ข้ามไปเนื้อหา

ฮฺว่า กั๋วเฟิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฮั่ว กั๋วเฟิง)
ฮฺว่า กั๋วเฟิง
华国锋
ฮฺว่าใน ค.ศ. 1979
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
7 ตุลาคม ค.ศ. 1976 – 28 มิถุนายน ค.ศ. 1981
รองเย่ เจี้ยนอิง
ก่อนหน้าเหมา เจ๋อตง
ถัดไปหู เย่าปัง
ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
7 ตุลาคม ค.ศ. 1976 – 28 มิถุนายน ค.ศ. 1981
ก่อนหน้าเหมา เจ๋อตง
ถัดไปเติ้ง เสี่ยวผิง
นายกรัฐมนตรีจีน คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 – 10 กันยายน ค.ศ. 1980
รองหัวหน้ารัฐบาลเติ้ง เสี่ยวผิง
ประมุขแห่งรัฐซ่ง ชิ่งหลิง
เย่ เจี้ยนอิง
ก่อนหน้าโจว เอินไหล
ถัดไปจ้าว จื่อหยาง
รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนลำดับที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
6 เมษายน ค.ศ. 1976 – 6 ตุลาคม ค.ศ. 1976
ประธานเหมา เจ๋อตง
ก่อนหน้าโจว เอินไหล
ถัดไปเย่ เจี้ยนอิง
รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน ค.ศ. 1981 – 12 กันยายน ค.ศ. 1982
ประธานหู เย่าปัง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ซู จู้

16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921(1921-02-16)
อำเภอเจียวเฉิง ชานซี สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิต20 สิงหาคม ค.ศ. 2008(2008-08-20) (87 ปี)
ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1938)
คู่สมรสหัน จือจฺวิ้น (สมรส 1949)
บุตร4
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ
อักษรจีนตัวเต็ม華國鋒
Su Zhu
อักษรจีนตัวย่อ
อักษรจีนตัวเต็ม蘇鑄
การเป็นสมาชิกสถาบันกลาง
  • 1976–1982: สมาชิกกรมการเมืองชุดที่ 10, 11
  • 1969–2002: สมาชิกคณะกรรรมาธิการกลางชุดที่ 9, 10, 11, 12, 13, 14, 15

Other offices held
  • 1981–1982: รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
  • 1977–1980: ประธานโรงเรียนพรรคส่วนกลาง
  • 1976: รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนลำดับที่ 1
  • 1975–1977: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ
  • 1970–1976: เลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคประจำมณฑลหูหนาน
  • 1970–1976: ประธานคณะกรรมาธิการปฏิวัติหูหนาน
ผู้นำสูงสุดของ
สาธารณรัฐประชาชนจีน

ฮฺว่า กั๋วเฟิง (จีน: 华国锋; พินอิน: Huà Guófēng; ชื่อเกิด ซู จู้; 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 – 20 สิงหาม ค.ศ. 2008)[1] เป็นนักการเมืองชาวจีนผู้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของจีน ในฐานะผู้สืบทอดที่ได้รับเลือกจากเหมา เจ๋อตง เขาดำรงตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาล พรรค และกองทัพหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาและนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล แต่ค่อย ๆ ถูกบังคับให้ออกจากอำนาจสูงสุดโดยกลุ่มผู้นำพรรคระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1981 และถอนตัวจากวงการเมืองในเวลาต่อมา แม้จะยังคงเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนจนถึง ค.ศ. 2002

ฮฺว่าเกิดและเติบโตในเจียวเฉิง เขาเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 1938 และเข้าร่วมทั้งสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สองและสงครามกลางเมืองจีนในฐานะนักรบกองโจร[2] ใน ค.ศ. 1948 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคประจำเซียงถานในหูหนาน ซึ่งรวมถึงเฉาชานซึ่งเป็นบ้านเกิดของเหมาด้วย ฮฺว่าซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมได้ก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคของหูหนานในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และได้รับการยกระดับสู่เวทีระดับชาติในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับตำแหน่งที่กระทรวงความมั่นคงสาธารณะใน ค.ศ. 1973 และรองนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. 1975 ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของโจว เอินไหลในเดือนมกราคม ค.ศ. 1976 เหมาเลื่อนตำแหน่งฮฺว่าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนลำดับที่ 1 ซึ่งทำให้เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเหมา

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1976 หนึ่งเดือนหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา ฮฺว่าได้จับกุมและปลดกลุ่มแก๊งสี่คนออกจากอำนาจด้วยความช่วยเหลือของวัง ตงซิ่ง หัวหน้าฝ่ายความั่นคงของเหมา ผู้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนหลักคนหนึ่งของฮฺว่าร่วมกับหลี่ เซียนเนี่ยน รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าฝ่ายวางแผนเศรษฐกิจ และหลัว ชิงฉาง หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง ฮฺว่ายังสืบทอดตำแหน่งจากเหมาในฐานะประธานพรรคและประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง กลายเป็นบุคคลแรกที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดพร้อมกัน[2]

ฮฺว่าย้อนกลับบางนโยบายในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม เช่น การรณรงค์ทางอุดมการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่โดยทั่วไปแล้วเขาอุทิศตนให้กับระบบเศรษฐกิจแบบสั่งการและการสานต่อแนวทางลัทธิเหมา ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 1981 กลุ่มผู้อาวุโสพรรคที่นำโดยเติ้ง เสี่ยวผิงบังคับให้ฮฺว่าออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุด แต่ยังคงอนุญาตให้เขารักษาบางตำแหน่งไว้ได้ ฮฺว่า ค่อย ๆ หายไปจากวงการเมือง แต่ยังคงยืนรานในความถูกต้องของหลักการลัทธิเหมา[2]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]
ฮฺว่า กั๋วเฟิง ใน ค.ศ. 1935

