ขิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Ginger)

ขิง
ภาพวาดใน ค.ศ. 1896 จาก
Köhler's Medicinal Plants
ช่อดอก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
เคลด: Commelinids
อันดับ: ขิง
วงศ์: วงศ์ขิง
สกุล: สกุลขิง
Roscoe[1]
สปีชีส์: Zingiber officinale
ชื่อทวินาม
Zingiber officinale
Roscoe[1]

ขิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber Officinale Roscoe เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบรูปหอกเกลี้ยง ๆ กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 12-20 ซม. หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางน้ำปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ตรงช่วงระหว่างกาบกับตัวใบจะหักโค้งเป็นข้อศอก ดอกสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบองโบราณ แทงขึ้นมาจากเหง้า ชูก้านสูงขึ้นมา 15-25 ซม. ทุก ๆ ดอกที่กาบสีเขียวปนแดงรูปโค้ง ๆ ห่อรองรับ กาบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะขยายอ้าให้ เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 3 กลีบ อุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออกเกสรตัวผู้มี 6 อัน ผล กลม แข็ง โต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.

ขิงขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องห่างกัน 30 ซม. ปลูกห่างกัน 20 ซม. ลึก 5-10 ซม. ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังอาจโดนโรคเชื้อรา และการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนสูงแต่คุ้มค่าและจะได้พันธุ์ที่ปลอดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่โรคที่พบมักติดมากับท่อนพันธุ์ขิง

ขิงมีอยู่หลายชื่อ ตามแต่ละถิ่น ได้แก่ ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทบุรี), ขิงเผือก (เชียงใหม่), สะเอ (แม่ฮ่องสอน)[2], ขิงบ้าน, ขิงแครง, ขิงป่า, ขิงเขา, ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง), เกีย (จีนแต้จิ๋ว)

ขิง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ขิงเล็กหรือขิงเผ็ด ลักษณะมีข้อถี่ แง่งขิงไม่ค่อยใหญ่ ต้นขึ้นเบียดกันชิดมาก เนื้อมีเสี้ยนมาก รสชาติค่อนข้างเผ็ด มักใช้เป็นสมุนไพรในการประกอบยารักษาโรค ตุ่มตาที่แง่งจะมีลักษณะแหลม ปลายใบแหลม การแตกขยายของแง่งดี

2. ขิงหยวกหรือขิงใหญ่ เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยน รสเผ็ดน้อย ตุ่มตามีลักษณะกลมมมน ปลายใบมนกว่าขิงเล็ก ขนาดของแง่งใหญ่สีขาวอมเหลืองจางกว่า ต้นสูงกว่าขิงเล็กเป็นพันธุ์ที่ใช้ปลูกกินกันทั่วไป

สรรพคุณ[แก้]

  • เหง้า : รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ [3]
  • ต้น : รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง
  • ใบ : รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ
  • ดอก : รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ
  • ราก : รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่น เจริญอาหาร แก้ลม แก้เสมหะ แก้บิด
  • ผล : รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ
  • แก่น : ฝนทำยาแก้คัน

ขิงยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินเอ และอีกมากมาย ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและมีใยอาหารมาก นำเหง้าสดย่างไฟให้สุก ตำผสมกับน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำเหง้าสดหมกไฟรับประทานเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร [4]

สรรพคุณของเหง้าขิงสด แก้ท้องอืด จุกเสียดท้อง ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาเจริญอาหารบำรุงธาตุลมพรรดึก (ลมที่ทำให้ท้องผูกมากๆ) แก้โรคพยาธิในลำไส้ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ไข้ แก้เบาไม่ปกติ แก้นิ่ว ทำให้ผิวหนังสดชื่น แก้นอนไม่หลับ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้จุกแน่นน้าท้อง ขับเสมหะ แก้โรคในทรวงอก แก้ปากคอเป็นแผล แก้ปากเปื่อย แก้ลมอัมพฤกษ์ (ลมที่ทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตชั่วครู่ชั่วคราว) แก้โรคหัวใจ บำรุงน้ำนม

วิธีการใช้เหง้าขิงสด ใช้วิธีการต้ม ชงน้ำร้อนหรือคั้นเอาน้ำกิน (ใช้ขิงขนาดเท่าหัวแม่มือ) กินวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ยกเว้นสรรพคุณขับเสมหะใช้วิธีจิบน้ำคั้นผสมน้ำผึ้ง จิบบ่อยๆ สรรพคุณแก้ปากคอเป็นแผลปากเปื่อยใช้ขิงอมสดๆ

