จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมสาทิสลักษณ์ โดย ฌ็อง มาร์ค แนททีแยร์ หลังปี 1717 | |||||
ซาร์/จักรพรรดิแห่งรัสเซีย[หมายเหตุ 1] | |||||
ครองราชย์ | 7 พฤษภาคม 1682 – 8 กุมภาพันธ์ 1725 | ||||
ราชาภิเษก | 25 มิถุนายน 1682 | ||||
ก่อนหน้า | ซาร์ฟิโอดอร์ที่ 3 | ||||
ถัดไป | จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 1 | ||||
ผู้ร่วมบัลลังก์ | ซาร์อีวานที่ 5 (1682–1696) | ||||
ผู้สำเร็จราชการ | ซาเรฟนาโซฟียา อะเลคเซยีฟนา (1682–1689) | ||||
พระราชสมภพ | 9 มิถุนายน ค.ศ. 1672 มอสโก, อาณาจักรซาร์รัสเซีย | ||||
สวรรคต | 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1725 เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก, จักรวรรดิรัสเซีย | (52 ปี)||||
ฝังพระศพ | มหาวิหารปีเตอร์และพอล | ||||
คู่อภิเษก |
| ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | โรมานอฟ | ||||
พระราชบิดา | ซาร์อะเลคเซย์ที่ 1 แห่งรัสเซีย | ||||
พระราชมารดา | นาตาลยา นาริชากีนา | ||||
ศาสนา | รัสเซียออร์ทอดอกซ์ | ||||
ลายพระอภิไธย |
จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 (รัสเซีย: Пётр Первый, อักษรโรมัน: Pyotr Pyervyy, สัทอักษรสากล: [ˈpʲɵtr ˈpʲɛrvɨj]) หรือ จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช (รัสเซีย: Пётр Вели́кий, อักษรโรมัน: Pyotr Velíkiy, สัทอักษรสากล: [ˈpʲɵtr vʲɪˈlʲikʲɪj]) หรือ ปิออตร์ อะเลคเซเยวิช (รัสเซีย: Пётр Алексе́евич, อักษรโรมัน: Pyotr Alekséyevich, สัทอักษรสากล: [ˈpʲɵtr ɐlʲɪˈksʲejɪvʲɪtɕ], 9 มิถุนายน [ตามปฎิทินเก่า: 30 พฤษภาคม] ค.ศ. 1672 - 8 กุมภาพันธ์ [ตามปฎิทินเก่า: 28 มกราคม] ค.ศ. 1725)[หมายเหตุ 2] เป็นพระมหากษัตริย์ของ อาณาจักรซาร์รัสเซีย ซึ่งต่อมาเป็น จักรวรรดิรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1682 จนกระทั่งพระองค์สวรรคตในปี ค.ศ. 1725 โดยปกครองร่วมกับ ซาร์อีวานที่ 5 แห่งรัสเซีย พระเชษฐาต่างพระราชมารดาของพระองค์ ภายใต้การปกครองของพระองค์ รัสเซียได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและเติบโตเป็นมหาอำนาจยุโรป
จากสงครามที่ประสบความสำเร็จหลายครั้ง เขาได้ยึดท่าเรือที่ อาซอฟ และ ทะเลบอลติก วางรากฐานสำหรับ กองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ยุติอำนาจสูงสุดของสวีเดนที่ไม่มีใครโต้แย้งในทะเลบอลติก และเริ่มการขยายตัวของ อาณาจักรซาร์ ไปสู่ จักรวรรดิ ที่ใหญ่กว่ามากกลายเป็นมหาอำนาจยุโรปที่สำคัญ พระองค์เป็นผู้นำการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่เข้ามาแทนที่ระบบสังคมและการเมืองแบบอนุรักษนิยมและยุคกลางด้วยระบบสมัยใหม่ทั้ง วิทยาศาสตร์ และ วิทยาการตะวันตก ที่มีพื้นฐานมาจาก การตื่นรู้[1] การปฏิรูปของจักรพรรดิปีเตอร์มีผลกระทบยาวนานต่อรัสเซีย พระองค์นำตำแหน่งจักรพรรดิมาแทนตำแหน่งซาร์ในปี ค.ศ. 1721 ก่อตั้งและพัฒนาเมือง เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งยังคงเป็นเมืองหลวงของรัสเซียจนถึงปี ค.ศ. 1918
พระราชประวัติ