ฮฺว่าเกิดในเจียวเฉิง มณฑลชานซี เป็นลูกชายคนที่สี่ของครอบครัวที่มีต้นกำเนิดจากอำเภอฟ่าน มณฑลเหอหนาน ฮฺว่าสูญเสียพ่อของเขาเมื่ออายุ 7 ปี[2] เขาศึกษาที่โรงเรียนพาณิชย์อำเภอเจียวเฉิงและเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 1938 ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง[3] เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์หลายคนในสมัยนั้นที่ใช้ชื่อปฏิวัติ เขาเปลี่ยนชื่อเป็นฮฺว่า กั๋วเฟิง ซึ่งเป็นคำย่อของ"中華抗日救國先鋒隊" (Zhōnghuá kàngrì jiùguó xiānfēng duì; "กองหน้ากอบกู้ชาติจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น") หลังรับราชการเป็นทหารในกองทัพลู่ที่แปดเป็นเวลา 12 ปีภายใต้การบัญชาการของจอมพลจู เต๋อ[3] เขาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของคณะกรรมาธิการพรรคประจำอำเภอเจียวเฉิงใน ค.ศ. 1947 ในช่วงสงครามกลางเมืองจีน

ฮฺว่าย้ายไปมณฑลหูหนานพร้อมกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ได้รับชัยชนะใน ค.ศ. 1948 ที่นั่นเขาแต่งงานกับนางหัน จือจฺวิ้น และจะยังคงอยู่ในมณฑลนั้นจนถึง ค.ศ. 1971 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคประจำอำเภอเซียงอินในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1949 ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ใน ค.ศ. 1952 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการเขตพิเศษเซียงถาน ซึ่งรวมเฉาชาน ถึงบ้านเกิดของเหมา ในตำแหน่งนี้ เขาสร้างหออนุสรณ์ที่อุทิศให้แก่เหมา เมื่อเหมาไปเยือนสถานที่นั้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1959 เขาประทับใจอย่างมาก[4] เหมา เจ๋อตงพบกับฮฺว่าครั้งแรกใน ค.ศ. 1955 และประทับใจในความเรียบง่ายของเขา[5]

ฮฺว่า กั๋วเฟิง ใน ค.ศ. 1941

เนื่องจากผู้ว่าการมณฑลหูหนาน นายพลเฉิง เฉียน ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ (เขาเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการปฏิวัติก๊กมินตั๋ง กลุ่มชาตินิยมฝ่ายซ้ายของก๊กมินตั๋งที่ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ฮฺว่าจึงค่อย ๆ มีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในมณฑล โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการใน ค.ศ. 1958[2]

ฮฺว่าเข้าร่วมการประชุมหลูชานใน ค.ศ. 1959 (การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ขยายใหญ่ขึ้น) ในฐานะสมาชิกคณะผู้แทนพรรคประจำมณฑลหูหนาน และเขียนรายงานการตรวจสอบสองฉบับที่ปกป้องนโยบายทั้งหมดของเหมาอย่างเต็มที่ อิทธิพลของฮฺว่าเพิ่มขึ้นในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม เนื่องจากเขาให้การสนับสนุนและนำการเคลื่อนไหวในหูหนาน เขาจัดเตรียมการสำหรับการก่อตั้งคณะกรรมาธิการปฏิวัติท้องถิ่นใน ค.ศ. 1967 ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งรองประธาน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1970 เขาได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการปฏิวัติและเลขาธิการคนแรกของคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลหูหนาน

เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 9 ใน ค.ศ. 1969[2]

สู่ศูนย์กลางอำนาจ

[แก้]
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1970 ฮฺว่า กั๋วเฟิงเข้าร่วมงานเกษตรกรรมของตำบลตงถุนตู้ ในเขตชานเมืองฉางชา

ฮฺว่าถูกเรียกตัวไปปักกิ่งเพื่อกำกับดูแลสำนักงานเจ้าหน้าที่มนตรีรัฐกิจของโจว เอินไหลใน ค.ศ. 1971 แต่เขาอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก่อนจะกลับไปยังตำแหน่งเดิมในหูหนาน[4] ต่อมาในปีนั้น เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกอาวุโสน้อยที่สุดในคณะกรรมาธิการเจ็ดคนซึ่งทำการสอบสวนเหตุการณ์หลิน เปียว เป็นสัญญาณแสดงถึงความไว้วางใจอย่างมากที่เหมามีต่อเขา ใน ค.ศ. 1973 ฮฺว่าได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 10 และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นสมาชิกกรมการเมือง ในปีเดียวกันนั้น เขาได้รับมอบหมายจากโจว เอินไหลให้ดูแลการพัฒนาด้านการเกษตร

ใน ค.ศ. 1973 เหมาแต่งตั้งฮฺว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะและรองนายกรัฐมนตรี ทำให้เขามีอำนาจควบคุมตำรวจและกำลังรักษาความมั่นคง อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของฮฺว่าได้รับการยืนยันจากการที่เขาได้รับเลือกให้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัยในเดือนตุลาคมของปีนั้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของโจว เอินไหล[6]

โจว เอินไหลเสียชีวิตในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1976 ในช่วงเวลาที่พันธมิตรปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิงยังไม่แข็งแกร่งพอจะต่อกรกับทั้งเหมาที่กำลังป่วยหนักและพันธมิตรการปฏิวัติวัฒนธรรมของเขาหรือแก๊งสี่คน (เจียง ชิง, จาง ชุนเฉียว, หวัง หงเหวิน และเหยา เหวินยฺเหวียน) หนึ่งสัปดาห์หลังอ่านคำสรรเสริญของอดีตนายกรัฐมนตรี เติ้งก็ออกจากปักกิ่งพร้อมกับพันธมิตรใกล้ชิดหลายคนไปยังกว่างโจว ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยกว่า[7]

