ข้ามไปเนื้อหา

ซีกสมอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซีกสมอง (Cerebral hemisphere)
สมองมนุษย์ มองจากข้างบน แสดงซีกสมองทั้งสองข้าง สมองด้านหน้า (anterior) อยู่ทางขวามือ
ซีกสมองของมนุษย์ด้านข้าง
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินHemispherium cerebri
นิวโรเนมส์241
นิวโรเล็กซ์ IDbirnlex_1796
TA98A14.1.09.002
TA25418
FMA61817
ศัพท์ทางกายวิภาคของประสาทกายวิภาคศาสตร์

ซีกสมอง[1] หรือ ซีกสมองใหญ่' (อังกฤษ: cerebral hemisphere, hemispherium cerebri) เป็นคู่ของสมองในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่แยกออกจากกันโดยระนาบแบ่งซ้ายขวา คือ medial longitudinal fissure (ช่องตามยาวแนวกลาง) ดังนั้น จึงพรรณนาสมองได้ว่าแบ่งออกเป็นสมองซีกซ้าย (left cerebral hemisphere) และสมองซีกขวา (right cerebral hemisphere)

สมองแต่ละซีกมีชั้นด้านนอกเป็นเนื้อเทาที่เรียกว่าเปลือกสมอง (cerebral cortex) มีชั้นด้านในเป็นเนื้อขาวที่พยุงรับชั้นด้านนอก. ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภท eutheria[2] (ซึ่งที่ยังไม่สูญพันธ์เหลือเพียงแต่ประเภทมีรก (placental) เท่านั้น) ไม่รวมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นเช่นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง หรือสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ซีกสมองทั้งสองข้างมีการเชื่อมด้วย corpus callosum ซึ่งเป็นกลุ่มใยประสาทแถบใหญ่

แนวเชื่อม (commissures) ย่อยๆ ก็เชื่อมซีกทั้งสองของสมองเช่นกัน ทั้งในสัตว์ประเภท eutheria และในสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ รวมทั้งแนวเชื่อมหน้า (anterior commissure) ซึ่งมีอยู่แม้ในสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง, แนวเชื่อมหลัง (posterior commissure), และแนวเชื่อมฮิปโปแคมปัส (hippocampal commissure) แนวเชื่อมเหล่านี้ส่งข้อมูลไปในระหว่างซีกสมองทั้งสองข้างเพื่อประสานงานที่จำกัดอยู่ในซีกสมองแต่ละข้าง

ในระดับที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ซีกสมองเหมือนกันทั้งสองข้าง โดยมีความแตกต่างบ้างที่มองเห็นได้ยาก เช่น Yakovlevian torque ซึ่งเป็นความที่สมองซีกขวามีแนวโน้มที่จะยื่นไปข้างหน้าเมื่อเทียบกับซีกซ้าย. ในระดับที่ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ การจัดระเบียบเซลล์ประสาท (cytoarchitectonics), ประเภทของเซลล์, ประเภทของสารสื่อประสาท, และประเภทของหน่วยรับความรู้สึก มีความต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างซีกสมองทั้งสองข้าง[ต้องการอ้างอิง]

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความแตกต่างเหล่านั้นในระหว่างสมองทั้งสองซีกบางอย่างเหมือนกันในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หรือแม้ในระหว่างสปีชีส์ ความแตกต่างบางอย่างที่สังเกตได้กลับไม่เหมือนกันในระหว่างสัตว์เป็นรายตัวแม้ในสปีชีส์เดียวกัน

การพัฒนาในตัวอ่อน

[แก้]

สมองทั้งสองซีกมีกำเนิดมาจากซีรีบรัม เกิดขึ้นภายใน 5 สัปดาห์หลังจากปฏิสนธิ เป็นการม้วนเข้า (invagination) ของผนังสมองในซีกทั้งสอง สมองทั้งสองซีกเจริญขึ้นเป็นรูปกลมเหมือนตัวอักษร C และหลังจากนั้นก็ม้วนตัวกลับเข้าไปอีก ดึงเอาโครงสร้างภายในซีกสมอง (เช่นโพรงสมอง) เข้าไปด้วย interventricular foramina เป็นช่องเชื่อมต่อกับโพรงสมองด้านข้าง ส่วนข่ายหลอดเลือดสมอง (choroid plexus) เกิดขึ้นจากเซลล์ ependyma และ mesenchyme ของหลอดเลือด