[แก้]จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1672 เป็นพระราชโอรสในซาร์อะเลคเซย์ที่ 1 กับซารีนานาตัลยา นารีสกีนา พระมเหสีองค์ที่ 2 พระมารดาของพระองค์เป็นเด็กหญิงจากครอบครัวขุนนางเล็กๆ มีรสนิยมไปทางประเทศทางยุโรปตะวันตก และไม่เข้มงวดเช่นขุนนางรัสเซียทั่วไป ด้วยเหตุนี้พระนางจึงทรงเฉลียวฉลาด มีกิริยาคล่องแคล่ว จนเมื่อพระนางมีอายุได้ 18 ปี พระเจ้าซาร์อเล็กซิสที่ 1 จึงทรงรับตัวเข้าเป็นมเหสีองค์ที่ 2 และด้วยเหตุดังกล่าวเจ้าชายปีเตอร์จึงทรงเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงมีสติปัญญาเฉียบแหลมตามพระมารดา ต่างกับพระเชษฐาต่างมารดาที่ชื่อว่าเจ้าชายฟิโอดอร์ ที่ทรงไม่แข็งแรงและมีความพิการทางพระวรกาย แต่เนี่องจากเป็นพระโอรสของพระมเหสีองค์แรก เจ้าชายฟิโอดอร์จึงทรงได้เป็นซาเรวิชหรือองค์รัชทายาท เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปี ค.ศ. 1676 ขณะที่เจ้าชายปีเตอร์มีพระชนมายุเพียง 4 ปี พระเชษฐาต่างพระมารดา พระนามว่า หิโอดอร์ ซึ่งมีพระชนมายุได้ 15 ปีจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ฉลองพระนามว่า "ซาร์ฟิโอดอร์ที่ 3"
พระราชกรณียกิจ
[แก้]นโยบายการปฏิรูปของจักรพรรดืปีเตอร์มหาราชได้สร้างรัสเซียให้เป็นรัฐทันสมัยตามแบบอย่างอารยธรรมประเทศทางยุโรปตะวันตก โดยการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ การปกครองทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายบรรพชิต สังคม และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้
ด้านเศรษฐกิจ
[แก้]ทรงจัดระบบเศรษฐกิจของประเทศตามระบบพาณิชย์นิยมของตะวันตกโดยการห้ามนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ารัสเซีย และเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ในประเทศ เช่น การทอผ้า การต่อเรือ การผลิตอาวุธ สร้างโรงงานถลุงเหล็ก รองเท้า สบู่ ช้องผม ฯลฯ อีกทั้งยังเปิดประเทศต้อนรับช่างผู้ชำนาญงานสาขาต่างๆ ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและลงทุนในรัสเซีย ทรงจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของรัฐเพื่อให้เอกชนดำเนินการ มีการเกณฑ์และบังคับแรงงานชาวไร่ ชาวนาให้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนกระตุ้นให้พวกชุนนางลงทุนในด้านการค้า ในช่างระยะเวลาเพียง 20 ปี ในกรุงมอสโกมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น 200 แห่ง และขนาดเล็กมากกว่า 2500 แห่ง ทรงละเว้นภาษีแก่โรงงานอุตสาหกรรมเอกชน แต่ขณะเดียวกันก็ทรงเพิ่มรายได้แก่รัฐด้วยการจัดเก็บภาษีอื่นๆ ในอัตราที่สูง
นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บภาษีสินค้าบางชนิดที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อนและให้มีการผูกขาดการค้าในสินค้าบางประเภท เช่น บังเหียนม้า ไพ่ กระจก โลงศพ แตงกวา หรือแม้แต่การอาบน้ำและการแต่งงาน ในปี ค.ศ. 1718 มีพระราชโองการให้จัดเก็บภาษีบุคคล (soul tax) ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมของระบบการเก็บภาษี แต่ก็ทำรายได้ให้แก่ประเทศสูงถึง 4 เท่า มากกว่ารายรับจากภาษีอื่นๆ ส่วนรัฐบาลได้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อาวุธและผ้า เป็นต้น ผลผลิตของสินค้ารัสเซียได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอันมากจนรัฐบาลสามารถส่งสินค้า อุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ออกไปขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว และทำรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่รัฐ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปใช้ในการขยายตัวของกองทัพและการทำสงคราม ระหว่าง ค.ศ. 1700 - 1711 ได้มีการจัดตั้งงบประมาณแผ่นดินประจำปีด้วยซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรัสเซีย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างถนน สะพาน และขุดคูคลองต่างๆ มากมายเพื่อประโยชน์ในการคมนาคมขนส่งสินค้า ส่วนในด้านเกษตรกรรมได้นำกรรมวิธีใหม่ๆ มาใช้ปรับปรุงการเกษตรอันมีผลทำให้ผลิตผล เช่น ข้าวไรย์ ป่าน ปอ ยาสูบ เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศ
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยเฉพาะการถูกบังคับเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มและการถูกเกณฑ์แรงงานก็ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้ นับแต่ช่วงดังกล่าวเป็นต้นมา รัสเซียจึงต้องเผชิญกับการลุกฮือของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ เช่น ในอัสตราฮัน (Astrakhan) ภูมิภาคกลางและตะวันตกของรัสเซีย และพวกคอสแซคในลุ่มแม่น้ำดอน (Don Cossacks) เป็นต้น ซึ่งจักรพรรดืปีเตอร์มหาราชก็ได้ทรงใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปราม มีการจัดตั้งหน่วยงานหรือกระทรวงเพื่อสอดส่องดูแลและควบคุมประชาชนตามภูมิภาคต่างๆ ในปี ค.ศ. 1714 พระองค์ได้ทรงออกพระราชโองการกำหนดลักษณะของการก่ออาชญากรรมทางการเมืองซึ่งไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน และรัฐบาลก็กระตุ้นให้มีการแจ้งเบาะแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งผู้แจ้งจะได้รับเงินรางวัลเป็นค่าตอบแทนด้วย
ด้านการปกครอง
[แก้]จักรพรรดิปิออตร์ได้ทรงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 เขตแดน (guberny) ได้แก่ มอสโก อินเกอร์แมนแลนด์ เคียฟ สโมเลนสค์ คาซัน อาร์เซนเกล อาซอฟ และไซบีเรีย ทุกเขตแดนยกเว้นมอสโกจะมีข้าหลวงซึ่งเป็นคนสนิทของจักรพรรดิออกไปประจำอยู่ ข้าหลวงดังกล่าวมีอำนาจสูงสุดในเขตแดน ทั้งในด้านการบริหาร ตุลาการ การคลัง ตลอดจนการรักษาความปลอดภัย การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในลักษณะนี้เป็นการลดอำนาจของขุนนางท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี ค.ศ. 1719 ได้มีการแบ่งเขตแดนออกอีกเป็น 45 มณฑล (ภายหลังเป็น 50 มณฑล) แต่ละมณฑลปกครองโดย "นายทหารข้าหลวง" มีการแบ่งการปกครองเขตมณฑลย่อยลงเป็นเขต (district) และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลปกครองตามแบบอย่างการปกครองท้องถิ่นของสวีเดน แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะภาษีบุคคลจึงมอบอำนาจให้ทหารปกครองเขตแทนในปี ค.ศ. 1722
ส่วนพวกขุนนางเก่าถูกบังคับให้มอบมรดกที่ดินแก่บุตรชายคนโตเพียงคนเดียวและให้ส่งลูกชายคนรองๆ เข้ารับราชการทหารและราชการพลเรือน ยกเลิกยศขุนนางระดับสูงที่เรียกว่า “โบยาร์” และให้ใช้ยศเคานต์ (count) และบารอน (baron) แบบยุโรปตะวันตกแทน พวกขุนนางหนุ่มดังกล่าวก็จะถูกส่งตัวไปรับการศึกษาในประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกเพื่อนำเอาความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาประเทศ แต่ขณะเดียวกันจักรพรรดิปีเตอร์ก็ทรงพยายามลดบทบาทของขุนนางโดยทำให้สภาโบยาร์หมดความสำคัญลงด้วย โดยทรงใช้วิธีจัดตั้งสภาองคมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา
สภาองคมนตรีประกอบด้วยสมาชิก 8 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนสนิทของพระองค์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังทรงจัดตั้งวุฒิสภา ขึ้นตามแบบของสวีเดน ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารกิจการภายในเกือบทั้งหมด ยกเว้นด้านตุลาการและการทหาร แต่สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ การออก “ทำเนียบตำแหน่ง” (Table of Ranks) ในปี ค.ศ. 1722 ตามแบบอย่างของสวีเดน เดนมาร์ก และปรัสเซีย โดยแบ่งตำแหน่งขุนนางทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน และราชสำนัก ออกเป็น 14 ตำแหน่งด้วยกัน ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งจากคุณงามความดีที่ประกอบในราชการเท่านั้น ดังนั้น การออกทำเนียบตำแหน่งซึ่งเท่ากับสานต่อนโยบายเลิกการสืบทอดยศทหาร (mestnichestro) ของซาร์เฟโอดอร์ที่ 3 จึงมีผลให้สามัญชนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นขุนนางได้ ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานะของขุนนางให้มาเป็นข้าราชการ และยกเลิกอภิสิทธิ์ของขุนนางในการสืบทอดตำแหน่งต่างๆ กันในตระกูลหรือครอบครัว
ด้านศาสนา
[แก้]จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 มีพระราชประสงค์ที่จะปฏิรูปคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ทรงจัดการกับสถาบันขุนนาง โดยการเข้าควบคุมและทำให้ศาสนจักรรับใช้รัฐ ระหว่างปี ค.ศ. 1699 - 1700 ทรงยกเลิกอภิสิทธ์ของพวกนักบวชที่ได้รับการยกเว้นเงินภาษีและเข้าควบคุมศาสนจักรอย่างเข้มงวด ในปี ค.ศ. 1700 เมื่ออัครบิดรเอเดรียน (Patriarch Adrian) แห่งกรุงมอสโก ประมุขของศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซียสิ้นพระชนม์ลง พระองค์ก็ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะไม่แต่งตั้งพระรูปใดให้ดำรงสมณศักดิ์ดังกล่าวอีก เขตอัครบิดรถูกโอนให้แก่กรมอาราม (Monastery Department) และรายได้ของทรัพย์สินดังกลางก็ตกเป็นของรัฐด้วย ซึ่งพระองค์ก็ทรงนำไปใช้ในการทำนุบำรุงกองทัพและปรับปรุงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
ในปี ค.ศ. 1716 จักรพรรดิปิออตร์ทรงออกพระบรมราชโองการให้พระระดับมุขนายกขึ้นไปทุกรูปต้องถวายสัตย์ปฏิญาณที่จะจงรักภักดีปละรับใช้จักรพรรดิ พระที่ยอมอุทิศตนให้แก่จักรพรรดิและเทศน์ให้ประชาชนเคารพยำเกรงในอำนาจอัตตาธิปไตยก็จะได้รับการส่งเสริมให้มีสมณศักดิ์สูงขึ้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 1721 พระองค์ได้ทรงเข้าควบคุมศาสนจักรมากยิ่งขึ้น โดยประกาศยุบตำแหน่งอัครบิดรอย่างเป็นทางการ (ไม่มีการตั้งอัครบิดรแห่งกรุงมอสโกอีกเป็นเวลาเกือบ 200 ปี จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคมเพียงเล็กน้อย) และจัดตั้งสมัชชาศักดิ์สิทธิ์ (Holy Synod) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารสูงสุดแทนตำแหน่งอัครบิดร แต่สมัชชาต้องอยู่ใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง (Chief Procurator) ที่เป็นฆราวาสซึ่งมีอำนาจในการยับยั้ง (veto) การออกศาสนบัญญัติหรือการดำเนินงานต่าง ๆ ของสภาศาสนาได้ ขณะเดียวกัน คริสตจักรได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการเพิ่มอำนาจให้แก่จักรพรรดิ โดยสร้างแนวคิดใหม่ว่าจักรพรรดิทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรให้ปกครองจักรวรรดิ (God’s chosen ruler) ดังนั้น การภักดีต่อพระองค์จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของคริสต์ศาสนิกชนกรีกออร์ทอดอกซ์และเป็นเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งของศาสนา
ด้านสังคม