แม้จะมีรายงานว่าเหมาต้องการแต่งตั้งจาง ชุนเฉียวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของโจว เอินไหล แต่สุดท้ายเขากลับแต่งตั้งฮฺว่าเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสภาประชาชนแห่งชาติ[8] ในขณะเดียวกัน สื่อที่ควบคุมโดยแก๊งสี่คนเริ่มกล่าวหาโจมตีเติ้งอีกครั้ง (เขาถูกกวาดล้างในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และเพิ่งคืนสู่อำนาจใน ค.ศ. 1973) อย่างไรก็ตาม ความรักใคร่ที่ประชาชนมีต่อโจวถูกประเมินต่ำไป นำไปสู่กรณีเทียนอันเหมิน การเผชิญหน้าระหว่างพันธมิตรของกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นกำลังติดอาวุธกับประชาชนปักกิ่งที่ต้องการให้เกียรติโจวในช่วงเทศกาลเช็งเม้งตามธรรมเนียม ขณะเดียวกัน ฮฺว่าก็กล่าวสุนทรพจน์ใน "แนวทางการวิจารณ์เติ้ง เสี่ยวผิงอย่างเป็นทางการ" ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเหมาและคณะกรรมาธิการกลางพรรค

ในช่วงกรณีเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1976 ผู้คนนับพันประท้วงการที่กำลังติดอาวุธนำพวงหรีดที่ระลึกถึงโจวออกไปจากหน้าอนุสาวรีย์วีรชน พาหนะถูกเผา สำนักงานถูกรื้อค้น และมีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก[9] ภายหลังเหตุการณ์ เติ้งถูกกล่าวโทษว่ายุยงให้เกิดการประท้วงและถูกปลดจากตำแหน่งทั้งหมดในพรรคและรัฐบาล แม้สมาชิกภาพในพรรคของเขาจะยังคงได้รับการรักษาไว้ตามคำสั่งของเหมา หลังจากนั้นไม่นาน ฮฺว่าก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานคนแรกของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนายกรัฐมนตรี

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวถังชาน ค.ศ. 1976 ในเดือนกรกฎาคม ฮฺว่าเดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและช่วยกำกับดูแลความพยายามบรรเทาทุกข์ ขณะที่แก๊งสี่คนไม่ได้ไปปรากฏตัว

กำจัดแก๊งสี่คน

[แก้]

เหมาเสียชีวิตในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 และฮฺว่าในฐานะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีตำแหน่งสูงสุดเป็นอันดับสองและนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้นำการไว้อาลัยทั่วประเทศในปักกิ่งในช่วงวันต่อมา และเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์หลักในพิธีรำลึกระดับชาติที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในเวลานั้น คณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ประกอบด้วยฮฺว่า, จอมพลเย่ เจี้ยนอิง, จาง ชุนเฉียว และหวัง หงเหวิน โดยเย่อยู่ในช่วงกึ่งเกษียณ ส่วนจางกับหวังเป็นสมาชิกของของแก๊งสี่คน[10]

ฮฺว่ารู้ว่าในภาวะสุญญากาศทางอำนาจหลังเหมา ตำแหน่งของเขาเมื่อเทียบกับแก๊งสี่คนจะเป็นเกมผลรวมเป็นศูนย์ กล่าวคือ ถ้าไม่กำจัดแก๊งสี่คนด้วยกำลัง พวกเขาอาจชิงลงมือกำจัดเขาเสียก่อน[10] ฮฺว่าติดต่อกับเย่หลังจากเหมาเสียชีวิตไม่กี่วันเพื่อหารือแผนการเกี่ยวกับแก๊งสี่คน เย่เริ่มหมดศรัทธาในแก๊งสี่คนก่อนเหมาจะเสียชีวิต ดังนั้นเขากับฮฺว่าจึงตกลงกันอย่างรวดเร็วที่จะดำเนินการต่อต้านแก๊ง[10]

ฮฺว่าได้รับความช่วยเหลือสำคัญจากวัง ตงซิ่ง หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยผู้ภักดีของเหมา ผู้ซึ่งควบคุมกรมทหารพิเศษ 8341 ชั้นยอด รวมถึงบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในกรมการเมือง เช่น หลี่ เซียนเนี่ยน รองนายกรัฐมนตรี และเฉิน ซีเหลียน ผู้บัญชาการภูมิภาคทหารปักกิ่ง ตลอดจนหลัว ชิงฉาง หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง[10][2] กลุ่มดังกล่าวหารือกันถึงวิธีกำจัดแก๊ง รวมไปถึงการจัดประชุมกรมการเมืองหรือคณะกรรมาธิการกลางเพื่อขับไล่พวกเขาออกไปตามกระบวนการของพรรค แต่แนวคิดนี้ถูกปัดตกไป เนื่องจากในเวลานั้นคณะกรรมาธิการกลางประกอบไปด้วยผู้สนับสนุนแก๊งจำนวนมาก ท้ายที่สุด กลุ่มก็ตัดสินใจใช้กำลัง