สรรพคุณของเหง้าแห้ง มีสรรพคุณเหมือนเหง้าขิงสดตั้งแต่แก้ท้องอืดจนถึงแก้ปากเปื่อย สรรพคุณที่ต่างออกไปคือแก้ลมป่วงทุกชนิด แก้ท้องร่วงอย่างรุนแรง แก้บิด แก้อุจาระมีสีเหลืองเนื่องจากน้ำดีตกลำไส้ แก้ไอลึกมาจากยอดอก แก้สะอึก

วิธีการใช้เหง้าแห้ง ใช้วิธีการต้ม ชงน้ำร้อน เช่นเดียวกับเหง้าขิงสดหรือบดเป็นลูกกลอนกินวันละ 2-3 เม็ด วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอนยกเว้นแก้ไอ ขับเสมหะใช้ละลายน้ำผึ้งจิบกิน

สรรพคุณดอกขิง ใช้ต้มกินแก้ตาเปียกตาแฉะ แก้เบาไม่ปกติ แก้นิ่ว แก้โรคอันบังเกิดแก่ใจ แก้จิตมัวหมอง ทำให้จิตใจสดชื่น

สรรพคุณต้นขิง ใช้ต้มขับถ่ายลมในท้องในลำไส้ ทำให้ท้องสบาย แก้ลมวิงเวียน

สรรพคุณใบขิง ใช้ต้มแก้โรคกำเดา

สรรพคุณรากขิง ใช้ต้มกินทำให้ลำคอโล่งโปร่งบำรุงเสียงทำให้เสียงเพราะ แก้ลมแน่นในอก แก้โรคพยาธิ เป็นยาเจริญอาหาร แก้พรรดึก แก้ไข้

ข้อควรรระวังในการใช้

1. คนที่ไตไม่ดีไม่ควรกินขิง

2. คนที่ผิวหนังมักเป็นตุ่มคันหรือแผลพุพอง ไม่ควรกินของมากเกินไป

3. คนที่ร้อนในง่ายไม่ควรกินน้ำขิงมาก เพราะขิงเป็นยาร้อน กินแล้วทำให้เกิดอาการร้อนในขึ้นมาได้ ควรกินพอเหมาะพอดีกับร่างกายของตนเอง

การใช้เป็นอาหาร[แก้]

ขิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ขิงอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช้ทำผัดขิง ใสในยำเช่นยำหอยแครง ใส่ในแกงฮังเล น้ำพริก กุ้งจ่อม ซอยใส่ในต้มส้มปลา เมี่ยงคำ ไก่สามอย่าง ใช้ทำขิงดอง ใส่ในบัวลอยไข่หวานเพื่อดับกลิ่นคาวไข่ [5]ทำเป็นอาหารหวาน เช่น น้ำขิง เต้าฮวย ขิงแช่อิ่ม ขนมปังขิง และยังทำเป็นขิงผงสำเร็จรูป สำหรับชงดื่ม

คุณค่าทางโภชนาการ[แก้]

เมื่อบริโภคขิง 100 กรัม คุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับคือ พลังงาน 25 กิโลแคลอรี โปรตีน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.4 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 18 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม บีตา-แคโรทีน 10 ไมโครกรัม วิตามินซี 1 มิลลิกรัม ไทอามีน 0.02 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1 มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ[แก้]

เหง้าขิง

ในเหง้าขิงมี น้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 1-3 % ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงการเก็บรักษา ในน้ำมันประกอบด้วยสารเคมี ที่สำคัญคือ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene) , ซิงจิเบอรอล (Zingiberol) , ไบซาโบลีน (bisabolene) และแคมฟีน (camphene) มีน้ำมัน (oleo - resin) ในปริมาณสูง เป็นส่วนที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุน และมีรสเผ็ด ส่วนประกอบสำคัญ ในน้ำมันซัน ได้แก่ จิงเจอรอล (gingerol) , โชกาออล (shogaol) , ซิงเจอโรน (zingerine) มีคุณสมบัติเป็นยากัดบูด กันหืน ใช้ใส่ในน้ำมันหรือไขมัน เพื่อป้องกันการบูดหืน สารที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติเป็นยากันบูด กันหืนได้คือ สารจำพวกฟีนอลิก

อ้างอิง[แก้]

  1. "Zingiber officinale". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 10 December 2017.
  2. เต็ม สมิตินันทน์ (2557). ราชันย์ ภู่มา; สมราน สุดดี (บ.ก.). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สำนักงานหอพรรณไม้ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 ed.). กรุงเทพฯ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. p. 355. ISBN 9786163161734.
  3. ขิง ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  4. "สรรพคุณน่ารู้ : หมวดพืชสวนครัว : ขิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-16.
  5. กรณิศ รัตนามหัทธนะ. ขิงอ่อน.ครัว. ปีที่ 20 ฉบับที่ 240 หน้า 12

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]