ข้ามไปเนื้อหา

การทารุณเด็กทางเพศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การทารุณเด็กทางเพศ[1] (อังกฤษ: Child sexual abuse ตัวย่อ CSA, อังกฤษ: child molestation) หรือ การกระทำทารุณต่อเด็กทางเพศ[2] หรือ การทำร้ายเด็กทางเพศ[3] เป็นรูปแบบการกระทำทารุณต่อเด็กที่ผู้ใหญ่, หรือเยาวชนหรือวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่าและต่างระดับพัฒนา[4] ใช้เด็กกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ[5][6] มีรูปแบบตั้งแต่การขอหรือบังคับให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศ (ไม่ว่าจะได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่), การแสดงสิ่งลามกอนาจารไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเพศ หัวนมหญิง เป็นต้น เพื่อสนองความต้องการทางเพศของตน เพื่อขู่ขวัญเด็ก หรือเพื่อปะเหลาะประเล้าประโลมเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรม, การสัมผัสเด็กทางเพศ, หรือการใช้เด็กเพื่อผลิตสื่อลามกอนาจาร[5][7][8]

ทารุณกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายที่หลายสถาน รวมทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือสำนักงานที่มีเด็กทำงานเป็นปกติ การจับเด็กแต่งงานเป็นรูปแบบการทารุณหลักอย่างหนึ่ง ที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้กล่าวไว้ว่า "อาจเป็นรูปแบบการทารุณและฉวยผลประโยชน์จากเด็กหญิงทางเพศที่แพร่หลายที่สุด"[9]

ทารุณกรรมต่อเด็กส่งผลทางจิตใจ ให้เกิดความซึมเศร้า[10] ความวิตกกังวล[11] ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ[12] ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจแบบซับซ้อน (complex post-traumatic stress disorder)[13] ความโน้มเอียงที่จะตกเป็นเหยื่อทารุณกรรมอีกในวัยผู้ใหญ่[14] รวมทั้งการบาดเจ็บทางกาย และเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด[15]

ทารุณกรรมโดยสมาชิกครอบครัวซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการร่วมประเวณีกับญาติสนิท จะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงยิ่งกว่าต่อเด็ก ส่งผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาว โดยเฉพาะในกรณีที่ทำโดยผู้ปกครอง[16] ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง พ่อบุญธรรม แม่บุญธรรม

ความแพร่หลายทั่วโลกของทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กประเมินอยู่ที่ 19.7% ในหญิง และ 7.9% ในชาย[17] ผู้กระทำผิดส่วนมากรู้จักเหยื่อ ราว 30% เป็นญาติ บ่อยที่สุดเป็นพี่ชาย พ่อ ลุง หรือลูกพี่ลูกน้อง ราว 60% เป็นคนรู้จักอื่นอย่างเช่น "เพื่อน"ของคนในครอบครัว พี่เลี้ยงเด็ก หรือเพื่อนบ้าน และราว 10% เป็นคนแปลกหน้า[18] ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นชาย จากการศึกษาพบว่า หญิงทำผิดต่อ 14-40% ของเหยื่อเด็กชาย และ 6% ของเหยื่อเด็กหญิง[18][19][20](โดยที่เหลือของเหยื่อทำโดยผู้ทำผิดเพศชาย) ส่วนคำภาษาอังกฤษว่า pedophile (คนใคร่เด็ก) มักจะใช้อย่างไม่เลือกกับทุก ๆ คนที่ทารุณเด็กทางเพศ[21] แต่ผู้ทำผิดต่อเด็กทุกคนไม่ใช่คนใคร่เด็ก ยกเว้นถ้ามีความรู้สึกทางเพศที่รุนแรงกับเด็กที่อยู่ในวัยก่อนหนุ่มสาว[22][23] และคนใคร่เด็กทุกคนก็ไม่ใช่ผู้ทำผิดต่อเด็ก[22][24][25]

ในกฎหมายบางประเทศ คำว่า child sexual abuse (การทารุณเด็กทางเพศ) ใช้เป็นคำคลุมทั้งการละเมิดกฎหมายอาญาและแพ่ง ที่ผู้ใหญ่ทำกิจทางเพศร่วมกับผู้เยาว์ หรือฉวยประโยชน์จากผู้เยาว์เพื่อสนองความรู้สึกทางเพศ[8][26] สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ยืนยันว่า "เด็กไม่สามารถยินยอมมีกิจกรรมทางเพศร่วมกับผู้ใหญ่" และประณามการทำเช่นนั้นของผู้ใหญ่ คือ "ผู้ใหญ่ที่มีกิจกรรมทางเพศร่วมกับเด็ก กำลังละเมิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม ที่ไม่มีทางพิจารณาได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ปกติหรือที่ยอมรับได้ในสังคม"[27]

ผลต่อเด็ก

[แก้]

ทางจิต

[แก้]

การทารุณเด็กทางเพศสามารถมีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งโรคจิตต่าง ๆ ต่อ ๆ มาในชีวิต[15][28] อาการและผลรวมทั้งภาวะซึมเศร้ารุนแรง[10][29][30] ความวิตกกังวล[11] ความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorders)[31] การมีความเคารพตน (self-esteem) ต่ำ[31] การเกิดโรคกายเหตุจิต (somatization)[30] ความผิดปกติในการนอน (sleep disturbances)[32][33] โรคดิสโซสิเอทีฟ (Dissociative identity disorder), และโรควิตกกังวล รวมทั้งความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)[12][34] แม้ว่าเด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมย้อนวัยเช่น การดูดนิ้วหัวแม่มือ และการถ่ายรดที่นอน แต่อาการที่ชัดเจนที่สุดของการถูกทารุณกรรมทางเพศก็คือ การเล่นเลียนแบบทางเพศ และการมีความรู้ความสนใจทางเพศที่ไม่สมควรต่อวัย[35][36] เด็กอาจจะไม่สนใจไปโรงเรียนหรือเล่นกับเพื่อน[35] และมีปัญหาด้านการเรียนการประพฤติหลายอย่างรวมทั้งการกระทำทารุณโหดร้ายต่อสัตว์[37][38][39][40] การมีสมาธิสั้น (ADHD) ความผิดปกติทางความประพฤติ (conduct disorder) และความผิดปกติแบบท้าทายชอบทำตรงกันข้าม (oppositional defiant disorder)[31] ในช่วงวัยรุ่น อาจจะเกิดตั้งครรภ์และพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยง[41] เหยื่อทารุณกรรมแจ้งการทำร้ายตนเองเกือบถึง 4 เท่าของปกติ[42]

งานศึกษาให้ทุนโดย National Institute of Drug Abuse ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาพบว่า "ในหญิงผู้ใหญ่เกิน 1,400 คน การถูกทารุณทางเพศในวัยเด็กสัมพันธ์กับโอกาสสูงขึ้นในการติดยาเสพติด ติดสุรา และมีความผิดปกติทางจิต เช่น เมื่อแสดงความสัมพันธ์เป็นอัตราส่วนปัจจัยเสี่ยง หญิงที่ถูกทารุณกรรมทางเพศที่ไม่เกี่ยวกับอวัยวะเพศมีโอกาสที่จะติดยาเสพติดในวัยผู้ใหญ่ 2.83 เท่าของหญิงที่ไม่ถูก"[43]

ผลลบระยะยาวที่มีหลักฐานแสดงอย่างชัดเจนก็คือ การตกเป็นเหยื่อแบบซ้ำ ๆ หรือเพิ่มขึ้นในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่[14][44] การถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็กสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุ กับโรคจิตต่าง ๆ ในวัยผู้ใหญ่ที่เป็นผล เช่น อาชญากรรม และการฆ่าตัวตาย[18][45][46][47][48][49] รวมทั้งการติดสุราและยาเสพติด[43][44][50] ชายที่ถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก มักจะปรากฏในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม มากกว่าในสถาบันบำบัดโรคจิต[35] งานศึกษาหนึ่งที่เปรียบเทียบหญิงกลางคนที่ถูกทารุณกรรมในวัยเด็กกับหญิงที่ไม่ถูกพบว่า หญิงถูกทารุณกรรมต้องมีการดูแลทางสุขภาพในระดับที่สูงกว่า[30][51] ยังพบผลต่อคนรุ่นต่อไปอีกด้วย คือ เด็กลูกของเหยื่อมักจะมีปัญหาทางพฤติกรรม ทางสังคม และทางจิตมากกว่าเด็กอื่น ๆ[52]

ยังไม่มีรูปแบบอาการโดยเฉพาะที่ชัดเจน[53] แต่มีสมมติฐานหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุของอาการเหล่านี้ รวมทั้ง

  • ทารุณกรรมทางกายเป็นเหตุสำคัญของอาการซึมเศร้า[10]
  • รูปแบบและความรุนแรงของทารุณกรรมสัมพันธ์กับอาการทางจิตต่าง ๆ[54]
  • ยังไม่ชัดเจนว่าสถานการณ์ของครอบครัวเป็นเหตุของอาการทางจิตต่าง ๆ[55]

งานศึกษาหลายงานพบว่า 51%-79% ของเด็กเหยื่อมีอาการทางจิต[47][56][57][58][59] อาการมีโอกาสรุนแรงเพิ่มขึ้นถ้าผู้กระทำเป็นญาติ ถ้ามีการร่วมเพศหรือความพยายามที่จะร่วมเพศ หรือถ้ามีการขู่หรือใช้กำลัง[60] ระดับความรุนแรงของอาการอาจมีอิทธิพลจากองค์ต่าง ๆ เช่น ความลึกในการล่วงล้ำ ระยะเวลาและความถี่ของทารุณกรรม และการใช้กำลัง[15][28][61][62] รอยด่างทางสังคมอาจเพิ่มปัญหาทางใจต่อเด็ก[62][63] แต่ผลเสียหายมีโอกาสน้อยลงสำหรับเด็กที่ได้รับการสนับสนุนทางครอบครัวที่ดี[64][65]

โรคดิสโซสิเอทีฟ และ PTSD

[แก้]

การกระทำทารุณต่อเด็กรวมทั้งทางเพศ โดยเฉพาะแบบซ้ำ ๆ เริ่มตั้งแต่อายุน้อย ๆ สัมพันธ์กับอาการดิสโซสิเอทีฟในระดับสูง รวมทั้งภาวะเสียความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ทารุณกรรม[66] ถ้าเป็นแบบรุนแรง (คือมีการล่วงล้ำ มีผู้กระทำหลายคน เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี) อาการดิสโซสิเอทีฟก็ยิ่งหนักขึ้น[67]

นอกจากโรคดิสโซสิเอทีฟและ PTSD แล้ว เหยื่ออาจมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD) และความผิดปกติในการรับประทาน เช่น โรคหิวไม่หาย (bulimia nervosa)[68]

ปัจจัยที่มีผลต่องานวิจัย

[แก้]

เพราะว่าทารุณกรรมในเด็กบ่อยครั้งเกิดขึ้นพร้อมกับปัจจัยที่อาจเป็นตัวแปรกวนอื่น ๆ เช่น สถานการณ์ในครอบครัวที่ไม่ดีและการทารุณทางกาย[69] นักวิชาการบางพวกอ้างว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องควบคุมตัวแปรกวนเหล่านั้นในงานศึกษาที่วัดผลของทารุณกรรมทางเพศ[28][54][70][71] งานทบทวนวรรณกรรมปี ค.ศ. 1998 กล่าวว่า "สมมติฐานที่เสนอในงานนี้ก็คือ ในกรณีโดยมากแล้ว ความเสียหายหลักของทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก มีเหตุจากสมรรถภาพการพัฒนาในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความไว้วางใจ ความใกล้ชิด ความเป็นตัวของตัวเอง และสภาวะทางเพศ ส่วนปัญหาโรคจิตในวัยผู้ใหญ่ที่สัมพันธ์กับประวัติทารุณกรรมทางเพศ เป็นผลชั้นทุติยภูมิ"[72] แต่ก็มีงานศึกษาอื่น ๆ ที่พบความสัมพันธ์ระหว่างทารุณกรรมทางเพศกับปัญหาโรคจิตที่เป็นอิสระจากปัจจัยดังกล่าว[11][28][54]

งานปี 2000 พบว่า ในตัวอย่างที่ศึกษา ความสัมพันธ์โดยมากระหว่างทารุณกรรมทางเพศแบบรุนแรงกับโรคจิตวัยผู้ใหญ่ ไม่สามารถอธิบายได้โดยปัจจัยทางครอบครัว เพราะว่า ขนาดผลต่าง (effect size) ที่เกิดจากความสัมพันธ์ลดลงเพียงแค่เล็กน้อยหลังจากกำจัดตัวแปรกวนที่เป็นไปได้ นอกจากนั้นแล้ว ตัวอย่างคู่แฝดที่ศึกษาในงาน ก็สนับสนุนความสัมพันธ์โดยเป็นเหตุผลระหว่างทารุณกรรมทางเพศกับโรคจิตวัยผู้ใหญ่ เพราะว่า แฝดที่ถูกทารุณกรรมมีความเสี่ยงต่อโรคจิตสูงกว่าแฝดของตนที่ไม่ได้ถูก[54]

งานวิเคราะห์อภิมานในปี ค.ศ. 1998 ก่อให้เกิดการโต้เถียงกันโดยเสนอว่า ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กไม่ได้มีผลเสียหายอย่างกว้างขวางในทุกกรณี คือผู้วิจัยกล่าวว่า มีนักศึกษามหาวิทยาลัยที่รายงานประสบการณ์เช่นนั้นในเชิงบวก และขอบเขตความเสียหายทางจิตขึ้นอยู่กับว่า เด็กคิดว่าประสบการณ์นั้นเป็นการยินยอมหรือไม่[73] ต่อมางานวิจัยนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีระเบียบวิธีและการสรุปที่ผิดพลาด[74][75] รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาประณามงานศึกษาเพราะข้อสรุป และเพราะให้ข้ออ้างกับองค์กรคนใคร่เด็กเพื่อทำกรรมประทุษร้ายเด็ก[76]

ผลทางกาย

[แก้]

ความบาดเจ็บ

[แก้]

ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของเด็กประกอบกับกำลังที่ใช้ ทารุณกรรมทางเพศอาจมีผลเป็นแผลฉีกขาดและเลือดออกภายใน และในกรณีที่รุนแรง อาจจะมีความเสียหายต่ออวัยวะภายใน และในบางกรณี อาจจะทำให้ถึงตาย[77]

การติดเชื้อ

[แก้]

ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก อาจจะมีผลเป็นการติดเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์[78] โอกาสการติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นเพราะเด็กไม่มีน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ และอาการช่องคลอดอักเสบ ก็อาจจะเกิดขึ้นด้วย[78]

ความเสียหายทางประสาท

[แก้]

งานวิจัยแสดงว่า ความเครียดแบบบาดเจ็บ (traumatic stress) รวมทั้งความเครียดจากถูกทารุณกรรมทางเพศ มีผลเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ในการทำงานและพัฒนาการของสมอง[79][80] งานศึกษาหลายงานเสนอว่า ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กแบบรุนแรง อาจมีผลเสียหายต่อพัฒนาการทางสมอง งานวิจัยในปี ค.ศ. 1998 พบว่า "เด็กที่ถูกทารุณกรรมมีสัญญาณแบบ coherence ในสมองซีกซ้ายที่สูงกว่า และมีอสมมาตรที่กลับข้าง คือ สัญญาณ coherence ในสมองซีกซ้ายสูงกว่าในสมองซีกขวาอย่างสำคัญ"[81] งานวิจัยปี ค.ศ. 2002 พบคลื่น NMR ที่ผิดปกติ (มีช่วงเวลา transverse relaxation ที่ผิดปกติ) ในเขต cerebellar vermis ของผู้ใหญ่ผู้ถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก[82] งานวิจัยปี ค.ศ. 1993 ของ Teicher et al พบโอกาสสูงขึ้นของ "อาการคล้ายลมชักในสมองกลีบขมับ" ของเหยื่อ และความสัมพันธ์กับขนาดคอร์ปัส คาโลซัมที่ลดลง[83] งานวิจัยอื่น ๆ พบความสัมพันธ์กับปริมาตรฮิปโปแคมปัสข้างซ้ายที่ลดลง[84] ส่วนงานในปี 1993 อีกงานหนึ่งพบความผิดปกติทางสรีรวิทยาไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น[85]