สมาชิกของแก๊งถูกจับกุมในวันที่ 6 ตุลาคม หลังเที่ยงคืนไม่นาน[11] ฮฺว่าได้เรียกจาง ชุนเฉียว, หวัง หงเหวิน และเหยา เหวินยฺเหวียน มาประชุมที่จงหนานไห่ โดยอ้างว่าเพื่อหารือเกี่ยวกับหนังสือ "สรรนิพนธ์ของเหมา" เล่มที่ห้า พวกเขาถูกจับกุมขณะเดินเข้าไปในการประชุมที่โถงหวยเหริน ตามคำบอกเล่าของฮฺว่าเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ เขาและจอมพลเย่ เจี้ยนอิงเป็นผู้นำเพียงสองคนที่อยู่ใน "การประชุม" โดยรอการมาถึงของสมาชิกแก๊งสี่คน ทันทีที่ทั้งสามคนถูกจับกุม ฮฺว่าได้แจ้งเหตุผลการควบคุมตัวให้พวกเขาทราบด้วยตนเอง ฮฺว่ากล่าวว่าพวกเขาได้กระทำการ "ต่อต้านพรรคและต่อต้านสังคมนิยม" และ "สมคบคิดเพื่อช่วงชิงอำนาจ เจียงชิงและเหมา ยฺเหวี่ยนซินถูกจับกุมที่บ้านพักของพวกเขา[12]

กำลังเฉพาะกิจที่นำโดยเกิ่ง เปียวเข้ายึดสำนักงานใหญ่ของหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อหลักของพรรค ซึ่งในขณะนั้นถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขตอิทธิพลของแก๊งสี่คน อีกกลุ่มถูกส่งไปเพื่อรักษาเสถียรภาพเซี่ยงไฮ้ ฐานอำนาจหลักในภูมิภาคของแก๊ง ในการประชุมฉุกเฉินของกรมการเมืองในวันรุ่งขึ้น ฮฺว่าได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง องค์กรปกครองกองทัพปลดปล่อยประชาชน[13] หลังกำจัดแก๊งสี่คนแล้ว คำกล่าวของเหมาที่ว่า "เมื่อคุณดูแล ฉันก็สบายใจ" ถูกตีพิมพ์เพื่อยืนยันความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจสูงสุดของฮฺว่า โดยใช้เป็นหลักฐานแสดงถึง "ความไว้วางใจอย่างไร้ขีดจำกัด" ที่เหมามีต่อฮฺว่า[14] การแต่งตั้งฮฺว่าได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจากกองทัพปลดปล่อยประชาชน[15]

ประธานพรรคและนายกรัฐมนตรี

[แก้]
ใน ค.ศ. 1978 ในห้องเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งของเซี่ยงไฮ้มีการแขวนภาพเหมือนของประธานฮฺว่า กั๋วเฟิง และอดีตประธานเหมา เจ๋อตง

ในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจค่อนข้างสั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1976 ถึงธันวาคม ค.ศ. 1978 ฮฺว่าได้ขับไล่แก๊งสี่คนออกจากอำนาจทางการเมืองอย่างรวดเร็วและด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นผู้นำที่การปรากฏตัวของเขาเป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากที่แก๊งสี่คนถูกจำคุกและมีการจัดตั้งคณะปกครองสามคนชุดใหม่ (ฮฺว่า กั๋วเฟิง, จอมพลเย่ เจี้ยนอิง และหลี่ เซียนเนี่ยน นักวางแผนเศรษฐกิจหลัก) การฟื้นฟูอำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิงก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการกำจัดอิทธิพลของแก๊งสี่คนออกจากระบบการเมืองทั้งหมด นำไปสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างฮฺว่ากับเติ้ง[16] การต่อสู้ครั้งนี้ได้รับการตัดสินอย่างเด็ดขาดโดยชัยชนะของเติ้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งโดยทั่วไปถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นสมัยการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน

การเมืองภายในประเทศ

[แก้]

ในช่วงที่เขาได้รับการแต่งตั้ง ฮฺว่ายังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวจีน[15]

ในช่วงปลาย ค.ศ. 1976 ฮฺว่าเริ่มต้นการรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แก๊งสี่คน ควบคู่ไปกับกระบวนการ "กลับคำตัดสิน" ให้กับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์แก๊งดังกล่าว ผู้คนที่ถูกลงโทษหลังกรณีเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1976 ได้รับการปล่อยตัว[17] และเหตุการณ์นั้นได้รับการประเมินใหม่ระหว่างการประชุมคณะทำงานส่วนกลางที่จัดขึ้นใน ค.ศ. 1977 ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1976 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 แกนนำกว่า 4,600 คนที่ถูกทำให้เสื่อมเสียเกียรติในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมได้รับการกู้ชื่อเสียง[13]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 11 เติ้ง เสี่ยวผิงได้รับการกู้ชื่อเสียงโดยได้รับอนุมัติจากฮฺว่า การประชุมเต็มคณะนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการกลาง โดยมีสมาชิกที่ได้รับเลือกใหม่ 68 คน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 20 คนเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการกู้ชื่อเสียง[13] แม้เหมาจะปรารถนาให้เผาศพของเขา แต่ร่างของเขาก็ถูกนำไปบรรจุในหอรำลึก ขณะที่ฮฺว่ารับผิดชอบการแก้ไขสรรนิพนธ์ของเหมา เจ๋อตงเล่มที่ห้า ซึ่งภายหลังถูกนำไปใช้ในความพยายามด้านการโฆษณาชวนเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ[18]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1977 คณะผู้นำส่วนกลางภายใต้การนำของฮฺว่าเผยแพร่คำขวัญใหม่ว่า "เราจะยึดมั่นการตัดสินใจใดก็ตามของท่านประธานเหมา และปฏิบัติตามคำสั่งใดก็ตามที่ท่านประธานเหมาให้ไว้อย่างแน่วแน่" คำขวัญที่ถูกเรียกเชิงเสียดสีว่า "สองสิ่งใดก็ตาม" นี้ถูกใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ฮฺว่าเนื่องจากถูกมองว่าเขาเชื่อฟังคำสั่งของเหมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาเกินไป[18] ผู้นำอนุมัติการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยระดับชาติครั้งแรกนับตั้งแต่การปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มต้นใน ค.ศ. 1977[18]