[แก้]ชาวนาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งรวมทั้งทาสที่ต่างมีสถานภาพไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ถูกแยกออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ทาสติดที่ดิน (serf) และชาวนารัฐ (state peasants) ทั้ง 2 ต่างมีหน้าที่ในการผลิตพืชผลทางการเกษตรและอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองก็ถูกแยกออกเป็นพวกทำการค้า (trader) และพวกช่างฝีมือ (artisan) พวกทำการค้าต้องเข้าสังกัดในองค์กรพ่อค้า (merchants’ guild) ส่วนพวกช่างฝีมือต้องเป็นสมาชิกขององค์กรช่างฝีมือต่างๆ ตามที่ตนถนัด ซึ่งนับว่าเป็นการสวนกระแสของสังคมในยุโรปตะวันตกอย่างมากที่องค์กร (guild) ต่างๆ เหล่านี้กำลังสูญหายหรือเสียบทบาทไปจากดินแดนต่างๆ แต่ในรัสเซียองค์กรพ่อค้าและองค์กรช่างฝีมือได้รับสิทธิให้ปกครองดูแลกันเองในรูปแบบของการจัดการบริหารแบบเทศาภิบาล (municipal administration) โดยมีองค์กรบริหารของเมือง (town administration) จัดการดูแลและควบคุมอีกทีหนึ่ง
ส่วนชนชั้นขุนนางซึ่งรวมทั้งขุนนางระดับสูงหรือโบยาร์ สมาชิกสภา คหบดี ข้าราชสำนัก ทหารวัง และอื่นๆ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มชนชั้นขุนนางเดียวกัน เรียกว่า “dvorianin” การมีบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์ต้องเป็นไปตามความดีความชอบในหน้าที่ราชการที่ได้รับมอบหมาย บุตรหลานของขุนนางถูกบังคับให้เข้ารับราชการตั้งแต่อายุยังน้อย และต้องอยู่ในราชการตลอดชีวิต พวกขุนนางยังถูกบังคับให้โกนหนวดเคราและแต่งเครื่องแบบเลียนแบบชุนนางหรือชนชั้นสูงชาวยุโรปตะวันตก ทั้งยังต้องแสดงความกระตือรือร้นที่จะศึกษาและรับความเจริญก้าวหน้าใหม่ๆ ตลอดจนต้องประพฤติปฏิบัติตามรอยพระจริยาวัตรของจักรพรรดิอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง ในการรับราชการดังกล่าวพวกขุนนางจะได้รับที่ดินพร้อมด้วยชาวนาเป็นรางวัลตอบแทน รวมทั้งบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์ชั้นบารอนหรือเคานต์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลต่างๆ และเหรียญตรา และที่สำคัญที่สุดคือ อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐตามที่กำหนดไว้ในทำเนียบตำแหน่ง
ด้านวัฒนธรรม
[แก้]ในปี ค.ศ. 1699 จักรพรรดิปิออตร์ก็ทรงคิดประดิษฐ์ธงชาติตามแบบอย่างชาติตะวันตก ประกอบด้วยแถบสีขาว น้ำเงิน แดง ในแนวนอนเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวรัสเซียและของภูมิภาคต่างๆของประเทศ ซึ่งธงสามสีดังกล่าวนี้ก็ได้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในช่วงเวลาระหว่างที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์
จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 ทรงพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมของรัสเซียที่มีลักษณะเป็นแบบตะวันออกให้เป็นตะวันตกโดยการประกาศพระราชโองการให้ประชาชนโกนหนวดเคราทิ้งให้สอดคล้องกับความนิยมของนานาประเทศในยุโรปตะวันตกขณะนั้น เพราะพระองค์ถือว่าหนวดเคราเป็นสัญลักษณ์ของ “โลกเก่า” หรือโลกตะวันออกที่ล้าหลัง หากผู้ใดขัดขืนจะถูกลงโทษ นอกจากนั้นยังทรงนำปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar) ที่นิยมกันในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์มาบังคับใช้ในรัสเซียในปี ค.ศ. 1699 แทนปฏิทินแบบเก่าที่นับปีตั้งแต่มีการสร้างโลก ซี่งมีปีศักราชมากกว่าปฏิทินตะวันตก 6508 ปี โดยในปฏิทินใหม่ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1700 เป็นวันเริ่มปีและศักราชใหม่ของรัสเซีย (เดิมใช้วันที่ 1 กันยายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) เพื่อให้นับวันเวลาเดียวกันกับประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ในปี ดังกล่าวและปีต่อมายังทรงออกประกาศบังคับให้ชาวรัสเซียเปลี่ยนแปลงการแต่งกายจากเสื้อคลุมยาวหลวมรุ่มร่ามไม่กระชับตัว เสื้อคลุมมีขนาดยาวประมาณหัวเข่า พร้อมกับมีการจัดแสดงแบบเครื่องแต่งกายทั้งชายหญิงไว้ในที่สาธารณะ เพื่อให้ดูเป็นตัวอย่างซึ่งแบบการแต่งกายที่เริ่มนิยมกันในสหราชอาณาจักรในปลายราชวงศ์สจวต ผู้ฝ่าฝืนที่ปรากฏตัวที่ประตูเมืองในชุดเสื้อคลุมยาว จะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านประตูเมืองจนกว่าจะยอมตัดชายเสื้อคลุมให้มีขนาดสั้นขึ้น