งานบางงานพบว่า การกระทำทารุณต่อเด็กทางเพศหรือทางกาย อาจจะนำไปสู่การทำงานเกินของระบบลิมบิกที่มีพัฒนาการต่ำกว่าปกติ[84] งานของ Teicher et al ในปี 1993[83] ใช้รายการเช็คระบบลิมบิกที่เรียกว่า Limbic System Checklist-33 หรือตัวย่อว่า LSCL-33 เพื่อวัดอาการคล้ายลมชักในสมองกลีบข้างของผู้ใหญ่ 253 คน การถูกทารุณกรรมทางเพศที่ผู้ร่วมการทดลองรายงานเอง สัมพันธ์กับคะแนน LSCL-33 ที่เพิ่มขึ้น 49% จากปกติ เทียบกับการถูกทารุณกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น 11% และเทียบกับการถูกทารุณกรรมทั้งทางกายและทางเพศ ที่เพิ่มขึ้น 113% โดยคล้ายกันทั้งหญิงและชาย[83][86]

งานวิจัยปี 2006 พบว่า คะแนน SAT วิชาเลขที่รายงานเอง ของหญิงตัวอย่างที่มีประวัติถูกทารุณกรรมทางเพศซ้ำ ๆ ในวัยเด็ก ต่ำกว่าหญิงอื่นอย่างสำคัญ แต่เพราะว่า คะแนนวิชาภาษาสูง นักวิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่า คะแนนเลขที่ต่ำอาจ "เกิดจากความบกพร่องในการทำงานร่วมกันของซีกสมองทั้งสองข้าง" งานวิจัยยังพบความสัมพันธ์ที่มีกำลังระหว่างความบกพร่องในความจำระยะสั้นในเรื่องทุกเรื่องที่ตรวจสอบ (คือ ทางภาษา ทางการเห็น และทั่วไป) กับระยะเวลาที่ถูกทารุณกรรม[87]

การสมสู่ร่วมสายโลหิตและการทำผิดทั่วไป

[แก้]

การสมสู่ร่วมสายโลหิตระหว่างเด็กหรือวัยรุ่น กับผู้ใหญ่ที่เป็นญาติ เป็นรูปแบบทารุณกรรมต่อเด็กทางเพศที่แพร่หลายที่สุด ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เด็กเสียหาย[16] ในภาษาอังกฤษเรียกได้ด้วยว่า child incestuous abuse (การทารุณเด็กทางเพศโดยญาติสายโลหิต)[88] นักวิจัยท่านหนึ่งกล่าวว่า ผู้กระทำผิดทั่วไปต่อเด็ก 70% เป็นคนในครอบครัวที่ใกล้ชิด หรือเป็นคนที่สนิทกับคนในครอบครัวมาก[89] ในขณะที่นักวิจัยอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า ผู้กระทำผิด 30% เป็นญาติของเหยื่อ 60% เป็นคนรู้จักกับคนในครอบครัว เช่น เพื่อนบ้าน พี่เลี้ยงเด็ก หรือเพื่อนของคนในบ้าน และ 10% เป็นคนแปลกหน้า[18] การทารุณเด็กทางเพศที่ผู้กระทำเป็นญาติ จะเป็นโดยสายเลือดหรือโดยการแต่งงานก็ดี เป็นรูปแบบการสมสู่ร่วมสายโลหิตที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "intrafamilial child sexual abuse" (การทารุณเด็กทางเพศโดยคนในครอบครัว)[90]

รูปแบบที่รายงานมากที่สุดก็คือ พ่อ-ลูกสาว และพ่อเลี้ยง-ลูกสาว โดยที่เหลือเป็นระหว่างแม่/แม่เลี้ยง-ลูกสาว/ลูกชาย[91] รูปแบบพ่อ-ลูกชาย มีรายงานน้อย แต่ว่า ไม่ชัดเจนว่า ความแพร่หลายมีน้อยจริง ๆ หรือว่า เพียงแต่ว่ามีรายงานน้อยเกินความจริง[92][93][94][95] แต่ว่า ก็มีนักวิจัยอื่นอีกที่อ้างว่า รูปแบบระหว่างพี่น้องอาจจะสามัญพอ ๆ กัน หรือมีมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ งานวิจัยปี 1997 อ้างว่า รูปแบบพี่น้องมีในอัตรา 57%[96] และหนังสือปี 1979 รายงานว่า การสมสู่ร่วมสายโลหิตในครอบครัวอยู่แค่พ่อแม่ลูก เป็นแบบพี่น้อง 90%[97] ส่วนหนังสือปี 2000 แสดงว่า การสมสู่ระหว่างพี่น้องมีรายงานเป็น 2 เท่าของแบบระหว่างพ่อ/พ่อเลี้ยง-ลูก[98]

ความแพร่หลายของการทารุณเด็กทางเพศโดยผู้ปกครองยากที่จะประเมินเพราะการเก็บความลับและการรักษาความเป็นส่วนตัว โดยมีคนประเมินว่า คนอเมริกัน 20 ล้านคนเป็นเหยื่อของทารุณกรรมรูปแบบนี้ในวัยเด็ก[91]

การฉวยประโยชน์การค้าทางเพศจากเด็ก

[แก้]

ประกาศของงานประชุมโลกใหญ่ต้านการฉวยประโยชน์การค้าทางเพศจากเด็ก (Declaration of the First World Congress against Commercial Sexual Exploitation of Children) ที่ประชุมในเมืองสต็อกโฮล์มปี 1996 นิยาม "การฉวยประโยชน์การค้าทางเพศจากเด็ก" (Commercial sexual exploitation of children ตัวย่อ CSEC) ว่า "การทารุณทางเพศโดยผู้ใหญ่ที่ประกอบด้วยผลตอบแทนเป็นเงินสดหรือการตอบแทนเช่นกัน ที่ให้แก่เด็กหรือแก่บุคคลที่ 3"[99] CSEC มักจะอยู่ในรูปแบบของการค้าประเวณี หรือสื่อลามกอนาจาร และมักจะอำนวยโดยระบบการท่องเที่ยวเพื่อเพศสัมพันธ์กับเด็ก (child sex tourism) เป็นปัญหาโดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาในเขตเอเชีย[100][101] ในปีที่ผ่าน ๆ มาไม่นานนี้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ช่วยอำนวยการค้าขายสื่อลามกอนาจารเด็กทางอินเทอร์เน็ต[102]

ประเภททารุณกรรมทางกฎหมาย

[แก้]

การทารุณเด็กทางเพศเป็นการละเมิดกฎหมายทางเพศหลายประการ รวมทั้ง

  • sexual assault (การทำร้ายทางเพศ) เป็นการละเมิดโดยผู้ใหญ่ที่ใช้เด็กเพื่อสนองความรู้สึกทางเพศ เช่น การข่มขืน (รวมทั้งการชำเราแบบวิตถาร) และการล่วงล้ำทางเพศด้วยวัตถุ[103] รัฐโดยมากในประเทศสหรัฐอเมริการวมการสัมผัสล่วงล้ำกายเด็ก (penetrative contact) เพื่อสนองอารมณ์ทางเพศทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน[104]
  • การฉวยประโยชน์การค้าทางเพศจากเด็ก (Commercial sexual exploitation of children) หมายถึงการละเมิดที่ผู้ใหญ่มีเด็กเป็นเหยื่อเพื่อผลประโยชน์ เพื่อสนองอารมณ์ทางเพศ หรือเพื่อผลกำไร เช่น ให้เด็กค้าประเวณี[105] และผลิตหรือค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก[106]
  • Child grooming หรือ sexual grooming (การเตรียมเด็กเพื่อเซ็กส์, การปะเหลาะประเล้าประโลมเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรม) เป็นความประพฤติทางสังคมของผู้อาจจะกลายเป็นผู้ละเมิดทางเพศต่อเด็ก ผู้หาวิธีให้เด็กยอมรับข้อเสนอต่าง ๆ ของตนมากขึ้น อย่างเช่นที่เกิดในห้องแช็ตออน์ไลน์[107]

การเปิดเผยเรื่อง

[แก้]

เด็กที่ได้รับการสนับสนุนหลังจากเปิดเผยเหตุการณ์ทารุณกรรม จะมีอาการบาดเจ็บทางกายและใจต่าง ๆ และถูกทารุณกรรมเป็นระยะเวลาน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับ[108][109] โดยทั่วไปแล้ว งานวิจัยพบว่า เด็กต้องการผู้ช่วยสนับสนุนและช่วยลดความเครียดหลังจากเปิดเผยเหตุการณ์[110][111] ปฏิกิริยาลบของสังคมต่อการเปิดเผยเหตุการณ์ เป็นปัญหาต่อการอยู่เป็นสุขของเหยื่อ[112] งานวิจัยหนึ่งรายงานว่า เด็กที่ได้ปฏิกิริยาที่ไม่ดีจากบุคคลแรกที่ตนบอก โดยเฉพาะถ้าเป็นสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิด มีภาวะการบาดเจ็บทั่วไป อาการ PTSD และอาการดิสโซสิเอทีฟ ที่แย่กว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่[113] งานอีกงานหนึ่งพบว่า ในกรณีโดยมากที่เด็กเปิดเผยทารุณกรรม คนที่เด็กคุยด้วยจะไม่ตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ จะโทษหรือปฏิเสธไม่เชื่อเด็ก หรือไม่ทำอะไรหรือทำน้อยเกินไปที่จะยุติเหตุการณ์ทารุณกรรม[111] การปฏิเสธไม่เชื่อเด็กหรือการตอบสนองที่ไม่สนับสนุนต่อการเปิดเผยเหตุการณ์ของเด็ก โดยผู้ที่เด็กมีความผูกพันมากที่สุด อาจแสดงปัญหาความสัมพันธ์ที่มีก่อนหน้าเหตุการณ์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อทารุณกรรม และสามารถดำรงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผลเสียหายทางจิตที่เกิดตามมาในภายหลัง[114]

บัณฑิตยสถานจิตแพทย์ของเด็กและวัยรุ่น (American Academy of Child and Adolescent Psychiatry) ให้แนวทางสิ่งที่ควรพูดกับเหยื่อ และสิ่งที่ควรทำหลังเด็กเปิดเผยเหตุการณ์[115] โดยมีนักวิชาการท่านหนึ่งรายงานสิ่งที่ไม่ควรทำว่า "มีการลดความสำคัญของอาการเจ็บปวดและผลที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ โดยผู้ให้ความดูแลฐานผู้ปกครอง เพื่อป้องกันและปลอบเด็ก คือ มีการสมมุติอย่างสามัญว่า การใส่ใจปัญหาของเด็กนานเกินไปจะมีผลลบต่อการฟื้นคืนสภาพของเด็ก ดังนั้น ผู้ให้ความดูแลจึงสอนให้เด็กปิดบังปัญหาของตน" ซึ่งความจริงเป็นการเพิ่มปัญหาในเรื่องนี้[116]

ตุ๊กตาที่มีอวัยวะสมบูรณ์บางครั้งใช้เพื่อช่วยการเปิดเผยเหตุการณ์

ในบางประเทศ กฎหมายบังคับให้แจ้งกรณีทารุณกรรมที่สงสัย แต่ไม่ได้หมายถึงต้องพิสูจน์แล้ว ไปยังองค์การป้องกันเด็ก เช่น Child Protection Services ในรัฐต่าง ๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อแนะนำแก่ผู้ทำการรักษาพยาบาล เช่น ผู้ทำปฐมพยาบาลหรือพยาบาล ผู้ที่มักจะประสบกับกรณีที่น่าสงสัย ก็คือ ให้ช่วยเด็กให้รู้สึกว่า เด็กอยู่ในสถานที่และเหตุการณ์ที่ปลอดภัยเสียก่อน สถานที่ห่างจากผู้ต้องสงสัยเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการสัมภาษณ์และการตรวจ ควรหลีกเลี่ยงคำหรือคำถามชี้ทางที่อาจจะบิดเบือนความจริง และเพราะว่าการเปิดเผยเหตุการณ์อาจเป็นเรื่องเครียดหรือเรื่องน่าอาย ดังนั้น การให้กำลังใจเด็กว่า กำลังทำสิ่งที่ถูกต้องโดยบอกเรื่อง ว่าไม่ใช่เป็นเด็กไม่ดี และว่าเหตุการณ์ไม่ใช่ความผิดของตน จะช่วยให้สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ดีขึ้น บางครั้งมีการใช้ตุ๊กตาที่มีอวัยวะสมบูรณ์เพื่อช่วยอธิบายว่าอะไรเกิดขึ้น และในการคุยกับผู้ต้องสงสัย มีการแนะนำว่าให้มีกิริยาท่าทางที่ไม่ด่วนตัดสิน ไม่เป็นภัย ไม่แสดงอาการช็อค เพื่อช่วยให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น[117]

การบำบัดรักษา

[แก้]

วิธีการรักษาเบื้องต้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายอย่าง รวมทั้ง

  • วัยเมื่อมาหา
  • สถานการณ์เมื่อมาหา
  • สภาวะ co-morbid (อาการหรือโรคที่มีอย่างอื่น ๆ โดยปกติต่างหากจากอาการหรือโรคหลัก)

เป้าหมายการรักษาไม่ใช่เพียงแค่บำบัดปัญหาและการบาดเจ็บทางจิตในปัจจุบันเท่านั้น แต่เพื่อที่จะป้องกันปัญหาที่อาจจะมีต่อไปในอนาคต

เด็กและวัยรุ่น

[แก้]

ในประเทศตะวันตก เด็กมักจะมาหาเพื่อการบำบัดรักษาภายใต้เหตุการณ์หลายอย่าง รวมทั้ง การสืบสวนคดีอาญา การสู้คดีการปกครองดูแลบุตร ปัญหาพฤติกรรม และการส่งต่อจากองค์กรดูแลรักษาเด็ก[118]

มีวิธีการรักษาเด็กและวัยรุ่น 3 แบบคือ การบำบัดพร้อมครอบครัว (family therapy) การบำบัดพร้อมกลุ่ม (group therapy) และการบำบัดส่วนตัว (individual therapy) จะใช้แบบไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่ต้องประเมินเป็นกรณี ๆ ยกตัวอย่างเช่น การรักษาเด็กเล็ก ๆ ทั่วไปจำเป็นต้องมีการร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากผู้ปกครอง และดังนั้นก็จะได้ประโยชน์จากการบำบัดพร้อมครอบครัว แต่เด็กวัยรุ่นมักจะเป็นตัวของตัวเองมากกว่า ดังนั้นจะได้ประโยชน์จากการบำบัดพร้อมกลุ่มหรือโดยส่วนตัว รูปแบบจะเปลี่ยนไปในระยะการรักษาด้วย เช่น การบำบัดพร้อมกลุ่มมักจะไม่ใช้ในตอนแรก เพราะว่า เรื่องที่พูดเป็นเรื่องส่วนตัว และ/หรือ เป็นเรื่องให้อาย[118]