ฮฺว่ายังพยายามปรับเปลี่ยนระเบียบการของรัฐเพื่อเป็นวิธีการยกระดับเกียรติภูมิของตนเอง ใน ค.ศ. 1978 ที่ประชุมพรรคทุกแห่งจะต้องแขวนภาพเหมือนของเหมาและฮฺว่าไว้คู่กัน รวมถึงในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย โรงเรียนทุกแห่งถูกสั่งให้แขวนภาพของฮฺว่าไว้ข้างภาพของเหมา ฮฺว่ายังเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงชาติจีนโดยใส่เนื้อหาเกี่ยวกับเหมา เจ๋อตง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าไป เปลี่ยนโทนเพลงจากที่เคยปลุกใจให้ฮึกเหิมในการทำสงครามไปเป็นการเน้นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ล้วน แต่เนื้อเพลงเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกในภายหลัง ฮฺว่ายังคงใช้ศัพท์ของการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่เขาวิพากษ์วิจารณ์บางแง่มุมของมัน รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา กิจกรรมของคณะกรรมาธิการปฏิวัติ และความเกินเลยอื่น ๆ โดยโยนความผิดให้กับแก๊งสี่คน สื่อของรัฐเรียกเขาว่า "ผู้นำผู้ชาญฉลาด"

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1978 การประชุมครั้งแรกของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 5 อนุมัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐ ซึ่งฮฺว่ามีส่วนร่วมอย่างมากในการร่าง เอกสารนี้พยายามฟื้นฟูหลักนิติธรรมและกลไกการวางแผนบางส่วนจากรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมของสาธารณรัฐประชาชนจีนปี ค.ศ. 1956 แม้จะยังคงมีการอ้างถึงการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องและลัทธิสากลนิยมของชนกรรมาชีพ แต่ก็ถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับอื่นในอีกเพียงสี่ปีต่อมา[17]

เศรษฐกิจ

[แก้]

ในช่วงดำรงตำแหน่งของเขา ฮฺว่าเป็นกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของจีน โดยกล่าวว่าเขากลัวว่ามันกำลังใกล้ถึงจุดล่มสลาย ฮฺว่าได้ทำงานร่วมกับหลี่ เซียนเนี่ยนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนแผนเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มงบประมาณวิสาหกิจและการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติจำนวนมาก เขานำเสนอแผนเศรษฐกิจระยะเวลาสิบปีที่ทะเยอทะยานซึ่งมุ่งสร้างเศรษฐกิจแบบโซเวียตโดยการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและพลังงาน การใช้เครื่องจักรในการเกษตร และการใช้เทคโนโลยีนำเข้าเพื่อสร้างโรงงานผลิตใหม่[19] ตั้งแต่ ค.ศ. 1977 เป็นต้นมา ฮฺว่ายังพูดถึง "สี่ทันสมัย" ด้วย[20] แม้แนวคิดการนำเข้าเทคโนโลยีจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แนวทางของฮฺว่าแตกต่างออกไปตรงที่ขนาด โดยมีการวางแผนนำเข้ามูลค่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในฤดูร้อน ค.ศ. 1978[19]

ข้อเสนอของเขาในการจัดซื้ออุปกรณ์ บริการ และโครงสร้างพื้นฐานจากต่างประเทศผ่านการกู้ยืมจำนวนมหาศาล ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ประมาท ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง และต่อมาถูกเยาะเย้ยว่าเป็น "การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าที่นำโดยตะวันตก"[21] แม้ข้อเสนอทางอุตสาหกรรมของเขาจะพิสูจน์แล้วว่าไม่สมจริง แต่ความพยายามของฮฺว่าก็ได้ลบล้างตราบาปทางการเมืองออกจากแนวคิดเรื่องการนำเข้าเทคโนโลยี[22] แผนนำเข้าเทคโนโลยีถูกยกเลิกอย่างรวดเร็วและหันไปใช้แผนห้าปีที่ถูกกว่าและทำได้จริงมากกว่าซึ่งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเบาและสินค้าอุปโภคบริโภค แผนเศรษฐกิจและการเมืองของฮฺว่าเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูการวางแผนอุตสาหกรรมแบบโซเวียต[23] และการควบคุมของพรรคที่คล้ายกับที่จีนเคยใช้ก่อนการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้ถูกปฏิเสธโดยผู้สนับสนุนเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งโต้แย้งถึงระบบเศรษฐกิจที่เน้นภาคเอกชนมากกว่า

นโยบายต่างประเทศ

[แก้]

ใน ค.ศ. 1978 ฮฺว่าเดินทางเยือนยูโกสลาเวียและโรมาเนียเพื่อศึกษาประสบการณ์ทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและเทคนิคการผลิตขั้นสูงของพวกเขา[24]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1979 ฮฺว่าเดินทางเยือนยุโรป เป็นการเดินทางเยือนลักษณะนี้ครั้งแรกของผู้นำจีนหลัง ค.ศ. 1949 เขาเดินทางไปยังเยอรมนีตะวันตกและฝรั่งเศส วันที่ 28 ตุลาคม ฮฺว่าเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและได้พบกับนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันอย่างเป็นมิตรและหารือเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง ซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ ฮฺว่าเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เทคนิคทางรถไฟของการรถไฟอังกฤษในเดอร์บี เพื่อสังเกตการณ์การพัฒนาของรถไฟโดยสารความเร็วสูง[25] การเยือนของเขาเกิดขึ้นพร้อมกับการบริจาครถจักรไอน้ำรัฐบาลจีนชั้น KF หมายเลข 7 แบบ 4-8-4 ให้กับพิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติในยอร์ก[26] ฮฺว่ายังเดินทางไปยังฟาร์มแห่งหนึ่งในออกซฟอร์ดเชอร์และเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้วย[27]