เมื่อปี ค.ศ. 1705 พระองค์ทรงออกพระบรมราชโองการเก็บ “ภาษีหนวดเครา” กับผู้ที่ฝ่าฝืนซึ่งเห็นว่าหนวดเคราเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าประทานหรือกำหนดให้ผู้ชายต้องมี และการโกนหนวดเคราจึงถือว่าเป็นบาปโดยทรงกำหนดอัตราภาษีหนวดเคราสูงถึง 60-100 รูเบิล กับชนชั้นต่างๆ นับแต่พวกราชสำนัก พ่อค้า ชาวเมือง คนรับใช้ คนขับรถม้า คนขับเกวียน และชาวมอสโกทุกคน (ยกเว้นพวกพระและนักเทศน์) ส่วนชาวนาที่ยากจนก็ถูกกำหนดให้จ่ายภาษีหนวดเคราครั้งละ 2.5 โคเปก ทุกที่เดินเข้าออกประตูเมืองกรุงมอสโก อีกทั้งได้มีการพิมพ์หนังสือสมบัติผู้ดีชื่อ The Hunourable Miror of Youth (ค.ศ. 1717) ขึ้นเพื่อให้เยาวชนลูกผู้ดีมีสกุลได้เรียนรู้กิริยามารยาทในการเข้าสังคมแบบตะวันตกอีกด้วย
จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 ยังทรงให้เลิกธรรมเนียมเทเรมอย่างเด็ดขาดในปี ค.ศ. 1702 โดยเปิดโอกาสให้สตรีทุกเพศทุกวัยและทุกชนชั้นไม่จำกันแต่เฉพาะสตรีชั้นสูงทั่วจักรวรรดิได้มีโอกาสได้รับการศึกษา มีอิสรภาพมากขึ้นโดยไม่ต้องถูกเก็บตัวอยู่แต่ภายในบ้านเท่านั้น และอนุญาตให้หนุ่มสาวได้พบกันก่อนการแต่งงาน การยกเลิกธรรมเนียมเทเรมที่เริ่มใช้ในรัชสมัยของราชบิดาของพระองค์อย่างเด็ดขาด ดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการยกฐานะของผู้หญิงรัสเซียให้สูงขึ้นและมีอิสระมากขึ้น และทำให้ผู้หญิงสามารถแสวงหาความรู้และแม้กระทั่งความบันเทิง เช่น เต้นรำ ฟังเพลง ดื่มสุรา เล่นไพ่และอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียมผู้ชาย
ด้านการศึกษา
[แก้]การส่งเสริมการศึกษา จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 โปรดให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาชาวดัตช์ปรับปรุงแก้ไขตัวอักษรในภาษารัสเซียให้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรละตินและกรีกเพื่อความสะดวกในการเขียนและการอ่านมากยิ่งขึ้น ทรงส่งเสริมให้มีการแปลหนังสือและตำราต่างๆ ที่น่าสนใจในสาขาคณิตศาสตร์ การป้องกันประเทศ การสร้างและการเดินเรือ การสงครามและสถาปัตยกรรม และในปี ค.ศ. 1702 จักรพรรดิยังทรงกระตุ้นให้รัสเซียออกหนังสือพิมพ์ชื่อ เวโดมอสติ (Vedomosti) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศ
นอกจากนี้บุตรหลานของขุนนางต้องผ่านการศึกษาภาคบังคับและนับแต่ ค.ศ. 1714 เป็นต้นไปก็ไม่อนุญาตให้ชนชั้นขุนนางแต่งงานกันจนกว่าชายหญิงคู่นั้นจะจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาเป็นอย่างต่ำ แต่หากไม่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์และเรขาคณิตก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานกันด้วย นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตและกระตุ้นให้ชนชั้นขุนนางส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นสิ่งต้องห้ามในรัสเซีย อย่างไรก็ดี ในการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว มีประชาชนอยู่ทั่วไปเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นการวางรากฐานการศึกษาให้แก่รัสเซียเพื่อสามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไป
ในส่วนของสถาบันการศึกษา ทรงโปรดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนสามัญขึ้นเป็นครั้งแรกในรัสเซียที่เปิดสอนในด้านศิลปะ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ตลอดจนโรงเรียนนายทหารบกและทหารเรือ และสถาบันการสอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ดัตช์ เยอรมัน เพื่อให้ความรู้แก่ชาวรัสเซียอีกด้วย นำเอาตัวเลขอารบิกมาใช้ สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เภสัชสถานตามเมืองต่างๆ และในกองทัพตลอดจนการจัดการสอนการแสดงละคอรแบบตะวันตก เป็นต้น และที่สำคัญได้สถาปนาวิทยาลัยราชสำนักชั้นสูงขึ้นที่เมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์กและได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศรัสเซียในปี ค.ศ.1724 อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก อีกด้วย
การสร้างกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก
[แก้]เมื่อปี ค.ศ. 1712 จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 ทรงย้ายนครหลวงจากกรุงมอสโกไปยังกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าวฟินแลนด์เพื่อเป็น “หน้าต่างแลยุโรป” การสร้างกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กได้เริ่มขึ้นหลังจากที่รัสเซียสามารถยึดปอลตาวาจากสวีเดนได้ในปี ค.ศ. 1703 โดยมีโดมินิโก เทรซซินี ชาวสวิซ-อิตาลี และต่อมาชอง แบบติสท์ เลอบอลอด ชาวฝรั่งเศสเป็นสถาปนิก จักรพรรดิทรงชื่นชมศิลปะและสถาปัตยกรรมยุโรปตะวันตกเป็นอันมากและเห็นว่ามีความเหมาะสมกับรัสเซียมากกว่าศิลปะสลาฟที่มีอิทธิพลในรัสเซียมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ดังนั้น ทาสติดที่ดิน นักโทษสงครามและนักโทษอุกฉกรรจ์จำนวนนับแสนจึงถูกเกณฑ์แรงงานไปก่อสร้างเมือง และจำนวนมากได้เสีอชีวิตจากอากาศที่หนาวเย็น โรคภัยไข้เจ็บและการขาดอาหาร ในระยะแรก อาคารต่างๆ สร้างด้วยซุงเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย แต่ต่อมาจักรพรรดิปีเตอร์ทรงให้สร้างด้วยหินเพื่อความคงทนถาวรและสง่างามดังเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปตะวันตก จักรพรรดิปีเตอร์และพระราชวงศ์ทรงย้ายมาประทับ ณ เมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์กในปี ค.ศ. 1710 ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นนครหลวงแห่งใหม่ และบังคับให้พวกขุนนางพ่อค้าและเจ้าที่ดินที่ครอบครองทาสติดที่ดินตั้งแต่ 30 ครอบครัวขึ้นไป ต้องไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กด้วย ใน ค.ศ. 1714 จักรพรรดิทรงออกพระราชโองการห้ามการก่อสร้างอาคารด้วยหินหรืออิฐในที่อื่นๆ ในรัสเซียเพื่อสงวนวัสดุก่อสร้างไว้สร้างอาคารสถานที่ต่างๆ ในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก
ในปี ค.ศ. 1725 การก่อสร้างพระราชวังเปเตียร์กอฟ ได้สิ้นสุดลง ซึ่งพระราชวังนี้สามารถเปรียบได้กับพระราชวังแวร์ซายในประเทศฝรั่งเศส
การประพาสยุโรปครั้งที่ 2
