผนัง, เพดานโค้ง, โดม และ พื้น นอกจากนั้นก็ยังมีฉากกางเขน และ ฉากแท่นบูชาทองซานมาร์โค และเรลิกอีกมากมาย[15] เก็บถาวร 2006-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ประติมากรรมและหน้าต่างประดับกระจกสีที่มหาวิหารชาทร์
มหาวิหารชาทร์มีหน้าต่างประดับกระจกสีที่รวมทั้งหน้าต่างที่เชื่อกันว่าเป็นหน้าต่างประดับกระจกสีแรกของโลก นอกจากนั้นด้านหน้าก็ยังเป็นประตูที่ตกแต่งด้วยงานสลักหินของสมัยกอทิกอันวิจิตรตระการตา งานประติมากรรมจากคริสต์ศตวรรษที่ 12 ที่ประตูหลวงเป็นงานที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดงานหนึ่งในงานเขียนทางประวัติศาสตร์[16] เก็บถาวร 2006-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ทางเข้าด้านตะวันตกของโบสถ์แซงต์ทีโบต์, ทัน, โอต์-แรง
ทางเข้าด้านตะวันตกของโบสถ์แซงต์ทีโบต์ ทันน์มีประตูทางเข้าที่ใหญ่และสลักเสลาอย่างสวยงาน ตอนบนเป็นหน้าบันซ้อนกันหลายชั้น แถบแต่งโค้ง และรูปปั้นที่เป็นฉาก 150 ฉากจากทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ที่ประกอบดัวยตัวปั้นกว่า 500 ตัว
หน้าต่างประดับกระจกสีของมหาวิหารแคนเทอร์เบอรี
มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีมีหน้าต่างประดับกระจกสีของต้นสมัยกอทิกมากกว่ามหาวิหารใดในอังกฤษ แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการถอดหน้าต่างเหล่านี้บางส่วนไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือ เป็นส่วนหนึ่งของงานสะสมส่วนบุคคล โดยสร้างงานใหม่แทนที่
ฉากแท่นบูชาเกนต์
มหาวิหารเกนต์มีงานฉากแท่นบูชาชิ้นเอก ฉากแท่นบูชานี้ฉากเดียวก็สามารถเป็น “พระคัมภีร์คนยาก” ได้ด้วยตนเอง ภาพต่าง ๆ บนฉากประดับแท่นบูชาประกอบด้วยภาพบาปกำเนิด และ การไถ่บาป โดยมีลูกแกะศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเจ้าและพระเยซูประทับบนบัลลังก์เป็นศูนย์กลาง[17]
ภาพนักบุญแซ็คคาไรห์, เวนิส
นักบุญเศคาริยาห์เป็นบิดาของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา เรื่องราวของนักบุญเศคาริยาห์ปรากฏในพระวรสารนักบุญลูกา. โบสถ์นักบุญเศคาริยาห์ เวนิสที่อุทิศให้แก่นักบุญเศคาริยาห์มีภาพเขียนสีน้ำมันอยู่หลายภาพโดยจิตรกรคนสำคัญของเวนิสที่รวมทั้งภาพแม่พระและพระกุมารล้อมรอบด้วยนักบุญโดยเบลลีนี[18] เก็บถาวร 2006-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
หน้าต่างประดับกระจกสีของมหาวิหารเซนต์แอนดรูว์ ซิดนีย์
หน้าต่างประดับกระจกสีของมหาวิหารเซนต์แอนดรูว์สร้างขึ้นในสมัยที่มีการฟื้นฟูศิลปะที่สูญหายไปในสมัยวิกตอเรีย ในออสเตรเลียก็ได้มีการสร้างวัดในช่วงนี้ราวสิบสองวัดภายในช่วงห้าสิบปี วัดที่เก่าที่สุดคือมหาวิหารเซนต์แอนดรูว์ ที่เป็นมหาวิหารที่มีงานหน้าต่างประดับกระจกสีแบบอังกฤษของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างครบถ้วน ที่รวมทั้งภาพชุดชีวิตของพระเยซู, ปาฏิหาริย์ และ ตำนานแฝงคำสอน

ระเบียงภาพ

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Donald Attwater - The Penguin Dictionary of Saints, Penguin Books (1965)
  • Luciano Berti - Florence, the City and its Art, Becocci Editore (1979)
  • Luciano Berti - The Uffizi, Becocci Editore (1971)
  • Sarah Brown - Stained Glass, an Illustrated History, Bracken Books (1990) ISBN 1-85891-157-5
  • T.Francis Bumpus - The Cathedrals and Churches of Belgium, T.Werner Laurie Ltd (1928)
  • P.and C.Cannon Brooks - Baroque Churches, Paul Hamlyn (1969)
  • Enzo Carli - Sienese Painting, Summerfield Press (1983) ISBN 0-584-50002-5
  • Andre Chastel - The Art of the Italian Renaissance, Alpine Fine Arts Collection ISBN 0-88168-139-3
  • Kenneth Clark, David Finn - The Florence Baptistery Doors, Thames and Hudson (1980)
  • Sarel Eimerl - The World of Giotto, Time-Life Books, Amsterdam (1967) ISBN 0-900658-15-0
  • Mgr. Giovanni Foffani - Padua- Baptistery of the Cathedral, Edizioni G Deganello (1988)
  • Andre Grabar - The Beginnings of Christian Art, Thames and Hudson (1966)
  • Howard Hibbard - Masterpieces of Western Sculpture, (1977)
  • Rene Huyghe, editor - Larousse Encyclopedia of Byzantine and Medieval Art, Paul Hamlyn (1963)
  • Simon Jenkins - England's Thousand Best Churches, Allen Lane, Penguin Press (1999) ISBN 0-713-99281-6
  • Andrew Martindale - The Rise of the Artist in the Middle Ages and Early Renaissance, Thames and Hudson (1972) ISBN 0-500-56006-4
  • Emile Male, The Gothic Image, Religious Art in France of the Thirteen Century, English trans of 3rd edn of 1913, Collins, London (and many other editions)
  • Wim Swan - The Gothic Cathedral, Omega Books (1988) ISBN 0-907853-48-X
  • Wim Swan - Art and Architecture of the Late Middle Ages, Omega Books (1988) ISBN 0-907853-35-8
  • Rosella Vantaggi - San Gimignano, Town of Fine Towers, Plurigraf-Narni-Terni (1979)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Poor Man's Bible, Bible materials, God's gender, helping oneself: Ask the Pastor The Rev. Walter P. Snyder
  2. Art101B--Aguilar - Scribe Ezra Rewriting the Sacred Records, from Codex Amiatinus. early 8th century
  3. มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. “พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2545
  4. มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. “พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2545
  5. the Book of Genesis, chapter 1 Holy Bible
  6. Genesis 2,10-14
  7. พระธรรมปฐมกาล 1:26[ลิงก์เสีย]