ฮฺว่า กั๋วเฟิง และพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ระหว่างการเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ ค.ศ. 1978[28]

ฮฺว่าเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติกลุ่มสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี แห่งอิหร่าน ก่อนที่พระองค์จะถูกโค่นล้มใน ค.ศ. 1979[29]

การชิงอำนาจและการขับไล่

[แก้]

แม้เติ้งจะสนับสนุนนโยบายของฮฺว่ามาโดยตลอด แต่ต่อมาเขาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ฮฺว่าอย่างแนบเนียน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจของตนเอง เขาได้รับการสนับสนุนจากหู เย่าปัง หัวหน้ากรมองค์การพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ ค.ศ. 1977 ผู้ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ฮฺว่าว่าเคร่งหลักการมากเกินไปและเปรียบเทียบเขากับเติ้ง[30] สิ่งนี้ในที่สุดก็นำไปสู่บทบรรณาธิการสำคัญที่มีชื่อว่า "การปฏิบัติเป็นเกณฑ์เดียวในการทดสอบความจริง" ซึ่งร่างโดยนักปรัชญาหู ฝูหมิงและตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งโต้แย้งว่าความผิดพลาดครั้งสำคัญเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเนื่องจากมีการให้ความสำคัญกับการ "ทดสอบความจริง" ผ่าน "การปฏิบัติ" ไม่เพียงพอ แม้บทความนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยสมาชิกพรรคบางคน แต่ในไม่ช้าเติ้งก็ให้การรับรอง[30]

ในการประชุมการทำงานส่วนกลางที่จัดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน ฮฺว่าพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากการเน้นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี[30] แม้จะประสบความสำเร็จ แต่เขาถูกสมาชิกอาวุโสพรรคตำหนิที่ไม่ให้ความสำคัญกับการสะสางผลกระทบของการปฏิวัติวัฒนธรรมและกรณีเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1976 มากพอ[31] ฮฺว่าได้รับการสนับสนุนจากเย่ เจี้ยนอิงและผู้อาวุโสพรรค เช่น เฉิน ยฺหวิน ให้ยอมรับข้อเรียกร้อง และได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมในวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยเขากล่าวว่ากรณีเทียนอันเหมินเป็น "การเคลื่อนไหวของมวลชนปฏิวัติโดยสมบูรณ์ และจำเป็นต้องประเมินใหม่โดยเปิดเผยและละเอียดถี่ถ้วน" การกระทำนี้ช่วยเสริมสร้างอำนาจของเติ้งอย่างมาก นำไปสู่การกู้ชื่อเสียงหลังเสียชีวิตรวมถึงการคืนตำแหน่งให้แก่ผู้นำคนอื่น ๆ เช่น ปั๋ว อีปัว และหยาง ช่างคุน สมาชิกพรรคอาวุโสจำนวนมากพูดถึงความทุกข์ทรมานของพวกเขาในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และวิพากษ์วิจารณ์ฮฺว่าที่ไม่ยอมตัดขาดจากลัทธิเหมา ฮฺว่าวิจารณ์ตนเองในวันที่ 13 กันยายนสำหรับการเข้าข้างจุดยืนของเหมาอย่างใกล้ชิดเกินไป[31]

ฮฺว่าเสียอำนาจอย่างมีนัยสำคัญในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 11 ซึ่งหลังจากนั้น เติ้ง เสี่ยวผิงก็กลายเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของจีนโดยแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาได้รับการยอมรับจากพรรค[32] เขายังคงมีอำนาจอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขัดขวางการเพิ่มข้อความที่วิจารณ์ตัวเขาใน "มติประวัติศาสตร์" ที่ร่างโดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อประเมินการปฏิวัติวัฒนธรรม[33] เขาถูกแทนที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยจ้าว จื่อหยางในเดือนกันยายน ค.ศ. 1980 ขณะที่กรมการเมืองออกคำวิจารณ์อย่างเป็นทางการต่อฮฺว่าในเดือนธันวาคม โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นบุคคลที่ต่อต้านการปฏิรูปและเพียงต้องการจะเลียนแบบเหมา สิ่งนี้ได้รับการตอกย้ำโดยมติประวัติศาสตร์ที่รับรองในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการกลางชุดที่ 11 ในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1981 ซึ่งระบุว่าฮฺว่าทำน้อยเกินไปในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ หลังการเสียชีวิตของเหมา[33] นอกจากนี้ยังระบุว่าเขาทำสิ่งที่ดีโดยการกำจัดแก๊งสี่คน แต่หลังจากนั้น เขาได้กระทำ "ความผิดพลาดร้ายแรง"

ขณะที่เติ้งค่อย ๆ ควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้น ฮฺว่าก็ถูกประณามสำหรับการส่งเสริมนโยบายสองสิ่งใดก็ตาม ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1979 สื่อของรัฐได้หยุดเรียกเขาว่า "ผู้นำผู้ชาญฉลาด" และในเดือนกันยายน ค.ศ. 1980 เขาถูกแทนที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยจ้าว จื่อหยาง[33] ถูกแทนที่ในตำแหน่งประธานพรรคโดยหู เย่าปัง และใน ค.ศ. 1981 ถูกแทนที่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางโดยเติ้งเอง ฮฺว่าถูกลดตำแหน่งเป็นรองประธานพรรคคนรอง และเมื่อตำแหน่งนี้ถูกยกเลิกใน ค.ศ. 1982 เขายังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสามัญของคณะกรรมาธิการกลาง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่จนถึงการประชุมสภาแห่งชาติพรรคครั้งที่ 16 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 แม้จะอายุเกินเกณฑ์เกษียณอายุอย่างไม่เป็นทางการที่ 70 ปีใน ค.ศ. 1991 ก็ตาม