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อโรคและการตอบสนองต่อการรักษารวมทั้งรูปแบบและความรุนแรงของการกระทำผิดทางเพศ ความถี่ของเหตุการณ์ วัยที่เหตุการณ์เกิดขึ้น และพื้นเพของครอบครัวเด็ก ในปี 1983 แพทย์ท่านหนึ่งกำหนดระยะต่าง ๆ ที่เด็กจะตอบสนองต่อทารุณกรรมทางเพศ เรียกว่า Child Sexual Abuse Accommodation Syndrome (อาการอำนวยทารุณกรรมทางเพศของเด็ก ตัวย่อ CSAAS) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เด็กพยายามแก้ปัญหาจนแสดงเป็นอาการต่าง ๆ รวมทั้ง การเก็บความลับ (secrecy) ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ (helplessness) ความรู้สึกว่าติดกับดัก (entrapment) การอำนวยความต้องการ (accommodation) การเปิดเผยที่ช้าและไม่ลงรอย (disclosure) และการถอนคำพูด (recantation)[119] แต่นี่เป็นระยะขั้นตอนที่นักวิชาการบางพวกไม่เห็นด้วย โดยมีท่านหนึ่งกล่าวในหนังสือปี 2004 ว่า เป็นขั้นตอนที่สามารถใช้เป็นเหตุผลสำหรับทุกอย่างที่เด็กพูดเพื่ออ้างว่ามีเหตุการณ์ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กจริง ๆ เพราะการเปิดเผยทันทีก็ใช้เป็นตัวบ่งว่ามีเหตุการณ์ หรือแม้การเปิดเผยแบบชักช้า หรือแม้แต่การยืนยันปฏิเสธ[120] แต่ก็มีนักวิชาการท่านอื่นอีกที่เขียนไว้ในวารสารวิชาการทางกฎหมายในปี 2009 ว่า มีหลักฐานเชิงประสบการณ์ที่สนับสนุนทั้งความสมเหตุสมผลทางวิทยาศาสตร์ของ CSAAS และความโน้มเอียงที่เด็กผู้ถูกทารุณกรรมทางเพศจะถอนคำพูดว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริง ๆ[121]

วัยผู้ใหญ่

[แก้]

ผู้ใหญ่ที่มีประวัติถูกทารุณกรรมทางเพศมักจะมาหาหมอเพื่อรักษาปัญหาสุขภาพจิตขั้นทุติยภูมิ ซึ่งอาจรวมทั้งการใช้สิ่งมึนเมาหรือยาเสพติด ความผิดปกติในการรับประทาน ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (personality disorders) โรคซึมเศร้า และปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ครองหรือกับคนอื่น ๆ[122] แต่โดยทั่วไปแล้ว วิธีรักษาจะพุ่งความสนใจไปที่ปัญหาปัจจุบัน ไม่ใช่ทารุณกรรมในอดีต และจะมีความต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีประวัติถูกทารุณกรรมทางเพศผู้มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง ก็จะได้รับการรักษาเพื่อแก้ภาวะนั้น แต่จะมีการเน้นการแก้ความคิดที่สร้างปัญหา (cognitive restructuring) ที่เกิดจากความฝังลึกของปัญหาความบาดเจ็บในอดีต เทคนิคใหม่ ๆ เช่น Eye Movement Desensitization and Reprocessing ก็สามารถช่วยได้[123]

การถูกทารุณกรรมทางเพศ สัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมที่ยังไม่นับว่าเป็นอาการ (sub-clinical) เช่น ความโน้มเอียงที่จะตกเป็นเหยื่ออีกในวัยรุ่น ความต้องการทางเพศที่กลับไปกลับมาระหว่างมากกับไม่มี และความคิดบิดเบือนกี่ยวกับทารุณกรรมทางเพศ (เช่น เป็นเรื่องสามัญและเกิดกับทุกคน) เมื่อมาหาหมอครั้งแรก คนไข้อาจจะตระหนักถึงเหตุการณ์ทารุณกรรม แต่ประเมินเหตุการณ์อย่างบิดเบือน เช่นเชื่อว่า เป็นเรื่องไม่แปลกอะไร บ่อยครั้ง เหยื่อจะไม่เชื่อมการถูกทารุณกรรมกับโรคที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ผู้กระทำความผิด

[แก้]

สถิติทางประชากร

[แก้]

ผู้กระทำผิดมีโอกาสที่จะเป็นญาติหรือคนรู้จักกับเหยื่อ สูงกว่าจะเป็นคนแปลกหน้า[124] งานศึกษาระหว่างปี 2006-2007 ในรัฐไอดาโฮ เกี่ยวกับกรณี 430 กรณีพบว่า เด็กผู้กระทำผิดรู้จักกับเหยื่อ (เป็นคนรู้จัก 46% เป็นญาติ 36%)[125][126]

ผู้กระทำผิดเป็นชายมากกว่าเป็นหญิง แม้ว่าอัตราส่วนจะต่าง ๆ กันในงานศึกษาต่าง ๆ เปอร์เซนต์ของผู้กระทำผิดหญิงจากผู้กระทำผิดทั้งหมดที่มาถึงกระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ระหว่าง 1.2-8%[127] ส่วนงานศึกษาเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศของผู้ให้การศึกษาในโรงเรียนสหรัฐ แสดงผลต่าง ๆ กันที่อัตรา 4%-43% ว่าเป็นหญิงกระทำความผิด โดยที่เหลือเป็นชาย[128] ส่วนงานวิจัยปี 1993 พบว่า ในตัวอย่าง 4,402 ของผู้ถูกศาลตัดสินเป็นผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็ก 0.4% เป็นหญิง[129] ส่วนอีกงานศึกษาหนึ่งที่ไม่ได้จำกัดแต่คนที่มาหาหมอ (nonclinical) พบว่า ในตัวอย่างบุคคลที่ถูกทารุณกรรม ประมาณ 1/3 เกิดจากผู้กระทำผิดหญิง[130]

ในโรงเรียนสหรัฐ ผู้ให้การศึกษาที่กระทำผิดมีอายุตั้งแต่ "21-75 ปี โดยเฉลี่ยที่ 28 ปี"[131]

รูปแบบผู้กระทำผิด

[แก้]

งานวิจัยต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 เริ่มจัดประเภทผู้ทำผิดโดยแรงจูงใจและลักษณะ งานปี 1978 จัดผู้ทำผิดออกเป็นสองพวก คือ "fixated" (คงสภาพ) และ "regressed" (กลับไปกลับมา)[132] fixated คือผู้ทำผิดชอบใจแต่เด็กโดยหลัก เปรียบเทียบกับ regressed ที่ปกติมีความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ และบางครั้งแต่งงานด้วยซ้ำ งานนี้แสดงด้วยว่า รสนิยมทางเพศของผู้ใหญ่ไม่เกี่ยวกับเพศของเหยื่อที่เป็นเป้าหมาย คือ ชายที่ทารุณกรรมเด็กชายบ่อยครั้งมีความสัมพันธ์กับหญิงผู้ใหญ่[132]

งานปี 2002 ต่อมา ขยายประเภทที่มีตามลักษณะทางจิต โดยแบ่งดังต่อไปนี้[133]

  • Situational (แล้วแต่สถานการณ์) - ไม่ได้มุ่งเด็ก แต่จะทำผิดภายใต้สถานการณ์บางอย่าง
    • Regressed (กลับไปกลับมา) - ปกติจะมีความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ แต่อะไรบางอย่างทำให้เสาะหาใช้เด็กเป็นตัวทดแทน
    • Morally Indiscriminate (ไม่แบ่งแยกอะไรดีอะไรชั่ว) - เป็นคนวิปริตทางเพศ อาจจะทำผิดทางเพศอื่น ๆ โดยไม่เกี่ยวกับเด็ก
    • Naive/Inadequate (ไร้เดียงสา/ไม่สามารถ) - มักจะพิการทางสมอง (ทางใจ) อะไรบางอย่าง จึงเห็นเด็กเป็นภัยหรือน่าเกรงกลัวน้อยกว่า
  • Preferential (ชอบ) - ชอบเด็กทางเพศจริง ๆ
    • Mysoped (น่าขยะแขยง) - เป็นพวกซาดิสและชอบรุนแรง มักทำผิดต่อคนแปลกหน้าบ่อยครั้งกว่าคนที่รู้จัก
    • Fixated (คงสภาพ) - ไม่มีความสัมพันธ์กับคนอายุเดียวกัน บางครั้งเรียกว่า "เด็กแก่"

ปัจจัยที่เป็นเหตุ

[แก้]

ไม่มีองค์ประกอบที่เป็นเหตุที่สรุปชัดเจนแล้ว[134] ประสบการณ์ถูกทารุณกรรมเมื่อเป็นเด็กก่อนหน้านี้สันนิษฐานว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่ แต่งานวิจัยต่อมาไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์โดยเหตุผล เพราะว่า เด็กที่ถูกทารุณกรรมโดยมากไม่ได้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่กระทำความผิด และผู้ใหญ่ผู้กระทำความผิดโดยมากก็ไม่ได้แจ้งว่าถูกทารุณกรรมตอนเป็นเด็ก ดังนั้น สำนักงานตรวจสอบรัฐบาลของสหรัฐ (Government Accountability Office) สรุปว่า "วัฏจักรของทารุณกรรมทางเพศยังไม่มีหลักฐาน" ก่อนปี 1996 มีความเชื่อในทฤษฎีว่า มีวัฏจักรของทารุณกรรม เพราะว่า งานวิจัยโดยมากในตอนนั้นเป็นแบบสำรวจย้อนหลัง คือ เป็นการถามผู้กระทำผิดว่า ได้ประสบเหตุการณ์ทารุณกรรมในอดีตหรือไม่ ถึงกระนั้น งานวิจัยแบบนั้นโดยมากก็ยังพบว่า ผู้ใหญ่ผู้ทำผิดตอบว่า "ไม่" ถึงแม้งานวิจัยจะแสดงความต่าง ๆ กันว่ามีผู้ทำผิดที่ถูกทารุณกรรมเท่าไร คือตั้งแต่ 0-79% ต่อมางานแบบตามแผน (prospective longitudinal strudy) ที่ศึกษาเด็กที่มีประวัติบันทึกว่าถูกทารุณกรรมสัมพันธ์กับอัตราที่โตเป็นผู้ใหญ่กระทำความผิด แสดงว่า ทฤษฎีวัฏจักรทารุณกรรม ไม่ใช่เป็นคำตอบที่ถูกต้องว่า ทำไมจึงมีการประทุษร้ายเด็ก[135]

ผู้ทำผิดอาจใช้ความคิดแบบบิดเบือนซึ่งอำนวยให้ทำผิดได้ เช่น ลดความสำคัญของทารุณกรรม (เช่นบอกว่า เป็นเรื่องเล็ก) โทษเหยื่อ หรือแก้ตัว[136]

โรคใคร่เด็ก

[แก้]

ความใคร่เด็ก (อังกฤษ: Pedophilia, paedophilia) เป็นความผิดปกติทางจิตที่ผู้ใหญ่หรือเด็กปลายวัยรุ่น มีความรู้สึกทางเพศเป็นหลักและจำกัดเฉพาะ ต่อเด็กรุ่นก่อนหนุ่มสาว (ก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์) โดยทั่วไปอายุ 11 ขวบหรือน้อยกว่า ไม่ว่าจะทำการเนื่องกับความชอบใจนั้นหรือไม่[137][138] ส่วนในการวินิจฉัยทางการแพทย์ เกณฑ์เฉพาะของ "โรคใคร่เด็ก" ขยายอายุเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ไปถึง 13 ปี[137] ผู้ที่รับวินิจฉัยว่ามีโรคนี้ ต้องมีอายุอย่างน้อย 16 ปี และเด็กวัยรุ่นที่รับวินิจฉัยว่ามีโรค ต้องมีอายุ 5 ปีอย่างน้อยมากกว่าเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์[137][138] ผู้ที่มีภาวะเช่นนี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า "pedophile" (คนใคร่เด็ก)

ในการบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐอเมริกา คำว่า คนใคร่เด็ก (pedophile) บางครั้งใช้กับจำเลยหรือผู้กระทำผิดในเรื่องการละเมิดทางเพศต่อ "เด็ก" โดยใช้คำนิยามว่า "เด็ก" ตามนิยมของสังคม ซึ่งรวมทั้งเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์และวัยรุ่นอายุอ่อนกว่าอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้ (บ่อยครั้ง 18 ปี)[21] แต่ว่า ผู้ละเมิดทางเพศต่อ "เด็ก" ทั้งหมดไม่ใช่คนใคร่เด็ก และคนใคร่เด็กทุกคน ก็ไม่ใช่ว่าต้องทารุณเด็กทางเพศ[22][24][25] เพราะเหตุเหล่านี้ นักวิชาการจึงแนะนำไม่ให้เรียกผู้ละเมิดทางเพศต่อเด็กทั้งหมดว่าเป็น "pedophile" อันเป็นคำที่ไม่ตรง[139][140]

ส่วนคำภาษาอังกฤษว่า pedocriminality (การผิดกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก, เยอรมัน: Pädokriminalität, ฝรั่งเศส: pédocriminalité) เป็นคำที่เริ่มใช้ในคริสต์ทศวรรษ 1980 แล้วใช้โดยองค์การต่าง ๆ เช่น กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก[141] และ Council of Europe[142] เป็นคำหมายถึง ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก (child sexual abuse) ความรุนแรงทางเพศอื่น ๆ (sexual violence) ต่อเด็ก[143][144] การค้าประเวณีเด็ก การค้าเด็ก และการใช้สื่อลามกอนาจารเด็ก[145] ส่วนคำว่า "cyber-pedocriminality" หมายถึงการกระทำของผู้ดูสื่อลามกอนาจารเด็กออนไลน์[146]

การทำผิดซ้ำ

[แก้]

อัตราการทำผิดซ้ำของผู้ทำผิดทางเพศ ต่ำกว่าประชากรผู้กระทำผิดทั่วไป[147] โดยมีค่าประเมินอัตราต่าง ๆ กัน งานวิจัยหนึ่งพบว่า ผู้ทำผิด 42% ทำผิดซ้ำหลังจากปล่อยตัวแล้วเป็นอาชญากรรมทางเพศ อาชญากรรมรุนแรง หรือทั้งสองอย่าง ความเสี่ยงการทำผิดอีกสูงสุดในช่วง 6 ปีแรกหลังจากปล่อยตัว แต่ก็ดำรงเป็นอัตราสำคัญแม้ 10-31 ปีให้หลัง โดยมี 23% ทำผิดอีกในช่วงเวลานั้น[148] งานวิจัยในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1965 พบการทำผิดอีกที่อัตรา 18.2% สำหรับเหยื่อเพศตรงกันข้าม และ 34.5% สำหรับเหยื่อเพศเดียวกันหลังจากการปล่อยตัว 5 ปี[149]

เด็กและเด็กต้นวัยรุ่นผู้ทำผิด

[แก้]

เมื่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ถูกทารุณกรรมโดยเด็กอื่นหรือเด็กวัยรุ่น โดยไม่มีผู้ใหญ่มีส่วนเกี่ยว ก็จะเรียกว่า การทารุณเด็กทางเพศโดยเด็ก (child-on-child sexual abuse) นิยามรวมทั้งกิจกรรมทางเพศระหว่างเด็กที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ยินยอม หรือไม่เท่าเทียมกัน หรือโดยการบีบบังคับ[150] ไม่ว่าจะใช้กำลังกาย คำข่มขู่ การหลอก หรือการปั่นอารมณ์ เพื่อที่จะให้ร่วมมือ และเมื่อเกิดระหว่างพี่น้อง ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า intersibling abuse เป็นรูปแบบหนึ่งของการสมสู่ร่วมสายโลหิต[151]

