ความรอด
ในทางศาสนา ความรอด (อังกฤษ: Salvation) หมายถึง การที่วิญญาณปลอดจากบาปและผลของบาป[1] ถือเป็นเป้าหมายของทุกศาสนา แต่แต่ละศาสนาจะอธิบายลักษณะและวิธีการบรรลุถึงความรอดแตกต่างกันไป
ศาสนาพุทธ[แก้]
ในศาสนาพุทธ ความรอดเรียกว่า วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้นจากกิเลส[2] มีอยู่หลายระดับ ขั้นสูงสุดคือนิพพานอันเป็นการหลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง
ศาสนาคริสต์[แก้]
คริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนบาปแต่กำเนิด จึงไม่สามารถเอาชนะบาปได้เอง พระยาห์เวห์จึงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากบาปโดยการส่งพระเยซูผู้เป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า มาทำหน้าที่ไถ่บาปแทนมนุษย์โดยยอมถูกตรึงที่กางเขน ผู้ที่เชื่อและวางใจในการไถ่บาปของพระเยซูจะถูกชำระจากบาปและมีชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์หลังจากเสียชีวิต
ความมั่นใจในความรอด[แก้]
ความมั่นใจในความรอด[3] คือความมั่นใจของคริสตชนว่าเมื่อพระคริสต์เสด็จกลับมาหรือเมื่อความตายมาเยือน เขาจะได้ไปอยู่กับพระเยซูในสวรรค์ แต่การทึกทักเอาว่าเราได้มีชีวิตนิรันดร์โดยอิงอยู่กับประสบการณ์ในอดีตหรือความเชื่อที่ตายแล้วนั้นเป็นความผิดพลาดร้ายแรง จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 1 ได้กำหนดวิธีการ 9 ประการที่ทำให้คริสตชนมั่นใจว่ายังคงอยู่ในความสัมพันธ์แห่งความรอดกับพระเยซูคริสต์ ดังนี้
- เชื่อในพระนามของพระบุตรของพระเจ้า
- ถวายเกียรติแด่พระคริสต์ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า
- รักพระบิดาและพระบุตรแทนที่จะรักโลก
- ยึดมั่นที่จะประพฤติตนในความชอบธรรม แทนที่จะทำบาป
- รักพี่น้อง
- รู้สึกตัวว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตภายในตัว
- มุ่งมั่นติดตามแบบอย่างของพระเยซูและดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์
- เชื่อ ยอมรับ และยังคงอยู่ใน "พระวาทะแห่งชีวิต"
- มีความปรารถนาที่กระตือรือร้นและความหวังอย่างไม่เปลี่ยนแปลงในการเสด็จกลับมาของพระคริสต์เพื่อรับเราไปอยู่กับพระองค์ของพระคริสต์
ศาสนาฮินดู[แก้]
ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โมกษะ หมายถึง การที่อาตมันหรือชีวะพ้นจากกรรม จึงหลุดพ้นจากสังสารวัฏและได้เข้าไปรวมกับพรหมัน โมกษะมี 2 อย่างคือ[4]
- ชีวันมุกติ หมายถึง การหลุดพ้นโดยที่อาตมันยังอาศัยร่างกายอยู่ คือยังมีชีวิตบนโลกอยู่
- วิเทหมุกติ หมายถึง การหลุดพ้นโดยที่อาตมันละทิ้งกายแล้ว
อ้างอิง[แก้]
- ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552