สุสานของฮฺว่า กั๋วเฟิง ณ อำภอเจียวเฉิง

เกษียณและเสียชีวิต

[แก้]

หลังการประชุมสภาแห่งชาติพรรคครั้งที่ 16 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ฮฺว่าเสียที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นทางการ มีรายงานว่าเขาเกษียณด้วยความสมัครใจด้วยเหตุผลด้านอายุและสุขภาพ แต่พรรคไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ[34] อย่างไรก็ตาม เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสภาแห่งชาติพรรคครั้งที่ 17 ใน ค.ศ. 2007 ในฐานะผู้แทนพิเศษ และเขาปรากฏตัวในพิธีซึ่งจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 เพื่อรำลึกถึงวันเกิดครบรอบ 115 ปีของเหมา เจ๋อตง[35] แม้เขาจะยังคงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในพรรค แต่ฮฺว่าก็วางตัวออกห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง งานอดิเรกหลักของเขาคือการปลูกองุ่น และเขาติดตามข่าวสารปัจจุบันโดยการอ่านหนังสือพิมพ์จำนวนมาก[36]

สุขภาพของฮฺว่าเสื่อมโทรมลงใน ค.ศ. 2008 และเขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับไตและหัวใจ[36] ฮฺว่าเสียชีวิตในปักกิ่งเมื่อ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2008[37] ไม่ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิต และเนื่องจากการเสียชีวิตเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 สื่อของรัฐจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก มีเพียงการรายงานออกอากาศ 30 วินาทีในรายการข่าวแห่งชาติซินเหวินเหลียนปัว[ต้องการอ้างอิง] และย่อหน้าสั้นๆ ที่มุมหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า[38] พิธีศพของเขา ซึ่งจัดขึ้นที่สุสานปฏิวัติปาเป่าชานในวันที่ 30 สิงหาคม มีสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองทุกคนเข้าร่วม รวมถึงอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และอดีตนายกรัฐมนตรีจู หรงจี[39]

มรดก

[แก้]

มรดกของฮฺว่ามักถูกลดทอนเหลือเพียงสองสิ่งใดก็ตาม: "เราจะยึดมั่นการตัดสินใจใดก็ตามของท่านประธานเหมา และปฏิบัติตามคำสั่งใดก็ตามที่ท่านประธานเหมาให้ไว้อย่างแน่วแน่"[23]

อิซาเบลลา เวเบอร์ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ กล่าวว่า การที่ฮฺว่ายึดถือนโยบายสองสิ่งใดก็ตามเป็นแง่มุมของมรดกของฮฺว่าที่ถูกเน้นย้ำมากเกินไป[23] เวเบอร์แย้งว่า "การแสดงความเคารพต่อเหมาในปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของฮฺว่าเท่านั้น" และคำขวัญ "สองสิ่งทใดก็ตาม" ก็ได้รับการสนับสนุนจากเฉิน ยฺหวินเช่นกัน ผู้ซึ่งก้าวขึ้นมาแทนที่ฮฺว่าพร้อมกับเติ้ง เสี่ยวผิง[23]

การที่ฮฺว่าละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมสอดคล้องกับวาระการปฏิรูป ค.ศ. 1975 ของเติ้ง[23] ฮฺว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันดับแรกและเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ "ปลดปล่อยพลังการผลิต"[23] เขา "ผสมผสานการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แบบโซเวียตเข้ากับการเปิดประเทศสู่โลกทุนนิยม" และภายใต้การนำของเขา จีนได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกและเริ่มความพยายามครั้งใหญ่ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ[23] ฮฺว่าสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยผสมผสานการวางแผนจากส่วนกลางเข้ากับการเปิดโอกาสให้ตลาดมีอิสระบ้าง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาเคยดูถูกว่าเป็นเศรษฐกิจนิยม[40] ฮฺว่ายังสนับสนุนการอภิปรายอย่างเสรีภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมลัทธิเหมาในรูปแบบที่เน้นการปฏิรูปมากขึ้น การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของเขามีส่วนช่วยในการลดอิทธิพลของลัทธิเหมาในทางปฏิบัติในช่วงแรกในประเทศจีน ดังนั้นจึงเป็นการปูทางสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนที่นำโดยเติ้ง[41]

ฮฺว่ายกเลิกการควบคุมที่แก๊งสี่คนได้วางไว้เหนือนโยบายวัฒนธรรมและการศึกษา การผ่อนปรนการควบคุมเนื้อหาทางวัฒนธรรมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากศิลปะปฏิวัติไปสู่ผลงานที่เน้นตลาดและปัจเจกนิยมมากขึ้น เช่น Scar literature[40] ฮฺว่าได้รับความภักดีคืนมาจากแกนนำพรรคและปัญญาชน ผู้ซึ่งโดยทั่วไปถูกกีดกันในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม สิ่งนี้เสริมสร้างกลไกของพรรคและมีส่วนช่วยให้เกิดเสถียรภาพของชาติ[40]

การปลดฮฺว่ามีความสำคัญอย่างน้อยสองประการ ประการแรก มันแสดงให้เห็นความไม่สำคัญของตำแหน่งทางการในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 แม้ฮว่าจะเป็นผู้นำอย่างเป็นทางการของพรรค รัฐ และกองทัพ แต่เขาก็ไม่สามารถเอาชนะความท้าทายด้านความเป็นผู้นำจากเติ้ง เสี่ยวผิง ประการที่สอง การปลดฮฺว่าสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ริเริ่มโดยเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งตามนโยบายนั้น สมาชิกพรรคที่ถูกลดบทบาทจะถูกปลดจากตำแหน่งเท่านั้น โดยพวกเขาจะไม่ถูกจำคุกหรือทำร้ายร่างกาย