โดยที่ไม่เหมือนกับผู้ทำผิดวัยผู้ใหญ่ มีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างชัดว่า การทำผิดของวัยรุ่นต่อเด็ก มีเหตุมาจากการที่ตัวเองถูกทารุณกรรมโดยผู้ใหญ่หรือเด็กอื่น[152][153][154][155]

ครูและบุคลากรโรงเรียน

[แก้]

ตามรายงานปี 2010 ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เด็กนักเรียนหญิงชาวคองโก 46% ยืนยันว่า ตนเป็นเหยื่อของการก่อกวนทางเพศ ทารุณกรรมทางเพศ และความรุนแรงทางเพศอื่น ๆ ที่ทำโดยครูหรือบุคลากรอื่น ๆ ในโรงเรียน[156] ในประเทศโมซัมบิก งานศึกษาของกระทรวงการศึกษาพบว่า ผู้ที่ตอบงานสำรวจเพศหญิง 70% รู้จักครูที่บังคับให้ร่วมเพศก่อนที่จะเลื่อนชั้นให้แก่นักเรียน[156] งานสำรวจหนึ่งในจังหวัดคิวูเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกพบว่า เด็กหญิง 16% กล่าวว่าตนถูกบังคับให้ร่วมเพศกับครู[156] ตามรายงานของ UNICEF ครูในประเทศมาลีใช้การข่มขู่ด้วยปากกาแดง คือให้คะแนนแย่ ๆ ถ้าเด็กหญิงไม่ยอมตอบรับทางเพศ[156] ตามองค์การ "Plan International" เด็ก 16% ในประเทศโตโกสามารถบอกชื่อของครูที่เป็นพ่อของเด็กในครรภ์ของเพื่อนร่วมห้อง[156]

ความแพร่หลาย

[แก้]

โลก

[แก้]

งานวิเคราะห์อภิมานปี 2011 ที่วิเคราะห์งานวิจัย 217 งานที่ผู้ร่วมการทดลองแจ้งข้อมูลเอง ประเมินความแพร่หลายของการถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็กทั่วโลกที่ 12.7-18% สำหรับเด็กหญิง และ 7.6% สำหรับเด็กชาย โดยรายละเอียดของอัตราสำหรับแต่ละทวีปดังต่อไปนี้[157]

เขต เด็กหญิง เด็กชาย
แอฟริกา 20.2% 19.3%
เอเชีย 11.3% 4.1%
ออสเตรเลีย 21.5% 7.5%
ยุโรป 13.5% 5.6%
อเมริกาใต้ 13.4% 13.8%
สหรัฐ/แคนาดา 20.1% 8%

งานวิเคราะห์อภิมานปี 2009 ที่วิเคราะห์งาน 65 งานในประเทศ 22 ประเทศ พบความแพร่หลายระดับโลกที่ 19.7% สำหรับหญิง และ 7.9% สำหรับชาย พบว่า แอฟริกามีอัตราสูงสุดที่ 34.4% โดยหลักเพราะอัตราที่สูงในประเทศแอฟริกาใต้ ยุโรปมีอัตราต่ำสุดที่ 9.2% อเมริกาและเอเชียมีอัตราระหว่าง 10.1-23.9%[17]

ในปี พ.ศ. 2565 การทารุณเด็กทางเพศพบได้มากในประเทศฟิลิปปินส์[158]ประเทศแอลจีเรีย ประเทศอินเดีย และประเทศปากีสถาน

แอฟริกา

[แก้]

งานศึกษาในโรงเรียนของประเทศ 10 ประเทศปี 2007 ในทวีปแอฟริกาใต้พบว่า นักเรียนหญิง 19.6% และนักเรียนชาย 21.1% วัยระหว่าง 11-16 ปี รายงานว่า ตนได้ถูกบีบบังคับหรือถูกใช้กำลังให้มีเพศสัมพันธ์ อัตราของวัยรุ่นอายุ 16 ปีอยู่ที่ 28.8% สำหรับหญิง และ 25.4% สำหรับชาย เมื่อเปรียบเทียบโรงเรียนเดียวกันในประเทศ 8 ประเทศระหว่างปี 2003-2007 ไม่มีการลดอัตราโดยนัยสำคัญของหญิงผู้ตกเป็นเหยื่อในทุกประเทศ และมีความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ กันในอัตราของชาย[159]

ความแพร่หลายของทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กในแอฟริกา ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องไม่จริงว่า เพศสัมพันธ์กับพรหมจารีจะรักษาให้หายขาดจากเอชไอวีหรือโรคเอดส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่แพร่หลายในประเทศแอฟริกาใต้ ซิมบับเว[160] แซมเบีย และไนจีเรีย และเป็นเหตุที่ทำให้อัตราทารุณกรรมต่อเด็กเล็ก ๆ สูงในเขตเหล่านั้น[161]

การข่มขืนเด็กเพิ่มขึ้นในสงครามทางเขตตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก[162] ผู้ทำงานช่วยเหลือประชาชนโทษผู้ร่วมสงครามทุกฝ่าย ผู้ทำการได้ตามอำเภอใจ ว่าทำผิดจนกลายเป็น "วัฒนธรรม" ความรุนแรงทางเพศ[163]

ประเทศแอฟริกาใต้มีจำนวนการข่มขืนเด็ก (รวมทั้งทารก) ที่สูงที่สุดในโลก[164] งานสำรวจปี 2002 พบว่า เด็กชาย 11% และเด็กหญิง 4% ยอมรับว่า ได้บังคับคนอื่นให้มีเพศสัมพันธ์กับตน[164] ในงานสำรวจทำในเด็ก 1,500 คน เด็กชาย 1 ใน 4 ที่สัมภาษณ์กล่าวว่า การข่มขืนเรียงคิวเป็นเรื่องสนุก[165] มีกรณีข่มขืนและทารุณกรรมเด็กกว่า 67,000 รายงานในปี 2000 ในประเทศแอฟริกาใต้ เทียบกับ 37,500 กรณีในปี 1998 กลุ่มสงเคราะห์เด็กต่าง ๆ เชื่อว่า กรณีที่ไม่ได้รายงานอาจเป็นจำนวน 10 เท่าของตัวเลขเหล่านั้น การประทุษร้ายเด็กเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์กับพรหมจารี เป็นเรื่องที่สามัญอย่างยิ่งในประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรติดเอชไอวีมากที่สุดในโลก นักสังคมสงเคราะห์ท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า "ผู้ประทุษร้ายเด็กบ่อยครั้งเป็นญาติของผู้เสียหาย แม้แต่พ่อหรือผู้ดูแลของเด็กเอง"[166]

มีกรณีข่มขืนทารกที่อื้อฉาวหลายกรณีตั้งแต่ปี 2001 เพราะว่า ต้องมีการผ่าตัดใหญ่เพื่อฟื้นคืนสภาพของระบบปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ และระบบในช่องท้อง ในปี 2001 ทารกวัย 9 เดือนถูกข่มขืนและน่าจะสลบไปเพราะเจ็บปวดเกินทน[167] ในเดือนกุมภาพันธ์ 2002 มีการแจ้งว่า ทารกวัย 8 เดือนถูกข่มขืนโดยชาย 4 คน คนหนึ่งถูกจับ แต่ทารกต้องผ่านการผ่าตัดใหญ่เพื่อฟื้นคืนสภาพ และความบาดเจ็บกว้างขวางจนกระทั่งรัฐเริ่มใส่ใจในการจับคนผิดเพิ่มขึ้น[168]

เอเชีย

[แก้]

ในประเทศบังกลาเทศ เด็กโสเภณีใช้ยา Dexamethasone ซึ่งเป็นสเตอรอยด์ที่ขายได้โดยหมอไม่ต้องสั่งจ่าย และปกติใช้โดยเกษตรกรเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของปศุสัตว์ เพื่อให้เด็กตัวโตและดูแก่กว่าอายุ องค์กรการกุศลกล่าวว่า ในซ่องที่ถูกกฎหมาย หญิงโสเภณีจะใช้ยานี้ถึง 90% ซึ่งอาจมีผลให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และให้ติดยา[169][170][171]

เด็กทั้งหมดในโลก 19% อยู่ในประเทศอินเดีย[172][173] เป็นอัตราประชากร 42% ของอินเดีย[174] ในปี ค.ศ. 2007 กระทรวงพัฒนาหญิงและเด็กตีพิมพ์บทความ "Study on Child Abuse: India 2007 (งานศึกษาเรื่องทารุณกรรมต่อเด็กในอินเดียปี 2007)" ซึ่งสุ่มตัวอย่างเด็ก 12,447 คน เยาวชน 2,324 คน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ 2,449 คนในรัฐ 13 รัฐ แล้วตรวจสอบรูปแบบต่าง ๆ ของทารุณกรรมต่อเด็กรวมทั้ง ทารุณกรรมทางกาย ทารุณกรรมทางเพศ ทารุณกรรมทางจิต และการละเลยไม่ใส่ใจเด็กหญิง ในกลุ่ม 5 กลุ่ม คือ เด็กในครอบครัว เด็กในโรงเรียน เด็กในที่ทำงาน เด็กตามถนน และเด็กในสถาบันต่าง ๆ สาระหลักที่พบรวมทั้ง[172] เด็ก 53.22% รายงานทารุณกรรมทางเพศ และในบรรดาเด็กเหล่านั้น 52.94% เป็นชาย และ 47.06% เป็นหญิง รัฐอานธรประเทศ อัสสัม พิหาร และเมืองเดลี รายงานเปอร์เซนต์ทารุณกรรมทางเพศสูงสุดในทั้งเด็กชายเด็กหญิง และมีการทำร้ายทางเพศ (sexual assault) ในระดับสูงสุด 21.90% ของเด็กที่ตอบงานสำรวจประสบกับทารุณกรรมแบบรุนแรง 5.69% ถูกทำร้ายทางเพศ (sexual assault) และ 50.76% รายงานทารุณกรรมทางเพศแบบอื่น ๆ เด็กตามถนน ในที่ทำงาน และที่ดูแลโดยสถาบัน รายงานการถูกทำร้ายทางเพศ (sexual assault) ในระดับสูงสุด งานวิจัยแสดงว่า คนทำร้าย 50% เป็นคนรู้จัก หรืออยู่ในสถานะที่ควรจะเชื่อใจได้หรือที่รับผิดชอบเด็ก และเด็กส่วนมากไม่ได้รายงานเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครอื่น เกี่ยวกับกฎหมายทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กโดยเฉพาะที่ปฏิบัติต่อเด็กแยกจากผู้ใหญ่ในกรณีกระทำผิดทางเพศ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายเช่นนี้เป็นเวลานาน แต่ต่อมารัฐสภาอินเดียก็ได้ผ่าน "กฎหมายการป้องกันเด็กจากการกระทำผิดทางเพศ" ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2012 ซึ่งมีผลต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2012[175]

ในงานสำรวจหนึ่ง เด็กวัยรุ่นไต้หวัน 2.5% รายงานว่า ได้ประสบทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก[176] และเอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรได้กล่าวในปี 2007 ว่า รัฐบาลประเทศอุซเบกิสถานได้ใช้ข้อหาข่มขืนเด็กเพื่อให้นักโทษสารภาพโทษที่ไม่เป็นจริง[177]

เขตมหาสมุทรแปซิฟิก

[แก้]

ตาม UNICEF เกือบครึ่งหนึ่งของเหยื่อที่รายงานการข่มขืนในประเทศปาปัวนิวกินีอายุต่ำกว่า 15 ปี และ 13% อายุน้อยกว่า 7 ขวบ[178] ในขณะที่องค์กร ChildFund (ทุนเด็ก) แห่งประเทศออสเตรเลียอ้าง ส.ส.ท่านหนึ่งกล่าวว่า ผู้ที่หาความช่วยเหลือทางการแพทย์หลังจากถูกข่มขืนในปาปัวนิวกินี ครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 16 ปี 25% อายุน้อยกว่า 10 ขวบ และ 10% น้อยกว่า 8 ขวบ[179]

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีงานศึกษาในเขตเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิกที่พบว่า ชายที่มีประวัติเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะการถูกข่มขืนหรือถูกบังคับทางเพศ มีโอกาสสูงกว่าที่จะร่วมการข่มขืนผู้ที่ไม่ใช่คู่ครอง ทั้งแบบเดี่ยวและแบบเรียงคิว[180] และ ชาย 57.5% (587 จาก 1,022 คน) ที่ข่มขืนผู้ไม่ใช่คู่ครอง ทำผิดครั้งแรกเมื่อเป็นวัยรุ่น[180]

สหรัฐและยุโรป

[แก้]

ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสังคมชาวตะวันตก[181] แต่อัตราความแพร่หลายยากที่จะกำหนดให้ชัด[182][183][184] งานวิจัยในอเมริกาเหนือสรุปว่า ประมาณ 15-25% ของหญิง และ 5-15% ของชาย ถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก[18][19][185] ในสหราชอาณาจักร งานศึกษาปี 2010 ประเมินความแพร่หลายที่ 5% สำหรับเด็กชาย และ 18% สำหรับเด็กหญิง[186] (ซึ่งไม่ต่างจากงานปี 1985 ที่ประเมินที่ 8% สำหรับเด็กชาย และ 12% สำหรับเด็กหญิง[187]) มีรายงานตำรวจกว่า 23,000 กรณีในสหราชอาณาจักรระหว่างปี 2009-2010 เด็กหญิงมีโอกาส 6 เท่าของเด็กชายที่จะถูกทำร้าย คือ 86% เป็นหญิงและที่เหลือเป็นชาย[188][189] องค์กรพิทักษ์เด็กองค์กรหนึ่งประเมินว่า เหยื่อ 2 ใน 3 เป็นหญิง และที่เหลือเป็นชาย และเป็นห่วงว่า เหยื่อเด็กชายอาจจะถูกละเลยไม่มีการดูแลป้องกันอย่างทั่วถึง[190]

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกามีค่าประเมินต่าง ๆ กัน งานทบทวนวรรณกรรม 23 งานพบอัตราระหว่าง 3-37% สำหรับชาย และ 8-71% สำหรับหญิง และดังนั้นค่าเฉลี่ยก็คือ 17% สำหรับเด็กชาย และ 28% สำหรับเด็กหญิง[191] ในขณะที่งานวิเคราะห์สถิติโดยใช้ข้อมูลจากงานศึกษาตามขวาง (cross-sectional study) ประเมินค่าที่ 7.2% สำหรับชาย และ 14.5% สำหรับหญิง[185] กระทรวงบริการสุขภาพและชีวิตมนุษย์ (US Department of Health and Human Services) รายงานกรณีทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กที่มีมูล 83,600 กรณีในปี 2005[192][193] และการรวมกรณีที่ไม่ได้รายงานก็จะทำให้ตัวเลขรวมสูงยิ่งกว่านั้น[194] ตามนักวิชาการคู่หนึ่งในปี 2005 "งานศึกษาระดับชาติหลายงานพบว่า เด็กแอฟริกันอเมริกันและเด็กผิวขาวที่ไม่ใช่คนเชื้อสายสเปน ประสบทารุณกรรมทางเพศในระดับใกล้ ๆ กัน"[195] แต่ว่างานศึกษาอื่นพบว่า ทั้งคนผิวดำ คนเชื้อสายสเปน และคนเชื้อสายลาตินอเมริกา มีโอกาสเสี่ยงตกเป็นเหยื่อมากกว่าคนพวกอื่น[196][197] งานสำรวจปี 1981 พบว่า ประมาณ 20-33% ของหญิงทั้งหมดรายงานประสบการณ์ทางเพศกับผู้ใหญ่ในวัยเด็ก[198]

