ร่างกายมนุษย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ร่างกาย)
ร่างกายมนุษย์
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินcorpus humanum
MeSHD018594
TA98A01.0.00.000
TA296
FMA20394
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ร่างกายมนุษย์ เป็นโครงสร้างทั้งหมดของมนุษย์ ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิดที่รวมกันเป็นเนื้อเยื่อซึ่งรวมกันเป็นระบบอวัยวะ สิ่งเหล่านี้คงภาวะธำรงดุลและความอยู่รอดของร่างกายมนุษย์ ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยศีรษะ, คอ, ลำตัว (ซึ่งรวมถึงอกและท้อง), แขนและมือ, ขาและเท้า

การศึกษาร่างกายมนุษย์เชื่อมโยงกับกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา มิญชวิทยา และคัพภวิทยา ร่างกายมีความแตกต่างทางกายวิภาคแบบต่าง ๆ สรีรวิทยามุ่งไปที่ระบบและอวัยวะของมนุษย์และการทำงานของอวัยวะ หลายระบบและกลไกมีปฏิกิริยาต่อกันเพื่อคงภาวะธำรงดุล โดยมีระดับที่ปลอดภัยของสารต่าง ๆ เช่น น้ำตาลและออกซิเจนในเลือด

องค์ประกอบ[แก้]

ธาติต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์โดยมวล จุลธาตุทั้งหมดมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 โดยแต่ละอย่างมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 0.1

ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เช่น ไฮโดรเจน ออกซิเจน คาร์บอน แคลเซียม และฟอสฟอรัส[1] ธาตุเหล่านี้อยู่ในเซลล์นับล้านล้านและส่วนประกอบที่ไม่ใช่เซลล์ในร่างกายมนุษย์

ประมาณร้อยละ 60 ของร่างกายชายโตเต็มวัยเป็นน้ำ คิดเป็นปริมาณประมาณ 42 ลิตร ในจำนวนนี้ 19 ลิตรเป็นน้ำภายนอกเซลล์รวมถึงน้ำเลือดปริมาณ 3.2 ลิตร และสารน้ำแทรกปริมาณ 8.4 ลิตร และส่วนที่เหลือเป็นน้ำภายในเซลล์จำนวน 23 ลิตร[2] ส่วนประกอบและความเป็นกรดของน้ำทั้งในและนอกเซลล์ถูกรักษาไว้อย่างดี อิเล็กโทรไลต์หลักของน้ำภายนอกเซลล์ในร่างกายได้แก่ โซเดียม และคลอไรด์ ส่วนสำหรับน้ำภายในเซลล์ได้แก่โพแทสเซียมและฟอสเฟตอื่น[3]

เซลล์[แก้]

ร่างกายประกอบด้วยเซลล์นับล้านล้านซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต[4] ขณะโตเต็มวัย มนุษย์มีเซลล์ประมาณ 30[5]–37[6] ล้านล้านเซลล์ในร่างกาย ปริมาณจากจำนวนเซลล์ทั้งหมดในอวัยวะต่าง ๆ และเซลล์ประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ร่างกายยังเป็นที่อาศัยของเซลล์ที่ไม่ใช่มนุษย์จำนวนเท่า ๆ กัน[5] รวมถึงสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ซึ่งอาศัยในทางเดินอาหารและบนผิวหนัง[7] ร่างกายไม่ได้ประกอบไปด้วยเซลล์เพียงอย่างเดียว เซลล์ตั้งอยู่ในสารเคลือบเซลล์ที่ประกอบด้วยโปรตีน เช่น คอลลาเจน ล้อมรอบด้วยน้ำภายนอกเซลล์ มนุษย์ที่น้ำหนัก 70 กิโลกรัมมีเซลล์ที่ไม่ใช่เซลล์มนุษย์และวัสดุที่ไม่ใช่เซลล์ เช่น กระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน น้ำหนักเกือบ 25 กิโลกรัม[5]