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ฮฺว่าแต่งงานกับหัน จือจฺวิ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 พวกเขามีลูกด้วยกันสี่คน ทั้งหมดใช้นามสกุล "ซู" () ตามชื่อเกิดของฮฺว่า ซู หฺวา ลูกชายคนแรกของพวกเขา เป็นนายทหารอากาศเกษียณอายุ ซู ปิน ลูกชายคนที่สอง เป็นนายทหารเกษียณอายุ ซู หลิง ลูกสาวคนโต เป็นเจ้าหน้าที่พรรคและสหภาพแรงงานที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน ซู หลี่ ลูกสาวคนเล็ก ทำงานให้กับคณะมนตรีรัฐกิจ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Profile of Hua Guofeng
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Ye Yonglie, 邓小平改变中国 – 1978:中国命运大转折 (Deng Xiaoping Changed China-1978: China's Destiny Turned, pp. 108-141, Sichuan People's Publishing House, 2008
  3. 3.0 3.1 Palmowski, Jan: "Hua Guofeng" in A Dictionary of Contemporary World History. Oxford University Press, 2004.
  4. 4.0 4.1 Wang, James C.F., Contemporary Chinese Politics: An Introduction (Prentice-Hall, New Jersey: 1980), p. 36.
  5. Li, Xiaobing; Tian, Xiansheng (21 พฤศจิกายน 2013). Evolution of Power: China's Struggle, Survival, and Success (ภาษาอังกฤษ). Lexington Books. p. 67. ISBN 978-0-7391-8498-1.
  6. Wang, James C.F., Contemporary Chinese Politics: An Introduction (Prentice-Hall, New Jersey: 1980), p. 37.
  7. Hollingworth, Clare, Mao and the Men Against Him (Jonathan Cape, London: 1985), p. 291ff
  8. Fontana 1982, p. 245.
  9. Hollingworth, Clare, Mao and the Men Against Him (Jonathan Cape, London: 1985), pp. 297–298
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 华国锋口述:怀仁堂事变真实经过. Duowei. 3 พฤศจิกายน 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มิถุนายน 2019. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2017.
  11. Hsü, Immanuel Chung-yueh (1990), China Without Mao: the Search for a New Order, Oxford University Press, p. 18, ISBN 0-19536-303-5
  12. Hsin, Chi. The Case of the Gang of Four. Revised ed. Hong Kong: Cosmo, 1978. Print.
  13. 13.0 13.1 13.2 Li-Ogawa 2022, p. 126.
  14. Li-Ogawa 2022, p. 131.
  15. 15.0 15.1 Lampton 2024, p. 68.
  16. "Post-Mao Period, 1976-78". ibiblio.org. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2019.
  17. 17.0 17.1 Gewirtz 2022, p. 15.
  18. 18.0 18.1 18.2 Gewirtz 2022, p. 16.
  19. 19.0 19.1 Gewirtz 2022, p. 17–18.
  20. Li-Ogawa 2022, p. 127.
  21. Minami 2024, p. 15.
  22. Minami 2024, p. 56–57.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 23.4 23.5 23.6 Weber 2021, p. 106.
  24. Andelman, David A. (20 สิงหาคม 1979). "China's Balkan Strategy". International Security. 4 (3): 60–79. doi:10.2307/2626694. JSTOR 2626694. S2CID 154252900.
  25. "Chairman Hua Officially Visits the UK". Hua Guofeng Memorial Website. 28 ตุลาคม 1979. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2010.
  26. "Chinese Government Railways Steam Locomotive 4-8-4 KF Class No 7". National Railway Museum. 10 เมษายน 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มิถุนายน 2017. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2017.
  27. "1979: Chairman Hua arrives in London". BBC News. 28 ตุลาคม 1979. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2010.
  28. 华主席抵德黑兰进行正式友好访问 巴列维国王举行盛大宴会热烈欢迎. People's Daily (ภาษาChinese (China)). 30 สิงหาคม 1978. p. 1.
  29. Wright, Robin (17 พฤศจิกายน 2004). "Iran's New Alliance With China Could Cost U.S. Leverage". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010.
  30. 30.0 30.1 30.2 Gewirtz 2022, p. 18–19.
  31. 31.0 31.1 Gewirtz 2022, p. 20.
  32. Li-Ogawa 2022, p. 134.
  33. 33.0 33.1 33.2 Gewirtz 2022, p. 26–27.
  34. "Pakistan Daily Times Article". Daily Times. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2005.
  35. 十七大之后拜访华国锋 [Visiting Hua Guofeng after the 17th Congress]. Sohu. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2008.
  36. 36.0 36.1 简单的晚年生活 华国锋远离政治的日子 [A simple late life: Hua Guofeng's days away from politics]. China News Weekly (ภาษาChinese (China)). 21 กันยายน 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2008.
  37. Keith Bradsher and William J. Wellman, "Hua Guofeng, 87, Who Led China After Mao, Dies", The New York Times, 20 August 2008.
  38. 华国锋在京病逝 曾经担任党和国家重要领导职务. Sohu via Xinhua. 21 สิงหาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2011.
  39. 华国锋同志遗体在京火化 胡锦涛等到革命公墓送别 [Comrade Hua Guofeng's body was cremated in Beijing; Hu Jintao waited at the Revolutionary Cemetery to bid farewell]. People's Daily. 30 สิงหาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2011.
  40. 40.0 40.1 40.2 Karl 2010, p. 160–161.
  41. Li-Ogawa 2022, p. 129.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]