งานสำรวจปี 1992 ที่ศึกษาการสมสู่ร่วมสายโลหิตระหว่างพ่อ-ลูกสาวในประเทศฟินแลนด์รายงานว่า สำหรับเด็กไฮสกูลอายุ 25 ปีที่ให้คำตอบ ในบรรดาที่อยู่กับพ่อจริง ๆ 0.2% รายงานประสบการณ์ทางเพศกับพ่อ ในบรรดาที่อยู่กับพ่อเลี้ยง 3.7% รายงานประสบการณ์ทางเพศ เป็นงานที่นับแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกสาว และไม่ได้รวมเอารูปแบบอื่นของทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก งานสำรวจสรุปว่า "ความรู้สึกของเด็กหญิงเกี่ยวกับประสบการณ์การสมสู่ร่วมสายโลหิต ไม่ดีอย่างท่วมท้น"[199] มีนักวิชาการอื่น ๆ ที่อ้างว่า อัตราความแพร่หลายสูงมากยิ่งกว่านั้น และมีกรณีหลายกรณีที่ไม่มีการแจ้ง งานวิจัยหนึ่งพบว่า ผู้มีอาชีพเกี่ยวกับเด็ก ไม่รายงานทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กที่พบในกรณี 40%[200] ส่วนงานอีกงานหนึ่งแสดงว่า เด็กจำนวนมากที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ "มีการระบุโดยปัญหาทางกายที่ภายหลังวินิจฉัยว่าเป็นกามโรค...และเพียงแค่ 43% จากที่วินิจฉัยว่าเป็นกามโรค เปิดเผยทารุณกรรมทางเพศในการสอบถามเบื้องต้น"[200]: 7  งานวิทยาการระบาดปี 1993 เกี่ยวกับทารุณกรรมต่อเด็กทางเพศ พบว่า ไม่มีลักษณะทางประชากร (demographic) หรือทางครอบครัวของเด็กที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ระบุว่าเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ[182]

ตามกระทรวงศึกษาสหรัฐ ในโรงเรียนสหรัฐ[201] "นักเรียนเกือบ 9.6% ตกเป็นเหยื่อการละเมิดทางเพศของบุคลากรในโรงเรียนในช่วงวัยเรียน" และนักเรียนชายเป็นเหยื่อในอัตรา 23-44% ของเหยื่อทั้งหมด[201] และการละเมิดทางเพศโดยเพศเดียวกันต่อนักเรียนอยู่ที่ 18-28% ที่รายงาน โดยขึ้นอยู่กับงานศึกษา[202]

การแจ้งทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กชายโดยผู้ทำผิดทั้งชายและหญิงเชื่อว่า ต่ำจากความจริงโดยสำคัญ เนื่องจากปัญหาการเหมารวมเรื่องเหยื่อทางพศ การปฏิเสธความจริงของสังคม การลดความสำคัญของเหยื่อผู้ชาย และงานวิจัยในเรื่องนี้ที่มีน้อย[203] การตกเป็นเหยื่อของแม่หรือญาติผู้หญิงเป็นเรื่องที่ศึกษากันน้อยและมีการแจ้งน้อย แต่ว่า ทารุณกรรมของเด็กหญิงโดยแม่ ญาติหรือคนอื่นที่เป็นหญิง ก็ยังเริ่มจะมีการวิจัยและรายงานแม้ว่าทารุณกรรมของหญิงต่อเด็กหญิงจะเป็นเรื่องต้องห้ามทางสังคม ในงานศึกษาที่ถามนักเรียนเรื่องการละเมิดทางเพศ นักเรียนรายงานผู้ทำผิดเพศหญิงในระดับที่สูงกว่าการรายงานของผู้ใหญ่[204] มีการอ้างว่ารายงานที่ต่ำกว่าความจริงเช่นนี้ มีเหตุมาจากการปฏิเสธทางสังคมว่ามีทารุณกรรมทางเพศที่ทำโดยหญิง[205] เพราะว่า "ผู้ชายถูกเลี้ยงให้เชื่อว่าตนควรจะรู้สึกภาคภูมิใจหรือชอบใจความสนใจทางเพศจากผู้หญิง"[128] นักข่าวในเรื่องสิทธิสตรีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งกล่าวว่า การแจ้งต่ำกว่าความจริง มีส่วนจากการที่ผู้คนรวมทั้งลูกขุน ไม่สามารถมองผู้ชายว่าเป็น "เหยื่อจริง ๆ"[206]

กฎหมายในประเทศต่าง ๆ

[แก้]

ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กเป็นเรื่องผิดกฎหมายเกือบทุกประเทศในโลก ปกติจะมีโทษหนัก ในบางที่อาจจะเป็นโทษจำขังทั้งชีวิตหรือโทษประหารชีวิต[207][208] การร่วมเพศระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กอายุต่ำกว่าที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้ อาจจัดว่าเป็นการข่มขืนโดยกฎหมายอาจจัดว่าเป็นการข่มขืนโดยกฎหมาย (statutory rape) ในบางประเทศ[209] โดยมีหลักว่า เด็กไม่สามารถให้ความยินยอมได้ และการยินยอมของเด็กที่ปรากฏไม่จัดว่าเป็นการยินยอมที่มีผลตามกฎหมาย

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก (Convention on the Rights of the Child ตัวย่อ CRC) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่บังคับให้รัฐปกป้องสิทธิของเด็ก มาตรา 34 และ 35 บังคับให้ประเทศต่าง ๆ ป้องกันเด็กจากการฉวยผลประโยชน์ทางเพศและทารุณกรรมทางเพศทุกรูปแบบ ซึ่งรวมทั้งการบีบบังคับให้เด็กทำกิจกรรมทางเพศ การค้าประเวณีเด็ก และการฉวยผลประโยชน์จากสื่อลามกอนาจารเด็ก และบังคับให้รัฐป้องกันการลักพาตัวและการค้าเด็ก[210] โดยเดือนพฤศจิกายน 2008 ประเทศ 193 ประเทศอยู่ใต้สนธิสัญญานี้[211] รวมทั้งสมาชิกทุกประเทศในสหประชาชาติยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาและเซาท์ซูดาน[212][213]

ส่วนสภายุโรป (Council of Europe) ได้ตกลงใช้ อนุสัญญาการป้องกันเด็กจากการฉวยผลประโยชน์และทารุณกรรมทางเพศ (Council of Europe Convention on the Protection of Children against Sexual Exploitation and Sexual Abuse) เพื่อป้องกันทารุณกรรมที่เกิดในบ้านหรือครอบครัว ส่วนในสหภาพยุโรป เรื่องทารุณกรรมตกอยู่ใต้กลุ่มกฎหมายที่เรียกว่า คำสั่งสหภาพยุโรป (Directive)[214] ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับรูปแบบทารุณกรรมต่อเด็กทางเพศหลายอย่าง รวมทั้งการฉวยประโยชน์การค้าทางเพศจากเด็ก (commercial sexual exploitation of children)

ประวัติ

[แก้]

ในประเทศตะวันตก ภายใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่าน ๆ มา ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กได้กลายมาเป็นอาชญากรรมที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างสูง เพราะว่า เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเริ่มรู้จักกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามีผลเสียหายอย่างลึกซึ้งต่อเด็ก และดังนั้นจึงกลายเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้โดยทั่วไป แม้ว่าการใช้เด็กสนองอารมณ์ทางเพศโดยผู้ใหญ่จะมีอยู่มาก่อนแล้วตลอดประวัติศาสตร์ แต่ก็เพิ่งกลายมาเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจเมื่อไม่นานมานี้[ต้องการอ้างอิง]

วรรณกรรมต้น ๆ

[แก้]

งานแรกที่อุทิศให้กับเรื่องทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กปรากฏในประเทศฝรั่งเศสในปี 1857 คือ การศึกษาทางการแพทย์-กฎหมายเกี่ยวกับการประทุษร้ายทางเพศ (อังกฤษ: Medical-Legal Studies of Sexual Assault, ฝรั่งเศส: Etude Médico-Légale sur les Attentats aux Mœurs) โดยนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสและผู้บุกเบิกนิติเวชศาสตร์[215]

คดีแพ่งในประเทศต่าง ๆ

[แก้]

ในสหรัฐอเมริกา ความตระหนักเรื่องปัญหานี้ในสังคมได้จุดชนวนการฟ้องคดีในศาลเรียกร้องค่าเสียหายโดยเหยื่อ คือ ความเข้าใจในสังคมเป็นกำลังใจให้เหยื่อกล้าเผชิญหน้าในเรื่องนี้ แทนที่จะเก็บไว้เป็นความลับเหมือนสมัยก่อน มีบางรัฐที่ได้ออกกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อยืดกำหนดอายุความออกไป เพื่อให้เหยื่อมีสิทธิฟ้องศาลได้บางครั้งเป็นเวลาหลายปีหลังจากบรรลุนิติภาวะแล้ว การฟ้องศาลสามารถทำได้ในกรณีที่บุคคลหรือองค์กร เช่น โรงเรียน องค์กรศาสนา องค์กรเยาวชน ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กแต่ละเลยหน้าที่จนมีผลเป็นทารุณกรรมต่อเด็ก ในกรณีเรื่องทารุณกรรมของเด็กโดยบุคลากรในกลุ่มโรมันคาทอลิก เขตมิสซังต่าง ๆ ในสหรัฐได้จ่ายค่าเสียหายไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35,470 ล้านบาทต้นปี 2559) เพื่อยุติคดีเป็นร้อย ๆ ตั้งแต่ต้นคริสต์ทษศวรรษ 1990 และก็ยังมีคดีฟ้องศาลต่อกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนขวาจัดอีกด้วย ที่มีทารุณกรรมที่ไม่ได้แจ้งความ และเหยื่อถูกกดดันให้เก็บเป็นความลับ[216]

แต่ว่า การฟ้องคดีในศาลต้องผ่านอะไรหลาย ๆ อย่าง ดังนั้น จึงมีความเป็นห่วงว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นโจทก์ จะเหมือนกับตกเป็นเหยื่ออีกผ่านกระบวนการในศาล เหมือนกับที่เหยื่อกรณีข่มขืนอาจจะประสบ ทนายเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้กล่าวว่า เด็กที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะที่ถูกทารุณกรรมหรือทำร้ายทางเพศ (molestation) ควรจะมีระเบียบการที่ช่วยป้องกันจากการถูกก่อกวนในกระบวนการศาล[217]

ในเดือนมิถุนายน 2008 ศาลสูงสุดของประเทศแซมเบียได้ตัดสินคดีสำคัญเกี่ยวกับทารุณกรรมต่อเด็กโดยครู คือศาลได้ปรับค่าเสียหายมูลค่า 45 ล้านความชาแซมเบีย (ประมาณ 315,000 บาทต้นปี 2559) ให้กับโจทก์ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ 13 ที่ถูกทารุณกรรมและข่มขืนโดยครู โดยปรับครูในฐานะ "คนมีอำนาจ" ที่ศาลกล่าวไว้ว่า "มีความรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อเด็กนักเรียน"[218]

ในรายงานปี 2000 ขององค์การอนามัยโลก "รายงานโลกเรื่องความรุนแรงและสุขภาพ (บทที่ 6 - ความรุนแรงทางเพศ)" กล่าวว่า "สิ่งที่ทำในโรงเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงแบบอื่น ๆ คือในหลาย ๆ ประเทศ ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างครูกับเด็กไม่จัดเป็นเรื่องร้ายแรง และนโยบายจัดการเรื่องการก่อกวนทางเพศในโรงเรียนก็ไม่มีหรือไม่บังคับใช้ แต่ว่าในปีที่เพิ่งผ่าน ๆ มา บางประเทศก็เริ่มออกฎหมายห้ามเพศสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ซึ่งสามารถช่วยลดการก่อกวนทางเพศได้ในโรงเรียน แต่ว่า นโยบายกว้าง ๆ อย่างอื่นก็ยังจำเป็น เช่น การปรับปรุงการฝึกครูและการจัดหาครู การปรับปรุงหลักสูตร เพื่อที่จะเปลี่ย น(ค่านิยม)ความสัมพันธ์ระหว่างเพศในโรงเรียน"[219]

ในเดือนมีนาคม 2011 ตำรวจยุโรปยุโรโพล ได้ปฏิบัติการชื่อว่า Operation Rescue (ปฏิบัติการช่วยชีวิต) โดยจับสมาชิกกลุ่มใคร่เด็กออนไลน์ 184 คนจาก 670 คนที่ระบุ และช่วยชีวิตเด็ก 230 คน เป็นการจับกุมใหญ่ที่สุดที่เคยทำในเรื่องนี้[220]