เซลล์ในร่างกายทำงานได้ด้วยดีเอ็นเอซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ ข้างในนิวเคลียส ส่วนของดีเอ็นเอถูกคัดลอกและส่งไปยังตัวของเซลล์ในรูปแบบของอาร์เอ็นเอ[8] จากนั้นอาร์เอ็นเอถูกใช้เพื่อสร้างโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานสำหรับเซลล์ กิจกรรมของเซลล์ และผลิตภัณฑ์ของเซลล์ โปรตีนเป็นตัวกำหนดหน้าของเซลล์และการแสดงออกของยีน เซลล์สามารถควบคุมตัวเองได้จากปริมาณโปรตีนที่ผลิต[9] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกเซลล์ที่จะมีดีเอ็นเอ เซลล์บางชนิด เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดงสูญเสียนิวเคลียสเมื่อโตเต็มที่

เนื้อเยื่อ[แก้]

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
Human Body 101, National Geographic, 5:10

ร่างกายประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อหลายแบบ โดยเนื้อเยื่อถูกให้ความหมายว่าคือกลุ่มเซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะ[10] การศึกษาเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเรียกว่ามิญชวิทยาและมักศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์ ร่างกายประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อสี่ชนิดหลัก คือ เนื้อเยื่อบุผิว เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เนื้อเยื่อประสาท และเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ

เซลล์ที่ตั้งอยู่บนพื้นผิวที่พบกับโลกภายนอกหรือในทางเดินอาหาร (เนื้อเยื่อบุผิว) หรือเนื้อเยื่อบุโพรง (endothelium) มีหลายรูปแบบและรูปร่าง ตั้งแต่เซลล์แบนชั้นเดียว ไปจนถึงเซลล์ในปอดที่มีซีเลียคล้ายเส้นผม ไปจนถึงเซลล์แท่งทรงกระบอกที่บุกระเพาะอาหาร เซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงเป็นเซลล์ที่บุช่องภายในรวมทั้งเส้นเลือดและต่อมต่าง ๆ เซลล์บุควบคุมว่าสิ่งไหนสามารถผ่านหรือไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ปกป้องโครงสร้างภายใน และทำหน้าที่เป็นพื้นผิวรับความรู้สึก[11]

อวัยวะ[แก้]

อวัยวะเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีโครงสร้างและหน้าที่เฉพาะ[12] ซึ่งตั้งอยู่ภายในร่างกาย ตัวอย่างเช่น หัวใจ ปอด และตับ อวัยวะหลายอย่างอยู่ในช่องว่างภายในร่างกายรวมถึงช่องว่างในลำตัวและโพรงเยื่อหุ้มปอด

ระบบ[แก้]

ระบบไหลเวียน[แก้]

ระบบไหลเวียนประกอบด้วยหัวใจ หลอดเลือด (หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดฝอย) หัวใจทำหน้าที่ขับเคลื่อนการไหลเวียนของเลือด โดยเลือดเป็นดั่ง "ระบบขนส่ง" ในการขนย้ายออกซิเจน เชื้อเพลิง สารอาหาร ของเสีย เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน และตัวนำส่งสารเคมี (เช่น ฮอร์โมน) จากส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังอีกส่วน เลือดประกอบด้วยน้ำที่ขนส่งเซลล์ในระบบไหลเวียน รวมถึงบางเซลล์ที่เดินทางจากเนื้อเยื่อไปกลับหลอดเลือด รวมทั้งไปยังและจากม้ามและไขกระดูก[13][14][15]

ระบบย่อยอาหาร[แก้]

ระบบย่อยอาหารประกอบด้วยปากรวมถึงลิ้นและฟัน, หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, ทางเดินอาหาร, ลำไส้เล็กและใหญ่ รวมถึงไส้ตรง รวมถึงตับ, ตับอ่อน, ถุงน้ำดี และต่อมน้ำลาย ทำหน้าที่เปลี่ยนอาหารเป็นโมเลกุลที่เล็ก มีคุณค่าทางอาหาร และไม่เป็นพิษ เพื่อให้สามารถกระจายและดูดซึมได้ในร่างกาย[16]

ระบบต่อมไร้ท่อ[แก้]

