อ่างล้างบาป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อ่างศีลจุ่ม)
อ่างล้างบาปที่มหาวิหารวอมส์ ประเทศเยอรมนี
อ่างล้างบาปสมัยกลาง จากเมือง Norrköping ประเทศสวีเดน

อ่างล้างบาป (อังกฤษ: baptismal font[1]) คือภาชนะที่ใช้ทำพิธีบัพติศมาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่

“พิธีบัพติศมา” ก็มีหลายแบบ -- พรมน้ำ รดน้ำ หรือจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัว อย่างคำในภาษากรีกว่า βαπτιζω คำนี้แปลว่าดำลงไป แต่อ่างล้างบาปโดยทั่วไปจะเล็กเกินกว่าที่จะใช้วิธีนี้ได้นอกจากกับเด็กทารก

อ่างล้างบาปแบบพรมน้ำมนต์หรือรดน้ำมนต์[แก้]

อ่างล้างบาปที่ใช้ในศีลศักดิ์สิทธิ์มักจะเป็นแบบที่ไม่ดำลงไปในน้ำแต่ใช้วิธี “พรมน้ำ” หรือ “รดน้ำ” ลงบนหัวของผู้ที่รับศีล ลักษณะของอ่างล้างบาปจะเป็นอ่างตั้งอยู่บนฐานที่สูงประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง วัสดุที่ใช้ทำก็จะแตกต่างจากกันมาก อ่างอาจจะแกะจากหินอ่อน ไม้ หรือ โลหะ รูปทรงก็ต่างจากกันมากบางครั้งอาจจะเป็น 8 เหลี่ยมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเป็นเจ้าสร้างจักรวาลใน 7 วันแรกและวันที่ 8 เป็นวันทำสุหนัต บางครั้งอาจจะเป็นสามเหลี่ยมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระตรีเอกภาพ คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์

อ่างล้างบาปมักจะวางไว้ใกล้ทางเข้าโบสถ์เพื่อเป็นการเตือนคริสต์ศาสนิกชนว่ากำลังเข้าสู่คริสต์ศาสนสถาน และพิธีบัพติศมาก็เป็นการยอมรับบุคคลนั้นเข้าสู่คริสตจักร ในสมัยกลางและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาบางครั้งโบสถ์จะสร้างสิ่งก่อสร้างต่างหากจากตัวโบสถ์สำหรับการทำพิธีบัพติศมาโดยเฉพาะที่เรียกว่า “หอล้างบาป” (Baptistery) อย่างเช่นที่ มหาวิหารซีเอนา หรือมหาวิหารปาร์มา ที่ประเทศอิตาลี

ปริมาณน้ำในอ่างก็ต่างกันไปแต่ส่วนใหญ่จะจุประมาณหนึ่งหรือสองลิตร บางอ่างก็มีระบบปั๊มน้ำ หรือน้ำพุธรรมชาติเพื่อทำให้เหมือนน้ำไหลซึ่งเป็นการเตือนถึงความสำคัญของน้ำอันเป็นองค์ประกอบของพิธีบัพติศมา สำหรับน้ำที่ใส่ในอ่างบางโบสถ์จะมีน้ำมนต์ แต่บางโบสถ์ก็ใช้น้ำธรรมดา โดยจะใช้เหยือกเงินที่เรียกว่า “Ewer” เทใส่อ่าง

อ่างล้างบาปแบบลงใต้น้ำ[แก้]

อ่างล้างบาปที่มหาวิหารเซ็นต์ราฟาเอลที่เดอบูค (Dubuque) รัฐไอโอวา ซึ่งมาขยายให้ใหญ่ขึ้นเมื่อค.ศ. 2005 เพื่อให้ผู้ใหญ่ใช้ได้
อ่างล้างบาปที่เลนเซิน (Lenzen) ประเทศเยอรมนี

อ่างล้างบาปในสมัยแรก ๆ ออกแบบเพื่อให้ผู้ทำพิธีลงไปในน้ำทั้งตัว อ่างมักจะเป็นรูปกางเขนโดยมีบันไดขึ้นไปสามขั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระตรีเอกภาพ อ่างใหญ่เช่นนี้มักจะอยู่ในสิ่งก่อสร้างต่างหากจากตัวโบสถ์ แต่เมื่อการทำพิธีบัพติศมาสำหรับทารกมีบ่อยขึ้นอ่างล้างบาปก็เล็กลง ลัทธิที่ใช้วิธีลงไปทั้งตัวมักจะใช้คำว่า “อ่างล้างบาป” สำหรับอ่างชนิดที่ลงไปทั้งตัว แต่นิกายโรมันคาทอลิกคำว่า “อ่างล้างบาป” (baptism font) จะต่างกับคำว่า “ถังจุ่ม” (immersion tank) คำว่า “ถังจุ่ม” จะหมายถึงถังที่ผู้รับศีลลงไปได้ทั้งตัว

การรับบัพติศมาทั้งตัวอาจจะทำในถัง สระ หรือทางน้ำธรรมชาติเช่นแม่น้ำ หรือทะเลสาบ ผู้ที่จะรับศีลก็จะลงไปในน้ำทั้งตัวหรือ บาทหลวงจะกดลงไปใต้น้ำ เป็นสัญลักษณ์ของความสิ้นสุดของสิ่งเดิมแล้วเกิดใหม่ตามที่กล่าวใน “จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม” (Epistle to the Romans)

ในนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ พิธีบัพติศมาจะจุ่มลงในน้ำสามครั้งแม้แต่สำหรับทารก (การพรมจะอนุญาตในบางกรณีเท่านั้น “in extremis”) ฉะนั้นอ่างล้างบาปของนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์จึงมักจะใหญ่กว่าทางตะวันตกและจะมีลักษณะเหมือนจอกศักดิ์สิทธิ์ (chalice) ซึ่งสำคัญตรงที่ว่าหลังจากที่ทารกรับศีลแล้วก็จะทำพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ (Holy Communion) ต่อ อ่างล้างบาปก็มักจะทำจากหินหรือไม้ ระหว่างทำพิธีก็จะจุดเทียนสามแท่งรอบอ่างสำหรับพระตรีเอกภาพ น้ำที่ใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “Theophany Water” เป็นน้ำที่ผ่านการเจิมระหว่างวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ เพื่อฉลองการที่พระวจนะทรงรับเป็นมนุษย์ การเจิมก็จะเป็นสองขั้น ๆ แรกจะเจิมอ่างล้างบาป ขั้นที่สองจะเจิมน้ำที่ใช้ในอ่าง

ในนิกายโรมันคาทอลิกโดยเฉพาะหลังจากจากการประชุมสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง (Second Vatican Council) เมื่อปี ค.ศ. 1962-1965 ก็กล่าวถึงนโยบายการทำพิธีบัพติศมา ปัจจุบันนโยบายของคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะสนับสนุนการมีอ่างล้างบาปที่เหมาะการรับศีลแบบที่ให้ทารกหรือเด็กจุ่มลงไปได้ทั้งตัวหรืออย่างน้อยก็เป็นที่ที่สามารถรดน้ำผู้ใหญ่ให้เปียกทั้งตัวได้ อ่างล้างบาปควรจะตั้งอยู่ที่ที่มองเห็นง่าย สะดวกต่อการทำพิธี และมีน้ำไหล

อ้างอิง[แก้]

  1. Catholic Encyclopedia: Baptismal Font[1]

ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

สมุดภาพ[แก้]