ในปี 2010 ชายเชื้อสายปากีสถาน 5 คนในสหราชอาณาจักรถูกตัดสินว่าผิดข้อหาละเมิดทางเพศซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 1997-2013 ในเมืองร็อตเธอร์แฮม เรื่องนี้เป็นเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากระยะเวลาดำเนินความผิดที่ยาวนาน และความล้มเหลวหลายครั้งหลายหนของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ[221]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "Child sexual abuse". สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-23. สืบค้นเมื่อ 2011-11-10.
  2. "abuse of children; child abuse", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย; ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑, การกระทำทารุณต่อเด็ก (นิติศาสตร์)
  3. "molestation", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย; ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑, การรบกวน, การทำร้าย (นิติศาสตร์)
  4. Macias, Charles G. (MD, PHP) (2005), Sexual Abuse in Children (PDF), Houston, Texas: Baylor College of Medicine, Definitions, Sexual abuse: sexual activity for which: Participants “unequal”: age/understanding ... Sexual play: Same age/developmental stage Same age/developmental stage {{citation}}: |format= ต้องการ |url= (help); |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 "Child Sexual Abuse". Medline Plus. U.S. National Library of Medicine. 2008-04-02.
  6. "Guidelines for psychological evaluations in child protection matters. Committee on Professional Practice and Standards, APA Board of Professional Affairs". The American Psychologist. 54 (8): 586–593. 1999-08. doi:10.1037/0003-066X.54.8.586. PMID 10453704. Abuse, sexual (child): generally defined as contacts between a child and an adult or other person significantly older or in a position of power or control over the child; where the child is being used for sexual stimulation of the adult or other person. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  7. Martin, J; Anderson, J; Romans, S; Mullen, P; O'Shea, M (1993). "Asking about child sexual abuse: methodological implications of a two stage survey". Child Abuse & Neglect. 17 (3): 383–92. doi:10.1016/0145-2134(93)90061-9. PMID 8330225.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 "What is sexual abuse?". National Society for the Prevention of Cruelty to Children. สืบค้นเมื่อ 2016-01-12.
  9. "Child Protection Information Sheet - Child Marriage" (PDF). UNICEF. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-10-10. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  10. 10.0 10.1 10.2 Roosa, MW; Reinholtz, C; Angelini, PJ (1999-02). "The relation of child sexual abuse and depression in young women: comparisons across four ethnic groups". Journal of Abnormal Child Psychology. 27 (1): 65–76. PMID 10197407. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 11.2 Levitan, RD; Rector, NA; Sheldon, T; Goering, P (2003). "Childhood adversities associated with major depression and/or anxiety disorders in a community sample of Ontario: issues of co-morbidity and specificity". Depression and Anxiety. 17 (1): 34–42. doi:10.1002/da.10077. PMID 12577276.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 Widom, CS (1999-08). "Posttraumatic stress disorder in abused and neglected children grown up". The American Journal of Psychiatry. 156 (8): 1223–1229. PMID 10450264. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  13. Roth, Susan; Newman, Elana; Pelcovitz, David; Van Der Kolk, Bessel; Mandel, Francine S. (1997). "Complex PTSD in victims exposed to sexual and physical abuse: Results from the DSM-IV field trial for posttraumatic stress disorder". Journal of Traumatic Stress. 10 (4): 539–55. doi:10.1002/jts.2490100403. PMID 9391940.
  14. 14.0 14.1 Messman-Moore, T. L.; Long, P. J. (2000). "Child Sexual Abuse and Revictimization in the Form of Adult Sexual Abuse; Adult Physical Abuse; and Adult Psychological Maltreatment". Journal of Interpersonal Violence. 15 (5): 489. doi:10.1177/088626000015005003.
  15. 15.0 15.1 15.2 Dinwiddie, S; Heath, AC; Dunne, MP และคณะ (2000-01). "Early sexual abuse and lifetime psychopathology: a co-twin-control study". Psychological Medicine. 30 (1): 41–52. doi:10.1017/S0033291799001373. PMID 10722174. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ใช้ et al. อย่างชัดเจน ใน |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  16. 16.0 16.1 Courtois, Christine A. (1988). Healing the incest wound: adult survivors in therapy. New York: Norton. p. 208. ISBN 0-393-31356-5.
  17. 17.0 17.1 Pereda, N; Guilera, G; Forns, M; Gómez-Benito, J (2009). "The prevalence of child sexual abuse in community and student samples: A meta-analysis". Clinical Psychology Review. 29 (4): 328–338. doi:10.1016/j.cpr.2009.02.007.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 Whealin, Julia (Ph.D.) (2007-05-22). "Child Sexual Abuse". National Center for Post Traumatic Stress Disorder; US Department of Veterans Affairs.
  19. 19.0 19.1 Finkelhor, D (1994). "Current information on the scope and nature of child sexual abuse" (PDF). The Future of Children. 4 (2): 31–53. doi:10.2307/1602522. JSTOR 1602522. PMID 7804768.
  20. Dube, SR; Anda, RF; Whitfield, CL และคณะ (2005-06). "Long-term consequences of childhood sexual abuse by gender of victim". American Journal of Preventive Medicine. 28 (5): 430–438. doi:10.1016/j.amepre.2005.01.015. PMID 15894146. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ใช้ et al. อย่างชัดเจน ใน |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  21. 21.0 21.1 Ames, M. Ashley; Houston, David A. (1990). "Legal, social, and biological definitions of pedophilia". Archives of Sexual Behavior. 19 (4): 333–42. doi:10.1007/BF01541928. PMID 2205170.
  22. 22.0 22.1 22.2 Laws, Dr. Richard; O'Donohue, William T. (1997). "Barbaree, HE; Seto, MC". Sexual Deviance: Theory, Assessment, and Treatment. Guilford Press. pp. 175–93. ISBN 1-57230-241-0.
  23. Blaney, Paul H.; Millon, Theodore (2009). Oxford Textbook of Psychopathology (Oxford Series in Clinical Psychology) (2nd ed.). Oxford University Press; USA. p. 528. ISBN 0-19-537421-5. Some cases of child molestation; especially those involving incest; are committed in the absence of any identifiable deviant erotic age preference.
  24. 24.0 24.1 "American Psychiatric Association Statement Diagnostic Criteria for Pedophilia" (PDF). American Psychiatric Association. 2003-06-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-29.
  25. 25.0 25.1 Weinrott, M. R.; Saylor, M. (1991). "Self-Report of Crimes Committed by Sex Offenders". Journal of Interpersonal Violence. 6 (3): 286. doi:10.1177/088626091006003002.
  26. "The Sexual Exploitation of Children" (PDF). University of Pennsylvania Center for Youth Policy Studies; U.S. National Institute of Justice. 2001-08. p. 4 - Chart 1: Definitions of Terms Associated With the Sexual Exploitation (SEC) and Commercial Sexual Exploitation of Children (CSEC)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-11-22. สืบค้นเมื่อ 2011-11-10. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  27. "APA Letter to the Honorable Rep. DeLay (R-Tx)" (Press release). American Psychological Association. 1999-06-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1999-10-10. สืบค้นเมื่อ 2009-03-08.
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 Nelson, EC; Heath, AC; Madden, PA และคณะ (2002-02). "Association between self-reported childhood sexual abuse and adverse psychosocial outcomes: results from a twin study". Archives of General Psychiatry. 59 (2): 139–145. doi:10.1001/archpsyc.59.2.139. PMID 11825135. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ใช้ et al. อย่างชัดเจน ใน |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  29. Widom CS; DuMont K; Czaja SJ (2007-01). "A prospective investigation of major depressive disorder and comorbidity in abused and neglected children grown up". Archives of General Psychiatry. 64 (1): 49–56. doi:10.1001/archpsyc.64.1.49. PMID 17199054. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |laydate= ถูกละเว้น (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |laysource= ถูกละเว้น (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |laysummary= ถูกละเว้น (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  30. 30.0 30.1 30.2 Arnow, BA (2004). "Relationships between childhood maltreatment; adult health and psychiatric outcomes; and medical utilization". The Journal of Clinical Psychiatry. 65 Suppl 12: 10–15. PMID 15315472.
  31. 31.0 31.1 31.2 Walsh, K.; DiLillo, D. (2011). "Child sexual abuse and adolescent sexual assault and revictimization". ใน Paludi, Michael A. (บ.ก.). The psychology of teen violence and victimization. Vol. 1. Santa Barbara; CA: Praeger. pp. 203–216. ISBN 0-313-39375-3.
  32. Noll, JG; Trickett, PK; Susman, EJ; Putnam, FW (2006). "Sleep disturbances and childhood sexual abuse". Journal of Pediatric Psychology. 31 (5): 469–480. doi:10.1093/jpepsy/jsj040.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  33. doi:10.1177/0886260511430385
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  34. Arehart-Treichel, Joan (2005-08-05). "Dissociation Often Precedes PTSD In Sexually Abused Children". Psychiatric News. American Psychiatric Association. 40 (15): 34. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  35. 35.0 35.1 35.2 "Understanding child sexual abuse: education, prevention, and recovery". American Psychological Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-31. สืบค้นเมื่อ 2012-10-30.
  36. Faller, Kathleen Coulborn (1993). Child Sexual Abuse: Intervention and Treatment Issues. Diane Publishing. p. 6. ISBN 0-7881-1669-X.
  37. Ascione, Frank R.; Friedrich, William N.; Heath, John; Hayashi, Kentaro (2003). "Cruelty to animals in normative, sexually abused, and outpatient psychiatric samples of 6- to 12-year-old children: Relations to maltreatment and exposure to domestic violence". Anthrozoos: A Multidisciplinary Journal of the Interactions of People & Animals. 16 (3): 194. doi:10.2752/089279303786992116.
  38. Ascione, Frank R. (2005). "Child sexual abuse". Children and Animals: Exploring the Roots of Kindness and Cruelty. Purdue University Press. p. 46. ISBN 978-1-55753-383-8.
  39. McClellan, Jon; Adams, Julie; Douglas, Donna; McCurry, Chris; Storck, Mick (1995). "Clinical characteristics related to severity of sexual abuse: A study of seriously mentally ill youth". Child Abuse & Neglect. 19 (10): 1245. doi:10.1016/0145-2134(95)00087-O.
  40. Friedrich, William N.; Urquiza, Anthony J.; Beilke, Robert L. (1986). "Behavior Problems in Sexually Abused Young Children". Journal of Pediatric Psychology. 11 (1): 47–57. doi:10.1093/jpepsy/11.1.47. PMID 3958867.
  41. Tyler, K.A. (2002). "Social and emotional outcomes of childhood sexual abuse: A review of recent research". Aggression and Violent Behavior. 7 (6): 567–589. doi:10.1016/S1359-1789(01)00047-7.
  42. Noll, J. G. และคณะ (2003). "Revictimization and self-harm in females who experienced childhood sexual abuse: Results from a prospective study". Journal of Interpersonal Violence. 18 (12): 1452–1471. doi:10.1177/0886260503258035. PMID 14678616.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  43. 43.0 43.1 Zickler, Patrick (2002-04). "Childhood Sex Abuse Increases Risk for Drug Dependence in Adult Women". NIDA Notes. National Institute of Drug Abuse. 17 (1): 5. doi:10.1151/v17i1CSAIRDDAW. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-05-01. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  44. 44.0 44.1 Polusny, Melissa A; Follette, Victoria M (1995). "Long-term correlates of child sexual abuse: Theory and review of the empirical literature". Applied and Preventive Psychology. Elsevier Ltd. 4 (3): 143–166. doi:10.1016/s0962-1849(05)80055-1.
  45. Freyd, JJ; Putnam, FW; Lyon, TD; และคณะ (2005-04). "Psychology. The science of child sexual abuse". Science. 308 (5721): 501. doi:10.1126/science.1108066. PMID 15845837. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  46. Dozier, M; Stovall, KC; Albus, K (1999). "Attachment and Psychopathology in Adulthood". ใน J. Cassidy & P. Shaver (บ.ก.). Handbook of Attachment. NY: Guilford Press. pp. 497–519. ISBN 1-57230-826-5.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  47. 47.0 47.1
    • Kendall-Tackett, KA; Williams, LM; Finkelhor, D (1993-01). "Impact of sexual abuse on children: a review and synthesis of recent empirical studies". Psychological Bulletin. 113 (1): 164–80. doi:10.1037/0033-2909.113.1.164. PMID 8426874. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
    • Hertzig, Margaret E.; Farber; Ellen A (1994). Annual progress in child psychiatry and child development 1994. Psychology Press. pp. 321–56. ISBN 0-87630-744-6.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  48. Gauthier, L; Stollak, G; Messé, L; Aronoff, J (1996-07). "Recall of childhood neglect and physical abuse as differential predictors of current psychological functioning". Child Abuse & Neglect. 20 (7): 549–59. doi:10.1016/0145-2134(96)00043-9. PMID 8832112. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  49. Briere J (1992-04). "Methodological issues in the study of sexual abuse effects" (PDF). Journal of Consulting and Clinical Psychology. 60 (2): 196–203. doi:10.1037/0022-006X.60.2.196. PMID 1592948. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-09-11. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  50. Brown D (2000). "(Mis) representations of the long-term effects of childhood sexual abuse in the courts". Journal of Child Sexual Abuse. 9 (3–4): 79–107. doi:10.1300/J070v09n03_05. PMID 17521992.
  51. Bonomi, AE; Anderson, ML; Rivara, FP; และคณะ (2008-03). "Health care utilization and costs associated with childhood abuse". Journal of General Internal Medicine. 23 (3): 294–9. doi:10.1007/s11606-008-0516-1. PMC 2359481. PMID 18204885. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  52. Roberts, Ron; o’Connor, Tom; Dunn, Judy; Golding, Jean (2004). "The effects of child sexual abuse in later family life; mental health; parenting and adjustment of offspring". Child Abuse & Neglect. 28 (5): 525. doi:10.1016/j.chiabu.2003.07.006.
  53. Fergusson, DM; Mullen, PE (1999). Childhood sexual abuse: An evidence based perspective. Thousand Oaks; California: Sage Publications. ISBN 0-7619-1136-7.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)[ต้องการเลขหน้า]
  54. 54.0 54.1 54.2 54.3 Kendler, KS; Bulik, CM; Silberg, J; Hettema, JM; Myers, J; Prescott, CA (2000-10). "Childhood sexual abuse and adult psychiatric and substance use disorders in women: an epidemiological and cotwin control analysis". Archives of General Psychiatry. 57 (10): 953–9. doi:10.1001/archpsyc.57.10.953. PMID 11015813. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  55. Briere, J; Elliott, DM (1993-04). "Sexual abuse, family environment, and psychological symptoms: on the validity of statistical control". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 61 (2): 284–8, 289–90. doi:10.1037/0022-006X.61.2.284. PMID 8473582. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  56. Caffaro-Rouget, A.; Lang, R. A.; Van Santen, V. (1989). "The Impact of Child Sexual Abuse On Victims' Adjustment". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 2: 29. doi:10.1177/107906328900200102.
  57. Mannarino, AP; Cohen, JA (1986). "A clinical-demographic study of sexually abused children". Child Abuse & Neglect. 10 (1): 17–23. doi:10.1016/0145-2134(86)90027-X. PMID 3955424.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  58. Tong, L; Oates, K; McDowell, M (1987). "Personality development following sexual abuse". Child Abuse & Neglect. 11 (3): 371–83. doi:10.1016/0145-2134(87)90011-1. PMID 3676894.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  59. Conte, J. R.; Schuerman, J. R. (1987). "The Effects of Sexual Abuse on Children: A Multidimensional View". Journal of Interpersonal Violence. 2 (4): 380. doi:10.1177/088626058700200404.
  60. Bulik, CM; Prescott, CA; Kendler, KS (2001-11). "Features of childhood sexual abuse and the development of psychiatric and substance use disorders". The British Journal of Psychiatry. 179 (5): 444–9. doi:10.1192/bjp.179.5.444. PMID 11689403. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  61. Beitchman, JH; Zucker, KJ; Hood, JE; daCosta, GA; Akman, D; Cassavia, E (1992). "A review of the long-term effects of child sexual abuse". Child Abuse Negl. 16 (1): 101–18. doi:10.1016/0145-2134(92)90011-F. PMID 1544021.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  62. 62.0 62.1 Browne, A; Finkelhor, D (1986-01). "Impact of child sexual abuse: a review of the research". Psychological Bulletin. 99 (1): 66–77. doi:10.1037/0033-2909.99.1.66. PMID 3704036. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  63. Holguin, G; Hansen, David J. (2003). "The 'sexually abused child': Potential mechanisms of adverse influences of such a label". Aggression and Violent Behavior. 8 (6): 645. doi:10.1016/S1359-1789(02)00101-5.