ระบบต่อมไร้ท่อประกอบด้วยต่อมไร้ท่อหลัก รวมถึง ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ตับอ่อน ต่อมพาราไทรอยด์ และต่อมบ่งเพศ ทว่าอวัยวะและเนื้อเยื่อเกือบทั้งหมดผลิตฮอร์โมนต่อมไร้ท่อเฉพาะเช่นกัน ฮอร์โมนต่อมไร้ท่อทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญาณจากระบบร่างกายหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่งเพื่อบอกถึงสถานะต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงาน[17]

ระบบภูมิคุ้มกัน[แก้]

ระบบภูมิคุ้มกันประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวและแดงทำงานปกติ ต่อมไทมัส ต่อมน้ำเหลือง และทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบน้ำเหลือง ระบบภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายสามารถแยกแยะเซลล์และเนื้อเยื่อตนเองออกจากเซลล์และสิ่งภายนอก เพื่อต่อต้านหรือทำลายเซลล์หรือสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกโดยใช้โปรตีนเฉพาะและ เช่น แอนติบอดี ไซโตไคน์, toll-like receptors และอื่น ๆ

ระบบผิวหนัง[แก้]

ระบบผิวหนังประกอบด้วยผิวหนังที่ปกคลุมร่างกาย รวมถึง เส้นผม และเล็บรวมถึงโครงสร้างอื่น ๆ ที่มีหน้าที่สำคัญ เช่น ต่อมเหงื่อและต่อมไขมัน ผิวหนังทำหน้าที่ห่อหุ่ม เป็นโครงสร้าง และป้องกันอวัยวะอื่น และยังเป็นตัวรับรู้ถึงโลกภายนอก[18][19]

ระบบน้ำเหลือง[แก้]

ระบบน้ำเหลืองสกัด ขนส่ง และเปลี่ยนแปลงน้ำเหลือง หรือน้ำที่อยู่ระหว่างเซลล์ ระบบน้ำเหลืองคล้ายกับระบบไหลเวียนทั้งในเชิงโครงสร้างและหน้าที่พื้นฐานซึ่งคือการขนส่งน้ำในร่างกาย[20]

ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก[แก้]

ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกประกอบด้วยโครงกระดูกมนุษย์ (รวมถึงกระดูก เอ็นยึด เอ็นกล้ามเนื้อ และกระดูกอ่อน) และกล้ามเนื้อที่ยึดติด ระบบนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของร่างกายและเป็นตัวให้ความสามารถในการขยับ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างแล้ว กระดูกชิ้นใหญ่ในร่างกายยังบรรจุไขกระดูก ซึ่งเป็นที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือด นอกจากนี้ กระดูกทุกชิ้นยังเป็นที่เก็บสะสมหลักของแคลเซียมและฟอสเฟต ระบบนี้สามารถแบ่งออกเป็นระบบกล้ามเนื้อและระบบกระดูก[21]

ระบบประสาท[แก้]

ระบบประสาทประกอบด้วยระบบประสาทกลาง (สมองและไขสันหลัง) และระบบประสาทนอกส่วนกลางประกอบด้วยเส้นประสาทและปมประสาทนอกสมองและไขสันหลัง สมองเป็นอวัยวะแห่งความคิด อารมณ์ ความทรงจำ และการประมวนทางประสาทสัมผัส และทำหน้าที่ในหลายมุมมองของการสื่อสารและควบคุมระบบและหน้าที่ต่าง ๆ ความรู้สึกพิเศษประกอบด้วย การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้รส และการดมกลิ่น ซึ่ง ตา,หู, ลิ้น, และจมูกรวบรวมข้อมูลจากสิ่งรอบตัว[22]

ระบบสืบพันธุ์[แก้]

ระบบสืบพันธุ์ประกอบด้วยต่อมบ่งเพศและอวัยวะเพศทั้งภายในและภายนอก ระบบสืบพันธุ์ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ในแต่ละเพศ, ให้กลไกสำหรับการรวมกันของเซลล์สืบพันธุ์, และสำหรับเพศหญิงยังให้สิ่งแวดล้อมในการพัฒนาทารกในเก้าเดือนแรก[23]

ระบบหายใจ[แก้]

ระบบหายใจประกอบด้วยจมูก คอหอย หลอดลม และปอด อวัยวะเหล่านี้นำออกซิเจนจากอากาศและขับคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำกลับไปยังอากาศ[24]

ระบบทางเดินปัสสาวะ[แก้]

ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ โดยทำหน้าที่ขับสิ่งเป็นพิษออกจากเลือดเพื่อผลิตปัสสาวะซึ่งขนส่งโมเลกุลของเสียและไอออนส่วนเกินและน้ำออกจากร่างกาย[25]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Chemical Composition of the Human Body". About education. สืบค้นเมื่อ 2 September 2016.
  2. "Fluid Physiology". Anaesthesiamcq. สืบค้นเมื่อ 2 September 2016.
  3. Ganong's 2016, p. 5.
  4. "The Cells in Your Body". Science Netlinks. สืบค้นเมื่อ 2 September 2016.
  5. 5.0 5.1 5.2 Ron Sender; Shai Fuchs; Ron Milo (2016). "Revised estimates for the number of human and bacteria cells in the body". PLOS Biology. 14 (8): e1002533. bioRxiv 036103. doi:10.1371/journal.pbio.1002533. PMC 4991899. PMID 27541692. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่า |biorxiv= (help)
  6. Bianconi, E; Piovesan, A; Facchin, F; Beraudi, A; Casadei, R; Frabetti, F; Vitale, L; Pelleri, MC; Tassani, S; Piva, F; Perez-Amodio, S; Strippoli, P; Canaider, S (5 July 2013). "An estimation of the number of cells in the human body". Annals of Human Biology. 40 (6): 463–71. doi:10.3109/03014460.2013.807878. PMID 23829164.
  7. David N., Fredricks (2001). "Microbial Ecology of Human Skin in Health and Disease". Journal of Investigative Dermatology Symposium Proceedings. 6: 167–169. doi:10.1046/j.0022-202x.2001.00039.x. สืบค้นเมื่อ 7 February 2017.
  8. Ganong's 2016, p. 16.
  9. "Gene Expression | Learn Science at Scitable". www.nature.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-07-29.
  10. "tissue – definition of tissue in English". Oxford Dictionaries | English. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-05. สืบค้นเมื่อ 2016-09-17.
  11. Gray's Anatomy 2008, p. 27.
  12. "organ | Definition, meaning & more | Collins Dictionary". www.collinsdictionary.com. สืบค้นเมื่อ 2016-09-17.
  13. "Cardiovascular System". U.S. National Cancer Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2007. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  14. Human Biology and Health. Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall. 1993. ISBN 0-13-981176-1.
  15. "The Cardiovascular System". SUNY Downstate Medical Center. 8 March 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-11. สืบค้นเมื่อ 2018-04-16.
  16. "Your Digestive System and How It Works". NIH. สืบค้นเมื่อ 4 September 2016.
  17. "Hormonal (endocrine) system". Victoria State Government. สืบค้นเมื่อ 4 September 2016.
  18. Integumentary System ในหอสมุดแพทยศาสตร์แห่งชาติอเมริกัน สำหรับหัวข้อเนื้อหาทางการแพทย์ (MeSH)
  19. Marieb, Elaine; Hoehn, Katja (2007). Human Anatomy & Physiology (7th ed.). Pearson Benjamin Cummings. p. 142.
  20. Zimmerman, Kim Anne. "Lymphatic System: Facts, Functions & Diseases". LiveScience. สืบค้นเมื่อ 4 September 2016.
  21. Moore, Keith L.; Dalley, Arthur F.; Agur Anne M. R. (2010). Moore's Clinically Oriented Anatomy. Phildadelphia: Lippincott Williams & Wilkins. pp. 2–3. ISBN 978-1-60547-652-0.
  22. "Nervous System". Columbia Encyclopedia (6th ed.). Columbia University Press. 2001. ISBN 978-0-787-65015-5.
  23. "Introduction to the Reproductive System". Epidemiology and End Results (SEER) Program. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 January 2007.
  24. Maton, Anthea; Hopkins, Jean Susan; Johnson, Charles William; McLaughlin, Maryanna Quon; Warner, David; LaHart Wright, Jill (2010). Human Biology and Health. Prentice Hall. pp. 108–118. ISBN 0-134-23435-9.
  25. Zimmerman, Kim Ann. "Urinary System: Facts, Functions & Diseases". LiveScience. สืบค้นเมื่อ 4 September 2016.

หนังสือ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]