การจำกัดกิจโดยด้านของซีกสมอง (lateralization)

[แก้]

จิตวิทยานิยมมักกล่าวสรุปโดยรวมๆ ถึงกิจหน้าที่ของสมอง (เช่นการตัดสินด้วยเหตุผล หรือความคิดสร้างสรรค์) ว่าจำกัดอยู่ทางด้านซ้ายหรือด้านขวาของสมอง (lateralization[3]) คำพูดเหล่านี้บ่อยครั้งไม่ตรงกับความจริง เพราะว่า กิจโดยมากของสมองมักกระจายไปในด้านทั้งสองของซีกสมอง

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ถึงกิจรับรู้ระดับต่ำ (เช่นระบบการประมวลไวยากรณ์) ไม่ใช่กิจรับรู้ระดับสูงที่มักจะกล่าวถึงในจิตวิทยานิยม (เช่นความคิดประกอบด้วยเหตุผล) ว่าจำกัด (คือเกิดการ laterization) อยู่ในสมองซีกใดซีกหนึ่ง[4][5]

ซีกสมองทั้งสองของตัวอ่อนมนุษย์มีอายุ 8 สัปดาห์

หลักฐานที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการจำกัดกิจโดยด้าน (lateralization) ของซีกสมอง สำหรับกิจเฉพาะอย่างหนึ่งก็คือความสามารถในด้านภาษา เพราะว่า เขตสำคัญทั้งสองที่เกี่ยวข้องกับทักษะภาษา คือเขตโบรคาและเขตเวอร์นิเก อยู่ในสมองซีกซ้าย

สมองทั้งสองซีกทำการประมวลข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ แต่ว่ามีการจำกัดกิจโดยด้าน คือ สมองแต่ละซีกรับข้อมูลความรู้สึกมาจากด้านตรงข้ามของร่างกาย (มีการจำกัดกิจโดยด้านเกี่ยวกับข้อมูลทางตาที่แตกต่างจากประสาททางอื่นๆ แต่ก็ยังมีการจำกัดกิจโดยด้าน) โดยนัยเดียวกัน สัญญาณควบคุมการเคลื่อนไหวที่สมองส่งไปยังร่างกายก็มาจากซีกสมองด้านตรงข้ามเช่นกัน ดังนั้น ความถนัดซ้ายขวา (คือมือข้างที่ถนัด) จึงมีความเกี่ยวข้องกับการจำกัดกิจโดยด้านเช่นกัน

นักประสาทจิตวิทยาได้ทำการศึกษาคนไข้ภาวะซีกสมองแยกออก[6] เพื่อที่จะเข้าใจการจำกัดกิจโดยด้าน โรเจอร์ สเปอร์รี ได้เป็นบุคคลแรกที่เริ่มใช้ tachistoscope[7] แบบจำกัดด้าน เพื่อที่จะแสดงข้อมูลทางตาแก่สมองซีกหนึ่งๆ นอกจากนั้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังศึกษาบุคคลที่เกิดโดยไม่มี corpus callosum เพื่อกำหนดความชำนาญเฉพาะกิจของซีกสมองทั้งสองข้าง

วิถีประสาท magnocellular ของระบบการเห็น ส่งข้อมูลไปยังสมองซีกขวามากกว่าไปยังสมองซีกซ้าย ในขณะที่วิถีประสาท parvocellular ส่งข้อมูลไปยังสมองซีกซ้ายมากกว่าไปยังสมองซีกขวา

ลักษณะบางอย่างของซีกสมองทั้งสองข้างไม่เหมือนกัน ซีกหนึ่งอาจจะใหญ่กว่า มากกว่าอีกซีกหนึ่ง เช่น มีสารสื่อประสาท norepinephrine ในระดับที่สูงกว่าในสมองซีกขวา และมีสารสื่อประสาทโดพามีนในระดับที่สูงกว่าในสมองซีกซ้าย มีเนื้อขาวมากกว่า (คือมีแอกซอนที่ยาวกว่า) ในสมองซีกขวา และมีเนื้อเทา (คือตัวเซลล์ประสาท) มากกว่าในสมองซีกซ้าย[8]