  64. Romans, SE; Martin, JL; Anderson, JC; O'Shea, ML; Mullen, PE (1995-01). "Factors that mediate between child sexual abuse and adult psychological outcome". Psychological Medicine. 25 (1): 127–42. doi:10.1017/S0033291700028154. PMID 7792348. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  65. Spaccarelli, S; Kim, S (1995-09). "Resilience criteria and factors associated with resilience in sexually abused girls". Child Abuse & Neglect. 19 (9): 1171–82. doi:10.1016/0145-2134(95)00077-L. PMID 8528822. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  66. Chu, JA; Frey, LM; Ganzel, BL; Matthews, JA (1999-05). "Memories of childhood abuse: dissociation, amnesia, and corroboration". The American Journal of Psychiatry. 156 (5): 749–55. PMID 10327909. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  67. Draijer, N; Langeland, W (1999-03). "Childhood trauma and perceived parental dysfunction in the etiology of dissociative symptoms in psychiatric inpatients". The American Journal of Psychiatry. 156 (3): 379–85. doi:10.1016/j.biopsych.2003.08.018. PMID 10080552. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  68. Hornor, G. (2010). "Child sexual abuse: Consequences and implications". Journal of Pediatric Health Care. 24 (6): 358–364. doi:10.1016/j.pedhc.2009.07.003. PMID 20971410.
  69. Mullen, PE; Martin, JL; Anderson, JC; Romans, SE; Herbison, GP (1996-01). "The long-term impact of the physical, emotional, and sexual abuse of children: a community study". Child Abuse & Neglect. 20 (1): 7–21. doi:10.1016/0145-2134(95)00112-3. PMID 8640429. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  70. Pope, Harrison G.; Hudson, James I. (Fall 1995). "Does childhood sexual abuse cause adult psychiatric disorders? Essentials of methodology". Journal of Psychiatry & Law. 23 (3): 363–81.
  71. Levitt, EE; Pinnell, CM (1995-04). "Some additional light on the childhood sexual abuse-psychopathology axis". The International Journal of Clinical and Experimental Hypnosis. 43 (2): 145–62. doi:10.1080/00207149508409958. PMID 7737760. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  72. Fleming, J; Mullen, PE; Sibthorpe, B; Bammer, G (1999-02). "The long-term impact of childhood sexual abuse in Australian women". Child Abuse & Neglect. 23 (2): 145–59. doi:10.1016/S0145-2134(98)00118-5. PMID 10075184. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  73. Rind, Bruce; Tromovitch, Philip (1997). "A meta-analytic review of findings from national samples on psychological correlates of child sexual abuse". Journal of Sex Research. 34 (3): 237. doi:10.1080/00224499709551891.
  74. Dallam, SJ; Gleaves, DH; Cepeda-Benito, A; Silberg, JL; Kraemer, HC; Spiegel, D (2001-11). "The effects of child sexual abuse: Comment on Rind, Tromovitch, and Bauserman (1998)". Psychological Bulletin. 127 (6): 715–33. doi:10.1037/0033-2909.127.6.715. PMID 11726068. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  75. Oltmanns, Thomas F.; Emery, Robert E. (2001). Abnormal Psychology. Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall. ISBN 0-13-187521-3.[ต้องการเลขหน้า]
  76. US Congress (1999). "Whereas no segment of our society is more critical to the future of human survival than our children" (PDF). 106th Congress, Resolution 107.
  77. Anderson, James; Mangels, Nancie; Langsam, Adam (2004). "Child Sexual Abuse: A Public Health Issue". The Justice Professional. 17: 107. doi:10.1080/08884310420001679386.
  78. 78.0 78.1 De Jong AR (1985). "Vaginitis due to Gardnerella vaginalis and to Candida albicans in sexual abuse". Child Abuse & Neglect. 9 (1): 27–9. doi:10.1016/0145-2134(85)90088-2. PMID 3872154.
  79. Siegel, Daniel (1999). Developing Mind. Guilford Press.[ต้องการเลขหน้า]
  80. Szalavitz, Maia; Perry, Bruce (2006). The boy who was raised as a dog: and other stories from a child psychiatrist's notebook: what traumatized children can teach us about loss, love and healing. New York: Basic Books. ISBN 0-465-05652-0.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)[ต้องการเลขหน้า]
  81. Ito, Y; Teicher, MH; Glod, CA; Ackerman, E (1998). "Preliminary evidence for aberrant cortical development in abused children: a quantitative EEG study". The Journal of Neuropsychiatry and Clinical Neurosciences. 10 (3): 298–307. PMID 9706537. Abused children had higher levels of left hemisphere coherence and a reversed asymmetry, with left hemisphere coherence significantly exceeding right hemisphere coherence.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  82. Anderson, CM; Teicher, MH; Polcari, A; Renshaw, PF (2002). "Abnormal T2 relaxation time in the cerebellar vermis of adults sexually abused in childhood: potential role of the vermis in stress-enhanced risk for drug abuse". Psychoneuroendocrinology. 27 (1–2): 231–44. doi:10.1016/S0306-4530(01)00047-6. PMID 11750781.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  83. 83.0 83.1 83.2 Teicher, MH; Glod, CA; Surrey, J; Swett, C (1993). "Early childhood abuse and limbic system ratings in adult psychiatric outpatients". The Journal of Neuropsychiatry and Clinical Neurosciences. 5 (3): 301–6. PMID 8369640.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  84. 84.0 84.1 Teicher, MH (2002-03). "Scars that won't heal: the neurobiology of child abuse". Scientific American. 286 (3): 68–75. doi:10.1038/scientificamerican0302-68. PMID 11857902. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  85. Ito, Y; Teicher, MH; Glod, CA; Harper, D; Magnus, E; Gelbard, HA (1993). "Increased prevalence of electrophysiological abnormalities in children with psychological, physical, and sexual abuse". The Journal of Neuropsychiatry and Clinical Neurosciences. 5 (4): 401–8. doi:10.1176/jnp.5.4.401. PMID 8286938.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  86. Arehart-Treichel, Joan (2001-03). "Psychological Abuse May Cause Changes in Brain" (PDF). Psychiatric News. 36 (5): 36. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  87. Navalta, CP; Polcari, A; Webster, DM; Boghossian, A; Teicher, MH (2006). "Effects of childhood sexual abuse on neuropsychological and cognitive function in college women". The Journal of Neuropsychiatry and Clinical Neurosciences. 18 (1): 45–53. doi:10.1176/appi.neuropsych.18.1.45. PMID 16525070.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  88. Trusiani, Jessica. "Working with Survivors of Child Incestuous Abuse". Rutgers University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-01. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  89. Bogorad, Barabara E (Psy.) - A.B.P.P.,Founder and Former Director, Sexual Abuse Recovery Program Unit South Oaks Hospital, New York. "Sexual Abuse:Surviving the Pain". The American Academy of Experts in Traumatic Stress, Inc.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  90. Fridell, L. A. (1990). "Decision-Making Of The District Attorney: Diverting Or Prosecuting Intrafamilial Child Sexual Abuse Offenders". Criminal Justice Policy Review. 4 (3): 249. doi:10.1177/088740349000400304.
  91. 91.0 91.1 Turner, Jeffrey S. (1996). Encyclopedia of relationships across the lifespan. Westport, Conn: Greenwood Press. p. 92. ISBN 0-313-29576-X.
  92. Williams, Mark (1988). "Father-Son Incest: A Review and Analysis of Reported Incidents" (PDF). Clinical Social Work Journal. 16 (2): 375–389. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  93. Dixon, KN; Arnold, LE; Calestro, K (1978). "Father-Son Incest: Underreported Psychiatric Problem?" (PDF). Am J Psychiatry. 175 (7): 835–838. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  94. Meyer, Isabel Denholm; Dorais, Michel (2002). Don't tell: the sexual abuse of boys. Montreal: McGill-Queen's University Press. p. 24. ISBN 0-7735-2261-1.
  95. Courtois, Christine A. (1988). Healing the incest wound: adult survivors in therapy. New York: Norton. ISBN 0-393-31356-5.[ต้องการเลขหน้า]
  96. Goldman, JD; Padayachi, UK (1997-05). "The prevalence and nature of child sexual abuse in Queensland, Australia". Child Abuse & Neglect. 21 (5): 489–98. doi:10.1016/S0145-2134(97)00008-2. PMID 9158908. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  97. Finkelhor, D (1979). Sexually victimised children. New York: Free Press.
  98. Cawson, Pat; Wattam, Corinne; Brooker, Sue (2000). Child Maltreatment in the United Kingdom: A Study of the Prevalence of Child Abuse and Neglect. London: National Society for the Prevention of Cruelty to Children. ISBN 978-1-84228-006-5.[ต้องการเลขหน้า]
  99. "Child Protection Information Sheet - Commercial Sexual Exploitation" (PDF). กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22. sexual abuse by an adult accompanied by remuneration in cash or in kind to the child or third person (s).
  100. "Evaluation Report - Combating Sexual Abuse and Sexual Exploitation of Children and Youth in the Greater Mekong Subregion: Achievements & Lessons Learned" (PDF). United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  101. "Commercial Sexual Exploration and Sexual Abuse of Children in South Asia" (PDF). กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  102. "What we do - Commercial sexual exploitation of children". กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-06. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23.
  103. Finkelhor, David; Ormrod, Richard (2001-05). "Child Abuse Reported to the Police" (PDF). Juvenile Justice Bulletin. U.S. Office of Juvenile Justice and Delinquency Prevention. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  104. "Definitions of Child Abuse and Neglect, Summary of State Laws" (PDF). National Clearinghouse on Child Abuse and Neglect Information, U.S. Department of Health and Human Services. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-10-25. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  105. Finkelhor, David; Ormrod, Richard (2004-06). "Prostitution of Juveniles: Patterns From NIBRS". Juvenile Justice Bulletin. U.S. Office of Juvenile Justice and Delinquency Prevention. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-21. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  106. "Child Sexual Exploitation: Improving Investigations and Protecting Victims" (txt). Massachusetts Child Exploitation Network, U.S. Office of Juvenile Justice and Delinquency Prevention. 1995-01. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  107. "Grooming chatroom Content at ZDNet UK". ZDNet UK. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-23. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  108. Gries, L.; Goh, D.; Andrews, M.; Gilbert, J.; Praver, F.; Stelzer, D. (2000). "Positive reaction to disclosure and recovery from child sexual abuse". Journal of Child Sexual Abuse. 9 (1): 29–51. doi:10.1300/J070v09n01_03.
  109. Kogan, S. (2005). "The Role of Disclosing Child Sexual Abuse on Adolescent Adjustment and Revictimization". Journal of Child Sexual Abuse. 14 (2): 25–47. doi:10.1300/J070v14n02_02. PMID 15914409.
  110. Arata, C (1998). "To tell or not to tell: Current functioning of child sexual abuse survivors who disclosed their victimization". Child Maltreatment. 3 (1): 63–71.
  111. 111.0 111.1 Palmer, S.; Brown, R.; Rae-Grant, N.; Loughlin, J. M. (1999). "Responding to children's disclosure of familial abuse: what survivors tell us". Child Welfare. 2 (78): 259–282.
  112. Ullman, S.E. (2003). "Social reactions to child abuse disclosure: A critical review". Journal of Child Sexual Abuse. 12 (1): 89–121. doi:10.1300/J070v12n01_05. PMID 16221661.
  113. Roesler, T.A. (1994). "Reactions to disclosure of childhood sexual abuse: the effect on adult symptoms". Journal of Nervous and Mental Disease. 182 (11): 618–624. doi:10.1097/00005053-199411000-00004. PMID 7964669.
  114. Schechter, DS; Brunelli, SA; Cunningham, N; Brown, J; Baca, P (2002). "Mother-daughter relationships and child sexual abuse: A pilot study of 35 dyads". Bulletin of the Menninger Clinic. 66 (1): 39–60. doi:10.1521/bumc.66.1.39.23374. PMID 11999103.
  115. "Responding To Child Sexual Abuse". American Academy of Child & Adolescent Psychiatr.
  116. Brown, Asa Don (2008). The effects of childhood trauma on adult perception and worldview. ISBN 978-0-549-47057-1. [ต้องการเลขหน้า]
  117. Wilson, SFW; Giddens, JFG (2009). Health Assessment for Nursing Practice. St.Louis: Mosby Elsevier. p. 506.
  118. 118.0 118.1 Cynthia, Winn; Anthony, J Urquiza (2004). Treatment For Abused And Neglected Children: Infancy To Age 18 - User Manual Series. Diane Pub Co. ISBN 0-7881-1661-4.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)[ต้องการเลขหน้า]
  119. Summit, Roland C. (1983-01). "The child sexual abuse accommodation syndrome". Child Abuse & Neglect. 7 (22): 177–93. doi:10.1016/0145-2134(83)90070-4. PMID 6605796. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  120. De Young, Mary (2004). The day care ritual abuse moral panic. Jefferson, N.J.: McFarland. ISBN 0-7864-1830-3.
  121. Shiu, Margaret (2009). "Unwarranted Skepticism: The Federal Courts' Treatment of Child Sexual Abuse Accommodation Syndrome" (PDF). Southern California Interdisciplinary Law Journal. 18 (3): 672, 677.[ลิงก์เสีย]
  122. Swaby, AN.; Morgan, KA. (2009). "The relationship between childhood sexual abuse and sexual dysfunction in Jamaican adults". J Child Sex Abus. 18 (3): 247–66. doi:10.1080/10538710902902679. PMID 19856732.
  123. Edmond, T.; Rubin, A. (2004). "Assessing the long-term effects of EMDR: results from an 18-month follow-up study with adult female survivors of CSA". J Child Sex Abus. 13 (1): 69–86. doi:10.1300/J070v13n01_04. PMID 15353377.
  124. Fergusson, DM; Lynskey, MT; Horwood, LJ (1996-10). "Childhood sexual abuse and psychiatric disorder in young adulthood: I. Prevalence of sexual abuse and factors associated with sexual abuse". J Am Acad Child Adolesc Psychiatry. 35 (10): 1355–1364. doi:10.1097/00004583-199610000-00023. PMID 8885590. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  125. Joint Submission by The Office of the Governor C.L. Butch Otter, Governor and The Office of the Attorney General Lawrence Wasden, Attorney General (2008-01). "The Prosecution of Child Sexual Abuse in Idaho July 1, 2006 - June 30, 2007" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-11. สืบค้นเมื่อ 2008-01-28. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  126. "KPVI article". kpvi.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-25. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23.
  127. * Denov, MS (2003-08-01). "The myth of innocence: sexual scripts and the recognition of child sexual abuse by female perpetrators". The Journal of Sex Research. 40 (3): 303–314. doi:10.1080/00224490309552195.
  128. 128.0 128.1 Shakeshaft 2004, p. 25
  129. Maletzky, Barry M. (1988). "Factors associated with success and failure in the behavioral and cognitive treatment of sexual offenders". Annals of Sex Research. 6 (4): 241. doi:10.1007/BF00856862.
  130. Tomeo, Marie E.; Templer, Donald I.; Anderson, Susan; Kotler, Debra (2001). "Comparative data of childhood and adolescence molestation in heterosexual and homosexual persons". Archives of Sexual Behavior. 30 (5): 535–41. doi:10.1023/A:1010243318426. PMID 11501300.
  131. "Educator Sexual Misconduct: A Synthesis of the Literature" (PDF). U.S. Department of Education. 2004. pp. 24–25.
  132. 132.0 132.1 Groth, A. Nicholas; Birnbaum, H. Jean (1978). "Adult sexual orientation and attraction to underage persons". Archives of Sexual Behavior. 7 (3): 175–81. doi:10.1007/BF01542377. PMID 666571.
  133. Holmes, Ronald M.; Holmes, Stephen T. (2002-03-12). Profiling Violent Crimes: An Investigative Tool. Thousand Oaks, CA: Sage Publications, Inc. ISBN 978-0-7619-2593-4.[ต้องการเลขหน้า]
  134. "Pedophilia". Psychology Today. Sussex Publishers, LLC. 2006-09-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-19. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  135. Rezmovic, EL; Sloane, D; Alexander, D; Seltser, B; Jessor, T (1996). "Cycle of Sexual Abuse: Research Inconclusive About Whether Child Victims Become Adult Abusers" (PDF). US Government Accountability Office General Government Division United States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-24. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  136. Ward, Tony; Hudson, Stephen M.; Marshall, William L. (1995). "Cognitive Distortions and Affective Deficits in Sex Offenders: A Cognitive Deconstructionist Interpretation1". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 7 (1): 67–83. doi:10.1177/107906329500700107.