[แก้]ขณะที่กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างนั้น ในปี ค.ศ. 1717 จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 ได้เสด็จประพาสยุโรปตะวันตกเป็นครั้งที่ 2 โดยทรงเยี่ยมเยียนดูความก้าวหน้าของศิลปวิทยาการในกรุงโคเปนเฮเกน (ประเทศเดนมาร์ก) กรุงอัมสเตอร์ดัม (ประเทศเนเธอร์แลนด์) กรุงเบอร์ลิน (ปรัสเซีย) และกรุงปารีส (ประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งพระองค์ทรงมีโอกาสเข้าเยี่ยมพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ขณะพำนักอยู่ในกรุงปารีส จักรพรรดิปีเตอร์ก็ทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษในความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนี้ จักรพรรดิปีเตอร์ยังทรงได้รับการทูลเชิญให้เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อเสด็จนิวัติกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กจักรพรรดิจึงทรงคิดจัดตั้งราชบัณฑิตยสภาหรือสถาบันวิทยาศาสตร์ขึ้น นอกจากนี้ยังทรงทำให้กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กเป็นศูนย์กลางของความเจริญและวัฒนธรรมตะวันตก นครแห่งนี้ซึ่งสร้างขึ้นตามชื่อของนักบุญปีเตอร์ อัครสาวกของพระเยซูยังเป็นอนุสรณ์สถานและสัญลักษณ์ของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราชในความพยายามสร้างรัสเซียให้เป็นมหาอำนาจยุโรปและเจริญทัดเทียมอารยประเทศตะวันตก นับแต่นั้นเป็นต้นมา รัสเซียไม่สามารถที่จะหันหลังให้แก่ความเจริญ การแข่งขัน และความขัดแย้งของยุโรปได้อีกต่อไป ส่วนกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กเองก็ได้รับการพัฒนาและการขยายตัวในรัชสมัยขององค์ประมุขต่อๆ มา มีการวางผังเมือง การสร้างพระราชวังและอาคารอย่างถาวรสวยงามเป็นระเบียบมากมายจนเสร็จสมบูรณ์เป็น “มหานคร” ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปในรัชสมัยจักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 2 มหาราชินี และเป็น “อัญมณีประดับยอดพระมหามงกุฎ” ของราชวงศ์โรมานอฟจนกระทั่งรัสเซียประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบอัตตาธิปไตยและสถาบันจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1917
การสวรรคต
[แก้]จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1725 เวลาประมาณตีสี่ถึงตีห้า พระชันษาได้ 52 ปี ครองราชย์สมบัติได้ 42 ปี จากการที่พระองค์พยายามว่ายน้ำไปช่วยเหลือพลเมืองที่กำลังจมน้ำ ทำให้พระองค์เสด็จสวรรคตในเวลาต่อมา
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ พระอิสริยยศถูกเปลี่ยนพระนามจาก "ซาร์" เป็น "จักรพรรดิ" ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1721
- ↑ Dates indicated by the letters "O.S." are in the Julian calendar with the start of year adjusted to 1 January. All other dates in this article are in Gregorian calendar (see Adoption of the Gregorian calendar#Adoption in Eastern Europe).
อ้างอิง
[แก้]ก่อนหน้า | จักรพรรดิปิออตร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สถาปนาพระอิสริยยศ | จักรพรรดิแห่งรัสเซีย (2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1721 - 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1725) |
จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 1 |
- หน้าที่มีสัทอักษรสากลไม่ระบุภาษา
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2215
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2268
- จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย
- ซาร์แห่งรัสเซีย
- ซาเรวิชแห่งรัสเซีย
- จักรพรรดิรัสเซีย
- ราชวงศ์โรมานอฟ
- มหาราช
- มหาราชแห่งประเทศรัสเซีย
- พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ขณะทรงพระเยาว์ในสมัยใหม่
- พระมหากษัตริย์ผู้ทรงก่อตั้ง
- ผู้ก่อตั้งเมือง