กิจหน้าที่เชิงเส้น (linear) เกี่ยวกับภาษาเช่นไวยากรณ์และการสร้างคำ มักจะจำกัดด้านอยู่ทางซีกซ้ายของสมอง เปรียบเทียบกับกิจหน้าที่เชิงองค์รวม (holistic) เช่นเสียงสูงเสียต่ำและการเน้นเสียง มักจำกัดอยู่ทางซีกขวาของสมอง

กิจหน้าที่ประสาน (integrative) แบบอื่นๆ เป็นต้นว่าการคำนวณเลขคณิต, การชี้ตำแหน่งในปริภูมิของเสียงที่มาถึงหูทั้งสองข้าง, และอารมณ์ความรู้สึก ดูเหมือนจะไม่มีการจำกัดด้าน[9]

กิจของสมองซีกซ้าย กิจของสมองซีกขวา
การคิดเลข (คิดแบบตรงตัว การเปรียบเทียบตัวเลข การประมาณค่า)

สมองซีกซ้ายเท่านั้น: การระลึกถึงข้อเท็จจริงต่างๆ โดยตรง[9][10]

การคิดเลข (คิดแบบคร่าวๆ การเปรียบเทียบตัวเลข การประมาณค่า)[9][10]
ภาษา: ไวยากรณ์/คำศัพท์, ความหมายแบบตรงตัว[11] ภาษา: เสียงสูงเสียงต่ำ/การเน้นเสียง, สัทสัมพันธ์ (prosody), ความหมายตามความเป็นจริง ตามปริบท[11]

หมายเหตุและอ้างอิง

[แก้]
  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ hemisphere ว่า "ซีกสมอง" และของ cerebral ว่า "-สมองใหญ่" หรือ "-สมอง"
  2. eutheria (มาจากคำกรีกโบราณแปลว่า "สัตว์แท้") เป็นการจัดกลุ่มโดย clade ที่ประกอบด้วยไพรเมตและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นทั้งหมดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกว่าอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง
  3. การจำกัดกิจโดยด้าน (lateralization) เป็นการจำกัดกิจการงานในด้านในด้านหนึ่งของร่างกาย ไม่ข้ามไปยังอีกข้างหนึ่ง
  4. Westen D, Burton LJ, Kowalski R (2006). Psychology (Australian and New Zealand ed.). John Wiley & Sons Australia, Ltd. p. 107. ISBN 978-0-470-80552-7.
  5. "Neuromyth 6: The left brain/ right brain myth". Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). สืบค้นเมื่อ 15 October 2011.
  6. ภาวะซีกสมองแยกออก (split-brain) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อ corpus callosum ซึ่งเชื่อมต่อซีกสมองทั้งสองข้างถูกทำลายไปในระดับหนึ่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการหยุดยั้งหรือการแทรกแซงการเชื่อมต่อของซีกสมองทั้งสองข้าง
  7. tachistoscope เป็นอุปกรณ์ที่แสดงรูปภาพเป็นระยะเวลาหนึ่ง สามารถใช้เพื่อเพิ่มความเร็วในการรู้จำ (recognition) เพื่อแสดงภาพที่ปรากฏสั้นเกินไปที่จะรู้จำ หรือว่าเพื่อทดสอบว่าส่วนไหนในภาพเป็นส่วนที่จำได้ง่าย
  8. Carter R (1999). Mapping the mind. Berkeley, CA.: University of California Press. ISBN 978-0-520-22461-2.
  9. 9.0 9.1 9.2 Dehaene S, Spelke E, Pinel P, Stanescu R, Tsivkin S (May 1999). "Sources of mathematical thinking: behavioral and brain-imaging evidence". Science. 284 (5416): 970–974. Bibcode:1999Sci...284..970D. doi:10.1126/science.284.5416.970. PMID 10320379.
  10. 10.0 10.1 Dehaene, Stanislas; Piazza, Manuela; Pinel, Philippe; Cohen, Laurent (2003). "Three parietal circuits for number processing". Cognitive Neuropsychology. 20 (3): 487–506. doi:10.1080/02643290244000239. PMID 20957581.
  11. 11.0 11.1 Taylor, Insup; Taylor, M. Martin (1990). Psycholinguistics: learning and using language. Englewood Cliffs, N.J: Prentice Hall. p. 367. ISBN 0-13-733817-1.