  137. 137.0 137.1 137.2 "Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders" (5th ed.). American Psychiatric Association. 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-07-25.
  138. 138.0 138.1 See section F65.4 Paedophilia. "The lCD-10 Classification of Mental and Behavioural Disorders Diagnostic criteria for research World" (PDF). องค์การอนามัยโลก/ICD-10. 1993. สืบค้นเมื่อ 2010-10-10. B. A persistent or a predominant preference for sexual activity with a prepubescent child or children. C. The person is at least 16 years old and at least five years older than the child or children in B.
  139. Lanning, Kenneth V. (2010). Child Molesters: A Behavioral Analysis (PDF) (fifth ed.). National Center for Missing and Exploited Children. pp. 29–30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-24. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  140. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. vii.
  141. Schauer, Cathrin. "Kinder auf dem Strich: Bericht von der deutsch-tschechischen Grenze". Hrsg. von Deutsches Komitee für UNICEF, ECPAT Deutschland. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  142. "Group of specialists on the impact of the use of new information technologies on trafficking in human beings for the purpose of sexual exploitation (EG-S-NT): Final Report". coe.int. Strasbourg, Alsace, France: Council of Europe. 2003-09-16. สืบค้นเมื่อ 2015-07-31.
  143. Buskotte, Andrea (2010). Sexuelle Ausbeutung von Kindern. Kinder im Unrecht, Junge Menschen als Täter und Opfer. Band 27 von Kriminalwissenschaftliche Schriften, LIT Verlag Münster. p. 63. ISBN 3643105053. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)
  144. Gallwitz, Adolf; Paulus, Manfred (2009). Pädokriminalität weltweit: sexueller Kindesmissbrauch, Kinderhandel, Kinderprostitution und Kinderpornographie. VDP, Verl. Dt. Polizeiliteratur. ISBN 3801105989.
  145. "Grundlagenbericht Dezember 2005/April 2006" (PDF). Kanton Solothurn: Amt für soziale Sicherheit ASO. p. 12.[ลิงก์เสีย]
  146. doi:10.1016/j.chiabu.2010.01.011
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  147. "CSOM Publications". Center for Sex Offender Management. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-01. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23.
  148. Hanson, RK; Steffy, RA; Gauthier, R (1993-08). "Long-term recidivism of child molesters". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 61 (4): 646–52. doi:10.1037/0022-006X.61.4.646. PMID 8370860. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  149. Frisbie, Louise Viets (1965). "Treated Sex Offenders Who Reverted to Sexually Deviant Behavior". Federal Probation. 29: 52.
  150. Shaw, JA; Lewis, JE; Loeb, A; Rosado, J; Rodriguez, RA (2000-12). "Child on child sexual abuse: psychological perspectives". Child Abuse & Neglect. 24 (12): 1591–600. doi:10.1016/S0145-2134(00)00212-X. PMID 11197037. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  151. Caffaro, J; Conn-Caffaro, A (2005). "Treating sibling abuse families". Aggression and Violent Behavior. 10 (5): 604. doi:10.1016/j.avb.2004.12.001.
  152. Gray, A; Pithers, WD; Busconi, A; Houchens, P (1999-06). "Developmental and etiological characteristics of children with sexual behavior problems: treatment implications". Child Abuse & Neglect. 23 (6): 601–21. doi:10.1016/S0145-2134(99)00027-7. PMID 10391518. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  153. Gray, Alison; Busconi, Aida; Houchens, Paul; Pithers, William D. (1997). "Children with sexual behavior problems and their caregivers: Demographics, functioning, and clinical patterns". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 9 (4): 267. doi:10.1007/BF02674853.
  154. Bromberg, Daniel S.; Johnson, Blair T. (2001). "Sexual interest in children, child sexual abuse, and psychological sequelae for children". Psychology in the Schools. 38 (4): 343. doi:10.1002/pits.1023.
  155. Wieckowski, Edward; Hartsoe, Peggy; Mayer, Arthur; Shortz, Joianne (1998). "Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 10 (4): 293. doi:10.1023/A:1022194021593.
  156. 156.0 156.1 156.2 156.3 156.4 "Abuse of power". Foreign Policy. 2014-04-14. สืบค้นเมื่อ 2014-04-20.
  157. Stoltenborgh, M; van IJzendoorn, MH; Euser, EM; Bakermans-Kranenburg, MJ (2011). "A global perspective on child sexual abuse: meta-analysis of prevalence around the world". Child Maltreatment. 16 (2): 79–101. doi:10.1177/1077559511403920.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  158. โควิด 19 : ล็อกดาวน์-โรงเรียนปิด ทำคดีพ่อแม่ล่วงละเมิดทางเพศลูกในฟิลิปปินส์พุ่ง
  159. Andersson, N.; Paredes-Solís, S.; Milne, D.; Omer, K.; Marokoane, N.; Laetsang, D.; Cockcroft, A. (2012). "Prevalence and risk factors for forced or coerced sex among school-going youth: National cross-sectional studies in 10 southern African countries in 2003 and 2007". BMJ Open. 2 (2): e000754. doi:10.1136/bmjopen-2011-000754. PMC 3293138. PMID 22389362.
  160. "Child rape survivors saves 'virgin myth' victims". cnn.com. 2009-06-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-27. สืบค้นเมื่อ 2012-04-05.
  161. "Child Rape: A Taboo within the AIDS Taboo: More and more girls are being raped by men who believe this will 'cleanse' them of the disease, but people don't want to confront the issue". Sunday Times (South Africa). 1999-04-04.
  162. Thomson Reuters Foundation. "Thomson Reuters Foundation". AlertNet. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23.
  163. "BBC NEWS - Africa - DR Congo child rape victim dies". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23.
  164. 164.0 164.1 "Oprah Scandal Rocks South Africa". TIME.com. 2007-11-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23. South Africa has some of the highest incidences of child and baby rape in the world. Many children are brutalized so often that they are desensitized to the abuse being a crime. A 2002 survey by the Community of Information, Empowerment and Transparency (CIET), an international group of epidemiologists and social scientists, found 60% of both boys and girls surveyed thought it was not violence to force sex upon someone they knew, while around 11% of boys and 4% of girls admitted to forcing someone else to have sex with them.
  165. "South Africa's rape shock". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23.
  166. "South African Men Rape Babies as "Cure" for AIDS". Daily Telegraph (UK). 2001-11-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  167. "Baby rape sparks outrage". abcnews.com. 2011-07-30. สืบค้นเมื่อ 2011-07-12.
  168. "Child rape in South Africa". Medscape. สืบค้นเมื่อ 2010-12-31.
  169. "Bangladesh's teenage brothels hold dark steroid secret". reuters.com. 2012-03-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-20. สืบค้นเมื่อ 2012-03-20.
  170. "A new danger for sex workers in Bangladesh". guardian.com. 2010-04-05. สืบค้นเมื่อ 2012-03-20.
  171. "Bangladesh's dark brothel steroid secret". bbcnews.com. 2010-05-30. สืบค้นเมื่อ 2012-03-20.
  172. 172.0 172.1 "Study on Child Abuse: India 2007" (PDF). Government of India, Ministry of Women and Child Development.
  173. "Women's Rights by Amy Steiner". Georgetown University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  174. "Budget Analysis for Child Protection" (PDF). Published by the Government of India, (Ministry of Women and Child Development).
  175. "Parliament passes bill to protect children from sexual abuse". NDTV. 2012-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-01. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  176. Yen, Cheng-Fang; Yang, Mei-Sang; Yang, Ming-Jen; Su, Yi-Ching; Wang, Mei-Hua; Lan, Chu-Mei (2008). "Childhood physical and sexual abuse: Prevalence and correlates among adolescents living in rural Taiwan". Child Abuse & Neglect. 32 (3): 429–438. doi:10.1016/j.chiabu.2007.06.003.
  177. Murray, Craig (2007). Dirty Diplomacy: The Rough-and-Tumble Adventures of a Scotch-Drinking, Skirt-Chasing, Dictator-Busting and Thoroughly Unrepentant Ambassador Stuck on the Frontline of the War Against Terror. Scribner. ISBN 9781416548027.
  178. "UNICEF strives to help Papua New Guinea break cycle of violence". UNICEF. 2008-08-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-14. สืบค้นเมื่อ 2014-02-26.
  179. Davidson, Helen (2013-11-26). "Papua New Guinea takes first steps to combat 'epidemic' of abuse". Guardian News and Media Limited. สืบค้นเมื่อ 2014-03-09.
  180. 180.0 180.1 Jewkes, Rachel; Fulu, Emma; Roselli, Tim; Garcia-Moreno, Claudia (2013-09-10). "Prevalence of and factors associated with non-partner rape perpetration: findings from the UN Multi-country Cross-sectional Study on Men and Violence in Asia and the Pacific". The Lancet. 323 (4): e208. doi:10.1016/S2214-109X(13)70069-X. สืบค้นเมื่อ 2013-09-16. {{cite journal}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  181. Kendall-Tackett, KA; Williams, LM; Finkelhor, D (1993-01). "Impact of sexual abuse on children: a review and synthesis of recent empirical studies". Psychological Bulletin. 113 (1): 164–80. doi:10.1037/0033-2909.113.1.164. PMID 8426874. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  182. 182.0 182.1 Finkelhor, D (1993). "Epidemiological factors in the clinical identification of child sexual abuse". Child Abuse & Neglect. 17 (1): 67–70. doi:10.1016/0145-2134(93)90009-T. PMID 8435788.
  183. Goldman, Juliette D. G.; Padayachi, Usha K. (2000-11). "Some methodological problems in estimating incidence and prevalence in child sexual abuse research". Journal of Sex Research. 37 (4): 305–14. doi:10.1080/00224490009552052. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  184. Gorey, Kevin; Leslie, DR (1997-04). "The prevalence of child sexual abuse: Integrative review adjustment for potential response and measurement biases". Child abuse and neglect. 21 (4): 391–398. doi:10.1016/S0145-2134(96)00180-9. PMID 9134267. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  185. 185.0 185.1 Gorey, KM; Leslie, DR (1997-04). "The prevalence of child sexual abuse: integrative review adjustment for potential response and measurement biases". Child Abuse & Neglect. 21 (4): 391–398. doi:10.1016/S0145-2134(96)00180-9. PMID 9134267. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  186. Radford, Lorraine; Corral, Susana; Bradley, Christine; Fisher, Helen; Bassett, Claire; Howat, Nick; Collishaw, Stephan (2011). "Child abuse and neglect in the UK today" (PDF). National Society for the Prevention of Cruelty to Children. p. 5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-08-16. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  187. Baker, AW; Duncan, SP (1985). "Child sexual abuse: a study of prevalence in Great Britain". Child Abuse and Neglect. 9 (4): 457–67. doi:10.1016/0145-2134(85)90054-7. PMID 4084825.
  188. "NSPCC says child sex abuse has risen to 64 crimes a day". BBC News. 2011-05-26.
  189. "60 sex offences against children a day - NSPCC". BBC News. 2010-01-25.
  190. "Barnardo's: Sexual exploitation of boys 'overlooked'". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2015-03-23.
  191. Rind, B; Tromovitch, P.; Bauserman, R. (1998). "A meta-analytic examination of assumed properties of child sexual abuse using college samples". Psychological Bulletin. 124 (1): 22–53. doi:10.1037/0033-2909.124.1.22. PMID 9670820.
  192. "ACF Questions and Answers Support". Administration on Children and Families. US Department of Health and Human Services. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.[ลิงก์เสีย]
  193. "Child Maltreatment 2005". Administration on Children and Families. US Department of Health and Human Services. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.
  194. "Child Sexual Abuse". Facts for Families, No. 9. American Academy of Child and Adolescent Psychiatry. 2008-05. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  195. Douglas, Emily M; Finkelhor, David (2005). "Child Sexual Abuse Fact Sheet" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  196. "Correlates of Adolescent Reports of Sexual Assault: Findings From the National Survey of Adolescents" (PDF).
  197. doi:10.1177/1077559503257087
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  198. Herman, Judith (1981). Father-Daughter Incest. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. p. 282. ISBN 0-674-29506-4.
  199. Sariola, Heikki; Uutela, Antti (1996). "The prevalence and context of incest abuse in Finland". Child Abuse & Neglect. 20 (9): 843. doi:10.1016/0145-2134(96)00072-5.
  200. 200.0 200.1 Keuhnle, K (1996). Assessing Allegations of Child Sexual Abuse. Sarastota, FL: Professional Resources Press.[ต้องการเลขหน้า]
  201. 201.0 201.1 Shakeshaft 2004
  202. Shakeshaft 2004, p. 26
  203. Watkins, B.; Bentovim, A. (1992). "The sexual abuse of male children and adolescents: a review of current research". Journal of Clinical Psychology & Psychiatry. 33 (10): 197–248. doi:10.1111/j.1469-7610.1992.tb00862.x. PMID 1737828. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-16. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  204. Shakeshaft 2004, p. 22
  205. Denov, Myriam S (2004). Perspectives on Female Sex Offending: A Culture of Denial. Ashgate Pub Ltd. ISBN 9780754635659.
  206. * Young, Cathy (2002). "Double Standard". The Boston Globe.[ลิงก์เสีย]
  207. Levesque, Roger J. R. (1999). Sexual Abuse of Children: A Human Rights Perspective. Indiana University Press. pp. 1, 5–6, 176–180. ISBN 0-253-33471-3. The world community recently has recognized every child's fundamental human right to protection from sexual maltreatment. This right has been expressed in recent declarations, conventions, and programs of action. Indeed, the right to protection from sexual maltreatment is now entrenched so strongly in international human rights law that no country can relinquish its obligation.
  208. "United Nations Convention on the Rights of the Child". Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights. 1989. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-11. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. Parties shall take all appropriate legislative, administrative, social and educational measures to protect the child from all forms of physical or mental violence, injury or abuse, neglect or negligent treatment, maltreatment or exploitation, including sexual abuse... States Parties undertake to protect the child from all forms of sexual exploitation and sexual abuse. For these purposes, States Parties shall in particular take all appropriate national, bilateral and multilateral measures to prevent: (a) The inducement or coercion of a child to engage in any unlawful sexual activity; (b) The exploitative use of children in prostitution or other unlawful sexual practices; (c) The exploitative use of children in pornographic performances and materials.
  209. "Statutory Rape Known to Law Enforcement" (PDF). U.S. Department of Justice - Office of Juvenile Justice and Delinquency Prevention. สืบค้นเมื่อ 2008-03-24.[ลิงก์เสีย]
  210. "United Nations Convention on the Rights of the Child". Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights.
  211. "Convention on the Rights of the Child". United Nations Treaty Collection. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-22. สืบค้นเมื่อ 2008-11-26.
  212. "Convention on the Rights of the Child". United Nations Treaty Collection. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-11. สืบค้นเมื่อ 2009-05-21.
  213. "Government of Somalia ratifies UN Convention on the Rights of the Child". UNICEF. สืบค้นเมื่อ 2015-01-20.
  214. "DIRECTIVE 2011/92/EU OF THE EUROPEAN PARLIAMENT AND OF THE COUNCIL of 13 December 2011 on combating the sexual abuse and sexual exploitation of children and child pornography, and replacing Council Framework Decision 2004/68/JHA". สหภาพยุโรป.
  215. Masson, Jeffrey Moussaieff (1984). Assault on the Truth. New York: Farrar Straus. pp. 15–25. ISBN 978-0-374-10642-3.
  216. "The Church Child Sex Abuse Scandal Widens and Deepens". dailykos.com. 2013-05-25.
  217. Cifarelli, TA (2001-10-10). "Shielding Minors". Los Angeles Daily Journal.
  218. "When A Girl Student Stands Up and Wins". Women News Network. 2008-08-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-19. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  219. "World Health Organization Report on Sexual Violence" (PDF). องค์การอนามัยโลก. 2002.
  220. "World's Largest Ring of Child Abusers Arrested". The World Reporter. 2011-03-16.
  221. "Alexis Jay will lead child abuse failings probe at Rotherham". BBC News. 2013-11-01.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]