อายุความ
อายุความ (อังกฤษ: prescription หรือ limitation) คือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้อง หรือสิทธิร้องทุกข์ หากปล่อยเนิ่นนานไปจนล่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเช่นว่าจะเป็นอันยกขึ้นอ้างอีกมิได้ ซึ่งเรียกว่า "การขาดอายุความ" เช่น สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ คดีขาดอายุความ หนี้ขาดอายุความ เป็นต้น[1] [2]
เหตุผลของอายุความ
[แก้]การที่กฎหมายกำหนดอายุความไว้นั้นมีเหตุผลสามประการ ดังต่อไปนี้[3] [4]
1. เป็นนิตินโยบายของรัฐเพื่อดำรงความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในการอ้างสิทธิของบุคคล อันเป็นการห้ามปรามมิให้มีการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วมาเรียกร้องต่อกัน เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วนั้นย่อมยุ่งยากสำหรับผู้เกี่ยวข้องในการหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์แก่กัน พยานหลักฐานอาจสูญหาย เสื่อมสภาพ บกพร่อง หรือคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลาได้ ซึ่งจะส่งผลให้การวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อาจเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง
2. เป็นโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่ปล่อยปละละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเสียที จนกระทั่งล่วงเลยอายุความที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้เกิดมี "สิทธิปฏิเสธ" (อังกฤษ: right of refusal) ขึ้นสามารถปฏิเสธการเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่เพิ่งมากระทำเมื่อล่วงเลยอายุความไปแล้วได้ ดังนั้น อายุความจึงเป็นเครื่องกระตุ้นให้เจ้าหนี้ระแวดระวังในการใช้สิทธิของตนมากขึ้น
3. เป็นการช่วยปลดเลื้องภาระของลูกหนี้ในอันที่จะต้องเก็บรักษาหลักฐานในการชำระหนี้ไว้ ไม่ต้องคอยพะวงรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้จนชั่วชีวิต เพราะเมื่อล่วงอายุความไปแล้ว ลูกหนี้ก็สามารถปฏิเสธการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ได้โดยเพียงต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้วเท่านั้น
อายุความแพ่ง
[แก้]อายุความแพ่ง เป็นอายุความสำหรับประเด็นตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ อายุความได้สิทธิ และอายุความเสียสิทธิ[5]
อายุความอาญา
[แก้]อายุความอาญา เป็นอายุความตามกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาทิ อายุความสำหรับฟ้องคดีอาญา อายุความสำหรับการนำตัวผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษ
(1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึง หนึ่งปี
(5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือน ลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- กำชัย จงจักรพันธุ์. (2551, พฤศจิกายน). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยระยะเวลาและอายุความ. (พิมพ์ครั้งที่ 7, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9789744663474.
- พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล). (2509). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-2 มาตรา 1 ถึง 240. กรุงเทพฯ : ไทยพิทยา.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2549, 9 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 14 สิงหาคม 2552).